Bombardier ถึงกับเกือบสิ้นเนื้อประดาตัวหลังทุ่มเงินลงทุนหลายพันล้านเพื่อพัฒนาเครื่องบินเจ็ตลำใหม่ โดยหวังจะบินแข่งกับ Airbus และ Boeing แต่หลังจากที่คนนอกเข้ามาบริหารและนำบริษัทแคนาดาแห่งนี้พ้นจากหลุมอากาศได้แล้ว เขาจะกลับมาบินผงาดอีกครั้งได้หรือไม่
ยามดึกวันพฤหัสบดีหนึ่งในเดือนมกราคม 2015 Alain Bellemare กำลังนั่งวางแผนก้าวต่อไปของตัวเองอยู่ในห้องทำงานที่ United Technologies ใน Hartford
เขาเพิ่งจะโดนมองข้ามสำหรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกำลังลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าแผนกการบินของบริษัทเมื่อตอนที่เขาได้รับโทรศัพท์จาก Pierre Beaudoin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bombardier ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิทกันมานานและเป็นชาวมอนทรีออลเหมือนกัน
Beaudoin บอกว่า เขากำลังลำบาก Laurent คุณพ่อของเขาได้แปลงโฉมบริษัทสัญชาติแคนาดาแห่งนี้ จากผู้ผลิตสโนว์โมบิลระดับภูมิภาคกลายป็นยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมรถไฟ และเมื่อเร็วๆ นี้ยังกลายเป็นนกเหล็กยักษ์ไล่งับเครื่อง Boeing กับ Airbus อีกด้วย
ในขณะที่ Bombardierกำลังจะทำให้นักลงทุนต้องผิดหวัง ด้วยตัวเลขขาดทุนประจำไตรมาสถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่บางที Bellemare อาจจะช่วยได้
Bellemare ปฏิเสธ แต่ในวันศุกร์วันหนึ่งในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา เขาก็บินไปพบกับ Beaudoin ที่ Montreal โดยคิดจะแวะไปหาเพียงสั้นๆ กำหนดรายงานผลประกอบการใกล้เข้ามา Beaudoin จึงบีบให้ Bellemare ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท
เส้นทางก่อนวิกฤต
Joseph-Armand Bombardier ชาวฝรั่งเศส-แคนาดา เคยเป็นช่างกล เขาทำงานปะติดปะต่อในร้านเล็กๆ ของตนเองในชนบทของ Quebec นานเกือบ 10 ปีโดยหวังจะสร้างสโนว์โมบิลสักเครื่องหนึ่ง ไม่เกินปี 1942 Bombardier ก็สามารถก่อตั้งบริษัทรถหิมะ (สโนว์คาร์) ของตนเองขึ้น
แต่ผู้ที่ทำให้บริษัทแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแคนาดาคือ Laurent Beaudoin ลูกเขยของ Bombardier ซึ่งเป็นนักบัญชีจากเมือง Quebec วิธีการของเขาคือเข้าซื้อบริษัทที่กำลังประสบปัญหาและขอรับเงินช่วยเหลือก้อนโตจากรัฐบาล
Laurent วัย 27 ปีในเวลานั้น เข้าซื้อบริษัทเมื่อปี 1966 หลังการเสียชีวิตของBombardier จากนั้นธุรกิจสโนว์โมบิลเผชิญปัญหามากมายในช่วงวิกฤตน้ำมันปี 1973 เขาจึงหันไปจับอุปกรณ์รถไฟแทน และสามารถเสนอราคาสร้างรถไฟให้กับ Metro ใน Montreal ได้สำเร็จ ปลดล็อกไปสู่การคว้าประมูลกิจการในยุโรปมาได้อีกหลายรายการ ส่งให้บริษัทก้าวขึ้นสู่แนวหน้าของตลาดอุปกรณ์รถไฟในช่วงต้นยุค 2000
ต่อมาคือธุรกิจการบิน Laurent ซื้อ Canadair มาจากรัฐบาลแคนาดาเมื่อปี 1986 ในราคา 120 ล้านเหรียญหลังจากที่ Ottawa สูญเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญไปกับต้นทุนพัฒนา Challenger ซึ่งเป็นเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจ เมื่อผนวกกับ Learjet ซึ่งได้มาเมื่อปี 1990 จากบริษัทแม่ที่ล้มละลายนั้น Bombardier ก็สามารถผลักดันเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจให้รุ่งเรืองได้สำเร็จในช่วงปลายยุค 1990
จากนั้นคือการเดิมพันครั้งใหญ่ นั่นคือ CSeries เครื่องบินใหม่ทั้งหมดลำแรกของบริษัท แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความมั่นใจในช่วงต้นยุค 2000 Pierre ลูกชายของ Laurent ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงนั้นเชื่อว่า ตลาดยังมีช่องว่างให้กับเครื่องบินประหยัดเชื้อเพลิงที่มีขนาดอยู่ตรงกลางระหว่างเครื่องบินเจ็ตเพื่อการเดินทางในภูมิภาคกับเครื่องบินขนาดเล็กสุดของ Airbus และ Boeing คือ A320 และ 737
แต่ Beaudoin ประเมินความโหดร้ายของการตอบโต้จาก Airbus และ Boeing ไว้ต่ำเกินไป สองยักษ์ใหญ่พัฒนา A320 และ 737 รุ่นใหม่ที่มีการใช้เครื่องยนต์ใหม่ออกมาบั่นทอนข้อได้เปรียบด้านประสิทธิภาพของ CSeries และเมื่อสายการบินต่างๆ กำลังเล็งว่าจะซื้อ CSeries อยู่นั้น Airbus กับ Boeing ก็ตอบโต้ด้วยการปรับลดราคาเครื่องบิน
ขณะที่ต้นทุนการพัฒนาก็บานปลายจากที่ประเมินไว้ในตอนแรก 3.4 พันล้านเหรียญขึ้นเป็น 6 พันล้านเหรียญ ขณะเดียวกัน แผนกเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจของบริษัทก็กำลังถลุงเงินนับพันๆ ล้านในการออกแบบเครื่องบินใหม่ อีก 2 ลำคือ Learjet 85 และ Global 7000
Bellemare จึงเข้าฉากมากู้สถานการณ์ หลังร่วม งานกับ United Technologies มานานถึง 18 ปี Bellemare ได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประกอบการที่ชาญฉลาดและมีเครือข่ายลึกซึ้ง เมื่อเขาตอบรับงานเขายังไม่ทันเข้าใจว่าปัญหานั้นใหญ่แค่ไหน “โดยทั่วไปแล้วคือมีความกดดันอยู่ทุกหนแห่ง” Bellemare กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกเขาได้นอนเพียงคืนละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
Bellemare ผู้พลิกสถานการณ์
ช่วง 10 เดือนแรก Bellemare หาเงินสดมาต่อกิจการของบริษัทด้วยการขายหุ้นใหม่ หุ้นกู้ และสินทรัพย์ระดมทุนรวมได้ 5.6 พันล้านเหรียญ เงินส่วนใหญ่ที่หามากู้วิกฤตนั้นมาจากการขายหุ้น 30% ในธุรกิจรถไฟ Bombardier Transportation (รายได้ของ Bombardier เกือบครึ่งหนึ่งมาจากธุรกิจนี้) ไปให้กับ กองทุนบำนาญ Quebec ในราคา 1.5 พันล้านเหรียญ และ Bellemare ยังดำเนินกิจการด้วยนโยบายรัดเข็มขัดและลดต้นทุนไปพร้อมๆ กัน
Bellemare โละพนักงานออก 7,700 คน ลดจำนวนซัพพลายเออร์จาก 10,000 เหลือเพียง 4,500 ราย และยุติการผลิตสินค้าที่เหมือนกันในหลายประเทศ Bellemare ยังสัมผัสได้ว่าตลาดเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจคงจะเติบโตแบบชะลอตัว เขาจึงปรับลดการผลิตเครื่องบินจาก 200 ลำในปี 2015 เหลือ 138 ลำในปี 2017 มีการยกเลิก Learjet 85 เนื่องจากขาดทุน 2.6 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Global 7000 โดนเลื่อนออกไปจนถึงปลายปี 2018
ปัญหาใหญ่ที่สุดยังคงเป็น CSeries ซึ่งในที่สุดได้เปิดตัวในปี 2016 แต่ก็ขายไม่ออก Bellemare เริ่มเคลื่อนไหวโดยหวังจะยุติฝันร้ายนี้ จึงหันไปจับมือกับ Airbus ซึ่งได้ตกลงเข้ารับหุ้นของโครงการไว้ 50.01% เมื่อเดือนตุลาคมปี 2017
ในที่สุด ข้อตกลงดังกล่าวก็ห้ามเลือดได้สำเร็จ “เราเริ่มคิดถึงก้าวต่อไปกันแล้วว่าเราจะนำทุนไปใช้อย่างไรให้เป็นระบบและมีระเบียบ” Bellemare กล่าว
สำหรับ Bombardier เส้นทางข้างหน้ายังคงคับแคบ Bellemare มีหนี้สินระยะยาวถึง 9 พันล้านเหรียญ สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องเร่งฟื้นฟูกระแสเงินสดเพื่อที่จะสามารถลดปริมาณหนี้สินนั้นลงได้ อีกเป้าหมายสำคัญคือซื้อหุ้นคืนจากกองทุนบำนาญ ของ Quebec เพราะว่าการลงทุนในธุรกิจรถไฟของกองทุนนี้มีเงื่อนไขมากมายเหลือเกิน
ในแต่ละปี บริษัทจะมีงบประมาณราว 800 ล้านเหรียญสำหรับลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาไปจนถึงปี 2020 ซึ่งนับว่ายังขาดแคลนอยู่มากสำหรับการพัฒนาอากาศยานลำใหญ่อีกสักลำ แต่ Bellemare แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าบริษัทจะประสบปัญหารุนแรง แต่เขาก็ไฟเขียวให้เดินหน้าโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต Bombardier ทำให้ตลาดประหลาดใจ เมื่อเขาเปิดตัวโมเดลใหม่ของเครื่องบินเจ็ตขนาดใหญ่สำหรับผู้บริหาร 2 รุ่น ที่ทำรายได้มหาศาล คือ Global 5500 กับ 6500
นอกจากนี้ยังนับว่ามาถูกเวลา เพราะตลาดธุรกิจการบินส่งสัญญานฟื้นตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ บริษัทคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 25% มาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญจนถึงปี 2020 โดยที่แผนกเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจจะทำรายได้คิดเป็น 3 ใน 4 ของการขยายตัว
ส่วนอื่นๆ ของบริษัทต่างมีชื่ออยู่ในข่าวลือการซื้อและควบรวมกิจการ ผู้ที่จะซื้อแน่ๆ คือ Airbus นั่นเอง จากการเป็นพันธมิตรระหว่างสองบริษัทนั้น Bellemare บอกว่า “จริงอยู่ว่าเรากำลังจะเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้กับ Airbus แต่สิ่งสำคัญคือโอกาสที่จะเติบโตต่อไป เราสามารถทำประโยชน์ให้กับ Airbus ได้ ตั้งแต่ห้องนักบินไปจนถึงปีก จนถึงตัวเครื่อง”
แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้คือ Bombardierจะไม่ต้องขอลงจอดฉุกเฉินอีกต่อไป “เราไม่ใช่พวกที่วิ่งหนีปัญหาเราวิ่งเข้าหามันต่างหาก” Bellemare กล่าว
เรื่อง: Jeremy Bogaisky เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ติดปีกบินใหม่ให้สูงกว่าเดิม" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine