มหาเศรษฐีเนปาล ผู้ขาย “ไวไว” ปีละกว่าพันล้านซอง - Forbes Thailand

มหาเศรษฐีเนปาล ผู้ขาย “ไวไว” ปีละกว่าพันล้านซอง

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Mar 2015 | 05:08 PM
READ 5597
เรื่อง: นพพร วงศ์อนันต์ และ เสาวรภย์ ปัญญาชีวิน ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น เขาคือ มหาเศรษฐีพันล้านเหรียญคนแรก และคนเดียวของเนปาล เขาทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี ทิ้งโอกาสการเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อบริหารธุรกิจครอบครัว และขยายต่อไปจนมีทรัพย์สินเกือบ 4 หมื่นล้านบาท จาก 80 บริษัทในหลากธุรกิจตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปจนถึงโรงแรมห้าดาว เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ทุกครั้งที่ Binod Chaudhary นักธุรกิจชาวเนปาล เชื้อสายอินเดีย เจ้าของธุรกิจแป้งสาลี และโรงงานผลิตขนมปังกรอบเนปาลในขณะนั้น เดินทางไปและกลับจากต่างประเทศผ่านสนามบินกรุงKathmandu (กาฐมาณฑุ) เขามักเห็นผู้โดยสารชาวเนปาลหอบหิ้ว ไวไว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลับมาจากประเทศไทยทีละหลายกล่อง เขาเปลี่ยนภาพที่คุ้นตาเป็นโอกาสทางธุรกิจ แปลงส่วนเกินของแป้งสาลีของโรงงานไปเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำหรับชาวเนปาล 20 ล้านคน ภายหลังจากการเจรจากับ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด เจ้าของ “ไวไว” ตัวจริง เขายอมลงทุนทุกอย่าง “ผมบอกว่า ไม่ต้องห่วง ผมลงทุนเองหมดทุกอย่าง ผมจะสร้างโรงงานและดำเนินการผลิตเองทั้งหมด ขอเพียงถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตให้เท่านั้น” เขากล่าวกับ Forbes Thailand ณ สำนักงานชั่วคราวของโรงแรม Glow ในซอย สุขุมวิท 16 ซึ่งเขาเป็นเจ้าของด้วย และจะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2015 จากก้าวแรกเมื่อ 33 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ เส้นกราฟของไวไวในเนปาลเติบโตชนิดฉุดไม่อยู่ปัจจุบัน ไวไวมีส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเนปาล 65% ความสำเร็จในเบื้องต้นอาจเป็นได้ทั้งโชคและความบังเอิญ แต่ความสำเร็จที่ยั่งยืนต้องอาศัยมากกว่าโชคและความบังเอิญ Chaudhary มองตลาดได้ทะลุเจาะตรงไปที่กลุ่มเป้าหมาย คือคนเนปาลที่อาศัยอยู่ทั่วโลกราว 5 ล้านคนเขาปรับรสชาติของไวไวที่ผลิตในเนปาลให้เข้ากับรสนิยมของคนเนปาล ผสมผสานกับรสชาติดั้งเดิมเช่น รสต้มยำกับรสชาติท้องถิ่น เช่น Masala หรือแกงกะหรี่ ปัจจุบันธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร Chaudhary Group หรือ CG ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปีละ 1.8 พันล้าน หลากแบรนด์ และรสชาติ ส่งจำหน่ายราว 30 ประเทศทั่วโลก ไวไว เป็นสัดส่วน 70% ของยอดผลิตทั้งหมด
ติดตามอ่าน “มหาเศรษฐีเนปาล ผู้ขาย “ไวไว” ปีละกว่าพันล้านซอง” ฉบับเต็มได้ใน Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2015