เมื่อปี 1986 Koon Poh Keong และพี่ชายอีก 6 คนตัดสินใจตั้งบริษัทอะลูมิเนียม พวกเขาคิดถูก เพราะวันนี้บริษัท Press Metal จากมาเลเซียเป็นผู้ครองตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Koon Poh Keong รู้ว่าเขาต้องทำอะไร แต่ความเสี่ยงก็สูงมาก เขานำบริษัทมาวางเดิมพันกับแผนสร้างโรงงานในจีนเพื่อรุกตลาดอะลูมิเนียมบนแผ่นดินใหญ่ แต่บรรดาคู่แข่งชาวจีนกำลังรุมเชือดบริษัทสัญชาติมาเลเซียของเขา เขาจึงมีทางเลือกไม่มาก
Koon จึงใช้เงิน 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อที่ดินและสร้างโรงงานขึ้นนอกเมือง Foshan มณฑล Guangdong เวลานั้นคือปี 2005 และเงินก้อนดังกล่าวคิดเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าของ Press Metal บริษัทจดทะเบียนของเขา แต่สิ่งที่เดิมพันไปก็ตอบแทนเขา จากรายได้ 113 ล้านเหรียญต่อปีในวันนั้น วันนี้บริษัทสร้างรายได้ถึง 2 พันล้านเหรียญ โดยมีกำไรสุทธิ 138 ล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว ส่วนมูลค่าหุ้นก็สูงกว่า 4.7 พันล้านเหรียญ
สถิติดังกล่าวช่วยให้บริษัทได้เข้ามาอยู่ในลิสต์ Fab 50 เป็นครั้งแรก “ประเทศจีนถือเป็นสิ่งดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับ Press Metal” Koon กล่าว “จีนแปรสภาพเราอย่างสิ้นเชิง”
แม้ Koon วัย 58 ปีจะเป็นทั้งหน้าตาของ Press Metal และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แต่บริษัทแห่งนี้ก็เป็นกิจการของทั้งครอบครัวตลอดมา
![](http://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2018/11/Press-Metal-Koon-Poh-Keong.jpg)
ในปี 1986 หลังจากที่เขาเพิ่งได้ปริญญาวิศวกรรมไฟฟ้าจาก University of Oklahoma เขาก็กลับมามาเลเซียในช่วงเศรษฐกิจถดถอยพอดี เขาหางานไม่ได้ จึงก่อตั้ง Press Metal ร่วมกับพี่ชายทั้งหกคน (เขาเป็นน้องคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 7 คน)
Koon แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอะลูมิเนียม แต่เคยทำงานในร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างเล็กๆ ของครอบครัวซึ่งขายแท่งอะลูมิเนียมด้วย “เราคิดกันว่าไหนๆ ก็ขายแท่งอะลูมิเนียม แล้วทำไมไม่ผลิตเองเสียเลย” เขากล่าว เจ็ดพี่น้องจึงรวมเงินกันได้ 50,000 เหรียญ และเริ่มทำบริษัทขึ้นรูปอะลูมิเนียมในโรงงานโทรมๆ ที่เช่ามาพร้อมด้วยเครื่องจักรมือสอง
ทุกวันนี้ Koon ผู้ถือหางเสือมาตลอดตั้งแต่ต้นบริหารธุรกิจร่วมกับพี่ชาย 4 คน (อีก 2 คนเสียชีวิตไปแล้ว) แม้เขาจะเป็นคนสั่งการ แต่การตัดสินใจเรื่องสำคัญต้องผ่านคณะกรรมการเสมอ
“ครอบครัวเราสามัคคีกันดี ทุกคนมี (บทบาท) ของตัวเอง” เขากล่าว “ทุกคนช่วยสนับสนุนผมได้อย่างมาก” ตระกูล Koon ถือหุ้นใน Press Metal รวมกัน 60% โดย Koon Poh Keong เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 40% ทำให้เขามีสินทรัพย์สุทธิโดยประมาณเกือบ 2 พันล้านเหรียญ และ Koon Poh Ming พี่ชายผู้เป็นรองประธานกรรมการบริหารถือหุ้น 9% มีมูลค่าประมาณ 425 ล้านเหรียญ ส่วนพี่ชายคนอื่นๆ ถือหุ้นในสัดส่วนรองลงไป
“เราเริ่มต้นจากศูนย์โดยไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก แต่เราเรียนรู้เร็ว” ซีอีโอกล่าว
![](http://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2018/11/bewegweg_1520257683-e1542369697982.jpg)
หลังจากก่อตั้งได้ 7 ปี Press Metal ก็ย้ายไปอยู่ในโรงงานของตัวเองที่เมือง Kapar ในมาเลเซียตะวันตก ต่อมาปี 1999 บริษัทจึงเข้าจดทะเบียนเพื่อขายหุ้นบนกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย
“เรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าถึงตลาดและการประชาสัมพันธ์ที่ดีเพื่อให้เติบโตได้มากขึ้น” Koon กล่าว “เราได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากสถาบันการเงิน เพราะธนาคารอยากช่วยบริษัทจดทะเบียนมากกว่า”
ในปีนั้นเอง บริษัทก็เริ่มส่งสินค้าออกไปยังยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จนกลายเป็นบริษัทมาเลเซียแห่งแรกที่ส่งออกผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมไปยังต่างประเทศ และยังเปิดบริษัทย่อย 1 แห่งในอังกฤษจนกลายเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่รายหนึ่งของที่นั่นได้
![](http://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2018/11/Foshan1-1024x632-1-e1542370058740.jpg)
หกปีต่อมา Koon เข้าไปลงทุนในเขตชานเมือง Foshan ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังขาดระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสม ดังนั้น “คำถามสำคัญที่ (คนอื่น) ถามผมคือ ‘ทำไมมาเลือกที่แบบนี้’” เขาหัวเราะและเล่าถึงวันทำพิธีเปิดโรงงาน “คนเขาว่าผมบ้าที่มาลงทุนในที่แบบนี้” แต่มณฑล Guangzhou ซึ่งอยู่ใกล้กันเป็นบ้านเกิดของพ่อแม่เขา ที่นี่จึงเป็นทางเลือกที่เขาตัดสินใจได้ง่ายเมื่อมองหาทำเลที่ตั้งราคาถูก และพี่น้องตระกูลนี้ก็พูดภาษากวางตุ้งซึ่งเป็นภาษาถิ่นได้
จากนั้น Press Metal ก็ต้องทำให้ธุรกิจพร้อมโดยเร็ว บริษัทจึงซื้อโรงงานถลุงอะลูมิเนียมและที่ดินอุตสาหกรรมหลายร้อยเอเคอร์เพื่อตั้งโรงงานในต่างประเทศแห่งแรก “เราต้องดำเนินการเลยเพื่อให้ธนาคารและรัฐบาลเห็นว่า (ในตอนนั้น) บริษัทของเราประสบความสำเร็จ” Koon เล่า ซึ่งหมายความว่าไม่มีเวลาให้ลองผิดลองถูกและยังหมายถึงเขาต้องใช้เวลาอยู่ในจีนนานด้วย
“สิ่งที่ต้องยอมรับในการทำธุรกิจคือคุณต้องทุ่มเท” เขากล่าว “ถ้าเงินคุณไปลงที่ไหน ตัวคุณก็ควรอยู่ที่นั่น”
![](http://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2018/11/Screen-Shot-2018-11-16-at-7.09.07-PM.png)
จีนเปลี่ยนแปลง Press Metal ในหลายด้าน บริษัทนำเทคโนโลยีของจีนมาใช้ในโรงงานถลุงแร่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและช่วยให้ได้เปรียบคู่แข่งจากชาติตะวันตก อีกทั้งสถานภาพที่ไม่ธรรมดาของการเป็นบริษัทข้ามชาติในจีนยังช่วยให้บริษัทดึงดูดใจลูกค้าได้มากกว่า “มีบริษัทจีนหลายแห่งที่อยากส่งออก แต่ติดอุปสรรคเรื่องภาษา” Koon กล่าว “ส่วนพวกเราได้รับการศึกษาแบบตะวันตก สมมติว่าเราอยากส่งสินค้าไปออสเตรเลีย เราก็ทำได้ง่ายกว่ามาก ที่จริงลูกค้ายินดีซื้อสินค้าจากจีนนะ แต่ต้องเป็นของจากบริษัทข้ามชาติ”
ยิ่งกว่านั้น ตลาดจีนยังสอน Koon อย่างมากทั้งเรื่องการสร้างบริษัทอย่างรวดเร็วและเรื่องธุรกิจอะลูมิเนียม ในช่วงที่เขาเดินทางไปเกือบทุกมณฑลในจีน “‘ความเร็วแบบจีน’ น่าตื่นเต้นมาก” เขากล่าว “ถ้าเราไม่เลือกไปลงทุนในจีน บริษัทเราก็คงโตได้ แต่จะไม่เร็วแบบนี้ จังหวะเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าคุณช้า ตลาดจะไม่รอคุณ เพราะตลาดอยากให้คุณพร้อมทันทีที่พวกเขาต้องการ”
ก่อนหน้านั้น ธุรกิจส่วนใหญ่ของ Press Metal คือการขึ้นรูปอะลูมิเนียมเพื่อทำผลิตภัณฑ์จากอะลูมิเนียมอัลลอยสำหรับการใช้งานรูปแบบต่างๆ แต่ในปี 2009 บริษัทตั้งโรงงานถลุงอะลูมิเนียมแห่งแรกในมาเลเซียเพื่อผลิตอะลูมิเนียมแบบแท่งยาว (billet) และแท่งเหลี่ยม (ingot) ที่เมืองชายฝั่งชื่อ Mukah ในรัฐ Sarawak เหตุผลที่ตั้งโรงงานคือ “กิจการขึ้นรูปมีอุปสรรคน้อยในการเข้าสู่ธุรกิจ เลยมีผู้เล่นเยอะ” Koon กล่าว “แต่ธุรกิจต้นน้ำต้องใช้เงินทุนมาก และผู้เล่นก็รวมตัวกัน นี่แหละวงการที่น่าเข้าไป”
รัฐบาลท้องถิ่นมาเลเซียเองก็กระตุ้นให้บริษัทเร่งดำเนินงาน เนื่องจากรัฐบาลกำลังมองหาบริษัทอุตสาหกรรมมาซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อน
เรื่อง: Anis Shakirah Mohd Muslimin เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง