ปิดตำนาน Lee Kun-hee ผู้บริหารอาณาจักร Samsung - Forbes Thailand

ปิดตำนาน Lee Kun-hee ผู้บริหารอาณาจักร Samsung

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Oct 2020 | 06:30 PM
READ 4472

Lee Kun-hee ประธานกรรมการบริหาร Samsung และมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ ในวัย 78 ปี เสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา หลังจากเข้ารับการรักษาตัวจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในโรงพยาบาล ตั้งแต่ปี 2014

เขาได้จากไปอย่างสงบ รายล้อมด้วยบุคคลในครอบครัว อาทิเช่น Jay Y. Lee ลูกชายเพียงคนเดียว และรองประธานกรรมการบริหาร Samsung Electronics ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ

ในปี 1987 Lee Kun-hee เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ที่ได้รับเลือกให้เข้ามาสืบทอดกิจการต่อจาก Lee Byung-chull ผู้เป็นพ่อ และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่ล่วงลับไป และนับจากปี 2007 เป็นต้นมา เขาได้กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเกาหลีใต้

ยิ่งกว่านั้น ท่ามกลางการประชุมผู้บริหาร เกี่ยวกับการปฏิรูปการจัดการขององค์กร ในปี 1993 เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ที่กลายเป็นตำนานว่าเปลี่ยนทุกอย่าง ยกเว้นภรรยากับลูกซึ่งตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาของ Lee ได้สะท้อนแสดงให้เห็นแล้วว่า เขาสามารถเปลี่ยน Samsung ให้กลายเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เช่น หน่วยความจำ เป็นต้น

“Lee เป็นคนที่ตัดสินใจอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ขณะที่เขาต้องทนทุกข์ทรมานกับมะเร็งปอดในปี 1983 เขาก็ยังยืนยันที่จะ ‘เสี่ยงลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งท้ายที่สุด อุตสาหกกรมนี้ก็สามารถเปลี่ยนเกาหลีใต้ให้เป็น สาธารณรัฐ Samsung (Republic of Samsung) ในเวลาต่อมา Geoffrey Cain ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Samsung กล่าว

 Lee Kun-hee
สำนักงานใหญ่ Samsung ในเกาหลีใต้

จากที่กล่าวข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า Samsung เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของเกาหลีใต้ที่บริหารโดยตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือที่เรียกว่าแชโบล” (Chaebol) ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ส่งผลให้ต้องเข้าไปพัวพันในกิจกรรมทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2014 ภายหลังจากที่ผู้เป็นพ่อล้มป่วย Jay Y. Lee ลูกชายเพียงคนเดียว ได้เข้ามาดูแล Samsung อย่างเต็มตัว ก่อนที่ในปี 2017 จะต้องขึ้นศาลพร้อมใส่กุญแจมือ และถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลาเกือบ 1 ปี แล้วจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ด้วยข้อหาติดสินบนอดีตประธานาธิบดี Park Geun-hye ผู้ซึ่งถูกถอดถอนหลังการประท้วงหนักภายในประเทศ ที่เป็นกระแสร้อนแรงเมื่อปี 2016

เช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อ ที่ถูกกล่าวหาถึง 2 ครั้ง ในคดีติดสินบนกับอดีตประธานาธิบดี Roh Tae-woo และคดีเลี่ยงภาษี  แต่ในที่สุดก็ได้รับการอภัยโทษจาก Kim Young-sam ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เวลานั้น

ทั้งนี้ จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีเกาหลีใต้ ประจำปี 2020 โดย Forbes Asia เศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศในปีนี้ยังคงเป็น Lee Kun-hee เป็นปีที่ 12 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตระกูล Lee ก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุด 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ที่เริ่มมีการจัดอันดับครั้งแรกในปี 2015 โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา รายได้ทั้งหมดของเครือบริษัท Samsung มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 20 ของเศรษฐกิจเกาหลีใต้เลยทีเดียว

ปัจจุบัน Lee Kun-hee มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด ประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ขณะที่ Hong Ra-hee ภรรยา ลูกชาย และลูกสาวอีก 2 คน ได้แก่ Jay Y. Lee, Lee Boo-jin และ Lee Seo-hyun ล้วนมีบทบาทในการบริหารธุรกิจ และต่างได้รับการจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐกิจพันล้าน

อย่างไรก็ดี การเสียชีวิตของ Lee Kun-hee ได้นำมาซึ่งข้อสงสัยในประเด็นการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากทาง Samsung ยังไม่ได้ประกาศว่าใครจะเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารคนต่อไป ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า บุคคลผู้นั้นจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Samsung Electronics บริษัทที่เป็นรายได้หลักขององค์กร

นอกจากนี้ ตามธรรมเนียมการสืบทอดอำนาจของมหาเศรษฐีเกาหลีใต้หลังจากการเสียชีวิต จะมีอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องเข้ามาจัดการควบคู่ไปด้วย ก็คือ ภาษีมรดก ที่มีอัตราสูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งมูลค่าที่มากมายขนาดนี้ มีความไปเป็นไปได้ว่า ตระกูล Lee อาจขายทรัพย์สินอื่นๆ เช่นหุ้นของบริษัทในเครือ ส่งผลให้หุ้นของ Samsung และบริษัทในเครือปรับขึ้นกันถ้วนหน้าในวันเปิดตลาดวันแรกของสัปดาห์หลังจากการเสียชีวิต โดยหุ้นของ Samsung C&T ที่ Jay Y. Lee เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ปรับขึ้นสูงถึงร้อยละ 17 ขณะที่ Samsung SDS และ Samsung Life Insurance ปรับขึ้นที่อัตราร้อยละ  5.51 และ 3.8 ตามลำดับ

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Lee Kun-hee, Legendary Head Of Samsung And Korea's Richest Man, Dies At 78 เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Ant Group ของ Jack Ma ตั้งเป้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ 35 พันล้านเหรียญ