Anthony Tan พัฒนา 'Grab' ให้เป็นแอปพลิเคชัน 'ครอบจักรวาล' - Forbes Thailand

Anthony Tan พัฒนา 'Grab' ให้เป็นแอปพลิเคชัน 'ครอบจักรวาล'

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Jun 2022 | 08:00 PM
READ 3535

Anthony Tan ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบริษัท Grab ยังคงพัฒนา “ซูเปอร์แอป” อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแผนการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน รวมทั้งขยายบริการเทคโนโลยีทางการเงิน

การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วทำให้ธุรกิจบริการเรียกรถรับ-ส่งของ Grab ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากคำสั่งล็อกดาวน์และข้อจำกัดต่างๆ “ความคิดแรกของเราคือ จะทำอย่างไรให้พันธมิตรคนขับของเราสามารถพลิกสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และได้รับความช่วยเหลือด้านรายได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” Anthony Tan ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบริษัท Grab ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Forbes Asia ผ่านวิดีโอคอล ทางออกนะหรือ? “ต้องเลิกคิดว่ามันเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจ” Tan วัย 39 ปีกล่าว  

- ปรับกลยุทธ์แพลตฟอร์มครอบจักรวาล -

Tan เล่าว่า Grab ขอให้คนขับหันมาส่งอาหาร เนื่องจากโรคระบาดทำให้ความต้องการบริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ และที่อื่นๆ ทั่วโลก “ในระยะเวลาสั้นๆ เราสามารถเปลี่ยนบริการของนักขับได้กว่า 140,000 คน” Tan กล่าว ซึ่งนั่นรวมถึงนักขับราว 18,000 คนในมาเลเซียเพียงวันเดียว Tan บอกว่า ความยืดหยุ่นนี้เกิดขึ้นจากกลยุทธ์ซูเปอร์แอปของ Grab กล่าวคือ ลูกค้าสามารถใช้แอปเดียวกันนี้สั่งพิซซ่าแทนบริการเรียกรถ สมกับที่ Grab อธิบายตัวเองว่า “เราเป็นแพลตฟอร์มครอบจักรวาล” “จะเป็นบริการเรียกรถ ส่งสินค้าอี-คอมเมิร์ซ GrabFood หรือ GrabMart จะต่างกันก็แค่เลือกแท็ป คุณก็แค่เปลี่ยนแท็ปในแอป” Tan กล่าว “ธุรกิจของ Grab กลับยิ่งปรับตัวได้เป็นอย่างดี เพราะเราเป็นผู้เล่นรายเดียวในภูมิภาคนี้ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้หลากหลาย”
Anthony Tan ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบริษัท Grab
Grab Holdings มีสำนักงานใหญ่อยู่ประเทศสิงคโปร์ จากจุดเริ่มต้นเมื่อ Tan และ Tan Hooi Ling ผู้ร่วมก่อตั้ง (ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ) เปิดตัวแอป MyTeksi ในปี 2012 ที่บ้านเกิดในมาเลเซีย เวลานี้พวกเขากำลังจะเดินก้าวต่อไปปลายปี 2021 พวกเขานำ Grab เข้าจดทะเบียนในตลาด Nasdaq ผ่านการควบรวมกิจการกับบริษัทในรูปแบบ SPAC ที่ชื่อ Altimeter Growth Corp การควบรวมกิจการดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงธุรกิจกับ SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากเอกสารที่ยื่นจดทะเบียนระบุว่า เป็นการระดมทุน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะทำให้ Grab มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 4 หมื่นล้านเหรียญ คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสนใจอนาคตของ Grab เป็นพิเศษคือ นักลงทุนที่อัดฉีดเงินรวมกันกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญให้กับบริษัทก่อนการควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนระดับ A อย่าง GGV Capital, SoftBank และ Toyota อย่างไรก็ตามสำหรับ Tan แล้ว การเดินทางของ Grab เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เมื่อมองไปยังอนาคตเขาบอกว่า บริการของ Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังน้อยไปด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับตลาดที่เติบโตกว่าอย่างประเทศจีน ส่วน U.S. Grab ก็ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ส่วนคือ บริการรถรับ-ส่ง บริการขนส่ง และบริการทางการเงิน ซึ่งมีส่วนผลักดันมูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (GMV) แตะระดับ 1.25 หมื่นล้านเหรียญในปี 2020 บริษัทวิจัย Euromonitor ประเมินว่า มูลค่าตลาดรวมทั้งหมดที่เป็นไปได้ (บริการส่งอาหาร บริการรถรับ-ส่ง การชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และบริการด้านการเงินช่องทางดิจิทัล) ยังคาดว่าจะเติบโตได้อีกไม่น้อยกว่า 3 เท่าตัวจากปี 2020 จนมีมูลค่า GMV เกินว่า 1.8 แสนล้านเหรียญภายในปี 2025 “ผมตื่นเต้นกับอนาคตมากๆ” Tan กล่าว และ Peter Oey ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของ Grab ก็เห็นด้วย “ในประเทศต่างๆ ที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจล้วนแต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น” จากข้อมูลของ Euromonitor ทำให้ Grab ประกาศว่า ในทุกธุรกิจสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พวกเขาคือ ผู้นำตลาดในส่วนของ GMV และปริมาณการใช้จ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์ม (TPV) ในภูมิภาคแห่งนี้ Grab ดำเนินกิจการใน 8 ประเทศ แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญๆ รายแรกคือ GoTo บริษัทซูเปอร์แอปในอินโดนีเซียที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2021 จากการควบรวมบริษัทซูเปอร์แอปอีกแห่งหนึ่งคือ Gojek เข้ากับ Tokopedia บริษัทอี-คอมเมิร์ซสัญชาติอินโดนีเซียเช่นกัน แม้ว่า GoTo จะเปิดให้บริการในสิงคโปร์และเวียดนามผ่าน Gojek ด้วย แต่ตลาดที่มั่นคงมากที่สุดก็คือ บ้านเกิดของพวกเขานั่นเอง อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในหลักล้านล้านเหรียญ มีประชากรเกือบ 300 ล้านคน จึงเป็นตลาดสำคัญที่จะตอบสนองความทะเยอทะยานระดับภูมิภาคของ Grab เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศเดียวในระบบนิเวศของ Grab ที่มีประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการประจำประเทศ และเพื่อเป็นการตอกย้ำสถานะในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน Didi ผู้ให้บริการรถรับ-ส่งยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนก็หันมาลงทุนใน Grab ตั้งแต่ปี 2015 แต่เมื่อเสร็จสิ้นผ่านการระดมทุนผ่านบริษัท SPAC พวกเขาจะเหลือการถือครองหุ้นอยู่ 7.5% นอกจากซูเปอร์แอปที่เป็นคู่แข่งแล้ว Grab ยังต้องเผชิญการแข่งขันในธุรกิจสายต่างๆ เช่น Foodpanda ของ Delivery Hero ในธุรกิจบริการส่งอาหาร ส่วนคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดคือ Sea Ltd. จากสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันครองตำแหน่งบริษัทเทคที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1.88 แสนล้านเหรียญ ณ ปลายเดือนตุลาคม ปี 2021) แม้ว่า Sea จะหันมาจับธุรกิจส่งอาหารด้วย แต่การแข่งขันหลักๆ ของทั้งคู่อยู่ในสายฟินเทค เมื่อปลายปี 2020 Grab พร้อมด้วยพันธมิตรคือ Singtel บริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ผ่านการคัดเลือกจนเป็น 1 ใน 2 กิจการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในประเทศสิงคโปร์ ส่วนอีกรายคือ Sea นั่นเอง “Grab วางบริการทางการเงินเป็นธุรกิจหลักสายที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนที่เราคาดว่า พวกเขาจะลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือผ่านการควบรวมกิจการก็ตาม” Stephanie Cheong นักวิเคราะห์จาก Moody’s Investor Service ในสิงคโปร์กล่าว ขณะที่ Grab คาดว่า ธนาคารดิจิทัลในประเทศสิงคโปร์ของพวกเขาจะได้เปิดตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022  

- เดินหน้าเข้าตลาดฟินเทค -

Grab เข้าตลาดบริการทางการเงินมาตั้งแต่ปี 2017 ด้วยการเปิดบริการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลที่มีชื่อว่า GrabPay ปัจจุบันบริษัท Grab Financial Group นำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัย สินเชื่อ การบริหารจัดการทรัพย์สิน และบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ในปี 2019 Grab ร่วมมือกับ Mastercard เปิดตัวบัตร GrabPay ที่สามารถใช้งานทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ บริษัทใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของตนเองที่ประกอบไปด้วยคนขับ ผู้บริโภค และร้านค้า ในการทำการตลาดให้กับบริการดังกล่าวเพื่อขยายการเติบโต จนถึงวันนี้ Grab เผยว่า พวกเขาได้รับใบอนุญาตให้บริการทางการเงินมากมาย รวมทั้งใบอนุญาตให้บริการชำระเงินในตลาด 6 แห่งในภูมิภาค “ผู้บริโภคนับล้านๆ คนเมื่อนึกถึง GrabPay พวกเขาจะคิดว่า ฉันจะจ่ายเงินตอนนี้ก็ได้ จ่ายทีหลังก็ได้ จ่ายที่ไหนก็ได้ คุณจึงเป็นตัวเลือกแรกของพวกเขา” Tan กล่าว นอกจากสิงคโปร์แล้ว Tan ยังอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจฟินเทคในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 Grab เพิ่มการถือหุ้นใน Ovo บริษัทฟินเทคในอินโดนีเซีย จนปัจจุบัน Grab ถือหุ้น 80% Tan บอกว่า Grab ต้องการมอบบริการทางการเงินที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นและราคาย่อมเยาในภูมิภาคแห่งนี้ “ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประชากร 6 ใน 10 คนจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการของระบบธนาคารหรือใช้น้อยมาก เราจึงอยากให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการได้” แรงผลักดันหนึ่งของ Grab ในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจฟินเทคเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 จากผลงานของ Jixun Foo หุ้นส่วนผู้จัดการระดับโลกของบริษัทร่วมลงทุน GGV Capital ซึ่งเป็นผู้ลงทุนใน Grab ยุคแรกๆ “ทุกครั้งที่ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ ผมจะดูตัวเลขของพวกเขา ดูว่าพวกเขาทำอะไรอยู่ที่ไหน ผมจะให้ความสำคัญ แม้ไม่ถึงกับออกคำสั่ง แต่ก็เน้นเรื่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” Foo กล่าว พอถึงปี 2017 Grab ก็เปิดตัว GrabPay พร้อมเข้าซื้อกิจการ Kudo ซึ่งเป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซในรูปแบบ online to offline ชั้นนำแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย ความสำคัญของการชำระเงินดิจิทัลไม่ได้มีเพียงการเพิ่มแท็ปในแอปพลิเคชัน แต่ยังเป็นเครื่องมือทรงพลังที่ทำาให้ได้ข้อมูลสำคัญในเชิงลึกทั้งหมดเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน งบประมาณ และความสนใจของผู้ใช้บริการ “คุณจะรู้จักผู้บริโภคและรู้จักการใช้จ่ายเงินของพวกเขา” Foo กล่าว “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าเชิงกลยุทธ์มหาศาลในระยะยาว” พร้อมกับโพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ว่า กระเป๋าเงินคือ กุญแจสู่ความสำเร็จของซูเปอร์แอป “จริงๆ แล้วเราคาดว่าจะเติบโตยิ่งกว่านี้อีก” Tan ยังคงพัฒนาซูเปอร์แอปอย่างต่อเนื่อง โดยผลขาดทุนในเวลานี้ยังคงมีกระแสเงินสดราว 5.3 ล้านเหรียญของ Grab รองรับ เขาบอกด้วยว่า ยุทธศาสตร์ “ซูเปอร์แอป” ของ Grab ทำให้เกิดการประสานงานของส่วนต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างกำไร เมื่อปี 2018 Grab มีลูกค้าเพียง 33% เท่านั้นที่ใช้ บริการมากกว่า 1 อย่าง แต่สัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มเป็น 55% ตั้งแต่ยังไม่พ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “เราสามารถเสนอขายบริการเสริมต่างๆ ได้ เพราะมีผู้ใช้บริการที่ทำรายการเป็นประจำทุกเดือน พวกเขาภักดีและยังคงใช้บริการของเรา ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า ตะกร้าของเราน่าจะใบใหญ่กว่าบริษัทอื่นๆ เป็นตัวเลข 2 หลัก ผมคิดว่า นี่คือตัวบ่งชี้สำคัญว่าหลายคนเชื่อมั่นในตัวเรา เมื่อมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ความภักดีก็เพิ่มขึ้น ตะกร้าของเราก็ใบใหญ่ขึ้น”  

- วิกฤตสู่การเติบโต -

แต่ที่แน่ชัดคือ ความท้าทายต่างๆ นานาไม่ว่าจะเป็นความซับซ้อนในเรื่องของกฎหมายซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บวกกับลักษณะเฉพาะของตลาดท้องถิ่นต่างๆ ทั่วภูมิภาค วิกฤตใหญ่ของ Grab เกิดขึ้นในปี 2014 จากเหตุการณ์ระบบล่มในวงกว้าง ทั้งในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย “ระบบของเราไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับการจองที่เพิ่มขึ้นในปริมาณมากและรวดเร็วอย่างที่เกิดขึ้น ผลก็คือ คนขับก็ไม่พอใจ ผู้ใช้บริการก็ไม่พอใจ” Tan กล่าว “ตอนนั้นผมคิดว่า บริษัทคงจบลงเท่านี้ เพราะใครเล่าจะกล้าเชื่อใจเราอีก” Tan เริ่มปฏิบัติการบริหารจัดการเหตุวิกฤต “ผมไม่ใช่วิศวกรจึงไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย ทำได้แค่เพียงอยู่เป็นเพื่อนทีมงาน พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น คอยให้กำลังใจพวกเขา และที่สำคัญที่สุดคือ คอยส่งน้ำและอาหาร ตอนนั้นยังไม่มี GrabFood ผมจึงต้องทำหน้าที่เป็นเด็กส่งพิซซ่า” Tan กล่าว “โชคดีจริงๆ ที่เราฝ่าฟันจนผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ เราซ่อมอุปกรณ์รับจองใหม่และปรับปรุงให้สามารถรองรับการขยายขนาดได้มากขึ้น” Grab ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งไปพร้อมๆ กับฝ่ายบริหารที่ได้บุคลากรฝีมือดีมาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง “การที่พวกเขาส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่กับ Tan บ่งบอกถึงสไตล์และความเป็นผู้นำของเขาได้เป็นอย่างดี” Chua Joo Hock หุ้นส่วนผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดียของ Vertex Ventures ที่มี Temasek เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นอดีตผู้ลงทุนรายแรกๆ ของ Grab กล่าว “เขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูงมาก หากตั้งใจว่าจะทำสิ่งใด เขาก็จะหาคนที่ใช่มาลงมือทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง และจะคอยติดตามผลเพื่อให้แน่ใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินการอย่างเหมาะสม” สำหรับ Tan แรงผลักดันในการเป็นผู้ประกอบการของเขา ขับเคลื่อนด้วย “สัมผัสพิเศษ” ในการพิชิตภารกิจ “หลายคนแซวผม แต่ผมเชื่อว่า พระเจ้าส่งผมมาเป็นผู้บริหาร Grab และให้บริการแก่คนเป็นล้าน”   เรื่อง: JESSICA TAN เรียบเรียง: รัน-รัน และกองบรรณาธิการ ภาพ: SEAN LEE อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มเรื่อง "แอปพลิเคชัน ครอบจักรวาล" และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine