ความก้าวหน้าเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญพันธุ์ - Forbes Thailand

ความก้าวหน้าเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญพันธุ์

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jul 2021 | 07:18 AM
READ 2551

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันนี้โครงสร้างครอบครัวไทยได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเพราะด้วยยุคสมัย ทัศนคติ ค่านิยมที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงานเป็นโสดมากขึ้น หลายๆ คนแต่งงานช้าและมีลูกเมื่ออายุมาก เพราะเป็นช่วงที่ต้องการตักตวงประสบการณ์ วางแผนชีวิตให้สมบูรณ์และมีความพร้อมในด้านต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต สถานะทางการเงิน ความมั่นคงในหน้าที่การงานครอบครัวสมัยใหม่จึงเลือกมีลูกเมื่อพร้อม ซึ่งกว่าที่จะพร้อมในทุกๆ ด้านที่ต้องการก็อาจจะไม่สามารถมีลูกได้ด้วยวิธีธรรมชาติและต้องอาศัยเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ได้เข้ามามีบทบาทสามารถตอบโจทย์ครอบครัวสมัยใหม่ได้ในหลายๆ ด้าน เช่น  
  • การฝากไข่ (Egg Freezing)
เทรนด์ใหม่สำหรับผู้หญิงวัยทำงาน หากคุณยังไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือยังต้องการอิสระในการใช้ชีวิต “การฝากไข่” หรือ “การแช่แข็งไข่” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อเก็บไข่ในวันที่ยังมีคุณภาพดีไว้ใช้เมื่อพร้อมที่จะมีครอบครัวในอนาคต ซึ่งแต่เดิมคนทั่วไปมักจะเฉพาะเจาะจงการฝากไข่ไปยังกลุ่มผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งจะต้องมีการรักษาโดยการให้เคมีบำบัดหรือการฉายแสงหรือผู้หญิงที่เป็นโรคที่ทำให้ต้องตัดรังไข่ออกไป เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ ฯลฯ แต่จริงๆ แล้วการฝากไข่นั้นเหมาะสำหรับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่พร้อมจะมีลูกในตอนนี้ แต่ต้องการมีลูกในอนาคต การฝากไข่ คือ การนำเซลล์ไข่มาแช่แข็งในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาคุณภาพของเซลล์ไข่ให้คงสภาพเดิม การฝากไข่สามารถทำได้ในทุกช่วงวัยของผู้หญิง แต่อายุที่เหมาะสมในการฝากไข่อยู่ที่ช่วงอายุ 28-35 ปี คุณภาพของไข่ขึ้นอยู่กับอายุผู้หญิงที่มีอายุน้อยจะมีไข่ที่มีคุณภาพดี เมื่ออายุมากขึ้นจำนวนไข่และคุณภาพของไข่จะลดลง ดังนั้น การฝากไข่จะช่วยรักษาคุณภาพของไข่ให้มีคุณภาพดี เมื่อพร้อมที่จะมีบุตรก็นำไข่ที่แช่แข็งไว้มาละลายและผสมกับอสุจิ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยทางด้านการเจริญพันธุ์เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน และย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อตั้งครรภ์
  • การตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว
การที่คนแต่งงานช้าลง หรือพร้อมที่จะมีลูก เมื่ออายุมากขึ้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในปัจจุบัน วิวัฒนาการในเรื่องของการทำ IVF (In Vitro Fertilization) หรือการทำเด็กหลอดแก้วที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ (success rate) ในปัจจุบันให้ดีขึ้นกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว หรือที่เรียกกันว่า Preimplantation Genetic Testing for Aneuploidy (PGT-A ) เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่แนะนำในคู่แต่งงานที่ฝ่ายหญิงมีอายุมาก หรือมากกว่า 35 ปี ผู้ที่เคยทำ IVF แล้วไม่ตั้งครรภ์ ผู้ที่เคยมีประวัติการแท้งบุตรมาแล้วหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ และผู้ที่เคยมีประวัติคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ PGT-A เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากจำนวนของโครโมโซมที่ขาดหรือเกิน เป็นการนำเซลล์เพียงเล็กน้อยจากตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะฝังตัวไปทำการตรวจด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) ที่สามารถตรวจคัดกรองจำนวนโครโมโซมได้ทั้ง 24 คู่ ให้ผลการวิเคราะห์ที่ละเอียดและมีความแม่นยำสูงสุดถึง 99.9% สามารถมองเห็นความผิดปกติของโครโมโซมได้แม้เป็นเพียงชิ้นส่วนขนาดเล็ก เพราะตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมขาดหรือเกินไปกว่าปกติส่งผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน อาจทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวที่ผนังมดลูก เป็นสาเหตุของการแท้งบุตรหรือคลอดมาเป็นเด็กที่มีจำนวนโครโมโซมผิดปกติ เช่น เด็กที่มีกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s Syndrome) ดังนั้น การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนเพื่อคัดเลือกเอาตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติในการใส่กลับจึงสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สำเร็จได้  
  • การหยุดโรคทางพันธุกรรมไว้ที่รุ่นพ่อแม่
เมื่อครอบครัวสมัยใหม่ต้องการมีลูกเมื่อพร้อมและต้องการที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก แน่นอนสิ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้เกิดกับลูกคือการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่ลูก หนึ่งในโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในครอบครัวไทยคือ “โรคธาลัสซีเมีย” (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมระดับยีน ทำให้การสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนสำคัญของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ถูกทำลายง่าย นำไปสู่ภาวะโลหิตจางเรื้อรังหรือภาวะซีด และสภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น มีการเจริญเติบโตช้า มีภาวะเหล็กเกิน การทำงานของหัวใจและตับผิดปกติ เบาหวาน เป็นต้น ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรือปัจจุบันเรียกว่าผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียแฝง อาจจะไม่มีอาการของโรค มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกตินี้สู่ลูกหลานได้ ซึ่ง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรในประเทศไทยมียีนโรคนี้แฝงอยู่ ซึ่งถ้าพ่อแม่มียีนแฝง ลูกที่คลอดออกมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ถึง 25% แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้สามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพันธุกรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคู่สมรสที่ในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมสามารถวางแผนมีบุตรโดยหลีกเลี่ยงโรคพันธุกรรมนั้นๆ ไม่ให้ถูกถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกได้ด้วยการตรวจเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร เพื่อตรวจคัดกรองพาหะของโรค ควบคู่ไปกับการทำ IVF และ Preimplantation Genetic Testing for Monogenic Disorder (PGT-M) PGT-M เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมจากความผิดปกติในระดับยีน โดยการนำเซลล์ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ไปตรวจด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) -based SNP linkage analysis เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่ไม่เป็นโรคย้ายกลับไปฝังตัวในโพรงมดลูก จึงสามารถช่วยลดการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกได้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป   พญ. เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ พญ. เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจตนิน   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine