R-Zero สตาร์ทอัพผู้สร้างอุปกรณ์ยูวีฆ่าเชื้อ - Forbes Thailand

R-Zero สตาร์ทอัพผู้สร้างอุปกรณ์ยูวีฆ่าเชื้อ

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Jun 2023 | 11:44 AM
READ 2230

โรงพยาบาลต่างใช้แสงอัลตราไวโอเลตเพื่อพิฆาตไวรัสกันมานานแล้ว แต่อุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาแพงเกินไปสำหรับธุรกิจและโรงเรียน เมื่อมีการระบาดครั้งใหญ่เป็นตัวกระตุ้น คน 3 คนที่ดูไม่น่าจะมารวมตัวกันก็เริ่มพัฒนา R-Zero เพื่อสร้างทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำลง


    Grant Morgan รู้สึกงงงวย ในตอนนั้นเป็นเดือนมีนาคม ปี 2020 ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดไปทั่วประเทศ และหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดในการฆ่าเชื้อไวรัสก็คือการใช้แสงอัลตราไวโอเลต แต่กลับไม่มีการใช้สิ่งนี้ในโรงเรียนและศูนย์ดูแลพักฟื้น เนื่องจากอุปกรณ์ฆ่าเชื้อเกรดโรงพยาบาลมีราคาสูงกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ R-Zero ไม่เข้าใจว่าทำไม “มันก็แค่หลอดไฟติดล้อพร้อมตัวจับเวลา ไม่มีทางที่จะราคาถึง 100,000 เหรียญ” Morgan กล่าว เขาเคยทำงานให้กับ Abbott และบริษัทสตาร์ทอัพซ่อมโทรศัพท์มือถือ iCracked บอกว่า "มันคือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากระบบการรักษาพยาบาลที่ห่วยแตก"

    ในเดือนเมษายนเขาและผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสอง Ben Boyer ซึ่งเป็นนักลงทุน VC และ Eli Harris ซึ่งเคยทำงานในบริษัทโดรน DJI และร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพแบตเตอรี่ EcoFlow กำลังทุลักทุเลเพื่อสร้างแสงอัลตราไวโอเลตฆ่าเชื้อของตัวเองในราคาที่ถูกลง ภายในไม่กี่เดือน R-Zero ก็ได้รายชื่อลูกค้ากลุ่มแรกจากการปล่อยเช่าอุปกรณ์เคลื่อนที่ในราคา 17 เหรียญต่อเดือน ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อในห้องๆ หนึ่งได้ภายในไม่กี่นาที

    ทุกวันนี้สตาร์ทอัพในเมือง Salt Lake City แห่งนี้ขายฮาร์ดแวร์ที่ฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ซอฟต์แวร์และเซนเซอร์ที่ใช้วัดว่าห้องๆ หนึ่งมีคนหนาแน่นเท่าไหร่และหน้าจอแสดงผลวิเคราะห์ว่าอุปกรณ์ถูกใช้งานอย่างไรบ้าง

    ปี 2021 บริษัทมีรายได้ถึง 13 ล้านเหรียญ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2022 R-Zero เริ่มต้นด้วยเงินทุน 170 ล้านเหรียญจากนักลงทุนซึ่งรวมถึง DBL Partners แห่ง Silicon Valley และ Mayo Clinic ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 505 ล้านเหรียญ การเติบโตอย่างรวดเร็วช่วยทำให้บริษัทเข้าทำเนียบอนาคตสตาร์ทอัพพันล้านเหรียญของ Forbes ประจำปี 2022 ซึ่งเป็น 1 ใน 25 บริษัทที่เราคิดว่าน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ

    เมื่อความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดเริ่มลดลง ตอนนี้ Morgan มองเห็นโอกาสใหญ่กว่าเดิมซึ่งไกลกว่าโควิดเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีตัวเดียวกันนี้นอกจากจะใช้ยับยั้งการทำงานของโคโรนาไวรัสแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ของโรคอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งรวมถึงไข้หวัดใหญ่และโนโรไวรัส หรือแม้กระทั่งโรคฝีดาษลิง

    อุปกรณ์อัลตราไวโอเลตซึ่งอาศัยความยาวคลื่นสั้นของแสงที่เรียกว่า UVC ทำงานโดยไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษหรือใช้พลังงานจำนวนมาก และเนื่องจากเป็นการฆ่าเชื้อในสภาพแวดล้อมในร่ม ไม่ใช่ในร่างกายมนุษย์ จึงไม่ถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งหมายความว่า บริษัทไม่ต้องเสียเวลาและเงินไปกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ

    “ผมว่าเราหลุดจากโควิดได้และสร้าง new normal ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพขึ้นได้” Morgan กล่าว “ผมว่าสิ่งนี้จะถูกอบเข้าไปในพื้นที่ทุกอณู และจะแพร่หลายเหมือนแสงไฟทั่วไป”

    Morgan วัย 33 เติบโตมาในเมือง Folsom รัฐ California เป็นเมืองที่โด่งดังจากเพลง “Folsom Prison Blues” ของJohnny Cash พ่อของเขาเป็นนักบัญชี แม่ของเขาทำธุรกิจเล็กๆ ขายแบบพิมพ์ แล้วก็มาเป็นผู้บริหารโรงเรียน สมัยเรียนระดับมัธยมปลาย Morgan เล่นกลองในวงแจ๊ส (“เราไปยุโรปและเล่นเปิดให้ Carlos Santana”) แต่เขากลับเลือกเรียนวิศวกรรมเครื่องกลที่ California Polytechnic State University

    หลังจากไปทำงานระยะหนึ่งที่ Abbott และที่บริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์เล็กๆ แห่งหนึ่ง เขาก็มาลงเอยที่ iCracked ในปี 2015 เมื่อเพื่อนของเขา AJ Forsythe ซึ่งเพิ่งตั้งบริษัทในหอพัก Cal Poly โทรมา “คุณมองคนที่กำลังตั้งบริษัทและคิดว่ามันมีสูตรสำเร็จ แต่ความลับอันดำมืดก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร” เขากล่าว

    “นั่นเป็นสิ่งที่เพิ่มความฮึกเหิมให้ผมในช่วงเริ่มต้นอาชีพ” สิ่งนี้ยังเป็นการตอกย้ำความชอบของเขาในการทำสตาร์ทอัพมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อ Allstate เข้าซื้อ iCracked ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 เขาอยู่กับมันเพียง 6 เดือนก่อนจะโผไปหาสตาร์ทอัพแห่งใหม่ “ผมไม่มีปุ่มปิด” Morgan บอก “มันเป็นทั้งพรและคำสาป บางทีผมยังหาสมดุลไม่เจอ แต่การอยู่นิ่งๆ ทำให้ผมอึดอัด”


    Boyer วัย 46 นักร่วมเงินลงทุนและผู้ร่วมก่อตั้ง Tenaya Capital คือคนออกความคิดริเริ่มในการใช้แสงอัลตราไวโอเลตเพื่อต่อสู้กับโควิด เขาจะเป็นคนวิ่งหาสายสัมพันธ์และคิดกลยุทธ์ Morgan เป็นผู้นำ ส่วน Harris ผู้ร่วมก่อตั้งคนที่ 3 มีประสบการณ์ด้านการผลิตฮาร์ดแวร์และรู้วิธีขายของ

    Harris วัย 29 ซึ่งเป็นศิษย์เก่าในทำเนียบ Forbes Under 30 มีวัยเด็กที่ไม่เหมือนคนทั่วไป โดยโตมาในบ้านที่มีผู้อาศัยร่วมในเมือง Santa Barbara พ่อแม่ของเขาไปอยู่ต่างประเทศหลายปี แม่อยู่ที่อาศรมในอินเดีย พ่ออยู่ในเคนยาส่วนตัวเขาเรียนภาษาจีนกลางในวิทยาลัยที่เมือง Amherst เขาไปอยู่ที่จีน 10 ปี โดยทำงานที่บริษัทโดรน DJI ในเมือง Shenzhen จากนั้นก็ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพแบตเตอรี่ชื่อ EcoFlow ในปี 2016 เขาและ Morgan มารู้จักกันได้เพราะ DJI มีโครงการจะร่วมมือกับ iCracked เพื่อหาช่างเทคนิคมาซ่อมโดรนของบริษัทซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ

    ทั้งนี้เพื่อความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาได้ติดต่อ Richard Wade ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา (ซึ่งเป็นพ่อของพนักงาน iCracked คนหนึ่ง) ซึ่งเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Wade วัย 76 ปี ซึ่งมีปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อมจาก University of Michigan ทำงานด้านสาธารณสุขมานานหลายศตวรรษและเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อนามัยสิ่งแวดล้อมของเรือสำราญ Princess และ Norwegian เขาเป็นผู้กำหนดขั้นตอนในการกำจัดเชื้อบนเรือ Diamond Princess หลังมีการระบาดของโควิด-19 “ส่วนตัวผมชอบรังสียูวีเพราะมีประสิทธิภาพเห็นๆ” Wade บอก

    หลังจากพิจารณาแนวคิดเรื่องการฆ่าเชื้อแบบตามสั่งอยู่พักหนึ่ง พวกเขาก็เปลี่ยนความคิดอย่างไวไปเป็นการสร้างและขายอุปกรณ์อัลตราไวโอเลตด้วยตัวเองในราคาที่เหมาะสำหรับร้านอาหาร โรงแรมและโรงเรียน “ผมโทรกลับหาBen แล้วพูดว่า "นายอาจจะคิดว่าฉันบ้า แต่เรากำลังจะสร้างหลอดไฟ เขาพูดว่า นายมันบ้า แต่ฉันเอาด้วย” Morgan เล่า

    มันไม่ง่ายเลยเพราะปัญหาของห่วงโซ่อุปทานได้ทำให้การซื้อหาหลอดไฟอัลตราไวโอเลตเป็นไปได้ยาก Morgan รู้ว่าผู้ผลิตมักจะผลิตสินค้าเผื่อไว้เล็กน้อยทุกครั้งที่ได้รับคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ เขาไปหา LightSources ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหลอดไฟอัลตราไวโอเลตเจ้าใหญ่ที่สุดและขอซื้อทุกอย่างเท่าที่มี “เราได้หลอดไฟที่โรงงานผลิตเผื่อมาแค่ 5 ดวง” เขาบอก จากนั้นพวกเขาก็หาเพิ่มในอินเทอร์เน็ต ในที่สุดก็มีหลอดไฟเพียงพอสำหรับการออกแบบ

    ภายในเดือนกรกฎาคมพวกเขาได้สร้างต้นแบบชื่อ Hope (มาจาก “หวังว่าจะใช้งานได้”) ซึ่งสูง 2 เมตร ยึดด้วยเทปพันสายไฟและลวด พวกเขาลากมันไปที่ Atelier Crenn ร้านอาหารฝรั่งเศสระดับดาวมิชลินใน San Francisco และได้ลูกค้าทดลองใช้เครื่องเป็นรายแรก จากนั้นพวกเขาก็ขนมันขึ้นรถมินิแวน ขับวนรอบ California ไปยังฟาร์มปศุสัตว์สุดหรู ไปโรงเรียน หรือไปหาใครก็ตามที่อาจเป็นลูกค้าเพื่อโชว์มัน ด้วยราคาที่ค่อนข้างต่ำและเจ้าของธุรกิจที่ตื่นตระหนกว่าจะกลับมาเปิดกิจการอย่างไรให้ปลอดภัย พวกเขาจึงเริ่มได้รายชื่อลูกค้า

    “อุตสาหกรรมการฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีแบบเดิมนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ” Ira Ehrenpreis กล่าว เขาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ DBL Partners และนักลงทุนรุ่นแรกๆ ของ Tesla ซึ่งเป็นผู้นำในการระดมทุน 15 ล้านเหรียญของ R-Zero รอบเดือนสิงหาคม ปี 2020 เขาบอกว่า “มันไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ยั่งยืน เป็นอันตราย และใช้แรงงานคนเยอะ”

    ด้วยแหล่งเงินทุนใหม่ๆ R-Zero ได้สั่งซื้อหลอดไฟอัลตราไวโอเลตจำนวนมากและมุ่งไปที่การปรับรูปลักษณ์ พวกเขาอยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่ฆ่าเชื้อได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องไม่ดูผิดที่ผิดทางในร้านอาหารหรือโรงเรียนด้วย พวกเขาจ้างบริษัท Bould Design ในเมือง San Mateo รัฐ California ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเทอร์โมสตัทของ Nest และเครื่องเล่นสตรีมมิ่งของ Roku เพื่อให้ได้รูปลักษณ์ที่เพรียวบาง William Dougherty ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยทางข้อมูลของบริษัทด้านสุขภาพดิจิทัล Omada Health ซึ่งเซ็นสัญญากับ R-Zero ตอนที่เขาปรับพื้นที่ของบริษัทเมื่อปี 2021 กล่าวว่า “มันต้องดูปลอดภัย”

    ปัจจุบันนอกจาก Omada Health แล้ว ลูกค้ายังรวมถึงเขตการศึกษาขนาดใหญ่ เช่น เขตการศึกษาใน Clark County, Nevada, Fort Bend, Texas และ South San Francisco ทีมกีฬา เช่น San Francisco 49ers และ Detroit Red Wings ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เช่น Trilogy Health Services ซึ่งมีสาขา 132 แห่งทั่วแถบมิดเวสต์และบริษัทต่างๆเช่น บริษัทสตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้า Rivian และบริษัทผลิตสินค้าในบ้าน Simple Green

    R-Zero เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากการให้เช่าอุปกรณ์ในราคาต่ำมากเป็นการขายซึ่งยั่งยืนกว่า และการเรียกเก็บเงินค่าสมัครสมาชิกระหว่าง 50-250 เหรียญต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมทุกอย่าง เช่น ซอฟต์แวร์กับหลอดไฟสำรอง ขณะนี้บริษัทมีอุปกรณ์ 3 รุ่น Arc รุ่นแรกสุดแบบเคลื่อนย้ายได้มีราคาแพงสุดอยู่ที่ 28,000 เหรียญ ซึ่งใช้ได้ฆ่าเชื้อในห้องว่างเท่านั้น เพราะจะส่งผลอันตรายต่อคนจากความยาวคลื่นของแสง UVC (254 นาโนเมตร) ส่วน 2 รุ่นที่ใหม่กว่ามีราคาถูกกว่าและถูกออกแบบมาให้ทำงานอยู่หลังฉากตลอดเวลา ทั้งสองออกสู่ตลาดในเดือนพฤศจิกายนปี ปี 2021

    Beam (ราคา 5,000 เหรียญ) เป็นอุปกรณ์ฆ่าเชื้อส่วนบนของห้องแบบหลอด LED ซึ่งใช้แสงอัลตราไวโอเลต 265 นาโนเมตร เพื่อสร้างโซนปลอดเชื้อที่อยู่เหนือคนในห้อง ในขณะเดียวกัน Vive (ราคา 3,000 เหรียญ) ใช้ความยาวคลื่น 222 นาโนเมตรที่เรียกว่า Far-UVC เพื่อยับยั้งจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายในอากาศและบนพื้นผิวแม้ในขณะที่มีคนอยู่ ทั้งนี้ Beam จะใช้กับพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ เช่น ห้องเรียนและล็อบบี้ในสำนักงาน ส่วน Vive ก็ติดตั้งในพื้นที่ขนาดเล็กกว่าได้เช่นกันอย่างห้องประชุมและห้องน้ำ

    “สิ่งที่เราตระหนักได้คือ ไม่มีการป้องกันการติดเชื้อแบบใดแบบหนึ่งที่เหมาะสำหรับทุกคน” Boyer กล่าว “สิ่งที่ Arc แข่งขันด้วยคือการใช้สารเคมีบางรูปแบบ สำหรับ Beam กับ Vive มันคือการยกระดับระบบปรับอากาศ”

    ในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 R-Zero ได้ซื้อกิจการเล็กๆ ที่ชื่อ Co-WorkR ซึ่งใช้เซนเซอร์วัดจำนวนคนในห้อง ในขณะเดียวกันข้อมูลดังกล่าวก็ช่วยระบุความเสี่ยงของห้องได้ด้วยเพราะห้องที่มีคนแน่นย่อมปลอดภัยน้อยกว่า และเปิดหรือปิดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโดยอัตโนมัติ ข้อมูลดังกล่าวยังช่วย R-Zero ในการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าว่าห้องประชุมหนาแน่นเกินไปหรือไม่ และจะจัดพื้นที่การประชุมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อย่างไร

    ก่อนการแพร่ระบาดผู้คนยอมรับได้เป็นปกติว่าโรคอย่างไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดจะแพร่กระจายไปทั่วสำนักงานและโรงเรียน Morgan กล่าว ทว่าเทคโนโลยีที่ลดความเสี่ยงของโควิด-19 ได้ก็ลดการแพร่กระจายของโรคที่มีมายาวนานเหล่านี้ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและผลิตภาพ “วิสัยทัศน์ในระยะยาวคือ การขายจำนวนวันลาป่วยที่ลดลง” Morgan กล่าว “เรามันพวกนายทุน แต่ผมก็อยากให้จารึกบนหลุมศพของผมว่า "Grant ผู้ช่วยปราบไข้หวัดใหญ่"


อ่านเพิ่มเติม: 10 อันดับบริษัทมหาชนจากทำเนียบ Global 2000 ประจำปี 2023


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine