การพัฒนาผู้นำในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง - Forbes Thailand

การพัฒนาผู้นำในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Oct 2018 | 10:43 AM
READ 15771

‘ปฏิวัติธุรกิจครั้งสำคัญด้วยตัวผู้นำเอง เพราะผู้นำต้องเริ่มเปลี่ยนก่อนที่โลกจะเปลี่ยนธุรกิจเราก่อน’

ในยุคที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกแง่มุมของชีวิต ในอดีต เวลาเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ต้องเดินออกมาเรียกรถไกลๆ แต่ทุกวันนี้สามารถใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นมารับถึงที่ และยังสามารถทราบประวัติคนขับรถและราคาค่าโดยสาร ซึ่งการที่โฉมหน้าธุรกิจเปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้ผู้นำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องรีบเปลี่ยนตนเองเช่นกัน จากอดีต ผู้นำสามารถประสบความสำเร็จได้จากการสั่งสมประสบการณ์ แต่ในวันนี้ผู้นำต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พวกเขาไม่มีทางรู้จักสนามที่กำลังแข่งขันกันดีเท่าในอดีต ไม่อาจล่วงรู้เลยว่าจะมีปัจจัยใดบ้างที่เข้ามากระทบกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งทั้งในและนอกอุตสาหกรรม และพวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างไรในภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape) ใหม่เช่นนี้” นั่นแปลว่า การพัฒนาศักยภาพผู้นำเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องตระหนักว่าเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เพราะเริ่มพรุ่งนี้ก็อาจสายเกินไป ซึ่งบันไดขั้นแรกที่จะพาผู้นำไปสู่ความสำเร็จในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงใบนี้ได้ ดิฉันอยากแนะนำให้ผู้นำต้องเริ่มตั้งคำถามกับตนเอง 6 ข้อ ต่อไปนี้ 1.ผู้นำควรจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร เพราะโมเดลธุรกิจเปรียบเสมือนรากฐานสำคัญขององค์ประกอบทุกส่วน โมเดลธุรกิจที่มีประสิทธิภาพในโลกปัจจุบันต้องมีรูปแบบที่ไม่ตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ทั้งบุคลากรภายใน ลูกค้า และสอดรับกับโลกยุคใหม่ การยึดติดกับโมเดลธุรกิจเดิมๆ ในอดีตที่เคยประสบความสำเร็จอาจใช้ไม่ได้ผลแล้วในวันนี้เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป และมีพลวัตที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ 2.ผู้นำให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมในองค์กรให้เอื้อกับการกำเนิดนวัตกรรมหรือไม่ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการนำไอเดียใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาองค์กร ยังไม่ใช่การค้นพบนวัตกรรมที่แท้จริงและยั่งยืน สิ่งที่องค์กรต้องการคือ “Breakthrough Innovation” ซึ่งในการสร้างวัฒนธรรมให้เกิดในองค์กร คนเป็นผู้นำต้องสร้าง “เวที” แก่บุคลากรในองค์กรให้กล้าออกมาแสดงความคิด กระตุ้นให้มีการตื่นตัวที่จะคิดค้นนวัตกรรมอยู่ในจิตใต้สำนึก เพราะไม่ว่าองค์กรจะยักษ์ใหญ่ระดับไหน หากไม่ปลูกฝังวัฒนธรรมขององค์กรในเรื่องนี้ “องค์กรก็ไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้” 3.ผู้นำเข้าใจตลาดของธุรกิจตนเองดีแค่ไหน ผู้นำที่อยู่กับธุรกิจตนเองไปนานๆ มักจะติดกับดักว่าเรารู้จักตลาดธุรกิจของเราดีแล้ว จึงเลือกที่จะดำเนินธุรกิจแบบ business as usual แต่ภาพความเป็นจริงของวันนี้ ลูกค้าในตลาดมีความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจไม่ได้ดำเนินไปในเส้นตรง ผู้นำเองต้องลุกขึ้นมาสำรวจตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปนี้ให้ได้ 4.ผู้นำรีเฟรชประสบการณ์ของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจเป็นประจำแค่ไหน ยุคนี้เป็นยุคที่คนเลือกใช้สินค้าและบริการจากประสบการณ์ที่ได้รับ “Total Customer Experience” เข้ามามีบทบาทอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อลูกค้าได้สัมผัสกับธุรกิจของเรานานๆ จะเริ่มเกิดความชินชาและเบื่อหน่าย ผู้นำจึงจำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพื่อให้ลูกค้าตื่นเต้นและรู้สึกดีอยู่เสมอเวลาที่ได้สัมผัสกับสินค้าและบริการ 5.ผู้นำเริ่มสร้างระบบนิเวศ (Ecosystems) ให้ธุรกิจหรือยัง และผู้นำใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างจากระบบนิเวศนี้ ในยุคนี้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตหรือพัฒนาได้ด้วยตนเองฝ่ายเดียว เพราะธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จและขับเคลื่อนได้เร็วผู้นำต้องนำธุรกิจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางธุรกิจซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดกว้าง เต็มไปด้วยโอกาส ไร้ซึ่งขอบเขตและข้อจำกัด โดยการทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีความเชื่อมโยงในการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ร่วมกัน 6.ผู้นำพัฒนาความจงรักภักดีของลูกค้าหรือยัง ในอดีตเมื่อลูกค้าเลิกซื้อสินค้าหรือบริการ ผู้นำจะวิ่งเข้าไปหาลูกค้าใหม่ทันที แต่วันนี้ผู้นำที่ดีควรจะหาเหตุผลว่าเพราะอะไรที่ทำให้ลูกค้าเหล่านั้นเลิกซื้อหรือเลิกใช้บริการกับธุรกิจของเราไป ต้องพยายามหาทางดึงลูกค้ากลับมา และรักษาไว้ให้นานที่สุด แต่ก่อนอาจพูดกันแค่ว่าเราต้องให้ความสำคัญกับลูกค้า แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องการสร้างให้พนักงานเกิด customerobsessed คือการทำความเข้าใจลูกค้าในเชิงลึกทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน ความต้องการ และอื่นๆ ให้ครบทุกด้าน เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน อย่ารอให้ตัวเลขยอดขายลดลงก่อน วันนี้ผู้นำต้องลองถามตนเองแล้วว่า “เราให้ความสำคัญกับคำถามเหล่านี้เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่” จากการที่ได้บริหารงานอยู่ในวงการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์มายาวนาน ทำให้ดิฉันตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของโลกในวันนี้น่ากลัวกว่าแต่ก่อนมาก แต่ “ความกลัวจะเป็นตัวการที่ทำให้ผู้นำกระหายอยากทำให้ธุรกิจอยู่รอด และทำให้ผู้นำลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเองและองค์กรให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่ก้าวหน้า และเลิกยึดติดกับสิ่งเดิมๆที่เคยสร้างมาแต่ก่อน”
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการเอสอีเอซี (SEAC)
 

คลิกอ่านเรื่องราวทางธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand เดือนสิงหาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine