หลังจากบุกเบิกธุรกิจฟินเทคในเกาหลีใต้จนประสบความสำเร็จ Lee Seung-gun เตรียมนำ Viva Republica หนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากที่สุดของประเทศ ผนึกกำลัง VCNC เจ้าของแอปพลิเคชัน Tada เข้าชิงส่วนแบ่งในตลาดเรียกรถที่กำลังเฟื่องฟู
Lee Seung-gun ผู้ก่อตั้งและซีอีโอวัย 39 ปี ก้าวเข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีพันล้านของเกาหลีใต้หลังนำ Viva Republica ระดมทุนกว่า 410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี และ Alkeon Capital Management ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ร่วมกับนักลงทุนรายใหญ่อย่าง PayPal, Sequoia Capital China และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ GIC จนขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศ
ปัจจุบัน Viva Republica ให้บริการ Toss ซูเปอร์แอปทางการเงินที่มีผู้ใช้มากกว่า 20 ล้านคนในเกาหลี ซึ่งเทียบเท่ากับมากกว่า 1 ใน3ของประชากรในประเทศ
โดย Toss เริ่มต้นจากการให้บริการโอนเงินในปี 2015 ก่อนที่จะขยายไปสู่บริการทางการเงินต่างๆ รวมถึงการธนาคาร การประกันภัย และการลงทุน และล่าสุดบริษัทกำลังดำเนินการครั้งใหญ่และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีนอกเหนือจากบริการทางการเงินดิจิทัล
ขณะที่ปลายเดือนนี้ Viva Republica คาดว่าจะเสร็จสิ้นการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 60 ใน VCNC ในกรุงโซล ซึ่งดำเนินการบริการเรียกรถในเกาหลีชื่อ Tada"แอปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน" Lee กล่าวในวิดีโอสัมภาษณ์จากสำนักงานสตาร์ทอัพด้านฟินเทคในกรุงโซล “คุณต้องย้ายไปที่ใดที่หนึ่งใช่ไหม ดังนั้นทุกๆ 2 หรือ 3 ครั้งต่อวัน คุณจึงมักใช้บริการเรียกรถบางประเภท” Lee รู้สึกตื่นเต้นกับความจริงที่ว่า ผู้คนจำนวนมากเรียกใช้บริการเรียกรถ เช่น Tada เป็นประจำ ต่างจากธุรกิจประกันและการชำระเงิน
ด้าน VCNC เปิดตัว Tada ในปี 2018 และปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณ 2 ล้านรายบนแพลตฟอร์ม ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ที่ใช้แอปนี้เป็นประจำ โดย VCNC รายงานว่า ตลาดบริการเรียกรถของเกาหลีในปัจจุบันถูกครอบงำโดยหน่วยงานของ Kakao ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตในท้องถิ่นซึ่งก่อตั้งโดย Kim Beom-su หนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ และเมื่อต้นเดือนนี้ SK Telecom ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ SK Group ของมหาเศรษฐีชาวเกาหลี Chey Tae-won ได้ร่วมมือกับ Uber Technologies เพื่อเปิดตัวบริการเรียกรถของตนเองในตลาดเกาหลีใต้ที่กำลังมีการแข่งขันที่รุนแรง
ในขณะที่ Viva Republica เผชิญกับการต่อสู้ที่ยากลำบากในตลาดบริการเรียกรถ Lee ก็หวังว่าการทำงานร่วมกัน เพื่อแบ่งปันทรัพยากรระหว่าง Toss และ Tada จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของทั้ง 2 บริษัท “มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีข้อมูลจำนวนมาก" พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของธุรกิจยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง Grab และ Gojek (เปลี่ยนชื่อเป็น GoTo Group หลังจากควบรวมกิจการกับ Tokopedia แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม) “ข้อมูลเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน Grab และ Gojek" เขากล่าว
ทั้ง Grab และ Gojek เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเรียกรถ หลังจากบรรลุจำนวนผู้ใช้ที่กำหนดแล้ว ทั้ง 2 บริษัทได้สร้างระบบนิเวศของบริการ ซึ่งครอบคลุมทั้งการเรียกรถและการเงิน โดย Grab และ GoTo “ใช้เครื่องมือที่ช่วยประเมินความน่าเชื่อถือและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอรับสินเชื่อและนโยบายประกันภัย เพราะมีฐานข้อมูลของผู้ขับขี่ทั้งหมด" Lee กล่าวพร้อมยกตัวอย่างว่า ผู้ขับขี่ที่ได้รับคะแนนรีวิวที่ดีจากผู้โดยสารและข้อมูลธุรกรรมจำนวนมาก (จากการเดินทางที่เสร็จสิ้นแล้ว) อาจได้รับอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการประกันที่ดีกว่า "ชุดข้อมูลใหม่เหล่านี้จะช่วยเสริมระบบนิเวศทางการเงินของ Toss อย่างแน่นอน" เขากล่าว
ปัจจุบัน Lee กำลังให้ความสำคัญไปกับการผสมผสานบริการทางการเงินและการเรียกรถ ตลอดจนการขยาย Toss ต่อไปทั้งในและต่างประเทศ "เราสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้และชีวิตผู้ใช้ของเราอย่างใกล้ชิด" Lee ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานจากแอปส่งข้อความและโหวตมาก่อนที่จะมุ่งเน้นไปที่บริการทางการเงินดิจิทัลกล่าว “ถ้ามีปัญหาใหม่ๆ ที่เราสามารถจัดการได้ หรือโอกาสใดๆ ที่เราสามารถทำได้ เราก็สามารถย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นเมื่อเราตัดสินใจดีแล้ว”
แปลและเรียบเรียงจากบทความ South Korean Fintech Unicorn Eyes Ride-Hailing Expansion, Synergies With Mobility Data เผยแพร่บน Forbes.com โดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค
อ่านเพิ่มเติม:Best Under a Billion: 8 สุดยอดบริษัทรายได้ต่ำกว่าพันล้านเหรียญแห่งเอเชีย ปี 2021