เทคโนโลยียกระดับอี-คอมเมิร์ซในไทยข้ามพรมแดน - Forbes Thailand

เทคโนโลยียกระดับอี-คอมเมิร์ซในไทยข้ามพรมแดน

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Jan 2023 | 08:00 PM
READ 3951

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญของอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซในเอเชียภูมิภาคซึ่งมีประชากรเกือบ 4.6 พันล้านคน และกำลังเข้าสู่ยุคทองแห่งการค้าดิจิทัล ซึ่งได้รับการประเมินว่า จะมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 


    สำหรับเศรษฐกิจการค้าดิจิทัลของประเทศไทยได้รับการจัดกลุ่มเป็นตลาดที่กำลังพัฒนา และเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซโดดเด่นแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยสถิติชี้ว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย 90% มีการคลิกซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

    อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูง ราคาที่จับต้องได้ และความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นล้วนผลักดันให้ผู้บริโภคยอมรับการช็อปปิ้งออนไลน์ ภาวะนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้บริโภคหันมาใช้ไลฟ์สไตล์ดิจิทัลมากขึ้น จนส่งผลให้กลุ่มผู้ค้าเปิดรับบริการดิจิทัลแบบ end-to-end และตระหนักถึงประโยชน์ของการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยังเปิดโอกาสแก่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME และผู้ค้าในท้องถิ่นให้สามารถเกาะติดการเติบโตในตลาดอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทยได้ดีขึ้น

    อย่างไรก็ตามภาวะแบรนด์และผู้ค้าปลีกจำนวนมากเข้าร่วมตลาดอี-คอมเมิร์ซที่เริ่มอิ่มตัวของประเทศนั้น มีผลให้การแข่งขันเพิ่มความดุเดือดยิ่งขึ้น รวมถึงการแข่งกันให้ข้อเสนอส่งเสริมการขาย เช่น การให้ส่วนลดค่าจัดส่งและการให้ส่งคืนสินค้าโดยไม่มีค่าธรรมเนียม ภาวะนี้บีบให้ผู้ค้าดิจิทัลในท้องถิ่นต้องแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่คู่กับการขยายธุรกิจออกไปนอกกรอบเพื่อรักษาความได้เปรียบทางธุรกิจ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการขายและดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น

    นอกจากนี้ หลายธุรกิจยังต้องการข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และยังพึ่งพาข้อมูลในการทำความเข้าใจรูปแบบการซื้อของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ทั้งข้อมูลสถานที่ซื้อสินค้า เหตุผลในการซื้อผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันที่มีแนวโน้มสูงที่จะถูกซื้อไปด้วยมากที่สุด


- อี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน -

    อี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือการทำธุรกรรมการค้าข้ามประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ (cross-border e-commerce) นั้น ช่วยให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกต่างสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าให้กับธุรกิจหรือผู้บริโภคที่อยู่นอกเขตพรมแดนทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่ตั้งได้ ด้วยการแปลเนื้อหาออกเป็นหลายภาษาพร้อมกับการใช้โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และการผนวกรวมบริการจัดส่งล้วนมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้ค้าปลีกในพื้นที่มีข้อจำกัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการเปิดหน้าร้านดิจิทัล

    ปัจจุบันอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยเกือบ 50% ของผู้ซื้อออนไลน์มีการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ประเทศไทยจึงมีฐานะเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเติบโตจนมีมูลค่าเกิน 1.3 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2568

    ด้วยพิกัดใจกลางอาเซียน ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยจึงให้ประโยชน์อย่างมากมายในการอำนวยความสะดวกต่อการซื้อขายบนอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

    ส่วนการขยายช่องทางจำหน่ายไปยังต่างประเทศ แบรนด์และผู้ค้าปลีกจะสามารถจัดการบัญชีสินค้าคงคลังในพื้นที่เฉพาะได้แม่นยำ ขณะที่การใช้โมเดลขายตรงถึงผู้บริโภคหรือ Direct-to-Consumer (DTC) บนอี-มาร์เก็ตเพลสจะช่วยให้สามารถควบคุมราคาได้มากขึ้นด้วยการลดทอนค่าส่วนแบ่งกับบุคคลที่ 3 และเพิ่มความคล่องตัวยิ่งขึ้นในการจัดการสินค้าคงคลังได้อีกทาง

    นอกจากนี้ การเจาะตลาดต่างประเทศยังทำให้ผู้ค้าในท้องถิ่นสามารถดึงดูดฐานผู้บริโภคที่กว้างขึ้น พร้อมกับเสริมให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับปี 2565 สถิติชี้ว่า ผู้ค้าในท้องถิ่นและ SME มีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 85% ของอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเอเชียแล้ว



- ดันธุรกิจไทยก้าวกระโดด -

    อี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนยังช่วยสร้างการมองเห็นแบรนด์มากขึ้น ซึ่งมีผลผลักดันให้ธุรกิจในท้องถิ่นกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ตัวอย่างเช่น สยามพิวรรธน์ บริษัทค้าปลีกชั้นนำของไทยที่ได้ร่วมมือกับ PChome อี-มาร์เก็ตเพลสของไต้หวันเพื่อนำพาแบรนด์ SME ไทยทั้ง ICONCRAFT, ANONA และ Awa Décor มาปรากฏสู่สายตานักช็อปต่างประเทศ

    ในอีกด้านการระบาดใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมพฤติกรรมความชอบของผู้บริโภคไปโดยไม่ตั้งใจ และทำให้ความต้องการบริการดิจิทัลแบบใหม่ดีดตัวสูงขึ้น ครอบคลุมทั้งกลุ่มสินค้าของชำ เครื่องนุ่งห่มและสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประเทศไทยความสะดวกสบายยังคงเป็นเหตุผลหลักสำหรับนักช็อปที่จะใช้บริการดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์หรูระดับนานาชาติมีมูลค่าการซื้อขายอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนสูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้แพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งรวมถึง LINE ที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การช็อปปิ้งของทุกคน 

    โดยนอกจากการซื้อสินค้าระดับไฮเอนด์แล้ว โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมตลอดกาล ซึ่งสถิติชี้ว่า 24.8% ของผู้ซื้อออนไลน์ในประเทศไทยคลิกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2564 รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม และเครื่องแต่งกายแฟชั่นซึ่งคิดเป็น 14.6% และ 11.9%


- เอาชนะความท้าทาย -

    แม้ว่าโอกาสในอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะเปี่ยมด้วยประโยชน์ แต่ธุรกิจในท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำกลยุทธ์ที่คิดมาอย่างดีมาปรับใช้และตระหนักถึงความท้าทายมากมายที่รออยู่ โดยหนึ่งในสิ่งกีดขวางหลักที่ขัดขวางผู้ค้าในท้องถิ่นจากการข้ามพรมแดนคือ ปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูล ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน และปัญหาบริการขนส่ง ซึ่งแม้ว่าประเทศจะคืบหน้าในการเร่งผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว แต่แอปพลิเคชันการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทย

    นอกจากนี้ ประสบการณ์ของลูกค้ายังเป็นอีกความท้าทายหลัก เช่น ประเด็นด้านภาษา และการขาดการปรับเปลี่ยนตามความต้องการเฉพาะบุคคลบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งส่งผลลดความไว้วางใจในแบรนด์ลง และอาจส่งผลเสียต่อโอกาสในการขาย ขณะที่หลายแบรนด์โยนความคาดหวังไปยังผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยว่าจะสามารถจัดหาระบบที่ใช้งานง่ายและมอบประสบการณ์การสั่งซื้อสินค้าข้ามพรมแดนที่ราบรื่น

    ความท้าทายเหล่านี้มีทางออก ในขณะที่ประเทศกำลังเปลี่ยนไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ก้าวหน้า จึงชัดเจนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นสามารถปูทางไปสู่การขายที่เพิ่มขึ้นได้ สำหรับธุรกิจต่างๆ ในท้องถิ่นที่มุ่งหวังที่จะขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศก็ล้วนสามารถใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์อี-คอมเมิร์ซที่มีโซลูชันแบ็กเอนด์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยข้อมูล


- โลจิสติกส์โดยบุคคลที่ 3 (3PL) -

    การจัดการคลังสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง และการจัดการคำสั่งซื้อ ล้วนเป็นองค์ประกอบหลักของการจัดการซัพพลายเชนอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบันคาดหวังกับการจัดส่งที่เร็วขึ้นและต้องการระบบติดตามสินค้าแบบเรียลไทม์มากขึ้น หน่วยงานด้าน 3PL จึงมีบทบาทสำคัญในการวางแผนด้านโลจิสติกส์และการส่งมอบสินค้าสู่มือผู้บริโภคหรือบริการจัดส่งสินค้าในช่วงสุดท้าย (last mile delivery)

    ธุรกิจในท้องถิ่นจึงสามารถพึ่งพาบริการ 3PL เพื่อจัดการการนับรอบการติดฉลาก การรายงานสินค้าคงคลัง และการแจ้งเตือนการจัดส่งไปยังผู้ซื้อ โดย 3PL เหล่านี้ยังมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและปรับปรุงเวิร์กโฟลว์ให้สอดคล้องกับการจัดการคำสั่งซื้อมากขึ้น ด้วยการเติบโตของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และผู้ให้บริการ last mile delivery ในประเทศไทย จึงเปิดโอกาสให้มีธุรกิจจำนวนมากขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากระบบอี-คอมเมิร์ซแบบบูรณาการในท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น



จักรี ฉ่ำพจน์

ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาวุโส ประจำประเทศไทย Anchanto


อ่านเพิ่มเติม:

>> การลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจสู่ Net Zero

>> 10 อันดับ มหาวิทยาลัยเอกชนไม่แสวงกำไรในสหรัฐฯ ประจำปี 2022


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine