ส่องหุ้นเด่นเวียดนาม กลุ่มไหนน่าลงทุน - Forbes Thailand

ส่องหุ้นเด่นเวียดนาม กลุ่มไหนน่าลงทุน

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Mar 2023 | 02:05 PM
READ 4519

ปี 2566 นี้ เป็นอีกปีที่ทุกคนต้องพร้อมเผชิญหน้ากับความผันผวนสูงที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ละประเทศล้วนมีจุดเปราะบางปะทุขึ้นมาท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่ยังเดินหน้าพลิกฟื้นตามวัฏจักรของโลกหลังโควิด


    ซึ่งปีนี้โลกตะวันตกจะเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงมากกว่าฝั่งเอเชีย นั่นเพราะผลข้างเคียงจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อสุดร้อนแรง กลายเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ ฉุดรั้งผลการดำเนินงานอ่อนตัวและกระทบไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

    เอฟเฟคจากดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มสร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจขึ้นมาในต้นปีนี้แล้ว ผ่านการล้มของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนเผชิญความระส่ำระสายกับปัญหาขาดสภาพคล่อง

    จากจุดเริ่มต้นธนาคารท้องถิ่นในสหรัฐฯ ที่ล้มจากการปล่อยกู้ให้กับเหล่าสตาร์อัพและฟินเทคที่ทนพิษต้นทุนดอกเบี้ยสูงไม่ได้ นำโดย Silicon Valley Bank (SVB) ล้ม ถูกปิดกิจการ ตามด้วย Singature Bank และ Sivergate Bank ฝั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งกองทุนเข้ามาค้ำประกันเงินฝากและแก้ปัญหาสภาพคล่องเพื่อพยุงสถานการณ์ให้ผลกระทบอยู่ในวงจำกัด รวมถึงมาตรการฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูระบบธนาคาร

    ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าเงินเฟ้อเริ่มลดลง ล่าสุด (22 มีนาคม) ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75%-5%

    หลังจากเกิดปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ ล้ม แบงก์ยุโรปก็ระเบิดปัญหาแบงก์ใหญ่ล้มตามมา คือ ธนาคาร Credit Suisse เป็นแบงก์ใหญ่อายุยาวนานกว่า 160 ปี ที่มีขนาดสินทรัพย์กว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่อันดับ 2 ของสวิส ซึ่งรัฐบาลสวิสได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการให้ธนาคาร UBS เข้ามาซื้อกิจการในมูลค่า 3 พันล้านฟรังซ์สวิส เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภาคธนาคาร และเศรษฐกิจของประเทศ

    ล่าสุด Deutsche Bank หรือ DB ของเยอรมัน กำลังประสบปัญหาฐานะทางการเงินสั่นคลอนเช่นกัน ขณะที่ราคาหุ้น DB ร่วงหนักแล้ว ยังเผชิญปัญหาต้นทุนประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของธนาคาร (CDS) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี และ CDS ของธนาคารรายใหญ่ๆ ในยุโรปปรับตัวขึ้น สะท้อนความไม่มั่นใจของตลาดการเงิน

    ปฏิกิริยานักลงทุนทั่วโลกยังกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของภาคธนาคารทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ หลังจากในช่วง 1 ปีที่แล้ว ธนาคารกลางๆ ต่างได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว สร้างแรงกดดันต่อระบบการเงินของโลก ที่ขณะนี้เผชิญกับปัญหาภาวะการเงินตึงตัว และสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจกำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยในฝั่งตะวันตก

    แม้ว่าเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกเข้าสู่ Sunset แต่ก็ใช่ว่าโลกทั้งใบจะอับแสงไปหมด เพราะยังมีอีกหลายประเทศในฝั่งเอเชียที่ยังส่องสว่าง แม้จะไม่ใช่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็จัดว่าเป็นกลุ่มที่สร้างโอกาสการเจริญเติบโตให้กับโลกได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่โดดเด่นในเวลานี้


เศรษฐกิจเวียดนามโตแรง เงินเฟ้อเริ่มลดแล้ว


    ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามถือเป็นประเทศที่ภาคธุรกิจใหญ่ๆ ของโลก ได้เข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีการเติบโตไม่สิ้นสุดของโลกดิจิทัล

    เมื่อเร็วๆ นี้ Keppel Corporation บริษัทยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาฯ มองว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยกระจายความเสี่ยงออกจากจีน

    จริงๆ แล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โลกเกิดปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองเวียดนามอยู่ในแผน China Plus One คงจำกันได้ว่า ในอดีตหากบริษัทจะตั้งฐานการผลิตสินค้า ประเทศแรกที่ถูกนึกถึงคือจีน

    แต่ปัจจุบันด้วยปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาฐานการผลิตใหม่ และเป้าหมายก็คือเวียดนาม ซึ่งเป็นที่มาของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่พาเหรดเข้ามาขยายฐานการผลิตในเวียดนามเป็นจำนวนมาก เช่น Samsung, Apple, Xiaomi และ LG ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในช่วงปี 2559-2563 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 5.9% ต่อปี

    และในปี 2565 ถือเป็นปีทองของเวียดนามที่มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในเอเชีย ด้วยมูลค่ากว่า 22,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งสูงถีง 8% ทั้งที่ภายในประเทศเวียดนามประสบปัญหาหลายด้านในเวลานั้น แต่เศรษฐกิจก็ยังสามารถขยายตัวได้สูงสุดในรอบ 25 ปี และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในกลุ่ม CLMV ด้วยกัน

    แม้แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 นี้ สำนักงานสถิติเวียดนามประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ พลิกกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมอยู่ที่ 3.35% ลดลงจาก 4.31% ลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเวียดนามผ่านจุดพีคไปแล้ว ช่วยลดแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเวียดนาม

    สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ พบว่า เมื่อเทียบกับไตรมาสกันปีก่อน ตัวเลขค้าปลีกขยายตัวแรง 13.4% ด้านดุลการค้าเป็นบวกที่ 4,070 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าต่อเนื่อง มูลค่ารวมไตรมาสแรกอยู่ที่ 4,320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงมาก โดยนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไตรมาสแรกอยู่ที่ 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2,970%

    สำหรับปีนี้ สำนักงานสถิติเวียดนาม ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP อยู่ที่ 6.2% ในปี 2566 นี้ ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คงคาดการณ์ GDP เติบโต 6.2% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในอาเซียน และหากบริษัทต่างชาติยกให้เวียดนามเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อเป็นโรงงานแห่งใหม่ของ Supply Chain โลก ก็จะยิ่งเป็นแรงส่งให้เวียดนามได้รับการพัฒนาและสร้างการเจริญเติบโตในระยะยาว


อสังหาฯ เวียดนามเฮ รัฐบาลยืดอายุหนี้ ผ่อนมาตรการควบคุมตราสารหนี้


    สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศยืดอายุหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมปรับโครงสร้างหนี้ที่ผิดนัดชำระไปแล้วเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีผลในวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

    มาตรการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในด้านสภาพคล่อง และสร้างสมดุลระหว่างความต้องการขายและความต้องการซื้อที่แท้จริง มาตรการดังกล่าวจะรวมไปถึงการพัฒนาโครงการ Social Housing การปรับปรุงอะพาร์ตเมนต์เก่า อาคารสำนักงานให้เช่า และการบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย

    ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Vietnam Bond Market Association ในปีนี้ มีตราสารหนี้ที่ครบกำหนดถึง 309 ล้านล้านดองหรือ 13,090 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ถึง 119 ล้านล้านดองหรือราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด

    นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังได้ขอความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ให้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่งได้เตรียมวงเงินกู้พิเศษ 5,000 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 170,000 ล้านบาทพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ 1.5-2% สำหรับผู้พัฒนาและผู้ซื้อโครงการ Social Housing ซึ่งจากการสำรวจงบการเงินบริษัทอสังหาริมทรพย์

หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหลายบริษัทจะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปได้ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่อย่าง No Va Land

    ล่าสุด วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา No Va Land มีมติในที่ประชุมกรรมการบริษัทเตรียมออกตราสารหนี้ชุดใหม่มูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านดอง และ ขอปรับปรุงเงื่อนไขในการขยายอายุตราสารหนี้ออกไปเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารงาน

    การออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ถือเป็นสัญญาณดีของภาคอสังหาริมทรัพย์เวียดนาม และจะมาช่วยผ่อนคลายแรงกดดันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจะช่วยให้เวียดนามผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้แน่นอน


เฟ้นหาหุ้นเวียดนามตัวไหนกลุ่มไหนโดดเด่นน่าสนใจลงทุน


    ในมุมมองของผม มีความเชื่อมั่นต่ออนาคตเศรษฐกิจของเวียดนาม และแน่นอนว่า บริษัทต่างๆในตลาดหุ้นเวียดนามย่อมมีการเติบโตด้านรายได้และกำไร สอดคล้องไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

    ขณะที่ปีที่แล้วดัชนี VNI ตลาดหุ้นเวียดนาม ได้ปรับตัวลดลงแรงกว่า 30% สวนทางกับเศรษฐกิจที่เติบโตสูงทำสถิติในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนาม มีค่า P/E เท่ากับ 13.66เท่า และยังมีแรงเข้าซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม สะท้อนผ่านทาง Foreign Limit ของหุ้นต่างๆ ที่ยังคงเต็มลิมิตและมีค่า Premium ในระดับสูง

    หากถามว่า ตอนนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามยังสามารถเข้าไปลงทุนได้หรือไม่ ผมแนะนำให้เลือกลงทุน "หุ้นดี ราคาเหมาะสม อนาคตเติบโต" จัดเป็นหุ้น High Growth ที่มีศักยภาพการทำกำไรในระยะยาว

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทดสอบ Back Test ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีของ Jitta Ranking เวียดนามสามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นได้สูงถึง 16.26% ต่อปี และจากการใช้ AI ช่วยวิเคราะห์และคัดเลือก "หุ้นดีราคาถูก" ซึ่งหากคุณอยากได้ข้อมูลหุ้นตัวไหนของเวียดนามที่น่าลงทุนโดดเด่นและเติบโตในระยะยาว สามารถเข้าไปดูข้อมูลการวิเคราะห์หุ้นรายตัวได้ใน Jitta.com แล้วเลือกดู Jitta Ranking เวียดนามก็จะพบการจัดอันดับหุ้นทั้งหมด หรืออีกวิธีคือการเข้าไปดูแผนการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล ตลาดหุ้นวียดนามที่ลงทุนผ่าน กองทุน VanEck Vietnam ETF ว่า ได้ลงทุนในหุ้นตัวไหนบ้าง

    ผมขอโชว์หุ้นเวียดนาม 10 อันดับสูงสุดที่กองทุน VanEck Vietnam ETF ได้ลงทุนไว้ (ข้อมูล ณ 27 มีนาคม 2566) ได้แก่ Vinhomes Joint Stock Company, Vetnam Dairy Products Joint Stock Company, Hoa Phat Group Joint Stock Company, Vingroup Joint Stock Company, Joint Stock Commercial Bank for Foreign Trade of Vietnam, Masan Group Corporation, SSI Securities Corporation, VNDIRECT Securities Joint Stock Company, Saigon Beer – Alcohol – Beverage Corporation, Joint Stock Company, Vincorn Retail Joint Stock Company

    ปัจจุบัน กลุ่มหุ้นหลักในตลาดหุ้นเวียดนาม ได้แก่ กลุ่มภาคการเงิน (Financials) ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ยิ่งเศรษฐกิจมีเม็ดเงินสะพัดจากการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชน มีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชากรเกือบ 100 ล้านคนที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานมีรายได้

    ดังนั้น ผลการดำเนินงานของธนาคารในเวียดนามสามารถเติบโตทั้งรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง สาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองสูงในตลาด ส่งผลต่อรายได้และกำไรเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ

    แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก่อนที่คุณจะตัดสินใจการกระจายเงินลงทุนในหุ้นเวียดนาม ผมขอให้คุณทำการบ้านมากๆ นะครับ หาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามและทำความเข้าใจมากๆ ด้วย

    เนื่องจากปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนา และตัวตลาดหุ้นเวียดนาม ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ตลาดหุ้นชายขอบ หรือ Frontier Market ซึ่งจะมีความผันผวนมากกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างตลาดหุ้นไทย ซึ่งในหลักการลงทุนแล้ว "การลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงย่อมสูงตามไปด้วย"

    นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างทางลงทุนระยะยาว คุณอาจจะเจอกับความผันผวนต่างๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศกระแทกเป็นระยะๆ แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าได้เลือกหุ้นดี ธุรกิจมีอนาคต ผลดำเนินงานเติบโตได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ

    มีการทบทวนหุ้นที่ลงทุน ทำการบ้านอยู่สม่ำเสมอ แน่นอนว่า การถือหุ้นในระยะปานกลางถึงระยะยาว ย่อมจะได้รับผลตอบแทนที่ดีผ่านเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น สร้างการเติบโตให้พอร์ตได้ตามเป้าหมายครับ


บทความโดย

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ซีอีโอ Jitta Wealth



ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine