ครอบครัวไร้บุตร - Forbes Thailand

ครอบครัวไร้บุตร

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Mar 2017 | 03:07 PM
READ 2221

ประชากรในเอเชียพากันมุ่งหน้าสู่ชุมชนเมืองและมีลูกกันน้อยลง

เป็นที่น่าจับตาเมื่อ ยุค post-familialism ที่ไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวจะเกิดกระแสอยู่ในเอเชียตะวันออก ภูมิภาคที่ครอบครัวมีอิทธิพลอย่างมากจนอาจเรียกได้ว่าครอบงำสังคม โดยความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่น ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่สุดในภูมิภาค ย้อนไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90 Muriel Joviet นักสังคมวิทยา กล่าวในหนังสือ Japan: The Childless Society ว่ามีแนวโน้มที่ผู้หญิงญี่ปุ่นมีอคติกับสถานภาพความเป็นแม่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ชายปฏิเสธที่จะมีส่วนรับผิดชอบในการเลี้ยงลูก อคตินี้ทำให้เมื่อปี 2010 หนึ่งในสามของผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 30-39 ปียังเป็นโสด ซึ่งมากกว่าตัวเลขในปี 2000 ถึงสองเท่า
เมือง Tokyo มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำมาก หนึ่งครอบครัวมักจะมีลูกเพียงหนึ่งคนเท่านั้น [เครดิตภาพ: Totomai Martinez]
ัตราการเกิดที่ต่ำนั้นเชื่อมโยงกับความหนาแน่นของประชากรในเมืองใหญ่ ชัดเจนที่สุดคือใน Tokyo ที่ปัจจุบันมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ โดยหนึ่งครอบครัวจะมีลูกเพียงหนึ่งคนเท่านั้น และมีอีกหลายแห่งในเอเชียตะวันออกที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Seoul สิงคโปร์ และฮ่องกง ยิ่งเอเชียมีความเป็นเมืองอย่างญี่ปุ่นมากขึ้นเท่าไหร่ อัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำสุดขีดก็จะยิ่งแพร่กระจาย ที่น่าสนใจคือแนวโน้มนี้เกิดขึ้นแล้วในหัวเมืองใหญ่ของประเทศจีน ในปี 2013 อัตราการเจริญพันธุ์ของ Shanghai อยู่ที่เพียงร้อยละ 0.7 เป็นอัตราที่ต่ำยิ่งกว่านโยบาย “ลูกคนเดียว” ของจีนซึ่งเพิ่งจะยกเลิกไปในปี 2015 แม้มีการผ่อนคลายนโยบายนี้แล้วแต่ครอบครัวชาวจีนส่วนใหญ่กลับไม่ได้เลือกจะมีลูกมากขึ้น หลักๆ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก นั่นก็คือค่าครองชีพและค่าที่อยู่อาศัยที่สูงลิ่ว อาจจะไม่มีเมืองไหนในเอเชียที่สะท้อนรูปแบบของเมืองใหญ่ได้มากเท่ากับกรุง Seoul ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นประชากรมากที่สุดในโลกเมื่อไม่รวมฮ่องกง ในทางผังเมือง Seoul เป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของ “เมืองแห่งอนาคต” ดึงดูดให้ผู้คนออกจากชนบทมาสู่ Seoul จนร้อยละ 50 ของประชากรเกาหลีใต้อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่พัฒนาการของ Seoul มาพร้อมกับความสูญเสีย อาคารสูงผุดขึ้นทั่วเมืองแทนที่บ้านชั้นเดียว แม้สถาปนิกจะชื่นชอบความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่นักสังคมวิทยาของเกาหลีพบว่าเมืองที่มีรูปแบบที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูงและรวมศูนย์นี้ไม่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก นโยบายที่อยู่อาศัยจะส่งผลกระทบรุนแรง ภายในปี 2040 เกาหลีใต้จะมีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เทียบเท่าญี่ปุ่นและเยอรมนี
กรุง Seoul เมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับสองของโลก [เครดิตภาพ: travelwithjoshcohen.com]
ะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่จะต้องเผชิญกับอัตราเจริญพันธุ์ที่ตกต่ำถึงขีดสุดเช่นนี้ต่อไป Vaclav Smil นักประชากรศาสตร์ชาวแคนาดาให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นเป็นตัวแทนของ “ผู้บุกเบิกสังคมรูปแบบใหม่ของโลกอย่างจำใจ” ญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าสังคมจะวิวัฒนาการอย่างไรภายใต้อัตราการเกิดที่ลดลงไม่หยุดหย่อน ญี่ปุ่นกำลังกลับเป็นประเทศที่รวมศูนย์อยู่ที่เมืองๆ เดียวคือ Tokyo และองค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าประชากรของญี่ปุ่นในปี 2100 จะเหลือเพียง 91 ล้านคน ลดลงจาก 127 ล้านคนในปี 2015 แต่สถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นเองทำนายว่าประชากรในปี 2100 จะเหลือเพียง 48 ล้าน น้อยกว่าตัวเลขของ UN เกือบร้อยละ 50 และในจำนวนที่ลดลงแล้วนี้จะเป็นประชากรสูงวัยอายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 46 ตัวเลขคาดหมายเหล่านี้บ่งบอกว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่างๆ หรืออย่างน้อยก็บรรดาประเทศร่ำรวยต้องหันเหความสนใจจากความกังวลเรื่องภาวะประชากรล้นโลก ไปมองความท้าทายใหม่อันเกิดจากประชากรสูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและประชากรวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งอัตราการเกิดในประเทศกำลังพัฒนาก็ลดลงในแนวทางเดียวกับประเทศร่ำรวย มองในแง่ดี Fred Pearce ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมชาวอังกฤษระบุว่า โมเดลแบบญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของโลกที่ล้นไปด้วยประชากรสูงวัยที่จะแก่ตัวลง ฉลาดขึ้น และใช้ชีวิตที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังผ่านพ้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคของการฟูมฟักประชากรวัยรุ่น Pearce ทำนายว่าสิ่งที่จะตามมาคือ “ยุคของคนชรา” ซึ่งเขาอ้างว่า “อาจจะเป็นสิ่งที่มากอบกู้โลก” ถึงกระนั้น ผลกระทบในด้านลบของสังคมที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นก็คือเด็กๆ ที่จะดูแลพ่อแม่ที่ชรามีจำนวนน้อยลง สภาวการณ์นี้นำไปสู่สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Kodukushi หรือ “ความตายอันโดดเดี่ยว” ที่จะเกิดกับผู้สูงอายุที่โสดและไม่มีลูก หรือในเกาหลีใต้ซึ่งเผชิญกับสังคมแข่งขันสูงและค่อยๆ ออกห่างจากรากเหง้าการยึดมั่นในครอบครัว ทำให้ลูกไม่ดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ในจีน แม้จะใช้เวลานานกว่าญี่ปุ่นกว่าที่จะประสบกับ “Demographic Winter (สภาวะประชากรลดลง)” ด้วยตนเอง แต่สำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ (U.S. CensusBureau) ประมาณการว่าประชากรจีนจะเพิ่มสูงสุดในปี 2026 และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในโลกเมื่อไม่รวมญี่ปุ่น ทำให้ระหว่างปี 2015-2050 ประชากรจีนวัย 15-19 ปีจะลดลงร้อยละ 20 Nicholas Eberstadt นักประชากรศาสตร์มองเห็นความเป็นไปได้ที่จีนจะประสบกับวิกฤตการคลังจากปัญหาสังคมสูงวัย เขาเชื่อว่าจีนจะเผชิญกับ “คลื่นประชากรสูงอายุลูกยักษ์” ขณะที่ประชากรวัยทำงานมีน้อยลง เงินบำนาญที่ต้องจ่ายกลับมากขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ประชากรสูงวัยใน Shanghai [เครดิตภาพ: Nicki Almasy]
ูเหมือนจะเป็นไปได้ว่าสังคมสูงวัยจะเป็นอุปสรรคกับการสร้างความมั่งคั่งและการเติบโตของรายได้ สังคมที่เต็มไปด้วยคนชราจะกลายเป็นสังคมที่มองไปข้างหลังเป็นหลัก มุ่งหวังที่จะรักษาความมั่งคั่งของผู้สูงอายุ แทนการสร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ประชากรหนุ่มสาว ความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยังทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างคนต่างรุ่น เมื่อคนสูงอายุอยู่แต่ในชนบทและคนหนุ่มสาวอยู่กันแต่ในเมือง ประชากรสูงวัยที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นี้เคยมีลูกหลานเป็นผู้ดูแล แต่จากนี้ยังมีคำถามว่าผู้สูงอายุเหล่านี้จะอยู่ดีมีสุขหรือไม่เมื่อไม่มีคนคอยดูแลมากเหมือนก่อน และปราศจากระบบสวัสดิการรัฐที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ภายในศตวรรษนี้ ความท้าทายแบบเดียวกันจะปรากฏชัดในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ท่ามกลางการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว ประเทศที่ค่อนข้างยากจนอย่างเวียดนามยังเริ่มประสบปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าปริมาณที่เพียงพอสำหรับการทดแทน ขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่านั้น อาทิ เมียนมา อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งบังคลาเทศ ยังพบอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็ว
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ครอบครัวไร้บุตร" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560