เมื่อเปลือกมังคุดที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด ถูกภูมิปัญญาท้องถิ่นนำไปบรรเทารักษาโรคจากคำบอกเล่าแห่งนักการภารโรง “เขียว พัฒจรินทร์” ถึงสรรพคุณเป็นยา ได้จุดประกายให้ ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตราประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.เอเซียน ไฟย์โตซูติคอลล์ (APCO) เมื่อ ครั้งเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ริเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการแยกสารที่ออกฤทธิ์ทางยาจากเปลือกมังคุด
“เมื่อฟังที่ลุงเขียวพูด ผมเกิดความสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เปลือกมังคุดที่ร่วงอยู่ตามพื้นมีประโยชน์ ขนาดนั้น จึงเกิดโครงการวิจัยมังคุดที่เป็นหนึ่งในพืชตระกูล Garcinia ขึ้นเมื่อ 38 ปีที่แล้ว” พิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ณ เวลานั้น หวังเพียงให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ในแง่กำจัดขยะจากเปลือกมังคุด โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะผันมาเป็นธุรกิจยอดขายหลายร้อยล้านบาท จุดเปลี่ยนที่มังคุดเป็นตัวแปรสำคัญต่อการสร้างกิจการ APCO ให้เติบโตในเวลาต่อมา เกิดขึ้นในปี 2520 เมื่อ พิเชษฐ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยที่ มอ.ซึ่งทำงานร่วมกับ ดร.วิลาวัลย์ มหาบุษราคัม และ ดร.เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร ค้นพบว่าจากบรรดาสารกลุ่ม Xanthones ในมังคุดทั้ง 40 ชนิด ตัวที่มีสรรพคุณสูงสุดในการฟื้นฟูร่างกายคือ GM-1 กระทั่งในปี 2555 จึงมีการพัฒนาสูตรสารธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้สร้างภูมิคุ้ม กันที่สมดุลย์ พัฒนาต่อยอดให้ใช้ประโยชน์จากสาร GM-1 ซึ่งสกัดจากเปลือกมังคุดเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสูตรผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมกับสารสกัดจากธัญพืชและผลไม้ เช่น ถั่วเหลือง งาดำ ฝรั่ง และบัวบก จึงเกิดเป็นสูตรผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ภายหลังบริษัทตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Operation BIM ทั้งนี้เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Operation BIM เริ่มเผยแพร่สู่ผู้บริโภคในวงกว้าง กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แรกๆ ล้วนแต่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย โดยหลายรายหายขาดจากโรคมะเร็ง หลังจากนั้นจึงมีการแนะนำกันต่อปากต่อปาก จนทำให้ชื่อเสียงของ Operation BIM เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนขยายไปยังต่างประเทศ “มีคนไข้ที่มาลองใช้ผลิตภัณฑ์ของเราเพราะหมอบอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว และบอกว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ตอนนี้ก็อยู่กับเรามาได้ถึง 5 ปีแล้ว” พิเชษฐ์เล่า นอกจากผลิตภัณฑ์ของ APCO จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้คนแล้ว ผลพวงของการใช้มังคุดเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้ายังมีส่วนสนับสนุนเกษตรกรชาวสวน มังคุดในภาคตะวันออกให้มีรายได้ดีขึ้นจากการรับประกันราคาจำหน่าย กว่าที่ APCO จะประสบความสำเร็จดังเช่นวันนี้ พิเชษฐ์ก็ผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ทั้งด้วยความเหมาะสมของจังหวะเวลา ถึงแม้จะพยายามสู้อยู่ 3 ถึง 4 ปี แต่สุดท้ายธุรกิจการผลิตที่สร้างความภูมิใจ ต้องล้มเลิกเพียงชั่วคราว และสูญเสียเงินที่สะสมมาทั้งหมด “ตอนนั้นแม้เราอยากจะนำสารสกัด GM-1 มาผลิตเป็นยา แต่สู้ไม่ไหวเพราะต้องใช้เงินหลายพันล้านบาท แต่เพราะไม่อยากให้ผลงานต้องเสียเปล่า จึงนำมาทำผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแทน แต่ด้วยความด้อยประสบการณ์และตลาดยังไม่ยอมรับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากพืช โดยเฉพาะมังคุด ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในตอนนั้น จึงยากที่จะสู้กับสินค้าจากต่างประเทศได้เมื่อขายได้น้อยมากธุรกิจของเราก็เลยจำต้องเลิกไป” แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจกลับมาหายใจอีกครั้ง คือ ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากส้มแขก ที่มีสารช่วยเผาผลาญไขมัน จึงนำไปสู่การตั้งบริษัท กรีนโกลด์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างพิเชษฐ์และบริษัทสัญชาติอเมริกัน เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มุ่งเน้นลดไขมันส่วนเกินในชื่อ Super Hi-Sol เมื่อปี 2538 ที่ถือว่ามาถูกที่ถูกเวลา ครั้นเมื่อกิจการที่มีพืช Garcinia ตระกูลส้มแขกเป็นรากฐานกลับมาปลุกจิตวิญญาณเจ้าของกิจการให้โลดแล่นใหม่ได้อีกครั้ง แถมยังเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างงดงาม จนสามารถสั่งสมทุนได้หนาแน่น พิเชษฐ์จึงตัดสินใจลาออกจากงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อมาให้เวลากับ ธุรกิจได้อย่างเต็มที่ กระทั่งมีอีกสารพัดผลิตภัณฑ์ตามมา แล้วเริ่มแตกยอดธุรกิจที่มีพืช Garcinia ตระกูลมังคุดให้กลับมาผลิดอกออกผลอีกครั้ง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม Operation BIM ในเวลาต่อมา แม้ปัจจุบันรายได้จากตลาดต่างประเทศจะยังเป็นส่วนน้อย แต่ก็เริ่มมีการตอบรับที่ดีจากหลายประเทศ เช่น เมื่อ 4 ปีที่แล้วศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สิงคโปร์เลือกใช้ BIM สูตร Th17 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งของบริษัท สำหรับรักษาผู้ป่วย อีกทั้งยังมีตัวแทนติดต่อนำผลิตภัณฑ์เข้าไปขายในประเทศจีนด้วย “ตลาดที่นั่นเริ่มรู้จักผลิตภัณฑ์ของเราเพราะมีน้ำมังคุด BIM ไปวางขายในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จนเริ่มมีคนจากสิงคโปร์มาติดต่อสอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งเป็นโอกาสให้เราได้ต่อยอดแนะนำแคปซูล Operation BIM สูตร Th17 ให้เป็นที่รู้จัก” พิเชษฐ์ เล่าถึงที่มาของการเปิดตลาดต่างแดน ด้วยบรรดาสินค้าที่สร้างสรรค์ภายใต้ บริษัท แนทเจอรัล คอสเมติคส์ รีเสิร์ช ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับกิจการ จึงถูกชักชวนให้เข้าสู่การระดมทุนผ่านตลาดหุ้น โดยการแปรสภาพบริษัทให้เป็นบริษัทมหาชน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ เมื่อปี 2548 และตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อปี 2554 ภายใต้สัญลักษณ์ “APCO”คลิ๊กอ่าน "APCO โด่งดังจากมังคุด ไม่หยุดแค่ตลาดไทย" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2015 ในรูปแบบ E-MAGAZINE