การปกป้องที่ดียิ่งขึ้น - Forbes Thailand

การปกป้องที่ดียิ่งขึ้น

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Nov 2016 | 12:15 PM
READ 1600

Karex บริษัทสัญชาติมาเลเซียผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ที่สุดในโลก กำลังกว้านซื้อบรรดาแบรนด์เจ้าของนวัตกรรมใหม่ เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีมาอย่างยาวนานนี้ให้ดียิ่งกว่าเดิม

เรื่อง: Hen May Yee เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม Goh Miah Kiat ใช้ชีวิตวัยเด็กในโรงงานผลิตถุงยางอนามัยแห่งหนึ่งในมาเลเซีย ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ยามที่มีใครสักคนถามถึงกิจการของครอบครัวเขามักจะตอบว่า “ผมบอกไปแค่ว่า เราผลิตสินค้าจากยางพารา แล้วก็ภาวนาว่าพวกเขาจะไม่ถามอะไรต่อ” อย่างไรก็ดี ธุรกิจนี้ก็มีดีอยู่เหมือนกัน “แน่นอนว่าตอนเด็กๆ นับว่าเท่มาก...เพราะเพื่อนๆ ต่างก็อยากรู้เรื่องถุงยางอนามัยกันทั้งนั้น” ทุกวันนี้ไม่มีอะไรต้องปิดบังอีกต่อไป เพราะ Karex ซึ่งเป็นธุรกิจของตระกูล Goh กลายเป็นบริษัทผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว โดยในปีที่ผ่านมาโรงงานทั้ง 4 แห่งในมาเลเซียและในไทยมียอดการผลิตถุงยางอนามัย 5 พันล้านชิ้น หรือราว 15% ของตลาดโลก ซึ่งส่วนมากแล้วจะส่งออกไปยังกว่า 120 ประเทศ โดยในปีนี้ Karex ตั้งเป้าขยายการผลิตเป็น 6 พันล้านชิ้น และจะเพิ่มเป็น 7 พันล้านชิ้นภายในปี 2017 ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจของ Karex ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยรับผลิตให้กับบรรดาแบรนด์ระดับหัวแถวของโลก เช่น Durex อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยป้อนให้กับองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกอีกหลายแห่ง บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า รายได้ของ Karex น่าจะพุ่งแตะ 91.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในรอบ 1 ปีที่จะสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน หรือขยายตัว 35% ในช่วงเวลา 2 ปี มีกำไรสุทธิ 18.1 ล้านเหรียญ ซึ่งทะยานขึ้น 69% นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2014 เป็นต้นมา ผลประกอบการดังกล่าวทำให้ Karex ติดโผการจัดอันดับ Best Under A Billion ประจำปีของ Forbes ได้เป็นครั้งแรก ธุรกิจนี้เน้นการผลิตในปริมาณมาก แต่ราคาถูก โดยถุงยางแต่ละชิ้นนั้นทำเงินให้กับ Karex ได้เพียง 3 เซนต์ จากราคาขายปลีกชิ้นละ 1 เหรียญ เป้าหมายของบริษัทคือการเข้าซื้อแบรนด์ต่างๆ ขณะเดียวกันก็สร้างแบรนด์ของตัวเองให้มั่นคงด้วย ในเวลานี้ แบรนด์ของ Karex คิดเป็นเพียง 7% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งบริษัทตั้งเป้าขยายอัตราส่วนดังกล่าวขึ้นเป็น 20% ภายในระยะเวลา 3-5 ปี แม้ว่า Karex ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัทเองนั้นจะเป็นแบรนด์ถุงยางอนามัยชั้นนำในตลาดมวลชนในตะวันออกกลางอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ Karex ยังได้เข้าซื้อ Pasante ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถุงยางอนามัยของสหราชอาณาจักรที่ผลิตป้อนให้กับ National Health Service, Tesco และ Costco รวมทั้ง ONE แบรนด์ถุงยางอนามัยของสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องแพ็คเกจสุดฮิปและอาร์ท อีกทั้งยังมีฐานลูกค้ากลุ่มอายุน้อยๆ ตลอดจน TheyFit บริษัทในสหราชอาณาจักรที่จะผลิตถุงยางอนามัยตามความต้องการของลูกค้า เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว Karex จึงวางกลยุทธ์ที่จะใช้ประโยชน์จากจุดเด่นอันชาญฉลาดของ ONE แบรนด์จาก Boston ที่ทำบรรจุภัณฑ์ทรงหลอดไม่ซ้ำแบบใคร ONE เปิดตัวครั้งแรกในมาเลเซียเมื่อปีที่แล้วและเตรียมวางจำหน่ายในสิงคโปร์ในเร็วๆ นี้ เมื่อไม่นานมานี้ ONE เพิ่งจะเปิดตัวถุงยางอนามัยรสทุเรียนออกมาต้อนรับหน้าทุเรียนพอดี  Forbes เดินทางไปเจาะลึกโรงงาน Karex ในเช้าวันหนึ่ง กลิ่นแอมโมเนียโชยมาจากโรงงานใน Port Klang ซึ่งใช้เวลาเดินทางเป็นเวลา 45 นาทีจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ การใช้แอมโมเนียนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนที่นี่คือสำนักงานใหญ่และเป็นโรงงานแห่งหนึ่งจากบรรดาโรงงานทั้งหมด 4 แห่งของ Karex สำหรับโรงงานแห่งอื่นๆ นั้นอยู่ที่ Pontian กับ Senai ทางตอนใต้ของมาเลเซีย กับอีกแห่งในหาดใหญ่ในประเทศไทย ภายในโรงงาน สายพานกำลังจุ่มแท่งแก้วรูปทรงกระบอกลงไปในรางน้ำยางก่อนจะยกขึ้น จากนั้นจึงนำแท่งทรงกระบอกที่เคลือบน้ำยางสีขาวเข้าสู่เตาร้อนเพื่ออบแห้ง ซึ่งต่อมาจะต้องผ่านกระบวนการจุ่มครั้งที่สอง และถูกนำไปล้างและปั่นในเครื่องล้างขนาดใหญ่ ตลิดจนกระบวนการอบแห้ง ในห้องถัดไป คนงานซึ่งสวมตาข่ายคลุมผม ถุงมือ และหน้ากากอนามัย จะคลี่ถุง-ยางอนามัยทุกชิ้นลงบนด้ามจับที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเพื่อตรวจสอบว่ามีรูรั่วหรือไม่ หากมีไฟติดที่ปุ่ม แปลว่ามีรูรั่ว และจะต้องทิ้งถุงยางอนามัยชิ้นนั้นไป คนงานจะใช้มือวางถุงยางอนามัยที่ม้วนขอบแล้วลงบนสายพานเพื่อเข้าสู่กระบวนการบรรจุภัณฑ์และเคลือบสารหล่อลื่นต่อไป หากกล่าวถึงตระกูลของเขาต้องย้อนกลับตั้งแต่ทวดซึ่งผู้อพยพชาวจีนที่เดินเรือมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงปลายยุค 1800 ถึงต้นยุค 1900 เพื่อค้นหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ทวดของ Goh สร้างตัวจนกระทั่งมีโรงงานแปรูรูปยางพาราเป็นของตัวเอง ต่อมาเกิดภาวะตกต่ำของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกในช่วงกลางยุค 1980 ราคาจึงทรุดฮวบลงในชั่วข้ามคืน “ธุรกิจเราพังไม่เป็นท่า” Goh Miah Kiat กล่าว “และคุณปู่ถึงกับล้มละลาย” ด้วยความหวังว่าจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ บรรดาผู้ผลิตยางในมาเลเซียจึงหันมาผลิตถุงมือยางหรือไม่ก็ถุงยางอนามัยกันแทน ครอบครัว Goh ขายบ้านแล้วนำเงินมารวมกันเพื่อลงทุนสร้างโรงงานถุงยางอนามัยแห่งใหม่ ในเวลานั้น วิกฤตโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวีกำลังลุกลามพอดี หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างๆ จึงออกมารณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย Goh Siang กับ Goh Leng Kian ญาติผู้ใหญ่ของ Goh ที่ต่างได้รับการศึกษามาจากสหราชอาณาจักรนั้นเรียนมาทางด้านวิศวกรรมเคมีและวิศวกรรมเครื่องกลตามลำดับ และเป็นผู้ลงมือออกแบบและก่อสร้างเครื่องทำถุงยางอนามัยโดยเริ่มต้นจากศูนย์ครอบครัวอาศัยปูฟูกนอนรวมกันในห้องหนึ่งซึ่งอยู่ด้านบนโรงงาน เมื่อญาติพี่น้องเดินทางมาเยี่ยมจากฮ่องกง พวกเขาก็ใช้ถุงยางอัดลมให้พองแทนลูกโป่งเพื่อเนรมิตบรรยากาศสังสรรค์ หลังจากผ่านพ้นช่วงปีอันขลุกขลักอยู่ระยะหนึ่ง บริษัทที่ต่อมาจะกลายเป็น Karex แห่งนี้ก็เริ่มฉายแววรุ่งเรือง Goh ออกเดินทางจากมาเลเซียเพื่อเข้าศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการที่ University of Sydney ระหว่างเรียนหนังสืออยู่นั้น Goh Phon คุณพ่อของเขาเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ครอบครัวของเขาจึงช่วยกันส่งเสียให้เขาได้เรียนหนังสือต่อ พร้อมขอร้องให้เขาเดินทางกลับทันทีหลังจบการศึกษาในปี 1999 ซึ่งเป็นการยากที่เขาจะปฏิเสธได้ ในเวลานั้น Karex มีพนักงาน 60 คน และมีรายรับปีละ 1.9 ล้านเหรียญ Goh เข้ามาดูแลด้านการขายและการตลาด เขาเซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหญ่เจ้าใหม่ๆ หลายราย ซึ่งก็รวมถึงองค์กรต่างๆ เช่น องค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นสองหน่วยงานชั้นนำของโลกในการต่อสู้กับโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวี สัญญากับลูกค้ารายใหญ่เหล่านี้ทำให้ Karex ขยายกิจการไปได้อย่างรวดเร็ว บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมี Goh เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารตั้งแต่ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2013 ปัจจุบัน ตระกูล Goh ยังคงถือหุ้นอยู่ในธุรกิจ 56% Goh วัย 38 ปีบอกว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา สาธารณชนมีมุมมองต่อถุงยางอนามัยที่พัฒนาไปมาก แรกเริ่มเดิมทีนั้น ถุงยางอนามัยมักจะใช้เพื่อการคุมกำเนิดเป็นหลัก แต่ต่อมาก็กลายเป็นเครื่องมือป้องกันโรคติดต่อด้วย แล้วหลังจากนั้นล่ะ “ความฟินยังไงล่ะครับ” ถ้าหากสิ่งที่ Goh พูดมาฟังดูเหมือนเพ้อเจ้อ เขาก็ไม่ใช่คนเดียวหรอกที่คิดแบบนี้ มูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ก็เคยเรียกร้องให้มีการพัฒนา “ถุงยางอนามัยรุ่นใหม่ที่สามารถรักษาหรือเพิ่มความเพลิดเพลินได้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นและมีการใช้งานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นด้วย” เนื่องจากตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา รูปแบบของถุงยางอนามัยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจนี้จะต้องหาไอเดียใหม่ ๆ เสียที การเข้าซื้อกิจการ TheyFit ของ Karex นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากแนวคิดดังกล่าวนั่นเอง TheyFit มองว่า ถุงยางอนามัยควรจะมีขนาดหลากหลายเหมือนกับขนาดของชุดชั้นใน จึงได้จัดทำเครื่องมือวัดขนาดที่สามารถดาวน์โหลดและปริ้นท์ออกมาได้ เพื่อให้ลูกค้าหนุ่มๆ สามารถเลือกขนาดที่เหมาะสมกับตัวพวกเขามากที่สุด จากจำนวนทั้งหมด 95 ไซส์ ซึ่งถ้าได้ขนาดที่พอดี ก็ยิ่งรู้สึกดี ในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ TheyFit จะเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น ถุงยางอนามัย myONE Perfect Fit โดยเป็นการผสมผสานจุดแข็งด้านการตลาดของ ONE เข้ากับความปกป้องแบบพอดีของ TheyFit “ทุกวันนี้ คนเราก็อยากจะใช้ถุงยางกันอยู่แล้วนะครับ แต่ก็อยากจะรู้สึกเหมือนไม่ได้สวมอยู่” Goh กล่าวทิ้งท้าย
คลิ๊กอ่าน "การจัดอันดับ 200 Best Under a Billion" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine