China’s Richest : ศึกเดือดวงการเศรษฐีเทคโนโลยีจีน ในรอบปี 2018 - Forbes Thailand

China’s Richest : ศึกเดือดวงการเศรษฐีเทคโนโลยีจีน ในรอบปี 2018

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jan 2019 | 10:31 AM
READ 18998

จากจำนวนนักธุรกิจเทคโนโลยีที่มีอยู่มาก มีเพียงไม่กี่รายที่พบกับปีแห่งความสำเร็จ Lei Jun กลับมาทวงบัลลังก์ 1 ใน 20 อันดับมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของจีนอีกครั้งด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.14 หมื่นล้านเหรียญหลังจาก Xiaomi ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

แม้จะไม่เข้าเป้าตามคาดหมาย การระดมทุนผ่านตลาดครั้งนี้ยังหนุนให้ Lin Bin ประธานบริษัทกลับมาติดอันดับอีกครั้งหลังจากหลุดโผไป 2 ปีด้วยทรัพย์สินรวม 4.4 พันล้านเหรียญ (และกรุยทางให้ Huang Jiangji, Li Wanqiang และ Hong Feng ติดทำเนียบ 400 อันดับมหาเศรษฐีจีน) นอกจากจะก้าวขึ้นครองตำแหน่งผู้นำแบรนด์สมาร์ทโฟนในอินเดียซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน และเป็นหนึ่งในตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูงที่สุดแล้ว Xiaomi ยังเดินหน้ารุกสู่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และบริการด้านการเงินโดยให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศอินเดีย

ส่วนบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่อีกรายอย่าง Huawei แม้จะทำผลงานในอินเดียได้ไม่น่าประทับใจและยังต้องเผชิญอุปสรรคด้านการทำตลาดในสหรัฐฯ เนื่องจากสงครามการค้าขยายวงกว้างขึ้น แต่ก็สามารถโค่น Apple ลงและก้าวขึ้นครองตำแหน่งแบรนด์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดอันดับ 2 ของโลกรองจาก Samsung บริษัทเพิ่งเปิดตัวชิปประสิทธิภาพสูงรุ่นแรกที่มีความสามารถในการประมวลผลด้านปัญญาประดิษฐ์ เช่น เทคโนโลยีจดจำเสียง มูลค่าทรัพย์สินของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งบริษัททะยานขึ้น 37% เป็น 3 พันล้านเหรียญ

Apple ดูเหมือนจะเริ่มสิ้นมนตร์ขลัง เมื่อราคาหุ้นของบรรดาบริษัทซัพพลายเออร์พากันร่วงไปตามๆ กัน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อ AAC Technologies บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนลำโพงที่มี Pan Zhengmin เป็นเจ้าของปรับตัวลดลงและฉุดให้มูลค่าทรัพย์สินของเขาหายไป 44% เหลือ 5.3 พันล้านเหรียญ

ทางด้านราคาหุ้นของผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่ออิเล็กทรอนิกส์ Luxshare ผันผวนตลอดปีก่อนทำจุดต่ำสุดในช่วงต้นไตรมาส 3 หลังจากประกาศเสนอขายสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นกิจการในเครือ Wang Laichun และ Wang Laisheng สองพี่น้องนักธุรกิจที่ช่วยกันกุมบังเหียนธุรกิจมีความมั่งคั่งลดลง 1 ใน 3 มาอยู่ที่ 2.1 พันล้านเหรียญ

นอกจากนี้ มหาเศรษฐีที่ธุรกิจอยู่ในทิศทางขาลงยังรวมถึงผู้นำตลาดอุปกรณ์กล้องวงจรปิดอย่าง Gong Hongjia และ Fu Liquan ที่ปัจจุบันถือครองทรัพย์สินมูลค่า 7.3 พันล้านเหรียญ และ 2.7 พันล้านเหรียญ ตามลำดับ ราคาหุ้นของ Hikvision ของ Gong และ Dahua ของ Fu ดิ่งลงเหวเมื่อสหรัฐฯ ประกาศห้ามหน่วยงานรัฐและสัญญาภายใต้โครงการภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

โดยอ้างถึงเหตุผล เช่น ช่องโหว่ที่มีผลต่อความมั่นคง และยังดำเนินการพิจารณาคว่ำบาตรสินค้าอื่นเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน Ma Xinhui จาก Opple Lighting ผู้ผลิตหลอดไฟ LED ร่วงลงจากอันดับ 79 มาอยู่ที่อันดับ 120 ของทำเนียบมหาเศรษฐีด้วยมูลค่าทรัพย์สินประเมิน 2.2 พันล้านเหรียญ

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กองทัพอากาศสหรัฐฯ เพิ่งประกาศเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าจะดำเนินการซื้อโดรนจำนวน 35 ลำจาก DJI ของจีนโดยให้เหตุผลว่า ราคามีความคุ้มค่าที่สุดหลังเลิกใช้โดรนสัญชาติมังกรไปนาน 1 ปีก่อนหน้านั้น Frank Wang ประธานกรรมการมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบ 70% เป็น 5.4 พันล้านเหรียญจากการระดมทุนรอบล่าสุดซึ่งได้เม็ดเงินลงทุนไป 1 พันล้านเหรียญในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นอกจากบรรดาเจ้าพ่อแห่งวงการอินเทอร์เน็ตแล้ว มหาเศรษฐีจากธุรกิจพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ที่ติดอันดับสูงสุดคือ Wang Wenjing ผู้รั้งอันดับที่ 115 ด้วยทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น 26% เป็น 2.3 พันล้านเหรียญ Yonyou ซึ่งนั่งเป็นประธานกรรมการครบรอบ 30 ปีแห่งการก่อตั้งในปีนี้ ธุรกิจได้เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งจนก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ ERP รายใหญ่ที่สุดของจีนพร้อมรุกสู่ Lin Bin ธุรกิจคลาวด์และการเงิน

  คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “China’s Richest” ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561