น้ำมันขา “งง” กับ Commodity Domino ในเศรษฐกิจไทย - Forbes Thailand

น้ำมันขา “งง” กับ Commodity Domino ในเศรษฐกิจไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Jul 2018 | 07:43 PM
READ 12201
ร่วมเขียนโดย ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ช่วงนี้ ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกจากทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC นำโดย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ และเวเนซุเอลา กำลังมีการหารือกันขนานใหญ่ว่าจะสามารถร่วมมือกับคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน อย่างไรดี อีกทั้งยังเชื้อเชิญให้ประเทศอื่นๆ เช่น เม็กซิโกและนอร์เวย์ เข้าร่วมการหารือด้วยกัน หากมองกันตรงๆ แล้วล่ะก็ การเจรจาครั้งนี้ เป็นเหมือนสัญญานแรกของการเริ่มแตกกลุ่มของ OPEC ที่เราได้กล่าวไปในครั้งก่อนว่าจะร่วมมือกันยากขึ้นเรื่อยๆ ดัง นั้น ในการเจรจารอบนี้ อย่างมากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ก็คงตกลงกันได้เพียงแค่คงกำลังการผลิตระยะ สั้นๆ เนื่องจากในปัจจุบันนั้น มีผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ที่อยู่นอกกลุ่ม OPEC มากขึ้นเรื่อยๆ และข้อตกลงอย่างการลดกำลังการผลิตเพื่อดันราคาเหมือนในอดีตนั้น คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะมีผู้ผลิตรายอื่นที่พร้อมจะเพิ่มการผลิตเข้ามา ทดแทนอยู่ตลอดเวลา และในทางกลับกัน หากการเจรจาครั้งนี้สำเร็จจริง ความสำคัญของกลุ่ม OPEC ก็จะลดน้อยถอยลงไปจากสมัยก่อนอย่างมาก และตลาดน้ำมันในระยะยาวจะยิ่งสับสนหรือ “งง” กว่าเดิมอีกครับ เพราะจากที่ต้องคอยจ้องดูการเคลื่อนไหวของกลุ่ม OPEC เป็นหลัก หลังจากนี้จะต้องดูว่าใครเป็นเพื่อนกับใคร? ใครจะจับมือกับใคร? หรือใครจะเลิกคบกับใครและจะหักหลังกันหรือไม่? กลายเป็นละคร Drama ระหว่างประเทศ และละครเรื่องนี้เหมือนจะไม่ยอมจบง่ายๆซะด้วย เมื่อแนวโน้มราคาน้ำมันยังไม่สดใสเช่นนี้ คำถามสำคัญที่ถัดมาคือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยล่ะคืออะไร? ราคาน้ำมันที่ลดลงควรจะดีสำหรับเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เหรอ? เรื่องนี้ตอบสั้นๆ ไม่ได้ครับ เพราะการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจไทยกับราคาน้ำมันนั้น มีมากกว่าที่เราเติมกันที่ปั้มอีกเยอะครับ Commodity Domino: ความยุ่งเหยิงเศรษฐกิจไทยจากราคาน้ำมันที่ลดลง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเทศไทยจะ ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากที่ต้องนำเข้าพลังงานจำนวนมากจากต่างประเทศในขณะที่ ประเทศไทยเองนั้นมีการใช้พลังงานอย่างขาดประสิทธิภาพในอันดับต้นๆ ของโลก โดยเรามีต้นทุนพลังงานถึง [19%] ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นนั้นใช้พลังงานเพียง [2-3%] ของจีดีพี พูดง่ายๆ คือเราเป็นประเทศรายได้น้อยที่ใช้น้ำมันกันเปลืองทีเดียว ราคา พลังงานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นได้ดันให้ราคาสินค้าเกษตรสูงตามไปด้วย ได้สร้างความร่ำรวยให้กับประเทศส่งออกพลังงาน ได้สร้างราคาและมูลค่าตลาดให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าทางตรงเช่น หุ้นพลังงานทางเลือก พลังงานทางหลัก หรือตลอดจน กลุ่มค้าปลีก กลุ่มยานยนต์ ที่ได้อานิสงส์จากความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ จากกลุ่มเกษตรกรจากการสูงขึ้นของราคายาง ปาล์ม มันสำปะหลัง หรืออ้อย ที่สามารถแปรรูปไปสู่พลังงานทางเลือกได้ทั้งสิ้น มาถึงวันนี้ หลังราคาน้ำมันดิ่งหัวลง 60-70% ในช่วงปีที่ผ่านมา ดูเผินๆ แล้วเหมือนว่าเป็นสิ่งดีที่เราได้ใช้น้ำมันถูกลงจากเดิมมาก แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงก็ได้ส่งผลลบมากมายให้แก่เศรษฐกิจไทย เช่นกัน นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ลดลงด้วยเหตุที่ค่าเงินรูเบิลตกต่ำจากวิกฤตราคาน้ามัน ชาวตะวันออกกลางที่ เคยได้สิทธิในการมารักษาพยาบาลในเมืองไทยจากรัฐบาลที่มีรายได้จากการส่งออก น้ำมันจะลดลงหรือไม่เพียงใด แต่นี้เป็นแค่ด้านรายได้จากการท่องเที่ยวที่ทำให้เราต้องหันกลับไปหานักท่องเที่ยวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น เกษตรกรที่กำลังเผชิญกับรายได้ที่ตกต่ำลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง จนทำให้อำนาจการซื้อหดหายไปกว่าการประหยัดจากราคาน้ำมันจะเยียวยาได้ จนเกิดหนี้เสียในหมวดสินเชื่อรถ สินเชื่อจักรยานยนต์ สินเชื่อที่นำมาทำทุนเพาะปลูก การชะลอตัวจนถึงหดตัวของสินค้าที่ขายให้กับเกษตรกรโดยตรงเช่น เคมีเกษตร เครื่องจักรการเกษตร รวมถึงสินค้าที่โดนผลกระทบทางอ้อมเช่นกลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่เกษตรกร มักจะจับจ่ายเมื่อมีรายได้ ธุรกิจ SME ในพื้นที่ภูมิภาคจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากกำลังซื้อใน พื้นที่ที่หดหายไปอย่างมาก และสะท้อนออกมาเป็นหนี้เสียจาก SME ของระบบการเงินที่เราเห็นในปัจจุบัน ผลกระทบเหล่านี้กลายเป็น โดมิโน่ของสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ไล่ล้มทับกันวนไปเรื่อยๆ และจะวนกลับมากระทบภาคผลิต ภาคธุรกิจ SME และภาคการเงิน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่า จากการลดลงของมูลค่าของสินค้าคงคลังที่อยู่ในสต๊อคและการขาดทุนจากการลดลง ของราคาสินค้าเหล่านั้น เช่น จากราคาน้ำยาง (นำไปสู่การประท้วงในพื้นที่ภาคใต้) หรือราคาเหล็ก (นำไปสู่หนี้เสียธุรกิจเหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง) และปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศปัจจุบันนั้น ไม่แข็งแกร่งเหมือนแต่ก่อน แต่ที่เรากังวลไปมากกว่านั้นคือ แล้วอนาคตล่ะ จะเป็นอย่างไร อนาคตปฏิรูปเกษตรบนเส้นบางๆ ของราคาน้ำมัน เมื่อ พูดถึงทิศทางการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยทุกคนมักจะประสานเสียงไปในทางเดียวกัน ว่า ไทยต้องแปรรูปเพิ่ม สินค้าเกษตรไทยต้องเพิ่มมูลค่า ต้องมี “value addition” มากกว่านี้ ต้องขยาย “value chain” ให้ยาวขึ้น การที่ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่านี้ ย่อมไม่ดีสำหรับการพัฒนา value chain ของสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะในหมวดเกษตรพลังงาน ทั้งปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง หรืออ้อยไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อีกทั้ง ยังอุตสาหกรรมการแปรรูปยางที่ต้องแข่งกับยางสังเคราะห์อีก เมื่อราคาน้ำมันถูก ราคายางสังเคราะห์ก็ถูก และใครจะมานั่งลงทุนพัฒนายางพาราไทยให้แปรรูปได้หลากหลายขึ้น วันนี้ เราเองก็เล่าข่าวร้ายกันมาเยอะ แต่ดังที่เราชอบพูดกันเสมอๆว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หากเรานำประเด็นที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นอันได้แก่ การลดลงของราคาพลังงาน การลดลงของราคาสินค้าเกษตร การขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทางการขนส่งอันนำมาสู่ต้นทุนที่สูงของประเทศ และภาคเอกชน และการชะลอตัวจาการการลงทุนของภาคเอกชน มาต่อเป็นเรื่องเดียวกันเราอาจพบว่ามีโอกาสมหาศาลรอประเทศไทยอยู่ เช่นกัน แม้จะถูกรายล้อมด้วยภาวะที่น่ากังวลรอบด้าน ในปัจจุบันคนไทยใช้น้ำมันวันละประมาณ 80 ล้านลิตร ถ้ายืนราคาขายปลีกน้ามันเบนซิน 95 ไว้ที่ 25 บาท และ ดีเซลไว้ที่ 22 บาท เราจะสามารถนำเงินมาเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ถึงปีละ 87,600 ล้านบาท ซึ่งหากน้ำมันในตลาดโลกยังคงลดลงต่อเนื่อง เราอาจจะได้เงินเข้ากองทุนถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำไปใช้ ให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ได้ โดยการใช้เงินดังกล่าว ควรจะเน้นผลักดันการแปรรูปสินค้าเกษตรหลักๆ เช่น ปาล์ม ยาง อ้อย มันสำปะหลัง ไป สู่การสร้างมูลค่าที่สูงขึ้น ไม่ว่าถูกแปรรูปไปเป็นพลังงานหรือผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอื่น ซึ่งจะไม่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจนเป็นปัญหาต่อภาระงบประมาณในการนำมา ช่วยเหลือเกษตรกรมากจนเกินไป นอกจากนั้น เงินจำนวนดังกล่าวสามารถนำมากระตุ้นการลงทุนในโครงการระบบรางเชื่อมต่อ จังหวัดหลักในภาคต่างๆ ตามแผนที่มีอยู่ได้โดยไม่ต้องไปพึ่งเงินกู้มากนักซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดภาระ กับลูกหลานในระยะยาว เรามาช่วยกันดีไหมครับ ภายใต้ประชารัฐ ภาคประชาชน ภาครัฐและหน่วยงานราชการช่วยเร่งผลักดันโครงการปฎิรูปภาคการเกษตรไปสู่ พลังงานทดแทน และ jump start โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมอย่างระบบรางที่เชื่อมต่อระดับภูมิภาคเข้าด้วยกัน ภาคเอกชนเข้าร่วมกับรัฐในการผลักดันโครงการในรูปแบบ PPP ด้วยธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เราคิดว่าวิกฤตของโลกคือโอกาสของไทยครับ ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ข้อคิดเห็นที่ปรากฎในบทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด