จาก 35 ปีก่อนที่เริ่มต้นจากการผลิตอาหารสัตว์ในจีน วันนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ขยายกิจการออกไปมากมาย ล่าสุดร่วมกับรัฐบาล เกษตรกร และภาคธนาคาร พัฒนาความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารแก่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
“เราไม่ได้มองเฉพาะเมืองจีน ซี.พี. มองอะไร เป็นระดับโลก... ตลาดในโลกนี้เป็นของซี.พี. ... คนเก่งในโลกนี้เป็นของ ซี.พี. วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของ ซี.พี. เงินในโลกนี้เป็นของ ซี.พี. อยู่ที่ว่าเรามีความสามารถเอาเงินเขามาใช้รึเปล่า ผมมองระดับโลก ไม่เฉพาะเมืองไทย หรือเมืองจีน ถ้ามีโอกาส ที่ใดมีโอกาส ที่นั่นเป็นของซี.พี.” ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 3.75 แสนล้านบาท กล่าวกับ Forbes Thailand ในฉบับเดือนกรกฎาคม 2556
ผ่านไป 1 ปี คำประกาศของ ประธานกรรมการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังเป็นจริง ซี.พี.ยังขยายกิจการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ดีลที่ฮือฮาแห่งปีคือเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2557 บริษัทในเครือ ซี.พี. กับ Itochu บริษัทด้านเทรดดิ้งใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ประกาศซื้อขายหุ้นต่อกันด้วยมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกรรมนี้ทำให้เครือ ซี.พี.ถือหุ้นใน Itochu เกือบ 5% และเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านการค้าขายแร่ธาตุและพลังงานเชื้อเพลิงถือหุ้น 25% ใน CP Pokphand บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงที่บริหารโรงงานอาหารสัตว์ 80 แห่ง ใน 28 มณฑลในจีน และดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์ในเวียดนาม
ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ พาคณะสื่อมวลชนและนักวิชาการรวม 8 ชีวิตไปศึกษาโครงการพัฒนาด้านเกษตรกรรมของ ซี.พี. ในฝั่งตะวันออกของประเทศจีน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของซี.พี. ในการร่วมมือกับรัฐบาลจีนพัฒนาโครงการเกษตรกรรม และเกษตรอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยีทั่วโลกที่ทันสมัยมาผสมผสานให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารของจีน ความปลอดภัยในอาหารเพื่อผู้บริโภค และความมั่นใจของบริษัทที่จะได้วัตถุดิบจากแหล่งที่ปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการผลิต
เกือบ 1 สัปดาห์ของการตระเวน 4 พื้นที่ทางภาคตะวันออกของจีน เพื่อไปเยี่ยมชม 5 โครงการเกษตรขนาดมหึมาของ ซี.พี.และพันธมิตร แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนให้การยอมรับนับถืออย่างสูงต่อความสามารถของบริษัทเกษตรกรรมจากไทย ให้ความไว้วางใจ ซี.พี. มอบที่ดินนับหมื่นไร่ให้พัฒนาเพื่อการปลูกข้าว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และการพัฒนาที่อยู่อาศัย พื้นที่เชิงพาณิชย์และสันทนาการ
ความไว้วางใจนี้น่าจะเกิดจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างผู้นำจีนตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับท้องถิ่นกับผู้บริหารสูงสุดของ ซี.พี. หรือที่ชาวจีนทั่วไปคุ้นเคยในนาม Zheng Da (“เจิ้นต้า” ออกเสียงแบบจีนกลาง หรือ “เจียไต๋” ออกเสียงแบบจีนแต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่จดทะเบียนบริษัทในจีน ด้วยหมายเลข 0001 หลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศใน พ.ศ.2522
ทุกสำนักงานของโครงการที่เราไปเยี่ยมชม ต้องประดับด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บนผนังในตำแหน่งสูงสุด รองลงมาเป็น 4 ภาพถ่ายคู่ของ ธนินท์กับผู้นำของจีน ได้แก่ ผู้นำสูงสุดและบิดาแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจสมัยใหม่ Deng Xiaoping, ประธานธิบดีคนที่ 5 Jiang Zemin ประธานธิบดีคนที่ 6 Hu Jintao และประธานธิบดีคนที่ 7 (คนปัจจุบัน) Xi Jinping เรียงจากซ้ายไปขวา
ผ่านไป 35 ปี ซี.พี.ใช้งบลงทุนในจีนไปแล้วเกือบ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2.88 แสนล้านบาท) ใน 213 บริษัท มีพนักงานรวมกว่า 8 หมื่นคน มียอดขายรวมมากกว่า 5 หมื่นหยวนต่อปี (2.7 แสนล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นโครงการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร มีโรงงานอาหารสัตว์กระจายครอบคลุม 29 มณฑล จากทั้งหมด 31 มณฑล รวม 107 โรง
