Michael Kim ปรมาจารย์แห่ง ไพรเวท อิควิตี้ - Forbes Thailand

Michael Kim ปรมาจารย์แห่ง ไพรเวท อิควิตี้

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Nov 2020 | 12:05 PM
READ 4923

Michael Kim มหาเศรษฐีพันล้านนักซื้อกิจการประกาศปิดระดมทุนของกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของตัวเองลงอย่างเงียบๆ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดและวันนี้เขาพร้อมเปิดเจรจาครั้งใหม่แล้ว

เมื่อครั้งที่ Michael Kim ปรมาจารย์แห่ง ไพรเวท อิควิตี้ จากเกาหลีใต้ผู้ก่อตั้ง MBK Partners เปิดตัวกองทุนใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เขาแทบนึกไม่ออกเลยว่า โลกกำลังจะหมุนเข้าสู่ภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกยังคงล็อกดาวน์ Kim ประกาศปิดการระดมทุนของกองทุนลำดับที่ 5 และเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของ MBK หลังจากระดมทุนได้ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเวลาเพียง 6 เดือน เขาคว้ากองทุนนี้มาได้ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ และกลายเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียที่ประกาศยุติการระดมทุนในปีนี้ กองทุนล่าสุดทำให้ในเวลานี้ MBK Partners บริษัทใน Seoul กลายเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ทั้งในกลุ่มประเทศ Greater China ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มูลค่ารวมกว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นบริษัทที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย (วัดตามมูลค่าสินทรัพย์) ที่เน้นการเข้าซื้อกิจการเป็นสำคัญ Kim มีผลงานเป็นที่น่าอิจฉา นับตั้งแต่ MBK Partners ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2005 เฉลี่ยแล้วบริษัทสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนจากนักลงทุนทุกๆ เหรียญสหรัฐฯ ได้กว่า 2 เท่าตัว กองทุนทั้ง 4 ของบริษัทให้ผลตอบแทน IRR ที่ 18% ต่อปี ความสำเร็จนี้ทำให้มูลค่าความมั่งคั่งส่วนบุคคลเติบโตตามไปด้วย กองทุนใหม่นี้ทำให้ตัวเขาเองมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.9 พันล้านเหรียญ พร้อมขยับอันดับ 11 ขั้น ขึ้นมาอยู่ที่ 12 ของการจัดอันดับมหาเศรษฐีประจำปี Korea’s 50 Richest Kim จับงานแรกในแผนกควบรวมและซื้อกิจการที่ Goldman Sachs ที่ New York ก่อนจะย้ายไป Hong Kong เมื่ออายุได้ 31 ปี Kim เดินทางกลับเกาหลีใต้ และได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการที่ Salomon Smith Barney Asia ซึ่งเขาเป็นผู้นำการออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 4 พันล้านเหรียญในปี 1998 ทำให้เกาหลีใต้รอดจากภาวะล้มละลายของประเทศได้สำเร็จ ต่อมาในปี 1999 ช่วงเกิดวิกฤตทางการเงินในทวีปเอเชีย เขาย้ายไปร่วมงานกับบริษัทเอกชนนอกตลาดอย่าง Carlyle Group ในตำแหน่งประธานบริหารประจำทวีปเอเชีย ซึ่งที่นั่นเอง Park Tae-joon พ่อตาผู้ล่วงลับของเขารับบทเป็นที่ปรึกษา เมื่ออายุได้ 37 ปี Kim รีบคว้าโอกาสจากวิกฤตมาไว้ในมือได้อีกครั้ง เขาเข้าซื้อกิจการครั้งสำคัญคือ KorAm Bank บริษัทที่มีมูลค่าสินทรัพย์สูงเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีแนวโน้มเผชิญหนี้เสียมูลค่านับพันๆ ล้านเหรียญ ครั้งนี้ Kim ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ระเบียบห้ามผู้ลงทุนชาวต่างชาติที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้าเป็นเจ้าของหุ้นเกิน 4% ในธนาคารที่ “มีสถานะดี” (แม้ KorAm จะต้องเผชิญความเสี่ยงต่อหนี้เสียดังกล่าว แต่ก็ยังได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้) หลังการเจรจาอันเข้มข้นและซับซ้อนยาวนานถึง 13 เดือน Kim ก็ร่วมมือกับกลุ่มนักลงทุนที่รวมถึง Corsair บริษัทเอกชนนอกตลาดในเครือของ JPMorgan สามารถเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 37 ได้สำเร็จ ต่อมาอีก 4 ปี KorAm ถูกขายไปให้กับ Citigroup ในราคา 2.7 พันล้านเหรียญ หรือสูงกว่าที่นักลงทุนกลุ่มนี้ร่วมกันซื้อกว่า 2 เท่าตัว ระหว่างที่เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นดำเนินอยู่นั่นเอง Kim ได้บันทึกความสำเร็จของตนเองอีกครั้ง เมื่อได้ปรากฏตัวบนหน้าปก Forbes Global นิตยสารฉบับนำของ Forbes Asia นั่นเอง หลังจาก 6 ปีที่ Carlyle ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย Kim ก็พร้อมที่จะก่อตั้งบริษัทที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดขึ้นมาเป็นของตนเองเขาดึงอดีตเพื่อนร่วมงานมาด้วย 5 คน และลงมือระดมทุนก้อนแรกให้กับ MBK Partners ได้ 1.6 พันล้านเหรียญจากผู้ลงทุนระดับชั้นนำเช่น Temasek ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์ และคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(Public Sector Pension Investment Board) ของแคนาดา MBK เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าซื้อ ING Insurance Korea ในราคา 1.6 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2013 ท่ามกลางคำถามที่ว่า พวกเขาจะบริหารธุรกิจประกันภัยได้จริงหรือไม่ 4 ปีต่อมา ING จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ที่ราว 2.4 พันล้านเหรียญ และกลายเป็นบริษัทแห่งแรกที่มีบริษัทลงทุนในหุ้นนอกตลาดเป็นเจ้าของทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ได้สำเร็จ  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “วีรบุรุษการเงิน” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine