ความเกี่ยวข้องของ "เงินเฟ้อ" กับการบริโภค - Forbes Thailand

เงินเฟ้อ มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา ทั้งในด้านการดำรงชีวิตและทางด้านการลงทุน โดยเรามักจะได้ยินการรายงานอยู่บ่อยครั้ง ถึงเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปแต่ละเดือน โดยในปัจจุบันพบว่าชีวิตประจำวันของผู้คนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดคำถามที่ว่าการคำนวนเงินเฟ้อแบบดั้งเดิมนั้นยังคงเหมาะสมแล้วหรือไม่กับการลงทุน?

ปัจจุบันตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยเดือนตุลาคม 2562 รายงานออกมาขยายตัวราว + 0.11% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าราคาสินค้าอย่างผักผลไม้ ข้าว ไข่ และค่าโดยสาธารณะขยับตัวสูงขึ้น แต่ในทางกลับกันราคายานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงตามตลาดโลกกดดันดัชนีราคาให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยการคำนวณ ดัชนีราคาผู้บริโภค นั้นใช้ปีฐานปี 2558 ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยคล้ายคลึงกับปัจจุบัน ซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงครั้งที่ 10 มีการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 422 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหะสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ตารางที่1 เงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค   ตารางที่2 เปรียบเทียบจำนวนรายการสินค้าและบริการของดัชนีราคาผู้บริโภค เงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค ที่มาตาราง1-2: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกระบวนการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคโดย สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีการสำรวจราคาสินค้าจากครอบครัวในพื้นที่ต่างๆ ผ่านตัวแทนแหล่งจัดเก็บต่างๆ (Surveyor) บนสินค้าจำนวน 422 รายการ โดยจะมีการจัดเก็บ บันทึก และตรวจสอบสินค้าใน 5 ภาคของประเทศไทย เพื่อนำมาประมวลผลของราคาที่เกิดขึ้นในหมวดสินค้า กระบวนการดังกล่าวจะต้องถูกทำอย่างต่อเนื่องทุกเดือนเพื่อชี้วัดการเปลี่ยนแปลงหรือการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเทียบกับปีฐาน และไปผูกโยงกับน้ำหนักรายการสินค้า โดยสินค้าที่มีน้ำหนักมากจะแสดงถึงการที่ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามากบริโภคมาก แบบสำรวจราคาที่ใช้สอบถามข้อมูลราคาสินค้าประจำเดือนประกอบด้วย รายการสินค้า ลักษณะจำเพาะสินค้า แหล่งจัดเก็บ หน่วย ราคา สถานที่ติดต่อ หรือให้บริษัทตัวแทนทำการบันทึกข้อมูลราคา
เงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค
กระบวนการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคโดย สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ในปัจจุบันการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าในตลาดอาจจะไม่ได้สะท้อนดัชนีราคาที่แท้จริงที่ผู้บริโภคใช้จ่ายจริง ในช่วงที่บริษัทขายสินค้าออนไลน์จัดโปรโมชั่นทำให้ราคาสินค้าบางหมวดหมู่มีแนวโน้มลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ในช่วง 6.6 หรือ 11.11 โดยปกติแล้วการตั้งราคาตามหลักเศรษฐศาสตร์จะคำนึงถึงโครงสร้างตลาดและต้นทุนของสินค้า นอกจากนี้ผู้ผลิตสินค้าอาจตั้งราคา โดยใช้การแบ่งแยกทางราคา (Price Discrimination) โดยผู้ผลิตจะมีกลยุทธ์ในการตั้งราคาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อต่อผู้บริโภคอย่างมาก อย่างเช่น Odd Pricing หรือการตั้งราคาด้วยการใช้หลักจิตวิทยานิยมตั้งราคาเป็นเลขลงท้ายด้วย 99 เพื่อให้ลูกค้ามองว่าราคาสินค้าไม่แพงเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงการซื้อสินค้าตามร้านค้าปลีกผู้บริโภคจะทำการเทียบราคาสินค้าใกล้เคียงกันที่ราคาแตกต่างกันในรายละเอียดเช่น ยาสีฟันสูตรต่างๆ ที่ใส่คุณสมบัติเพิ่มเติม โดยเราจะเรียกตลาดชนิดนี้ว่าตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition with Numerous Competitors) ส่งผลให้ผู้บริโภคมีข้อมูลไม่เพียงพอในการเปรียบเทียบ แต่ในปัจจุบัน ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Commerce ผู้บริโภคสามารถเทียบราคาสินค้ารายการเดียวกันในราคาที่แตกต่างกันและจะเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวที่ราคาต่ำที่สุด ดังนั้นหากผู้ผลิตหรือผู้ขายมีการใช้กลยุทธ์การตั้งราคาแบบ Competitive pricing เป็นการตั้งราคาเพื่อแข่งขันโดยจุดประสงค์ของกลยุทธ์คือการเพิ่มจำนวนลูกค้าหรือเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดโดยการดึงลูกค้าจากคู่แข่ง ซึ่งหากมีผู้ผลิตนำวิธีดังกล่าวนำมาใช้ในช่องทางการขายสินค้าออนไลน์จะทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆต้องลดตามเนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง (Red Ocean) ทำให้ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยต่ำลง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แนวโน้มราคาสินค้าและเงินเฟ้อนั้นปรับตัวลดลงในระยะยาว อย่างไรก็ดี การคำนวณดัชนีราคาผ่านการทำแบบสำรวจส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงต้นน้ำของห่วงโซ่สินค้ามากกว่าปลายน้ำ โดยปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างการขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) จะกดดันเงินเฟ้อระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำ  ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ทำให้ช่องทางการทำธุรกิจ E-commerce เติบโตขึ้นต่อเนื่อง จะมีส่วนกดดันเงินเฟ้อผ่านสองช่อง (ECB, 2015) ทางได้แก่ 1.ต้นทุนการขายสินค้าและบริการที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับธุรกิจแบบเดิมที่ซื้อขายผ่านหน้าร้านทั้งค้าส่งและค้าปลีก 2.ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคที่มากขึ้นและสามารถเปรียบเทียบราคาในตลาดได้มากขึ้น (Price transparency) นำไปสู่การแข่งขันด้านราคาที่มากขึ้น งานศึกษาเชิงประจักษ์ของ Yi and Choi (2005) พบว่าหากหากสัดส่วนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.04 - 0.13 นอกจากนั้นงานศึกษาของ Ciccarelli and Osbat (2017) ที่ศึกษาเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป พบว่าหากสัดส่วนผู้ที่ค้นหาสินค้าและบริการจากอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.025 นอกจากนั้นช่องทางการแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศมีอำนาจในการขึ้นราคาได้น้อยลง ในปัจจุบันการรัฐบาลมีแนวโน้มดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย  ผ่านขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานให้ครอบคลุมทั้งประเทศเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่ง e-commerce เป็นส่วนหนึ่งในอุตสากรรมที่มีความสำคัญ โดยธุรกิจ e-commerce มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก สะท้อนจากข้อมูลสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทาอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามูลค่า e-commerce ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.56 ล้านล้านบาท ในปี 2559 เป็น 2.76 ล้านล้านบาท ในปี 2560 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว ร้อยละ 7.91 และจะขยายตัวสูงถึงอีกร้อยละ 14.04 ในปี 2561 ในปัจจุบันปริมาณการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยพบว่าปริมาณการใช้บริการ e-Commerce ทั้งผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นเติบโตสอดคล้องกับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตในไทยและดัชนีค้าปลีก จากการศึกษาของ ETDA พบว่ามูลค่า e-Commerce ในไทยเติบโตปีละ 14.04% ดังนั้นเงินเฟ้อมีแนวโน้มคลาดเคลื่อนจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดังกล่าวและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงกับชีวิตตลอดจนการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามองว่ากระทบใน 3 มิติด้วยกัน 1.ด้านผู้วางนโยบาย 2.ด้านผู้ลงทุน 3.ด้านผู้บริโภค เงินเฟ้อที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครอบคลุม จะทำให้การกำหนดกรอบนโยบายการเงินผิดเพี้ยนไป ตลอดจนการวางอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (In-flation targeting) ของไทยที่ 2% ณ ปัจจุบันนั้นถือเป็นระดับที่ไม่อาจจะเอื้อมขึ้นไปสัมผัสได้จริงหรือไม่ หากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงมีค่าที่ต่ำกว่าตัวเลขจริง ก็อาจจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าความเป็นจริง อันส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ดังเช่นกรณีประเทศญี่ปุ่นที่เคยมีการกำหนดเงินเฟ้อเป้าหมายไว้ที่ 2% (ภาพด้านล่าง) จนในช่วงกลางปีที่ผ่านมาประกาศใช้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) หลังอยู่ในภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำเป็นระยะเวลายาวนาน
แหล่งที่มา: TRADINGECONOMIC.COM | MINISTRY OF INTERNAL AFFAIRS & COMUNITIONS
สำหรับตลาดการเงิน เงินเฟ้อนั้นมีผลกระทบกับราคาหุ้นสามัญตลอดจนอัตราคิดลดของพันธบัตรรัฐบาล หากตัวเลขดังกล่าวสูงหรือต่ำเกินจริงย่อมทำให้การประเมินมูลค่าเหมาะสมนั้นสูงหรือต่ำเกินไป และจะทำให้เกิดแรงซื้อหรือแรงเทขายในระยะสั้น (Pull back) ซึ่งอัตราการคิดลดนั้นมีหลากหลายวิธีด้วยกันและอัตราเงินเฟ้อเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญในการกำหนด Valuation ที่เหมาะสม สำหรับผู้บริโภค เงินเฟ้อนั้นจะไม่ได้กระทบอำนาจซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้นแต่จะบั่นทอนอำนาจซื้อในระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อนั้นจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในขณะทิ่อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สำหรับผู้บริโภคนั้นจะถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นรายปี เช่น การปรับขึ้นของเงินเดือน ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาการลดทอนของอำนาจซื้อจะเป็นการนำเงินมาลงทุนผ่านสินทรัพย์ต่างๆ ดังนั้นโจทย์ดังกล่าว ทางผู้วางนโยบายจึงควรมีการนำมาพิจารณาอย่างจริงจังถึงการจัดทำและเก็บสำรวจอัตรา เงินเฟ้อ ว่าความถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนการกำหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายว่ามีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนไทยมากน้อยเพียงใด ดังนั้นในอนาคตเราควรจะสร้างกรอบความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้ให้บริการ e-Commerce, สมาคมธนาคารซึ่งมีข้อมูลของผู้บริโภคและผู้ใช้งาน กับผู้วางนโยบายอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ผ่านการทำ Data sharing และกำหนดตระกร้าสินค้าที่ใช้ในการคำนวนเงินเฟ้อที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นยิ่งกว่าในปัจจุบัน