ผลการคัดเลือกสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ ดัชนี DJSI ชี้ชัดถึงความสำเร็จของธุรกิจไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนทั่วโลก ด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียนสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
หนึ่งในการประเมินที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลก และใช้เป็นข้อมูลในการลงทุน ได้แก่ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) เป็นดัชนีหลักทรัพย์ของบริษัทชั้นนำระดับโลกดำเนินการโดย S&P Global และ SAM ที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันดัชนีดังกล่าวยังสามารถสะท้อนถึงการบริหารจัดการองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีผู้ลงทุนสถาบันและกองทุนต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน โดยบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้แก่นักลงทุนพร้อมทั้งสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะมีการทบทวนและประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี สำหรับกระบวนการคัดเลือก DJSI World ประกอบด้วย ขั้นตอนการคัดเลือกบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยพิจารณาจาก free float adjusted market capitalization ณ สิ้นปีก่อนหน้า และขั้นตอนการคัดกรองธุรกิจที่มีผลคะแนนด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืนสูงที่สุด 10% ของแต่ละอุตสาหกรรมโดยให้คะแนนจากการประเมินความยั่งยืนของบริษัทหรือการศึกษาข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมทั้งขั้นตอนการกำหนดให้บริษัทที่ผ่านการคัดกรองต้องเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมคือ ขนาด free float adjusted market capitalization รวมกันไม่น้อยกว่า 15% ของอุตสาหกรรมนั้นๆ ส่วนกระบวนการคัดเลือก DJSI Emerging Markets ได้แก่ ขั้นตอนการคัดเลือกบริษัทขนาดใหญ่จากกลุ่มประเทศ Emerging Markets โดยพิจารณาจากขนาด free float adjusted market capitalization ณ สิ้นปีก่อนหน้า และขั้นตอนการคัดกรองธุรกิจที่มีผลคะแนนด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืนสูงที่สุด 10% ของแต่ละอุตสาหกรรม โดยให้คะแนนจากการประเมินความยั่งยืนของบริษัทหรือการศึกษาข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ตลท. หนุนบริษัทร่วมประเมิน จากการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุนในระยะยาวสู่ปี 2563 “Towards Sustainable Growth” ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พิจารณาถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพองค์กรให้สอดรับกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียและบริบทขององค์กรเป็นสำคัญ พร้อมด้วยการวิเคราะห์หลักการและมาตรฐานระดับสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), Global Reporting Initiative (GRI) รวมทั้งศึกษากลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนตามวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยสนับสนุนให้บริษัทไทยเข้าร่วมประเมินความยั่งยืนของ DJSI นับเป็นความสำเร็จที่บริษัทไทยสามารถก้าวสู่มาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับสากลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ประจำปี 2563 จำนวน 21 แห่ง โดยบริษัทไทยจำนวน 7 บริษัทใน 21 บริษัทได้รับคะแนนอันดับ 1 ของโลกใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 บริษัทอยู่ในกลุ่มดัชนี DJSI World รวมถึง 21 บริษัทใน DJSI Emerging Markets ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีบริษัทได้รับการคัดเลือกสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ตอกย้ำการยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทไทยที่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพในระดับสากล “การดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนนอกจากส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งและช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจแม้เกิดภาวะวิกฤต การที่ บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI โดยมีจำนวนสูงสุดในอาเซียนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นลำดับ 2 ของโลก เป็นผลจากความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันธุรกิจให้ความสำคัญในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ควบคู่ไปกับการสร้างผลประกอบการที่ดี” เปิดมิติองค์กรแห่งความยั่งยืน หนึ่งในพันธกิจของการก้าวสู่ผู้นำทางธุรกิจทั้งด้านตัวเลขรายได้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้กลายเป็นโจทย์สำคัญของการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายการดำเนินงาน ซึ่งการได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) นับเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จมาตรฐานระดับสากลและความภาคภูมิใจขององค์กรบนเวทีความยั่งยืนโลก อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI ในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) ประจำาปี 2563 อีกทั้งได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ธนาคารที่มีผลการดำเนินงานสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนระดับโลกสูงสุด (Top 10 Sustainability Leaders) หมวดธุรกิจธนาคารต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากธนาคารทั่วโลกที่เข้าร่วมการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 253 แห่ง “ไทยพาณิชย์ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำองค์กรไทยแสดงศักยภาพบนเวทีความยั่งยืนระดับโลก โดยติด Top 10 Sustainability Leaders ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI หมวดธุรกิจธนาคารต่อเนื่องเป็นปีที่ 3” ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการปรับรากฐานองค์กรควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนด้านธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ SCB Transformation ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตาม ธนาคารยังตระหนักถึงการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวที่ต้องก้าวไปพร้อมกับความสำเร็จของลูกค้าและความสุขของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนบนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับความยั่งยืนในนิยามของไทยพาณิชย์คือ การส่งผ่านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปยังทุกการดำเนินงานของธนาคาร พร้อมยึดมั่นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานจริยธรรม และความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์การเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด” (The Most Admired Bank) “เริ่มต้นจากการเสริมสร้างจิตสำนึกของพนักงานให้เชื่อมั่นว่า องค์กรจะมีความยั่งยืนได้หากทุกคนคิดและทำด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกวัน ผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่าทั้งต่อลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรในทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทั้งของพนักงานธนาคาร ลูกค้า คู่ค้าพันธมิตร รวมถึงคนในสังคม เพื่อให้สามารถอยู่รอดและก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืนท่ามกลางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา” ด้าน สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของกลุ่มดัชนีความยั่งยืน DJSI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยยังคงรักษาสถานะผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานถ่านหินและพลังงานเพื่อการใช้งาน (coal and consumable fuels) ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับคะแนนประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนสูงสุด เดินหน้านำเสนอ “อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ตามนโยบายและกลยุทธ์ Greener & Smarter อย่างต่อเนื่อง “ความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามหลัก ESG ของบ้านปูตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มใน 10 ประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่นั้น ทำให้เราได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศมากมาย” สำหรับในปีนี้บ้านปูได้รับคะแนนประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนสูงสุดทั้งในด้านคะแนนรวม และคะแนนในทั้ง 3 มิติที่ใช้ในการพิจารณา ประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ด้านการกำกับดูแลกิจการและเศรษฐกิจ (environment, social and governance & economic) ที่ชี้ให้เห็นความมุ่งมั่นและความสำเร็จของบ้านปูฯ “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านปูยังคงสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน (energy sustainability) ให้กับโลกตามกลยุทธ์ Greener & Smarter อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารพอร์ตการลงทุนอย่างสมดุล” สมฤดี ชัยมงคล กล่าวและเสริมว่า “ดังนั้นการได้เป็นสมาชิก DJSI ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 นอกจากจะสะท้อนความมุ่งมั่นของเราในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญให้กับพนักงานของเราในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบริษัทอย่างต่อเนื่องต่อไป” ส่วน Yashovardhan Lohia ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืน DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ด้วยคะแนนรวมเป็นอันดับที่ 3 เมื่อเทียบกับบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลกกล่าวถึงคะแนนสูงสุดที่ได้รับ 7 หมวดจากผลการประเมินปี 2563 เช่น กลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศ การรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม การจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และการบริหารนวัตกรรม เป็นต้น “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ระดับโลกและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญสำหรับเรา IVL ยังคงมุ่งพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างแน่วแน่ท่ามกลางความท้าทายของการแพร่ระบาดทั่วโลก ผลการประเมินของดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ถือเป็นเครื่องพิสูจน์การทำงานเป็นทีมของ IVL ที่ทุกคนต่างช่วยกันอย่างเต็มที่แม้ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ เรามองว่าความยั่งยืนเป็นการเดินทางอย่างหนึ่งซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ และจะมุ่งดำเนินการตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ท้าทายให้สำเร็จในโอกาสนี้เราขอขอบคุณพนักงาน ลูกค้าผู้ถือหุ้น คู่ธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย สำหรับการร่วมกันสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืน” ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ด้านความยั่งยืน 3 ด้านหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลตามเป้าหมายการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในฐานะบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำที่มีโรงงานผลิตครอบคลุมทุกภูมิภาคหลักทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกา ภายใต้กลุ่มธุรกิจหลักประกอบด้วย ธุรกิจ Integrated PET, ธุรกิจโอเลฟินส์, ธุรกิจเส้นใย, ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty chemicals) “ในปีที่ผ่านมานับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกหน่วยงาน ซึ่งในการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืนในรอบนี้มีบริษัทเข้าร่วมลดลงเหลือประมาณ 1,600 กว่าบริษัทจากเดิมราว 1,800 กว่าบริษัท แต่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48 บริษัทจาก 34 บริษัท เท่ากับการแข่งขันของเรามากขึ้นโดยสุดท้ายผลที่ออกมาถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับการจัดอันดับเป็นผู้นำอันดับ 1 ติดต่อกัน” โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี DJSI ด้วยความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy-SEP) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน นอกจากนั้น ไทยเบฟยังยึดถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติมาปรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมาย และเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโตสู่สังคมไทย ด้วยการคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเริ่มจากการอนุรักษ์น้ำและทรัพยากรธรรมชาติไปจนถึงกระบวนการผลิตที่คำนึงความพอเพียง และยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่สร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมไทยโดยรวม “สิ่งที่เป็นไฮไลต์ที่สุดคือ การนำเทคโนโลยีใช้ในการจัดการความยั่งยืน โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นบริษัทเครื่องดื่ม น้ำจึงถือเป็นต้นทางของเรา ซึ่งเป็นปีที่เราประสบความสำเร็จมาก ไม่ใช่แค่การบริหารจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์กับองค์กรแต่ยังทำให้เกิดกับสังคมรอบข้างได้ด้วย รวมถึงเรื่องการลดมลพิษที่ปัจจุบันเรามีอัตราการใช้พลังงานทดแทนถึง 32% ของพลังงานทั้งกลุ่ม และคิดว่าจะถึง 40% ในปี 2568 ขณะที่ภาครัฐให้มีการใช้พลังงานทดแทน 30% ในปี 2573” โฆษิตกล่าวถึงความมุ่งมั่นดำเนินงานตามวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ใส่ใจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก อ่านเพิ่มเติม: ไทยเบฟฯ สร้างชื่อ “ความยั่งยืน” ระดับโลก ภาพประกอบ: Forbes Thailand / iStockคลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในรูปแบบ e-magazine