3 ประโยชน์ 4 ประสาน
3 ทศวรรษหลังจีนเปิดประเทศ ภาคเมืองได้รับประโยชน์จากการพัฒนามากกว่าภาคชนบท รัฐบาลจีนจึงเร่งพัฒนาภาคชนบทตามนโยบาย “3 เกษตร” ได้แก่ 1. ปัญหาภาคการเกษตร (การผลิต) 2. ปัญหาภาคชนบท (ฐานการผลิตทางการเกษตร) และ 3. ปัญหาภาคประชากร (เกษตรกร) ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนในทศวรรษต่อไป คือการร่วมมือกับเอกชนปฏิรูปภาคเกษตร พัฒนาภาคเกษตรแบบดั้งเดิมของจีนให้เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมใหม่ภายใต้เทคโนโลยีและการจัดการที่ทันสมัย ซึ่งจะยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่มีอยู่เกือบ 800 ล้านคน ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และวางรากฐานให้จีนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารของโลก
ด้วยความรู้ ประสบการณ์และนโยบายของ ซี.พี.ที่ยึดมั่นใน “3ประโยชน์” คือ ประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลจีนให้ดำเนินการพัฒนาด้านเกษตรกรรมทันสมัยหลายโครงการภายใต้รูปแบบความร่วมมือที่เรียกว่า “4 ประสาน” หรือ “Four in One” ได้แก่ รัฐบาล บริษัทเอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร ร่วมมือกันพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัยในจีน
โครงการเกษตรกรรมทันสมัย Dongying (ตงอิ๋ง)-เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นโครงการภายใต้รูปแบบความร่วมมือ “4 ประสาน” กำเนิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยรัฐบาลเมือง Dongying และ ซี.พี. ลงนามในข้อตกลงเชิงกลยุทธ์เพื่อร่วมกันพัฒนาที่ดินงอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติราว 3.4 หมื่นไร่ในเมืองนี้ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภาคตะวันออกของจีน อยู่ใต้กรุง Beijing 360 กิโลเมตร ให้เป็นโครงการเกษตรกรรมเชิงนิเวศน์ทันสมัยระดับโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ภายในประกอบด้วย
1. ศูนย์กลางการเพาะปลูก เปลี่ยนดินเค็มให้ปลูกข้าวได้ ตั้งเป้าผลิตให้ได้ถึง 1,800 กิโลกรัมต่อไร่
2. ศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปครบวงจร พัฒนาห่วงโซ่การผลิตสุกรขุน 1 ล้านตัว โดยใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์จากไทยเพื่อสร้างฟาร์มหมูเชิงนิเวศน์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยง การใช้มูลผลิตก๊าซชีวภาพและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การแปรรูป และการขนส่ง
3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรชั้นสูง จะเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิต ทดสอบ สาธิต รวมถึงหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกบนพื้นที่ดินเค็มชายฝั่งทะเล ภายใต้เทคนิคการเพาะปลูกใหม่ ๆ โดยจะพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันวิจัยในประเทศและต่างประเทศ
4.ศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ผัก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
5.ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางการเกษตรเชิงนิเวศ โดยมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จใหม่ ๆ ได้แก่ พันธุ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวที่เยี่ยมชมโครงการ
โครงการนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน Dongying อยู่ทางตอนเหนือของมณฑล Shandong เป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Huang He หรือ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก โครงการนี้ดำเนินงานภายใต้สัญญา 20 ปี ต่ออายุได้ 1 ครั้ง นาน 10 ปี รัฐบาลท้องถิ่นลงทุนด้วยเม็ดเงิน 1 พันล้านหยวน หรือ 5.2 พันล้านบาท พัฒนาถนน ไฟฟ้า และระบบชลประทานทั้งหมดในโครงการ ส่วน ซี.พี.ลงทุน 2 พันล้านหยวน เพื่อสร้างสรรค์ที่ดินแปลงนี้ให้เป็นศูนย์กลางการเกษตรทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรแบบเก่าที่ล้าสมัย ให้เป็นเกษตรที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาล Dongying ต้องการให้โครงการนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยอีกไม่น้อยกว่า 400,000 ไร่เข้าร่วมในอนาคต
1 พื้นที่ 3 ผลผลิต – ไข่ไก่ จระเข้ ท้อ
โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัว ในเขต Pinggu ย่านชานกรุง Beijing เป็นอีกโครงการความร่วมมือของ ซี.พี. ภายใต้โมเดล “4 ประสาน” เนรมิตโครงการไก่ไข่ครบวงจรขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียมูลค่ากว่า 3.6 พันล้านบาท ริเริ่มโครงการนี้ในปี พ.ศ.2555 สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ถึง 3 ล้านตัว มีกำลังการผลิตไข่ไก่มากถึง 54,000 ตันต่อปี มีเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,608 ครอบครัว หรือ 5,000 คน
โครงการฯ ตั้งอยู่บนที่ดิน 380 ไร่ ณ หมู่บ้าน Xifan Gezhuang ตำบล Yukou เขต Pinggu ห่างจากนคร Beijing ไปราว 1 ชั่วโมงทางรถยนต์ ภายในโครงการประกอบไปด้วยโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิด 18 หลัง สามารถเลี้ยงไก่ได้ 3 ล้านตัว ตรวจสอบความเป็นอยู่ของไก่ด้วยหุ่นยนต์ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานแปรรูปไข่ กระบวนการผลิตเกือบจะถูกควบคุมทั้งหมดด้วยคอมพิวเตอร์
โครงการนี้รัฐบาลกรุง Beijing เกษตรกร และ ซี.พี. ลงทุนร่วมกันก่อตั้งบริษัท Beijing Guda Agricultural Investment จำกัด ขึ้นมา ดำเนินการโดยรัฐบาล Beijing และ ซี.พี. ถือหุ้นฝ่ายละ 15% ส่วนที่เหลืออีก 70% เป็นของเกษตรกรซึ่งรวมตัวกันถือหุ้นในนามของสหกรณ์การเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่สีเขียวของเมือง Beijing โดยมีธนาคารแห่งกรุงปักกิ่ง (Bank of Beijing) ประสานความร่วมมือในรูปของการให้สินเชื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ โดย Beijing Guda ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัท Beijing Chia Tai Eggs & Food จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์เช่าที่ดินและทรัพย์สินในโครงการนาน 20 ปี รวมถึงรับผิดชอบดูแลบริหารจัดการธุรกิจทั้งหมดทั้งด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ที่กล่าวได้ว่า “เกษตรกรเป็นเถ้าแก่ บริษัทเป็นลูกจ้าง”
เกษตรกรได้รับรายได้จากการดำเนินโครงการนี้ปีละประมาณ 360 ล้านบาท ธนาคารปักกิ่งซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยจากการสนับสนุนสินเชื่อแก่โครงการนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้แหล่งการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และได้ขยายตลาดเพิ่มขึ้นในเมืองหลวง
ความทันสมัยของโครงการฯ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการกำจัดมลพิษต่างๆ เช่น ใช้พลังงานลม และความร้อนจากตัวไก่เป่ามูลไก่ให้แห้ง ส่วนไก่ตายก่อนวัยอันควรก็ถูกส่งไปเป็นอาหารจระเข้ที่เลี้ยงอยู่ในโรงเลี้ยงในพื้นใกล้เคียง โดยเฉลี่ยมีไก่ตาย 80 ตัว/วัน ซึ่งเพียงพอที่จะเลี้ยงจระเข้ที่มีอยู่ราว 1 พันตัว โดยตั้งเป้าจะเลี้ยงจระเข้ให้ได้ถึง 8,000 ตัว
ส่วนขนไก่ มูลไก่ มูลจระเข้นั้น จะถูกส่งไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับโครงการสวนท้อ (peach) ในพื้นที่ 25,000 ไร่ บริเวณรอบๆ ฟาร์มของโครงการไก่ไข่ 3 ล้านตัว โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมมือกับบริษัทผลิตผลไม้รายใหญ่ในจีนแห่งหนึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกท้อออร์แกนิกคุณภาพดี เพื่อส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น และในอีก 1-2 ปีจะเป็นประเทศไทย
“ความปลอดภัยของอาหารในจีนเป็นเรื่องสำคัญมากในขณะนี้ ชื่อเสียงของจีนเสียหายมาก ทั้งไข่ปลอม นมปลอม นมปนเปื้อน นี่คือโอกาสอันดีที่จะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารให้เกิดขึ้น” สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวกับ Forbes Thailand
35 ปีแห่งการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์ในจีน สารสินบอกว่า ในวันนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 ของการเป็นผู้ผลิตอาหารมนุษย์ที่ได้มาตรฐานโลก เป็นอาหารที่สะอาด ไม่แพง อร่อย
นี่เป็นอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย ให้ ซี.พี.ได้ไขว่คว้า
หนึ่งในบทความพิเศษชุด Greater China ประจำฉบับ NOVEMBR 2014
หนึ่งในบทความพิเศษชุด Greater China ประจำฉบับ NOVEMBR 2014