มองภาษีผ่านเทรนด์โลก โดย เบญจมาศ กุลกัตติมาส - Forbes Thailand

มองภาษีผ่านเทรนด์โลก โดย เบญจมาศ กุลกัตติมาส

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Feb 2016 | 11:42 AM
READ 4045
หลายๆ บริษัทมีการประเมินผลการประกอบการในปีที่ผ่านมาและจัดทำแผนการดำเนินงานของปีใหม่ แน่นอนว่าแต่ละบริษัทมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจและกลุ่มเป้าหมาย แต่ปัจจัยหนึ่งที่จะเกี่ยวข้องกับทุกกิจการคือเรื่องของภาษี เรื่องภาษีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงว่าจะมีภาระภาษีอะไรบ้างหรือ จะต้องเสียภาษีเท่าไร แต่ยังรวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่อาจนำมาใช้ในกิจการได้ที่ควรนำมาพิจารณาประกอบด้วย วันนี้ขอยกประเด็นภาษีที่กำลังเป็นหัวข้ออยู่ในความสนใจ รวมทั้งแนวโน้มเรื่องที่อยู่ในความสนใจของธุรกิจว่าจะเกี่ยวพันกับภาษีอย่างไรบ้างที่ผู้ประกอบการควรจะนำมาพิจารณาสำหรับการวางแผนการดำเนินงานในปีนี้ เรื่องแรก คือเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายภาษี ที่คาดว่าจะมีปรับปรุงกฎหมายรวมทั้งการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อกิจการ ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปรับปรุงในเรื่องของภาษีหลายๆ เรื่อง ส่วนหนึ่ง ก็สืบเนื่องมาจากการที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งคาดการณ์กันว่า เออีซีจะเป็นการยกระดับความสามารถการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียน เร็วๆ นี้รัฐบาลไทยก็เพิ่งจะอนุมัติให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20 อย่างถาวรหลังจากให้ลดชั่วคราวในสามปีที่ผ่าน เป็นต้น ตอนนี้ที่เป็นประเด็นร้อนที่ติดเทรนทั่วโลกคือ เรื่องมาตรการการป้องกันการเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะของกิจการใหญ่ๆ ข้ามประเทศที่มักจะมีการวางแผนภาษีซึ่งอาจนำไปสู่การถ่ายโอนกำไรจากประเทศที่อัตราภาษีสูงไปประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรืออาจไม่เสียภาษีเลย ซึ่งกลุ่มประเทศใน OECD (Organization for Economic Co-operation and Development หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) และ G20 ได้ร่วมหารือกันเพื่อดำเนินการหามาตรการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่าหรือที่เรียกว่า BEPS (Base Erosion and Profit Shifting) ซึ่งแผนปฏิบัติการที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ตกลงกันจะทำให้ประเทศในกลุ่มนี้ต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่ตกลงกัน แม้ว่าประเทศไทยและประเทศในอาเซียนไม่ได้เป็นสมาชิก OECD หรือ G20 (ยกเว้นอินโดนีเซียซึ่งอยู่ใน G20) แต่ก็ได้มีการติดตามแผนปฏิบัติการที่คาดว่าจะออกมาเพื่อพิจารณา เรื่องนี้นำมาสู่ความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ในการปรับปรุงกฎหมาย ที่เห็นได้ชัดตอนนี้ก็เรื่อง ราคาโอน (transfer pricing) ซึ่งไทยเองก็คาดว่าจะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับ transfer pricing เป็นการเฉพาะออกมาในปีหน้าซึ่งสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เรื่องที่สอง ที่มีการกล่าวถึงกันมากในสองสามปีที่ผ่านมาคือเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) โลกของดิจิทัล ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของการค้าขายอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการค้าที่ไร้พรมแดน กิจการสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้น ประเด็นในเรื่องของภาษีคือจะเสียภาษีอย่างไรและ ณ ที่ใด การซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการค้าในแบบดิจิทัล ที่สินค้าสามารถส่งผ่านกันแบบไร้พรมแดน เรื่องที่สาม การแข่งขันกันสร้างนวัตกรรม (innovation) ผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันไม่สามารถอาศัยประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต้นทุนต่ำอีกต่อไป หากผู้ประกอบกิจการไทยต้องการแข่งขันและอยู่รอดได้คงต้องเร่งยกระดับคุณค่าในตัวของสินค้า ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อเสริมสร้าง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันการคิดค้นจะก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่หลายๆ ประเทศให้การส่งเสริมพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี กิจการต้องพิจารณาว่าที่ใดจะเหมาะสมต่อการเป็นฐานที่ตั้ง R&D ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมในเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เรื่องที่สี่ การสร้างแบรนด์ (branding) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า คุณภาพของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าแบรนด์เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจของผู้บริโภค นอกเหนือจากความแตกต่างหรือความพิเศษของสินค้าที่จะใช้เป็นจุดขาย ค่าใช้จ่ายของแบรนด์เป็นต้นทุนของกิจการซึ่งในทางภาษีถือว่าเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดในรอบบัญชีเดียว แต่จะต้องนำมาตัดจ่ายในแต่ละรอบบัญชีตามหลักเกณฑ์ภาษี หากเป็นกรณีจ่ายค่าการใช้แบรนด์จากผู้อื่น จะต้องพิจารณาประเด็นภาษี หัก ณ ที่จ่าย กรณีชำระค่าใช้แบรนด์ด้วย
เรื่องสุดท้าย คือการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกัน ซึ่งมักจะจัดกันในรูปแบบที่เรียกว่า Shared Service Center หรือ SSC ซึ่งเป็นเทรนด์หนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดมากขึ้นในกิจการที่มีบริษัทในกลุ่มหลายบริษัท เพื่อตัดปัญหาการที่มีหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกัน และช่วยลดต้นทุน กิจการที่มีบริษัทในกลุ่มหลายบริษัทก็อาจจะพิจารณาที่จะจัดองค์กรโดยใช้ SSC เพื่อลดต้นทุนการจัดการ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

เบญจมาศ กุลกัตติมาส กรรมการบริหาร บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
คลิ๊กอ่าน "มองภาษีผ่านเทรนด์โลก" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine