นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 เศรษฐกิจยุโรปก็ประสบปัญหารุมเร้าต่อเนื่อง ทั้งจากปัญหาหนี้ภาครัฐของกลุ่มประเทศ PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) และปัญหาการเมืองที่มีรากฐานมาจากความไม่พอใจของประชาชนที่สั่งสมมานานจากเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องหลายปี ประกอบกับความไม่แน่นอนจากการเจรจา Brexit รวมถึงปัญหาภาคธนาคารมีหนี้เสียในระดับสูง เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยกู้และกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง อัตราการว่างงานที่พุ่งสูงเกิน 20% ในหลายประเทศ
ประกอบกับมาตรการรัดเข็มขัดของภาครัฐ ที่นำไปสู่การลดสวัสดิการสังคม เช่น การยืดอายุเกษียณและการลดเงินอุดหนุนให้ผู้เกษียณอายุ รวมไปถึงการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ซึ่งมุ่งลดสิทธิของลูกจ้างเพื่อให้การตลาดแรงงานมีความยืนหยุ่นมากขึ้น ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านพรรคการเมืองกระแสหลักที่ประชาชนเห็นว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา และหันไปให้การสนับสนุนพรรคการเมืองเกิดใหม่ ซึ่งมีนโยบายต่อต้านการรัดเข็มขัด
นอกจากคะแนนความนิยมของพรรคซึ่งมีนโยบายต่อต้านการรัดเข็มขัดที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความไม่พอใจของประชาชนยังสะท้อนผ่านการออกเสียงประชามติ Brexit ในเดือนมิถุนายน และการออกเสียงประชามติคว่ำการปฏิรูปการเมืองในอิตาลีในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รวมถึงความพยายามประกาศเอกราชของท้องถิ่น เพื่อแยกตัวออกจากประเทศที่มีเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น ในกรณีแนวร่วม Junts Pel Si ที่เรียกร้องการแยกตัวของแคว้น Catalan ออกจากสเปน เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้นการก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ Donald Trump ซึ่งชูนโยบายกีดกันทางการค้า และการต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าประเทศ อาจเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้กระแสพรรคประชานิยม (populist parties) ในยุโรปเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยในปี 2560 มีการเลือกตั้งที่สำคัญหลายประเทศในยุโรป ได้แก่
การเลือกตั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์ วันที่ 15 มีนาคม 2560 ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าพรรคฝ่ายขวา PVV ต้องการจัดทำประชามติเพื่อให้เนเธอร์แลนด์ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 23% ขณะที่พรรครัฐบาลปัจจุบัน (VVD) ความนิยมลดลงเป็น 16% โอกาสที่จะได้พรรคต่อต้านสหภาพยุโรปขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจึงค่อนข้างสูง
สำหรับฝรั่งเศสจะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 รอบ ในวันที่ 23 เมษายนและ 7 พฤษภาคม โดยในรอบแรกจะเป็นการคัดเลือกเอาผู้สมัครที่มีคะแนนมากที่สุด 2 ลำดับแรกไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า Francois Fillon จากพรรค The Republicans และ Marine Le Pen จากพรรค National Front ซึ่งเคยกล่าวว่าจะจัดทำประชามติเพื่อให้ฝรั่งเศสออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เป็นสองรายที่มีคะแนนนำที่ 65% และ 35% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม คะแนนความนิยม Fillon มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ Le Pen มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่ Le Pen จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีและจัดทำประชามติเพื่อออกจาก EU ยังคงมีอยู่
ความเสี่ยงจากการเจรจา Brexit
นอกจากความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการเลือกตั้งในหลายประเทศแล้ว ความเสี่ยงจากการเจรจา Brexit ที่จะเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นและการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป
โดย Theresa May นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวในการแถลงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวในการเจรจา Brexit เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา โดยย้ำถึงความสำคัญในการควบคุมจำนวนผู้อพยพ การยกเลิกการยอมรับขอบเขตของอำนาจศาลและกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภายุโรป และการลดการจ่ายเงินอุดหนุนให้สหภาพยุโรป
ด้านการค้า Theresa May ย้ำว่า อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกตลาดเดียว (single market) ซึ่งต้องยอมรับกฎการเคลื่อนย้ายเสรี 4 ประการ (4 freedom) ได้แก่ สินค้า บริการ ทุน และแรงงาน เนื่องจากอังกฤษต้องการจำกัดจำนวนผู้อพยพ นอกจากนี้อังกฤษจะไม่เป็นสมาชิกสหภาพศุลกากร (Custom Union) ซึ่งกำหนดให้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากนอกกลุ่มในอัตราเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากอังกฤษต้องการอิสระในการเจรจาข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นๆ
จากแนวทางดังกล่าว อังกฤษอาจจะต้องเริ่มเจรจาการค้ากับ EU ใหม่ทั้งหมด อังกฤษจะมีเวลาในการเจรจาเพียง 2 ปีตามข้อกำหนดในมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้การเจรจายังน่าจะคืบหน้าได้ช้าในปีนี้ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น Theresa May ยังแสดงท่าทีที่แข็งกร้าว โดยกล่าวว่าอังกฤษพร้อมที่จะหันหลังให้กับการเจรจา (“No deal is better than bad deal”) หากผู้นำสหภาพยุโรปต้องการลงโทษอังกฤษผ่านการกีดกันทางการค้าเพื่อเป็นการปรามประเทศอื่น
ที่อาจต้องการออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเจรจาการค้าและทำให้การค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปถูกกระทบอย่างรุนแรง
ปัญหาในภาคธนาคาร
อีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป ได้แก่ ปัญหาในภาคธนาคารที่มีหนี้เสียอยู่ในระดับสูง และผลกำไรที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตช้า และการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางยุโรปซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (net interest margin: NIM) ของธนาคารหดแคบลง
ผลทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคารกลางยุโรป เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชี้ว่าธนาคารที่มีฐานะทางการเงินแย่สุดในยุโรป ได้แก่ ธนาคาร Monte dei Paschi (BMPS) ของอิตาลี ซึ่งตามสมมติฐานในการทดสอบธนาคารจะมีสัดส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ลดลงติดลบ -2.4% ในภาวะวิกฤต ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 4.5%
ธนาคารกลางยุโรปกำหนดให้ BMPS จัดการเพิ่มทุนให้เสร็จภายในสิ้นปี 2016 โดย BMPS เสนอแผนการเพิ่มทุนจำนวน 5 พันล้านยูโร โดยการขายหุ้นให้กับ Sovereign Wealth Fund ของประเทศกาตาร์ แต่แผนการเพิ่มทุนดังกล่าวล้มเหลวหลังกองทุนจากกาตาร์ประกาศถอนตัว ซึ่งทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องขออนุมัติเงินช่วยเหลือภาคธนาคารจำนวน 2 หมื่นล้านยูโร สำหรับการเพิ่มทุนให้ BMPS รวมถึงธนาคารอื่นๆ อีกหลายแห่งที่มีปัญหา วิกฤตธนาคารอิตาลีในครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากธนาคารที่มีปัญหาเป็นธนาคารขนาดไม่ใหญ่ และวงเงินที่ใช้ในการเพิ่มทุน (2 หมื่นล้านยูโร) นั้นคิดเป็นเพียง 1% ของ GDP อิตาลี และน้อยมากหากเทียบกับ GDP โดยรวมของยุโรป
ปัญหาของธนาคารในอิตาลี แม้จะมีโอกาสน้อยที่จะลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็สะท้อนถึงพื้นฐานเศรษฐกิจและภาคธนาคารในยุโรปที่ยังมีฐานะทางการเงินอ่อนแอ และยังมีความเสี่ยงที่อาจต้องเพิ่มทุนหากเศรษฐกิจยังเติบโตในระดับต่ำ นอกจากนั้น การเข้าช่วยเหลือภาคธนาคารจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับรัฐบาลอิตาลี ซึ่งมีหนี้อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว (130% ของ GDP) และอาจเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่วิกฤตหนี้ภาครัฐฯ
โดยความเสี่ยงวิกฤตหนี้ภาครัฐในยุโรป อาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เมื่อมาตรการ QE ของ ECB ใกล้หมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งหากธนาคารกลางยุโรปไม่มีการต่ออายุมาตรการ QE หรือมีการลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ ก็อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปเพิ่มขึ้น และทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายของหนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นตาม
คมศร ประกอบผล
หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน
TISCO Economic Strategy Unit (ESU)