ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2021 ของจีนเติบโตสูงถึงร้อยละ 18.3 YoY นับเป็นตัวเลขการเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีน ได้ประโยชน์จากแรงหนุนอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก และจีนนับเป็นประเทศหลักเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้แล้ว
Bloomberg Consensus คาดว่า เศรษฐกิจจีน ปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้แรงส่งจากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 33.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) สะท้อนการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
และถ้าดูตัวเลขการส่งออก (Exports) เดือน เม.ย.ที่ขยายตัวร้อยละ 32.3 YoY เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 30.6 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ยังบ่งชี้ว่า แม้ต่างประเทศเริ่มกลับมาเปิดเมืองและเร่งการผลิตสินค้าให้พอกับความต้องการแล้ว แต่ตัวเลขการส่งออกของจีนก็ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นับเป็นอีกเครื่องยนต์ที่สำคัญของเศรษฐกิจจีน และคาดว่าจะหนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคการผลิตต่อไปในระยะข้างหน้าอีกด้วย
ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี ของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ทำให้การประชุมสภาประชาชน (NPC Meeting) ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (China’s 14th Five-year Plan) ซึ่งถือเป็นแผนยุทธศาตร์ชาติที่กำหนดทิศทางของจีนในช่วงปี 2021 – 2025
ถ้ามองย้อนไปในอดีตแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนการเติบโตเศรษฐกิจของจีน ทำให้ปัจจุบันประชาชนจีนมี GDP per Capita หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากรสูงขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 12,000 เหรียญสหรัฐฯ และเป็นปีแรกที่จีนประกาศ “ชัยชนะต่อความยากจน”
แผนภาพที่ 1: แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน (ที่มา : www.visualcapitalist.com)
โดยการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (China’s 14th Five-year Plan) รอบนี้เป็นครั้งแรกที่ ประธานาธิบดี Xi Jinping ได้เข้ามามีบทบาทร่วมวางแผนด้วยตนเอง จากเดิมที่จะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและทีมบริหารเศรษฐกิจ และแผนฉบับนี้มีเป้าหมาย คือ การสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวมีความน่าสนใจควบคู่กับการลงทุนในหุ้นจีน ดังนี้
ในด้านของเศรษฐกิจ จีนได้เปลี่ยนวิธีการตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่มักจะตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขชัดเจน เช่น GDP Growth 5 ปี เฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 7 กลายเป็น การตั้งเป้า GDP Growth แบบปีต่อปีและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
ทั้งนี้ ด้วยอัตราการเติบโตในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ Centre for Economics and Business Research (CEBR) ระบุว่า จากที่จีนมีการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ได้ดี ส่งผลให้ เศรษฐกิจจีน ได้รับผลกระทบน้อย และในระยะยาวจีนมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าสหรัฐฯ โดยคาดว่า ประเทศจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ในปี 2028 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
แผนภาพที่ 2: แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ ในช่วงปี 2010 - 2035 โดยคาดว่า จีนจะเติบโตแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2028 (ที่มา: CEBR World Economic League Table 2021)
นอกจากนี้ นโยบายหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ คือ
นโยบายการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Green Ecology) ที่ผู้นำทั้งสหรัฐฯ และจีนหันมาให้ความสำคัญกับสภาวะสิ่งแวดล้อมของโลกมากขึ้น ซึ่งจีนเองก็มีนโยบายที่จะเพิ่มความพยายามเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือ“De-carbonization” โดยตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 18 ของ GDP ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การเป็นประเทศที่ “ปลอดคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ให้ได้ภายในปี 2060
ในขณะเดียวกัน ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว โดยปัจจุบัน จีนถือเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 55 ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทั้งนี้ สำนักวิจัยด้านการตลาดอย่าง Canalys คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในจีน
แผนภาพที่ 3: การคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน เมื่อเทียบกับรถยนต์ประเภทอื่นๆ โดยคาดว่าภายในปี 2025 รถยนต์ไฟฟ้าจะมียอดขายคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ (ที่มา: Canalys Estimates, January 2021)
นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับ
การลงทุนด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้ “Digital Economy” ขึ้นมามีสัดส่วนราวร้อยละ 10 ของ GDP ในปี 2025 ด้วยการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี 5.0 ทั้งเทคโนโลยี 5G, AI (Artificial Intelligence), Internet of Things, Smart Cities และ Semiconductors
อีกทั้งยังตั้งเป้างบประมาณการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี พร้อมกับการเพิ่มจำนวนการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมประเภท High-value Innovation ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับขนาดของ GDP
การที่จีนให้ความสำคัญในด้านนี้ก็เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ โดยกลุ่มนวัตกรรมของจีนได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา
ส่งผลให้เกิดการเร่งตัวของพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น เช่น การซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบ E-commerce ในจีน ข้อมูลจาก eMarket เปรียบเทียบ E-commerce กับยอดค้าปลีกโดยรวมที่ไม่ถึงร้อยละ 50 ในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 60 ในปี 2024 และมียอดขายรวมกว่า 3.5 ล้านล้านเหรียญฯ
แผนภาพที่ 4: แสดงการเปรียบเทียบ E-commerce กับยอดค้าปลีกโดยรวมที่ไม่ถึงร้อยละ 50 ในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 60 ในปี 2024 และมียอดขายรวมกว่า 3.5 ล้านล้านเหรียญฯ (ที่มา : www.emarketer.com)
ส่วนใน
แง่ของการเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร รัฐบาลได้ตั้งเป้าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ปีจาก 77 ปี เป็น 78 ปี ควบคู่ไปกับการสนับสนุนอุตสาหกรรม Healthcare อย่างเต็มที่ ภายใต้ธีม
“Healthy China 2030 Plan” เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างประชากรจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ดังนั้น ประชากรวัยแรงงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะต้องได้รับการดูแลสุขภาพ และพัฒนาการรักษาให้มากยิ่งขึ้น เช่น การเร่งอนุมัติยาตัวใหม่ให้เร็วขึ้นจาก CFDA (The China Food and Drug Administration) และสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาตัวยาที่มีคุณภาพร่วมกับบริษัทต่างชาติ
รวมถึงการเร่งอนุมัติยาตัวใหม่ให้เร็วขึ้นจาก CFDA (The China Food and Drug Administration) จนทำให้จำนวนยาใหม่ของจีนที่ได้รับการอนุมัติ ในปี 2019 มีทั้งหมด 56 ตัว เทียบกับในปี 2015 2016 ที่มีเพียง 7 และ 9 ตัวตามลำดับ และเป็นครั้งแรกที่จำนวนยาใหม่ที่ได้รับอนุมัติในประเทศจีนสูงกว่าสหรัฐฯ
โดยสิ่งที่กำลังเร่งตัวการเติบโตกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือ การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของจีนที่วิจัยพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในหลายๆ ประเทศ ได้แก่ Sinovac กับ Sinopharm ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก แต่ด้วยการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน จีนก็ยังพัฒนาวัคซีนประเภทเชื้อเป็น (mRNA) รูปแบบเดียวกับ Pfizer & BioNTech และ Moderna ก็กำลังเข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมนี้
โดยวัคซีนที่ชื่อ ARCoV เกิดจากความร่วมมือระหว่างซูโจว อ้ายโป๋ ไบโอไซเอนซ์ (Suzhou Abogen Biosciences) สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AMMS) และบริษัท วาลแว็กซ์ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด (Walvax Biotechnology)
ในแง่การลงทุนนั้น แน่นอนว่าจะมีกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มได้รับประโยชน์อย่างมากจากแผนยุทธศาสตร์ของจีน และกลายเป็นหุ้นเมกะเทรนด์ของจีนในอนาคต เช่น
ธุรกิจกลุ่ม China Health Innovation ประกอบไปด้วยกลุ่ม Pharmaceuticals, Biotechnology, Healthcare IT, Medical Equipment ที่มีแนวโน้มเติบโตตาม Megatrends สังคมผู้สูงอายุในจีนและได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ
รวมถึงกลุ่ม China Consumer Discretionary เช่น กลุ่ม E-commerce, EV, Online Education, Gaming Services ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตตามการบริโภคภายในประเทศและรายได้ต่อหัวของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังอยู่ใน Megatrends ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะ 5 ปีข้างหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงระยะสั้นในการลงทุนตลาดหุ้นจีน คือ “Regulatory Risks” จากการที่รัฐบาลยังคงเข้ามาแทรกแซงและกำกับดูแลกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ E-commerce และ Fintech อยู่บ้าง แต่ด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาแล้วก็อาจจะเป็นจุดที่น่าสนใจในการเข้าลงทุน เพราะในระยะยาวเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีคุณภาพ ตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนได้วางเอาไว้

บทความโดย
ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์
CFP
® Head of Wealth Advisory
ธนาคารทิสโก้
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine