นครหยกถูกขุดจนผุกร่อน - Forbes Thailand

นครหยกถูกขุดจนผุกร่อน

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Feb 2016 | 03:45 PM
READ 3365
เรื่อง: Ron Gluckman เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา

กระแสความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากจีนทำให้มูลค่าหยกจากเมียนมาในปัจจุบันมีค่ายิ่งกว่าทองคำเสียอีก แต่ถึงกระนั้น ประชาชนชาวเมียนมาเองกลับไม่ได้ประโยชน์อะไรจากหยกที่มีอยู่อย่างมากมาย เพราะมูลค่ามหาศาลของหินสีเขียวนี้ทำให้เกิดการรบพุ่งของกองกำลังติดอาวุธและเกิดการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นขบวนการ

ใน Myitkyina ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นในเมียนมา เต็มไปด้วยสีเขียว แต่สีเขียวที่ทำให้ Myitkyina โด่งดังจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คือสีเขียวของหยก ทั้งนี้ หยกที่ขุดมาจากเมียนมาคิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของหยกเนื้อดีทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก และหยกจากเมียนมาส่วนใหญ่ก็ขุดมาจากเหมืองหยกที่อยู่ในละแวกใกล้ๆ กับเมือง Myitkyina นี่เอง ถ้าลองเทียบหยกกับทองคำที่มีน้ำหนักเท่ากัน จะพบว่าหยกยังมีราคาแพงยิ่งกว่าทองคำเสียอีก และจากรายงานฉบับใหม่ของ Global Witness ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอนดอนประเมินว่าหยกที่ขุดจากเหมืองในพม่าแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึงกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟังแค่นี้คุณอาจจะคิดไปว่าเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอัญมณีมีค่าเช่นนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจดีมีเงินสะพัด แต่ Yup Zau Hkawng ประธานและผู้ก่อตั้ง Jadeland ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเหมืองหยกที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดบอกว่า “ถ้าคุณมองไปรอบๆ เมือง Myitkyina และรัฐคะฉิ่นทั้งรัฐ คุณก็จะพบว่ามันแทบไม่ได้มีการพัฒนาอะไรเลย...ชาวคะฉิ่นมีหยก แต่กำไรที่ได้จากหยกกลับถูกคนจากที่อื่นฉกฉวยไปหมด”ในยุครุ่งเรืองของทศวรรษที่ 1990 Jadeland เคยจ้างคนงานมากถึง 15,000 คน ซึ่ง Yup บอกว่า “ผมเคยใหญ่ที่สุด (ในธุรกิจหยก)” และผู้สันทัดกรณีในธุรกิจหยกของเมียนมาหลายคนก็ยืนยันว่าเป็นจริงอย่างที่เขาบอก หยกส่วนใหญ่ที่พบจะถูกส่งไปขายที่ประเทศจีน เนื่องจากคนจีนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับหยกในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในโลกไม่ได้ให้ความสำคัญกับหยกมากเท่าจีน การค้าหยกเฟื่องฟูขึ้นอย่างมากในทศวรรษที่ 1990 ส่งผลให้การสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏในรัฐคะฉิ่นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยกองกำลังทหารพม่าได้รุกกองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Army หรือ KIA) ให้ถอยร่นไป และเข้ายึดครองพื้นที่แหล่งหยก Hpakant เอาไว้เสียเอง ต่อจากนั้น เหมืองหยกหลายแห่งที่เคยเป็นของคนในพื้นที่ก็ตกมาอยู่ในมือของบรรดานายพลในกองทัพ และก็ถูกเปลี่ยนมือต่อไปยังเครือญาติของเหล่านายพล และพวกพ้องของคนในรัฐบาล ได้มีการทำข้อตกลงกับบริษัทจากประเทศจีนที่ช่วยสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งทำให้กิจกรรมการขุดหาหยกขยายตัวอย่างมาก ความร่ำรวยที่เกิดจากหยกของเมียนมาถูกฉกฉวยไปจากหลายทางด้วยกัน เริ่มตั้งแต่กระบวนการออกสัมปทานซึ่งปราศจากการตรวจสอบและเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน กองทัพควบคุมพื้นที่เหมืองหยก และออกสัมปทานให้กับพวกพ้องเท่านั้น การเก็บภาษี รายงานของ Global Witness ระบุว่าเท่าที่ทราบมีบริษัทของกองทัพอย่างน้อยสี่แห่งที่เข้าไปมีเอี่ยวกับการทำเหมืองหยก ซึ่งบริษัทใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือ Union of Myanmar Economic Holdings ซึ่งถูกสหรัฐคว่ำบาตร แต่ทางบริษัทบอกว่าได้ปฏิบัติตามกฎของกระทรวงเหมืองแร่อย่างถูกต้อง และการทำเหมืองหยกของบริษัทก็ไม่ได้ถูกควบคุมโดยกองทัพแต่อย่างใด ภาพ: Adam Dean / The New York Times / Redux Pictures; Ron Gluckman นอกจากนี้ยังมีการใช้กลเม็ดต่างๆ เพื่อฉกฉวยเม็ดเงินไปจากระบบซึ่งๆ หน้า มีเหมืองหลายแห่งที่ลงทะเบียนหยกที่ขุดพบ แต่ใส่มูลค่าเอาไว้ต่ำมาก และขายไปให้กับบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับซื้อหยกในราคาถูก ซึ่งต่อมาก็นำหยกไปขายต่อตามมูลค่าที่แท้จริงโดยไม่ต้องเสียภาษีตามข้อกำหนด ซึ่ง Global Witnessประเมินว่า 80% ของหยกจากเมียนมาถูกเบียดบังออกไปจากระบบโดยอาศัยวิธีการนี้ “นี่ถือเป็นการปล้นระดับชาติเลยทีเดียว” Juman Kubba นักวิเคราะห์ของ Global Witness กล่าว เขาเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยที่ใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการจัดทำรายงานที่ใช้ชื่อว่า “หยก: ความลับเรื่องใหญ่ของรัฐบาลเมียนมา” โดยเขายังได้บอกอีกว่า “ไม่เพียงแต่ประเทศจะสูญเสียรายได้ไปเท่านั้น แต่รายได้เหล่านั้นยังไปเข้ากระเป๋าของบรรดาอาชญากรซึ่งเป็นตัวเลวร้ายเสียอีก” แล้วเงินจากการค้าหยกตกไปอยู่ในมือของใครบ้าง? รายงานฉบับดังกล่าวระบุรายชื่อผู้ที่ร่ำรวยจากหยกซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในปัจจุบันและในอดีตของกองทัพ รวมไปถึงผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดอย่าง Wei Hsueh-Kang ซึ่งทางการสหรัฐฯ ได้ตั้งรางวัลนำจับเอาไว้สูงถึง 2 ล้านเหรียญ และ Tay Za มหาเศรษฐีที่เป็นพวกพ้องของอดีตผู้นำทหารซึ่งถูกสหรัฐคว่ำบาตร เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ FORBES ASIA เมื่อปีที่แล้วและแสดงความไม่พอใจพร้อมทั้งเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกการคว่ำบาตรเขา มีนักธุรกิจชาวคะฉิ่นเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังคงแข่งขันอยู่ได้ในธุรกิจหยก Yup เป็นหนึ่งในนักธุรกิจหยกไม่กี่คนที่ยังรอดอยู่ในวงการค้าหยก แต่ธุรกิจของเขาก็หดลงจากเดิมมาก และปรับธุรกิจ Jadeland ของเขาไปทำธุรกิจด้านอื่นแทน ซึ่งได้แก่ การเกษตร ก่อสร้าง และโทรคมนาคม ซึ่งธุรกิจของเขาก็ไปได้ดีจนเขาสามารถส่งลูกห้าคนจากทั้งหมดหกคนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศได้ ในปัจจุบัน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพยายามรณรงค์เพื่อให้รัฐคะฉิ่นมีอำนาจในการปกครองตนเอง และให้สามารถเก็บภาษีจากหยกที่ขุดพบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้เขายังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามที่ยืดเยื้อมาหลายสิบปีระหว่าง รัฐบาลเมียนมาและกองกำลัง KIA ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังกบฏที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา หยกทำให้เกิดการรบพุ่งแย่งชิง เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็สามารถทำกำไรได้อย่างงามจากการค้าหยก ไม่ต่างอะไรกับที่เพชรทำให้เกิดสงครามรบพุ่งในแอฟริกา หลายคนเรียกมันว่าเป็นหยกทมิฬ เพราะมันถูกลักลอบขนออกนอกประเทศแบบผิดกฎหมาย จากรายงานล่าสุดของ Global Witness ซึ่งทำหน้าที่ติดตามการคอร์รัปชั่น การสู้รบ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ พบว่ามูลค่าการค้าหยกสูงลิ่วจนน่าตกตะลึงยิ่งไปกว่านั้นอีกมาก โดยทางกลุ่มประเมินว่ามูลค่าการค้าหยกในปีที่แล้วสูงถึง 3.1 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้เสียภาษีเลย ในขณะที่ GDP ของเมียนมาในปีที่แล้วอยู่ที่ 6.43 หมื่นล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งจริงๆ จะต้องสูงกว่านั้นอีกมากถ้านับรวมการค้าหยกแบบผิดกฎหมายเข้าไปด้วย และเนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีสำนึกในหน้าที่มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงเห็นว่ามีการเร่งขุดเหมืองกันอย่างบ้าคลั่ง “พวกคนจีนกำลังขนเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามา” เขาบอกพร้อมกับโชว์ให้ดูภาพของเครื่องขุดเจาะขนาดใหญ่ซึ่งดูใหม่ “เครื่องจักรระดับ high-end ประมาณสองในสามของทั้งโลกถูกขนมาไว้ที่เหมืองเหล่านี้ เครื่องจักรแต่ละตัวอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านเหรียญ และมีบริษัทแห่งหนึ่งมีเครื่องจักรแบบนี้อยู่มาถึง 300 ตัว” Yup บอกและเสริมว่า “สิ่งที่เราเคยต้องใช้เวลาขุดนานถึงสามปีในสมัยก่อน ทุกวันนี้เราสามารถขุดได้ในเวลาแค่หนึ่งเดือน หรือหนึ่งเดือนครึ่งเท่านั้น” แต่ถึงอย่างนั้น Myitkyina ก็ยังไม่ได้อานิสงส์จากความร่ำรวยที่เกิดจากหยกอย่างที่ควรจะเป็น ถึงแม้ Yup จะพยายามเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้น แต่เขาก็ไม่กล้าตั้งความหวังเอาไว้สูงนัก เพราะมูลค่าของหยกมันยั่วใจมากเกินไป เขาทิ้งท้ายว่า “ถ้าหากยังไม่มีการจัดการให้มีระบบที่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวคะฉิ่นมากขึ้นกว่านี้ การสู้รบก็คงจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด”
คลิ๊กอ่าน "นครหยกถูกขุดจนผุกร่อน" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine