หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้ามาลงทุนและพำนักในไทยระยะยาว (Long-term stay) เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ทดแทนต่างๆ ได้กลายเป็นกระแส Talk of the Town ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังต้องจับตากันต่อ โดยเฉพาะประเด็นที่เปิดทางให้ต่างชาติซื้อ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ บ้าน-คอนโด และถือครองที่ดิน การปรับมาตรการดึงต่างชาติในครั้งนี้จะดีจริงหรือ? จากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ผลสำรวจฯ ชี้ผู้บริโภคเสียงแตก ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคผ่านแบบสอบถาม DDproperty's Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ซึ่งมีผู้ทำแบบสำรวจกว่า 1,000 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าของที่อยู่อาศัย กลุ่มนักลงทุน กลุ่มผู้เช่า รวมถึงกลุ่มที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งได้ทำการสำรวจไปก่อนหน้าตั้งแต่ที่ยังเป็นร่างกฎหมาย พบว่า ผู้บริโภคมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยผู้ทำแบบสอบถาม 26% เห็นด้วย และ 24% ไม่เห็นด้วย เมื่อโฟกัสที่ช่วงอายุและรายได้ พบว่า ผู้บริโภคที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ระดับปานกลางอยู่ที่ 28% และมีรายได้ระดับสูง อยู่ที่ 31% โดยทั้ง 2 ถือเป็นกลุ่มผู้ที่มีความพร้อมในการซื้อ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ บ้าน-คอนโด และมีโอกาสลงทุนในช่วงนี้ ขณะที่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย อยู่ที่ 22% ในขณะเดียวผู้บริโภคที่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้ระดับปานกลางอยู่ที่ 29% รายได้รายระดับสูง อยู่ที่ 26% และรายได้น้อย อยู่ที่ 26%มาตรการดึงต่างชาติซื้อบ้านในไทยเอื้อต่ออสังหาฯ และเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่
ผลการสำรวจฯ ยังบอกถึง 3 เหตุผลหลักของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม โดยผู้บริโภคที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มองว่า มาตรการดึงต่างชาติ จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจของไทยได้ - 79% มองว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยโดยรวม - 32% มองว่าเป็นการแก้ปัญหานอมินี (Nominee) หรือผู้ที่ซื้อแทนชาวต่างชาติเพื่อเลี่ยงกฎหมาย หลังปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถซื้อ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ได้เอง - มองว่าจะช่วยผลักดันราคาอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต และเพิ่มมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และทางด้านผู้บริโภคที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มองว่า มาตรการดังกล่าวมีส่วนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงขึ้น - 62% มองว่าจะทำให้ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์แพงขึ้น - 42%มองว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานอมินี (Nominee) - 40% มองว่าอาจนำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนอื่น ๆ ได้ในอนาคตสรุปประเด็นไทยเปิดทางเศรษฐีต่างชาติ 4 กลุ่มหลักและสิทธิที่จะได้รับ
สำหรับมาตรการดึงต่างชาติชาติเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยเปิดทางให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม สามารถเข้ามาพำนักระยะยาว (Long-term-stay) ในประเทศไทย แลกกับวีซ่าระยะยาว 10 ปี (Long-term Resident Visa) และสิทธิประโยชน์จูงใจ โดยชาวต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มจะได้แก่ 1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) โดยแบ่งเป็น ผู้ประกอบอาชีพด้านดิจิทัล (Digital nomad) และพนักงานองค์กรขนาดใหญ่และใกล้จะเกษียณอายุ (Corp Program) และ 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่ชาวต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มจะได้รับมีดังนี้- วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR visa) อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร
- ได้รับใบอนุญาตทำงานอัตโนมัติหลังจากอนุมัติ LTR
- ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ
- สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว ซื้อบ้านได้ในพื้นที่ที่กำหนด
- สิทธิเลือกจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับผู้ถือสัญชาติไทย หรืออัตราภาษีเงินได้คงที่ที่ 17% เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine