พีท ริมชลา เล็งโอกาสลับคม HTECH - Forbes Thailand

พีท ริมชลา เล็งโอกาสลับคม HTECH

พื้นฐานด้านวิศวกรรมจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาสู่หนึ่งในทีมงานร่วมโปรเจกต์ของกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกากับไมล์ทางความรู้นอกตำราของ Mr. Cutting Tools นับหนึ่งธุรกิจผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์และเครื่องมือตัดโลหะจากเพชรรายแรกของไทยพร้อมรุกตลาดฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

“เราต้องการทำสิ่งที่ยากที่สุดในยุคนั้น” ความมุ่งมั่นที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าของกิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ป้อนบริษัทยักษ์ใหญ่เพียรพยายามค้นหาช่องว่างทางธุรกิจสร้างบลูโอเชียนที่มีคู่แข่งขันน้อยราย พร้อมช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับท็อป 3 ของประเทศ สู่จุดเริ่มของการสร้างอาณาจักรการผลิตเครื่องมือตัดโลหะจากเพชรรายแรกของประเทศไทย จากประสบการณ์ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาในประเทศและโชคชะตาได้ลิขิตให้วิศวกรหนุ่มได้มีโอกาสเริ่มต้นการทำงานในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้ร่วมทีมในส่วนงาน Aero Space ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในซับคอนแทรคใหญ่ เช่น Honneywell, Boeing ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่ได้เรียนรู้และการทำงานที่มีมาตรฐานในระดับ US Military Standard เปรียบได้กับการศึกษานอกหลักสูตรห้องเรียนที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง ทั้งยังต่อยอดเป็นรากฐานธุรกิจที่สำคัญจวบจนปัจจุบัน ในช่วงเวลาที่ผลการดำเนินงานในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนในฮาร์ดดิสก์ไดรฟกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง พีทกลับเล็งเห็นถึงสัญญาณอันตรายจากการดำเนินธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงเพียงคำสั่งซื้อจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทางเลือกผู้ผลิตจำนวนมาก และมีแนวโน้มผู้ท้าชิงหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางราคาหรือวางแผนทางการผลิตในระยะยาวได้ “หลังจากทำได้ปีกว่า ผลิตเดือนละประมาณ 15 ล้านชิ้น แต่ปรากฏว่า สิ่งที่ลงทุนกลับทำกำไรหรือมาร์จิ้นต่ำกว่า 10% และคู่แข่งใหม่เข้ามาต่อเนื่อง ราคาก็ถูกลง ซ้ำร้ายอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์เหมือน roller coaster ควบคุมไม่ได้ ถ้าลูกค้าไม่ให้ออร์เดอร์ก็ต้องจอดหรือเครื่องผลิตไม่ได้ 75% ของกำลังการผลิตก็เสี่ยงขาดทุน เราจึงพยายามหาทางออกด้วยการหาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนในโลก เช่น cutting tools ซึ่งมีหลายจำพวก แต่เราต้องการทำธุรกิจที่อยู่ในอันดับ 1 หรือ 2 โดยสิ่งที่ยากที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ เพชร” ด้วยการจับมือกับนักลงทุนชาวสิงคโปร์พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการตัดจากเพชรเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ภายใต้ชื่อบริษัท แฮลเซี่ยน เทคโนโลยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2545 และเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เมื่อปี 2552 ในชื่อย่อ HTECH ก่อนจะขยับสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในปี 2560 “เราบอกกับตัวเองว่า ทำอะไรให้เก่งเป็นอย่างๆ ทำให้ทุกคนรู้จักว่า เราเป็น Mr. Cutting Tools เราจึงตั้งใจทำธุรกิจเครื่องตัดโลหะ และเน้นหนักที่เพชร ซึ่งเป็นสุดยอดของ cutting tools ที่มีความแข็งที่สุด ดีที่สุด และยากที่สุด ซึ่งคำว่า ทำยากที่สุดจะเป็นการบล็อกผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามาในสนามนี้ โดยเราต้องการทำในสิ่งที่ยากที่สุดในยุคนั้น” พีทกล่าว ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และจักรยานยนต์ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ผู้ผลิตชิ้นส่วนกล้องถ่ายรูปนาฬิกา เครื่องประดับ ผู้ผลิตแม่พิมพ์โลหะหรือชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอื่นๆ และบริษัทที่ทำธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน

นวัตกรรมแกร่งเปิดทางบลูโอเชียน

โอกาสการขยายอาณาจักรไปยังต่างประเทศ ได้เคาะประตูในจังหวะเวลาที่บริษัทสามารถสร้างการเติบโตในประเทศได้อย่างแข็งแกร่งและมีความพร้อมลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจในต่างแดน โดยพีทได้เริ่มต้นก้าวแรกด้วยการร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศฟิลิปปินส์ชื่อ Halcyon Technology (Philippines) Inc. (HP) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องมือตัดโลหะ (cutting tools) ที่เป็น PCD, PCBN และคาร์ไบด์รวมถึง jigs & fixtures และชิ้นส่วนโลหะต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับ HTECH และ HM จำหน่ายให้ลูกค้าในประเทศฟิลิปปินส์ “หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพิ่มกำลังการผลิตเพียงพอ ลูกค้าประจำที่ฟิลิปปินส์ติดต่อมาต้องการเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งฟิลิปปินส์ถือเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศไทย เราจึงไปตั้งโรงงานที่ฟิลิปปินส์และสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยเน้นผลิตเฉพาะ cutting tools แต่ไม่ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางธุรกิจ” ด้านกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟชิ้นส่วนยานยนต์หรือชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอื่นๆ โดยบริษัทจะเป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุนด้านเทคนิค รวมถึงการศึกษาพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ด้วยการส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเพื่อฝึกอบรมทักษะการผลิตให้พนักงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ รวมไปถึงการรุกประเทศเวียดนามเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา “ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เวียดนามกำลังตั้งไข่และเดินแซงหน้าหลายประเทศแม้จะเหนื่อยมากเพราะคนที่นั่นไม่รู้จัก diamond cutting tools เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์เทียบกับฟิลิปปินส์ที่มียอดขายในมืออยู่แล้ว 5 ล้านบาท แต่ตอนนี้เริ่มเห็นผล ความชัดเจนมากขึ้น ลูกค้าให้การยอมรับมากขึ้น” นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อขยายฐานลูกค้าและช่องทางการจำหน่ายไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ ด้วยการดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องมือตัดโลหะที่มีลักษณะเฉพาะที่ทำจากเพชรสังเคราะห์และคาร์ไบด์ (special PCD and carbide cutting tools) ที่มีการสั่งซื้อจาก HTECH และ HP และเครื่องมือตัดโลหะมาตรฐานประเภทคาร์ไบด์ เซรามิก PCD และ PCBN (standard carbide, ceramic, PCD and PCBN cutting tools) ภายใต้ตราสินค้ายี่ห้อต่างๆ จากการนำเข้าเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร พร้อมทั้งจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศเวียดนามเพิ่มอีก 1 แห่ง “กลยุทธ์ในประเทศและต่างประเทศขึ้นอยู่กับ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ใช่แค่เราแต่เป็นทั้งโลก เราจะอยู่รอดอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเราไปทำบ้านเขา เราได้เรื่องภาษี ความเร็วและทำให้หลุดพ้นจากความไม่แน่นอน โดยขณะนี้เราทำงานหนักกับอเมริกาและมีความคืบหน้าพอสมควร ส่วนจีนจะเป็นขั้นต่อไปที่กำลังดำเนินการเรื่องรายละเอียด ข้อตกลงซึ่งมีโอกาสสูงมาก” ขณะที่ช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศจะเน้นการพึ่งพิงตัวแทนจำหน่ายที่เป็นบริษัทในเครือเป็นหลัก และบริษัทจะเน้นขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมประเภทชิ้นส่วนยานยนต์และจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ล้อแม็ก เสื้อสูบ ฝาสูบ หัวฉีดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบเบรก ระบบบังคับล้อ ลูกสูบ ก้านสูบ เทอร์โบ และส่วนประกอบอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยังเล็งเห็นโอกาสธุรกิจในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ซึ่งมีหลายส่วนที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น ลำตัวของเครื่องบินที่ทำจากวัสดุ CFRP (carbon-fiber reinforced polymer) และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมและไทเทเนียม ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนล้อเครื่องบิน ชิ้นส่วนเบาะที่นั่ง ชิ้นส่วนรถเข็น เป็นต้น “ในอนาคตสัดส่วนรายได้จากเวียดนามมากขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะหลังเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งความไว้วางใจของลูกค้าต่างชาติเกิดจากคุณภาพ การบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้าได้ตลอดเวลาโดยเราพยายามพัฒนา cutting tools ให้ได้หลากหลายครอบคลุมมากที่สุด ต้องการประเภทไหน เราทำให้ได้หมด ซึ่งใน Southeast Asia เราใหญ่ที่สุด และเป็น one stop service อย่างที่บอกว่า ถ้าทำแล้วมาร์จิ้นน้อยอย่าทำ ถ้าทำแล้วคนอื่นทำแข่งได้ อย่าทำแต่ทำให้ยากในระดับดีที่สุดเท่าที่ทำได้” ภาพ: ประกฤษณ์ จันทะวงษ์
คลิกเพื่อติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine