เมื่อ Mark Zuckerberg ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ของบริษัทที่จะเปลี่ยนไปจาก Social Media ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก เข้าสู่โลกของ Metaverse
Metaverse ที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเชื่อมต่อผู้คนในโลกออนไลน์ในปัจจุบันให้มีประสบการณ์ที่สัมผัสได้เสมือนในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้า เล่นกีฬา เล่มเกม ประชุม สัมมนา ชมคอนเสิร์ต ท่องเที่ยว เรียนหนังสือ และกิจกรรมอื่นๆ ที่มากกว่าการใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง เหมือนมีอีกชีวิตหนึ่งในโลกอวตาร ที่คล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One สำหรับการเตรียมการของ Mark Zuckerberg ก่อนที่จะประกาศเรื่อง Metaverse นั้น ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2014 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Oculus VR ด้วยมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งบริษัท Oculus VR ก่อตั้งโดย Palmer Luckey ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแว่น 3 มิติสวมหัวแบบมีจอภาพในตัว (Head-mounted Display) โดยในสมัยนั้นแว่น 3 มิติยังเป็นเทคโนโลยีที่วงการ Video Game ใฝ่ฝันที่อยากจะสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการเล่นเกมในรูปแบบที่ดูสมจริงมากขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีในอดีตยังมีอุปสรรคอยู่มาก จึงทำให้แว่น 3 มิติล้มเหลวมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็ทำให้ Palmer Luckey ได้พัฒนาแว่น 3 มิติรุ่นใหม่ร่วมกับนักพัฒนาเกมเพื่อปรับการใช้งานให้ดีขึ้นให้สอดรับกับ Software จึงทำให้แว่น Oculus VR เริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่การนำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ที่เป็นการจำลองภาพให้เสมือนจริงแบบ 360 องศามาใช้เป็นส่วนประกอบของ Metaverse เท่านั้น แต่ยังต้องมารวมกับเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่เป็นการผสานระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกันด้วย โดยการใช้ระบบ Software และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ เพื่อให้เราสามารถโต้ตอบกับสิ่งที่จำลองขึ้นมาได้ และที่เห็นได้ชัดเจน คือ เกม Pokemon GO ของบริษัท Nintendo ที่เป็นการผสมผสานเทคโนโลยี AR ในการเล่นเกมบน Smartphone ที่ได้รับความนิยมและทำรายได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจเกมยังเป็น Content Creator ที่สำคัญของการเริ่มต้นในโลกเทคโนโลยีการแสดงผลแบบใหม่นี้ ปัจจุบันธุรกิจเกมที่ได้รับความนิยมและเป็นกีฬาชนิดหนึ่งก็คือ Esports ที่มีผู้เล่นจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีการคาดการณ์จาก Newzoo ว่า ตลาดเกมทั่วโลกในปัจจุบัน 1.75 แสนล้านเหรียญฯ จะเติบโตเป็น 2.04 แสนล้านเหรียญฯ ในปี 2023 หรือคิดเป็นการเติบโตที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการณ์รายได้ใน 12 เดือนข้างหน้าของ Bloomberg Consensus ในธุรกิจ Video Games & Esports ว่า จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 25 ทั้งนี้เกมส่วนใหญ่จะเล่นบนอุปกรณ์ Mobile เช่น Smartphone และ Tablet ที่มีส่วนแบ่งสูงถึงร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับเกมที่เล่นบน PC และ Console ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 28 และร้อยละ 20 ตามลำดับ และไม่ใช่เพียงแต่ผู้เล่นเท่านั้นที่ช่วยสร้างรายได้ในวงการเกม แต่ปัจจุบันผู้ชมการแข่งขัน Esports ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้วงการ Esports มีรายได้จาก Sponsorships และสื่อต่างๆ โดยคาดว่าภายในปี 2025 จะมีผู้คนกว่า 700 ล้านคนจากทั่วโลกที่จะชมการแข่งขัน Esports เพิ่มขึ้นจาก 550 ล้านคนในปัจจุบัน ช่องทางที่กำลังได้รับความนิยมก็คือ Live Streaming ของนักเล่นเกมมือโปรที่มีผู้รับชมที่เป็นแฟนคลับเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การชมการแข่งขันที่เป็น Tournament ที่มีการชิงเงินรางวัลสูง อย่างรายการ The International 10 ที่เพิ่งจบไป โดยเป็นการแข่งขันเกม DOTA 2 ของบริษัท Valve ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีีเงินรางวัลรวมกว่า 40 ล้านเหรียญฯซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมไม่ต่างจากการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ อย่าง NBA และ NFL เลยทีเดียว Esports จึงเป็นประตูให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์ของเทคโนโลยี ทั้ง VR และ AR แห่งโลกเสมือนจริงใน Metaverse ที่มีความเป็นไปได้มาก เพราะในปัจจุบันองค์ประกอบของเกม ทั้งภาพ เสียง การเคลื่อนไหว และสินค้าที่ใช้ในเกม รวมถึงระบบการชำระเงินต่างๆ ของเกม ได้มีการพัฒนาจนทำให้ผู้เล่นสามารถสัมผัสประสบการณ์ได้เหมือนมีอีกหนึ่งชีวิตที่เข้าไปโลดแล่นอยู่ในเกม ดังนั้น Metaverse จึงเป็นโอกาสที่บริษัทพัฒนาเกมจะได้เติบโตเพิ่มขึ้นและจะเป็นกลุ่มที่บริษัท Big Technology อย่าง FAANG อาจจะเข้ามา M&A เพื่อต่อยอดการเติบโตแบบก้าวกระโดดในโลกของ Metaverse เพิ่มขึ้นด้วย บทความโดย ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ CFP® Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine