โครงการดีๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จของอภิมหาเศรษฐีระดับโลก - Forbes Thailand

โครงการดีๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จของอภิมหาเศรษฐีระดับโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
11 May 2016 | 11:07 AM
READ 1809

บางคนอาจจะเรียกโครงการเหล่านี้ว่าเป็นความเพ้อฝัน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือล้ำยุคเกินไป แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็มีบทสรุปไม่ต่างกัน บางครั้งแม้แต่อภิมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จอย่างล้ำเลิศในโลกธุรกิจก็พยายามผลักดันโครงการที่จะทำอะไรดีๆ ให้สังคมแต่ปรากฏว่าไม่ประสบผลอย่างที่ตั้งใจไว้ ต่อไปนี้คือบางตัวอย่างของอภิมหาเศรษฐีที่พยายามจะทำโครงการเพื่อสังคมแต่กลับล้มเหลว

Bill Gates ด้วยความเชื่อว่าโรงเรียนมัธยมปลายไม่ควรจะใหญ่จนเกินไป ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft จึงใช้เงิน 2 พันล้านเหรียญจากมูลนิธิของเขาเพื่อสร้างโรงเรียนที่มีขนาดเล็กลงทั่วทั้งสหรัฐฯ แต่ในจดหมายของมูลนิธิที่เขียนถึงสาธารณชนในปี 2009 Gates ยอมรับว่า “โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งที่เรานำเงินเข้าไปสนับสนุนไม่ได้ทำให้นักเรียนของโรงเรียนเหล่านี้ประสบความสำเร็จมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” Mark Zuckerberg เขาเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านการศึกษาเช่นกัน ในปี 2010 CEO ของ Facebook ผู้นี้ ได้ควักเงินถึง 100 ล้านเหรียญเพื่อฟื้นฟูระบบการศึกษาของเมือง Newark ในรัฐ New Jersey ซึ่งล้มเหลวมาอย่างยาวนาน แต่น่าเสียดายที่ครูอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับแผนการฟื้นฟูระบบการศึกษาของเขา จำนวนที่ปรึกษาโครงการยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนักเรียนก็ยังต้องดิ้นรนต่อไป เมื่องบประมาณสำหรับโครงการนี้หมดลง Peter Lewis ประธานของ Progressive Insurance ผู้ล่วงลับ ได้บริจาคเงินถึง 40 ล้านเหรียญ ผ่านโครงการรณรงค์หลายโครงการเพื่อสนับสนุนให้กัญชาเป็นของที่ถูกกฎหมาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขารอดจากการถูกจับในนิวซีแลนด์ ด้วยข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครอง ประชากรของรัฐส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทำให้กัญชาเป็นของถูกกฎหมาย แต่ในปี 2012 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขายังทันได้เห็นประชากรของรัฐ Colorado และ Washington เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ของเขา George Soros ตั้งแต่เริ่มทศวรรษที่ 1980 เจ้าพ่อกองทุน hedge fund ผู้นี้ได้ทุ่มเงินลงในยุโรปตะวันออก ด้วยความหวังว่าจะส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้มีสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น เขาบริจาคเงินให้กับองค์กรขนาดเล็กๆ แต่กลับปรากฎว่าไม่สามารถจะบริหารจัดการเงินก้อนใหญ่ยักษ์ที่เขาทุ่มให้ได้ “ดูเหมือนว่าแผนการใหญ่ของผมจะพังทลายไปทั้งที่เกือบจะสำเร็จอยู่รอมร่อแล้วเชียว” Soros ยอมรับอย่างเสียดายในหนังสือ Underwriting Democracy ที่เขาตีพิมพ์ในปี 1991
คลิ๊กอ่านบทความเพื่อจุดประกายไฟฝันทางด้านธุรกิจ จาก Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine