จู่ๆ บิตคอยน์ซึ่งราคาพุ่ง 300 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 ก็กลายเป็นที่ยอมรับนับถือของบรรดาผู้บริหารระดับสูงรวมถึง Dan Schulman แห่ง PayPal และบริษัทใหญ่อีก 49 แห่งในทำเนียบรายชื่อ Blockchain 50 ของ Forbes ซึ่งจัดทำมาเป็นปีที่ 3 นำบิตคอยน์และเทคโนโลยีเบื้องหลังอย่างบล็อกเชนมาใช้แซงหน้าคู่แข่งได้อย่างไรบ้าง
เมื่อ Dan Schulman ซีอีโอของ PayPal ติดอยู่ในบ้านที่เมือง Palo Alto รัฐ California ในช่วงล็อกดาวน์เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วตอนที่โคโรนาไวรัสกำลังระบาดไปทั่วสหรัฐฯ เขารู้ว่าโรคระบาดครั้งนี้คือ โอกาสทางธุรกิจที่ผ่านมาแค่ครั้งเดียวในชีวิต PayPal ผู้บุกเบิกการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง Dan Schulman เข้ามาบริหารในปี 2014 พยายามสร้างโลกไร้เงินสดมา 2 ทศวรรษแล้ว แต่ในระยะหลังบริษัทเริ่มโตช้าลงในช่วงกว่า 1 ทศวรรษ หลังจาก eBay ที่เข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพแห่งนี้เมื่อปี 2002 รายได้ของ PayPal เคยโตด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 38 ต่อปี แต่ทุกวันนี้ PayPal ซึ่งกลับมาเป็นอิสระอีกครั้งกลับโตด้วยอัตราเพียงครึ่งเดียว ทว่า เมื่อผู้คนต้องอยู่บ้านหลบไวรัสการค้าออนไลน์และการจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัลจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันขึ้นมาอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของกินของใช้ การธุรกรรมกับธนาคาร และอีกมากมายหลายอย่าง จำนวนผู้ใช้งาน PayPal อย่างสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นเกือบจะทันทีจาก 50 กว่าล้านรายกลายเป็น 361 ล้านรายภายในสิ้นปี 2020 ราคาหุ้นของบริษัทก็พุ่งขึ้นพร้อมกับหุ้นกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลตัวอื่นๆ จาก 86 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พุ่งขึ้นไปอยูที่ 247 เหรียญเมื่อไม่นานมานี้และในเดือนเมษายนเมื่อรัฐบาลต้องแจกจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 2.69 แสนล้านเหรียญ PayPal จึงเข้ามาช่วยส่งเงินสดให้ถึงมือคนอเมริกัน 7 ล้านครอบครัวที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และระหว่างที่ PayPal ให้บริการผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร Schulman ก็รู้สึกว่าเขาต้องรีบทำอะไรสักอย่างแล้ว “เราเห็นแนวโน้มนี้กำลังเร่งขึ้น สิ่งที่น่าจะใช้เวลา 3-5 ปีกลับเกิดขึ้นใน 3-5 เดือน” Schulman วัย 63 ปีกล่าว “ผมว่า PayPal ต้องเป็นผู้ช่วยกำหนดอนาคตและไม่มัวแต่ตั้งรับ” เทคโนโลยีแบบเดิมที่ PayPal ใช้เชื่อมโยงกับธนาคารทั่วไปนั้นทั้งเทอะทะและอืดอาด และกว่าจะทำธุรกรรมเสร็จสักรายการก็อาจต้องใช้เวลาเป็น 10 วัน ขั้นแรก บริษัทต้องพึ่งสตาร์ทอัพที่ชื่อ Ingo Money ในรัฐ Georgia ให้อัปโหลดและยืนยันภาพเช็คจ่ายเงินช่วยเหลือ จากนั้นให้ธนาคารในรัฐ Georgia เคลียร์เช็คและจ่ายเงิน 5-10 วันต่อมายอดเงิน จึงจะเข้าบัญชีผู้ใช้งานของ PayPal หรือบัญชีผู้ใช้งานของบริษัทย่อยขวัญใจชาวมิลเลนเนียลอย่าง Venmo ซึ่งถ้าลูกค้ายอมจ่ายค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ลูกค้าก็จะเบิกเงินสดได้ในไม่กี่นาที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉากคือ ถ้าเช็คมีปัญหาธนาคารต้องเป็นผู้รับความเสี่ยง

รุกสร้างอาณาจักรเงินสกุลดิจิทัล
ไม่ได้มีแต่ Schulman ที่เชื่อว่าเงินคริปโตคือ เงินแห่งอนาคต เพราะบริษัทใหญ่หลายร้อยแห่งก็กำลังใช้บิตคอยน์และเทคโนโลยีเบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ และเมื่อสกุลเงินเหล่านี้ให้ผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษก็ช่วยให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย โดยบริษัทเหล่านี้มีตั้งแต่ JPMorgan ไปจนถึง Boeing และ Honeywell ไปจนถึง Aramco ซึ่งทำเนียบรายชื่อ Blockchain 50 ของ Forbes ในปีก่อนๆ ยังไม่เคยมีบริษัทใหญ่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำโครงการสำคัญต่างๆ และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามากันมากเท่าปีนี้ ทำเนียบปีนี้มีบริษัทเข้ามาใหม่ 21 บริษัท มาจากเอเชีย 5 บริษัท ออสเตรเลีย 1 บริษัท และแอฟริกา 1 บริษัท ตัวอย่างเช่น แอปส่งข้อความ KakaoTalk ที่ครองตลาดเกาหลีใต้ มีสกุลเงินคริปโตของตัวเองชื่อ Klay ซึ่งใช้ซื้อขายและให้คนอื่นยืมเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยแลกกับรางวัลได้ Tech Mahindra บริษัทไอทีใหญ่ในอินเดียใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยลูกค้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายล้านคนเลี่ยงพวกสายที่โทรมารบกวนได้ และ Industrial and Commercial Bank of China ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีสินทรัพย์ 4.9 ล้านล้านเหรียญ ช่วยให้ผู้นำเข้าและส่งออกสามารถกู้เงินได้ภายในเวลาแค่ 2 วัน แทนที่จะเป็น 7 วันแบบปกติ แต่ก็มีบริษัทเด่นที่หายไปจากทำเนียบรายชื่อในปีนี้อย่าง Google ซึ่งไม่มีความคืบหน้าอะไรมากไปกว่าการนำบล็อกเชนมาใช้งานอย่างจำกัดในเรื่องของเสิร์ชเอนจินเท่านั้น และ Facebook ซึ่งประกาศเป้าหมายใหญ่ว่าจะออกเหรียญดิจิทัลชื่อ Libra ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2019 แต่กลับต้องเผชิญเสียงต่อต้านในวงกว้าง ต่อมาเหรียญดิจิทัลที่ว่านี้เปลี่ยนชื่อเป็น Diem แต่ก็ยังไม่ได้เปิดตัวออกมาสักที
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine
