กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของฮ่องกง ทำเงินได้จากอสังหาริมทรัพย์ และมีถึง 7 คนที่อยู่ใน 10 อันดับแรกในทำเนียบมหาเศรษฐีของเกาะแห่งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดของเอเชีย และยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องสัญญาณของปัญหาล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อยอดขายเริ่มชะลอตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 28 เดือน
ทั้งที่ยอดธุรกรรมของตลาดช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 4.37 แสนล้านเหรียญฮ่องกง (5.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ข้อมูลจาก Midland Realty บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นระบุว่า ในเดือนธันวาคมยอดขายดิ่งลงร้อยละ 58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2017 ไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 28 ปี ด้านตัวเลขจากสำนักงานจัดอันดับและประเมินราคาของฮ่องกงระบุว่า ขณะนี้ราคาที่พักอาศัยลดลงร้อยละ 7 หลังจากทำราคาสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ความกังวลกับการปรับฐานของตลาดที่อาจเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ส่งผลกระทบต่อหุ้นของบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของฮ่องกง Chinese Estate Holdings ซึ่งมี Joseph Lau และครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือร้อยละ 75 ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดโดยที่ราคาหุ้นตกลงแล้วประมาณร้อยละ 33 ในช่วงหนึ่งปีนับจนถึงเดือนธันวาคมปี 2018 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงเติบโตสุดขีดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเงินจากจีนแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลเข้ามาในตลาดที่มีการจำกัดอุปทานโดยรัฐบาล นับตั้งแต่ตลาดหดตัวร้อยละ 15 ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 (ดูแผนภาพประกอบ)
VICTOR LI: ในยามไร้เงาซูเปอร์แมน
Victor Li สืบทอดกิจการครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เมื่อ Li Ka-shing พ่อของเขาก้าวลง
จากตำแหน่งประธานกรรมการของ CK Hutchison และ CK Asset Holdings ในเวลาเพียง 2 เดือนก่อนวันเกิดครบรอบ 90 ปี ของเขา Li คนพ่อจะยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับอาณาจักรธุรกิจที่มีพนักงาน 323,000 คนในกว่า 50 ประเทศ Li Ka-shing เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่เป็นที่นับหน้าถือตาที่สุดคนหนึ่งในเอเชียและยังเป็นหนึ่งในตำนานเสื่อผืนหมอนใบที่น่าทึ่งที่สุดคนหนึ่ง Li และครอบครัวซึ่งเป็นชาวมณฑล Guangdong ประเทศจีน ได้อพยพหนีกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังรุกคืบเข้ามาโดยได้มาตั้งรกรากที่ฮ่องกงในปี 1940 เมื่อเขาอายุได้ 12 ปี พ่อของเขาเสียชีวิตจากวัณโรคหลังจากพวกเขาเดินทางมาถึงฮ่องกงซึ่งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น Li เริ่มทำงานในโรงงานพลาสติกเมื่ออายุได้ 15 ปี เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ปี 1950 Li เปิดโรงงานพลาสติก Cheung Kong Industries บริษัทแห่งแรกของเขา ตลอดหลายปีเขาได้สั่งสมเครือข่ายธุรกิจซึ่งจนถึงวันนี้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของฮ่องกง ตั้งแต่การบริหารจัดการท่าเรือหลายแห่ง และเป็นเจ้าของอาคารระฟ้ามากมายบนเกาะแห่งนี้ เป็นที่มาของสมญานาม “ซูเปอร์แมน” ที่สื่อตั้งให้ในความเป็นเลิศด้านการเจรจาธุรกิจ Victor วัย 54 ปี ได้รับการปลุกปั้นมาเป็นเวลา 3 ทศวรรษเพื่อสานต่องานของพ่อ เขาจบการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์จาก Stanford University และได้สร้างชื่อด้วยตัวเองในความสามารถด้านการเจรจาธุรกิจหลังจากเป็นหัวหอกพาบริษัทลุยงานด้านสาธารณูปโภคในออสเตรเลีย แคนาดา และยุโรป Richard น้องชายวัย 52 ปีของเขา รับหน้าที่บริหาร Pacific Century Group บริษัทบริหาร จัดการเงินลงทุนที่ให้ความสนใจในหลายธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ สื่อ และประกัน – เรื่องโดย Robert Olsen- อ่านเพิ่มเติม Gordon Wu ถือคติ “เมื่อซื้อต้องต่ำ เมื่อสร้างต้องสูง”
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม "ทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีฮ่องกง ประจำปี 2019" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine
