ทำไม Buffett ไม่กลัวขาดทุนช่วงเงินเฟ้อ? - Forbes Thailand

ทำไม Buffett ไม่กลัวขาดทุนช่วงเงินเฟ้อ?

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Jul 2022 | 12:46 PM
READ 4672
ปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้ทวีความรุนแรง กัดกินพอร์ตลงทุนของคุณจนแทบกระอักเลือดกันเลยทีเดียว นาทีนี้เราคงต้องพยายามนิ่งและหาแนวคิดดีๆ เข้ามาปลอบประโลมจิตใจกันในวันที่อ่อนล้า และแน่นอนว่าคำพูดของผู้ที่ผ่านโลกมามาก ย่อมแฝงไว้ด้วยข้อคิดเสมอ ไม่แปลกที่นักลงทุน Value Investor (VI) สายดำจะคอยติดตามการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ทุกๆ ปี เพราะแต่ละปีจะมีโอกาสอยู่ไม่กี่ครั้ง ที่ได้ฟังความคิดจากมันสมองของ 2 นักลงทุนรุ่นเก๋าที่อายุรวมกันเกือบ 200 ปี และเป็นผู้นำทางความคิดของนักลงทุน VI ทั่วโลกอย่าง Warren Buffett และ Charlie Munger ในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2565 นี้ ก็มีไฮไลต์ที่น่าสนใจหลายอย่าง ขอเริ่มด้วยเรื่อง "เงินเฟ้อ" ซึ่งเป็นการทบทวนแนวคิดการลงทุนไปด้วยในช่วงตลาดหุ้นแดงเกือบทุกวันจนแทบจะถอดใจ อยากลบแอปพลิเคชั่นทิ้งไปให้รู้แล้วรู้รอด

ภาวะเงินเฟ้อร้อนแรงในมุมมองของรุ่นเก๋า

สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา เริ่มทวีความร้อนแรงมาตั้งแต่เมษายน 2564 และไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลงจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ต้องขึ้นดอกเบี้ยแบบต่อเนื่องและในอัตราเร่งสูงถึง 0.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด สูงสุดในรอบ 28 ปี และตลาดยังคาดว่าจะเห็นเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในปีนี้ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ +8.6% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี! จริงๆ แล้วปู่ Buffett เห็นสัญญาณเงินเฟ้อเร่งตัวตั้งแต่การประชุมผู้ถือหุ้นปีที่แล้ว เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเฟอร์นิเจอร์ในพอร์ตของ Berkshire Hathaway ต้องซื้อเหล็กในราคาสูงขึ้น ประชุมผู้ถือหุ้นปี 2565 นี้ ได้มีผู้ถือหุ้นถามปู่ Buffett เกี่ยวกับเรื่องเงินเฟ้อ โดยอ้างถึงสิ่งที่ปู่พูดในปีที่แล้วด้วยครับ โดยคำถามคือ “อยากให้ปู่ Buffett ช่วยเปรียบเทียบเงินเฟ้อรอบนี้กับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในอดีตว่าครั้งไหนน่ากลัวกว่ากัน” ปู่ Buffett ตอบคำถามจากมุมมองส่วนตัวว่า เงินเฟ้อรอบนี้เกิดจากมาตรการเยียวยาโควิด-19 ในสหรัฐฯ รวมกันมากกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการ QE (Quantitative Easing) และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามาเติมเชื้อไฟ ถึงแม้เฟดจะบอกว่าตอนนี้เงินเฟ้อใกล้แตะจุดสูงสุดแล้ว แต่ปู่กลับบอกว่า ‘สวรรค์เท่านั้นที่รู้ว่าเงินเฟ้อจะไปหยุดที่เท่าไร’ พร้อมชื่นชมการตัดสินใจของเฟดเพราะหากเฟดไม่ทำมาตรการ QE ชีวิตคนอเมริกันคงแย่กว่านี้เยอะ ส่วนปู่ Munger ได้เสริมแบบตรงๆ ตามสไตล์ว่า "การที่รัฐบาลสหรัฐฯ พิมพ์เงินแจกบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศ ตามมาตรการเยียวยาโควิด-19 ก็เหมือนทำให้ประเทศจมอยู่ใต้กองเงินไปช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็จำเป็นต้องทำ" ปู่ Buffett ย้ำหลักการเดิมว่า ตัวเขาจะไม่คาดการณ์ตลาดหุ้นหรือตัวเลขทางเศรษฐกิจอะไรทั้งนั้น แต่จะคอยหาโอกาสลงทุนจากความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นหลักมากกว่า เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ตลาดหุ้นผันผวนหนัก หลายคนตัดสินใจล้างพอร์ตลงทุนหนีตาย แต่ Berkshire Hathaway ของปู่กระหน่ำซื้อหุ้นไปแล้วประมาณ 5.1 หมื่นล้านเหรียญ และยังเหลือเงินในมืออยู่อีกประมาณ 1 แสนล้านเหรียญให้ช็อปปิ้งหุ้นถูกต่อครับ

วิธีรับมือเงินเฟ้อแบบคูลๆ โดย Warren Buffett

เวลามีคนถามเรื่องวิธีการลงทุนรับมือเงินเฟ้อ ปู่ Buffett จะตอบหลักการลงทุนที่เคยได้ยินมาตลอดว่า ต้องลงทุนในธุรกิจที่มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งสามารถขึ้นราคาได้โดยไม่กระทบยอดขาย แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะคนถามคำถามนี้เป็นเด็กผู้หญิงอายุแค่ 12 ปีที่มาประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway แล้ว 5 ปี นั่นหมายความว่า เธอเริ่มลงทุนหุ้น Berkshire Hathaway ตั้งแต่ 7 ขวบ 😅 ปู่ Buffett จึงตอบแกมสอนไปว่า สิ่งที่ดีที่สุดในการรับมือเงินเฟ้อคือ ความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนโดดเด่น เพราะถ้าหนูเป็นหมอหรือทนายความที่เก่งที่สุดในเมือง ยังไงก็มีคนพร้อมจ่ายเงินเพื่อใช้บริการของหนู พร้อมย้ำว่า เงินเฟ้อไม่สามารถกัดกินพรสวรรค์หรือความสามารถของหนูได้ ดังนั้นการลงทุนที่ดีที่สุดเพื่อสู้กับเงินเฟ้อคือ การพัฒนาตัวเอง และพูดถึงกฎ 10,000 ชั่วโมงอันโด่งดังของ Malcolm Gladwell ปู่ Buffett ในวัย 91 ก็ตบท้ายด้วยการยิงมุกตลกว่า ถ้าหนูมาประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว 5 ครั้ง ปู่คิดว่า หนูมีอนาคตที่สดใสรออยู่แน่นอน เล่นเอาผู้ถือหุ้นฮาแตกทั้งฮอลล์เลยครับ 😀

เงินสดหรือจะสู้เงินเฟ้อ

ปู่ Buffett อธิบายว่า เงินเฟ้อจะกัดกินมูลค่าเงิน โดยเฉพาะคนที่เก็บเงินสดไว้ไม่ยอมลงทุน (ปู่ใช้คำว่า คนที่ซุกเงินไว้ใต้เตียง) ส่วนคนที่ลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ก็ใช่ว่าจะหนีเงินเฟ้อพ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ในเชิงธุรกิจ ปู่อธิบายว่า เงินเฟ้อทำให้ธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้นในการขยายธุรกิจ พร้อมยกตัวอย่างแบบสุดโต่งว่า ถ้าวันนี้เงินเฟ้อสูงร้อยละ 90 จนมูลค่าเงินเหลือแค่ 1 ใน 10 คุณก็ต้องใช้เงินมากขึ้น 10 เท่าเพื่อลงทุนและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้มากกว่า 10 เท่า การขึ้นราคาสินค้าและบริการ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกบริษัท โดยตัวปู่ Buffett มักเลือกลงทุนในกิจการที่มั่นใจว่า มีอำนาจต่อรองในตลาดสูง ขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ โดยที่ยอดขายไม่ลดลง ลูกค้ายินดีที่จะจ่าย

ชมประธานเฟดวางไทม์ไลน์ชัด

สุดท้าย ปู่ Buffett ผู้ผ่านวิกฤตมาหลายรอบ ชื่นชมประธานเฟดคนปัจจุบันอย่าง Jerome Powell ที่กล้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อว่า เขาคือฮีโร่ เพราะเขาทำในสิ่งที่ เฟดต้องทำ และอธิบายเสริมว่า ถ้าเป็นประธานเฟดคนอื่นๆ อาจไม่กล้าทำแบบนี้ เพราะถ้าเกิดเงินเฟ้อสูงมากจนวิกฤต คนก็จะไม่โทษเฟดอยู่ดี แต่จะไปโทษโควิด-19 รัฐบาลจีน หรือเรื่องอื่นๆ เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยหรืออาจจะไม่ก็ได้ แต่ยังไงทุกคนก็ต้องเจอเศรษฐกิจถดถอยอยู่แล้วสักวัน เพราะมันคือวัฏจักรทางเศรษฐกิจ หมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน มีขึ้นก็ต้องมีลง ปู่ Buffett ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตลอดชีวิต เข้าใจดีว่า จะต้องมีช่วงที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจ แต่ด้วยหลักการลงทุนในกิจการที่พื้นฐานแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม บวกกับอารมณ์ที่นิ่งสงบ ทำให้ปู่มั่นใจในโอกาสลงทุนที่แฝงอยู่ในความผันผวนตลอดเวลา เหมือนวลีอันโด่งดังของปู่ที่ว่า “ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ คุณก็จะไม่สามารถควบคุมการลงทุนของตัวเองได้เช่นกัน” หากคุณอยากฟังคำตอบเต็มๆ ของ 2 ปู่รุ่นเก๋า จาก การประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ปีล่าสุด สามารถเข้าไปดูคลิปวิดีโอและคำบรรยายจากการถอดไฟล์เสียง ฟังแล้วจะยึดหลักปรัชญาการลงทุนของ Buffett ที่ถูกพิสูจน์มาหลายรอบแล้วว่า ทำผลตอบแทนเฉลี่ยชนะดัชนีตลาดหุ้นได้ในระยะยาวมาใช้ ก็จะช่วยให้พอร์ตคุณมีแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน ส่วนตัวผมเองก็นำนำปรัชญาการลงทุนของ Buffett มาปรับใช้กับแผนการลงทุน Jitta Ranking และต่อยอดด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มขุมกำลังในการวิเคราะห์หุ้นแบบ Quantitative Value Investing(QVI) ที่ถ้ามีโอกาสผมจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะครับ บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine