แปดเท่าครึ่ง - Forbes Thailand

แปดเท่าครึ่ง

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Jul 2016 | 05:41 PM
READ 1601

Ashton Kutcher เป็นนักแสดงที่มักจะได้รับบทบาทชายหนุ่มรูปงามอยู่เสมอ แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง เขากับ Guy Oseary ผู้จัดการส่วนตัวของ Madonna ได้รับการหนุนหลังจากอภิมหาเศรษฐีคนดังระดับโลกหลายคน และยังมีส่วนในการร่วมทุนทางธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อีกหลายแห่ง (เช่น Uber, Airbnb, Skype, Pinterest และ Spotify เป็นต้น) หลังจากที่เขาประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินจาก 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเกือบสามพันล้านเหรียญ เขาก็เริ่มยิ่งใหญ่มากขึ้นและเรื่องของเขาก็กลายเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับการบริหารเงินที่ไม่เหมือนใครในยุคนี้อีกด้วย

เรื่อง: ZACK O’MALLEY GREENBURG เรียบเรียง: จารุณี แตมสำราญ Ashton Kutcher นับเป็นหนึ่งในนักแสดงทีวีที่ได้รับค่าตัวสูงที่สุดคนหนึ่งในโลก เขาเป็นคนหนึ่งที่สามารถจะเนรมิตสรรพสิ่งของหรูหราที่บรรดาชนชั้นสูงของ Los Angeles ต่างต้องมีไว้ในครอบครอง อย่างเช่น รถพร้อมคนขับ แต่กระนั้น เขาก็ยังชอบใช้บริการรถ Uber อยู่ดี “เรากำลังจะไป Warner Bros.” เขาออกคำสั่ง เมื่อทันทีที่ Kutcher ก้าวเข้าไปในรถแล้ว เขาก็สวมบทเป็นนายขึ้นมาทันใด เมื่อห้าปีก่อนหน้านั้น ทั้งเขากับ Oseary ได้เทเงินลงทุนไป 500,000 เหรียญในธุรกิจ Uber ซึ่งปัจจุบัน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 100 เท่าจากมูลค่าที่พวกเขาลงทุนกันในตอนเริ่มแรก “จริงๆ แล้ว คุณไม่ได้กำลังเข้ามาทำธุรกิจแท็กซี่สักหน่อย แต่คุณกำลังนำผู้คนเข้ามาสู่ความคิดในเรื่องของการที่จะเป็นเจ้าของรถสักคันต่างหาก” Kutcher กล่าว “นับเป็นเรื่องที่บ้ามาก แต่ก็นั่นแหละ นี่เป็นเรื่องที่ทำให้ธุรกิจนี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีศักยภาพเติบโตอย่างที่ได้เห็นกันอยู่” มันคงจะง่ายที่จะบอกว่านี่เป็นเรื่องของโชคและดวง เหมือนเช่นกรณีของ William Shatner ที่เมื่อ Priceline เกิดประสบความสำเร็จขึ้นมา เขาก็ไม่ต้องมานั่งทนทำงานอีกเลย แล้วมันก็ง่ายด้วยเช่นกันที่จะเขียนอ้างไปว่า Kutcher นักแสดงหนุ่มวัย 38 ปีกับ Oseary วัย 43 ปี ผู้จัดการส่วนตัวของวง U2 กับ Madonna นี้เป็นนักลงทุนสมัครเล่นที่เอาความเก๋เฉพาะตัวมาแลกเปลี่ยนเป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่กระนั้นก็ยังมีอภิมหาเศรษฐีที่สร้างตัวขึ้นมาเองอย่าง Ron Burkle, Eric Schmidt, Mark Cuban, David Geffen และ Marc Benioff ได้ยินยอมมอบเงินหลายๆ ล้านเหรียญให้พวกเขาไปลงทุน และขณะที่อภิมหาเศรษฐีทั้งห้าคนนี้ต่างก็ได้ลิ้มรสชาติความมีชื่อเสียงและความเย้ายวนต่างๆ กันไปถ้วนหน้า แล้วก็ยังมี Liberty Media อีกบริษัทหนึ่งที่ตัดสินใจให้การสนับสนุนพวกเขาทั้งสองอย่างเต็มที่ โดยวางใจมอบเงินให้จำนวนถึง 100 ล้านเหรียญเพื่อการลงทุน และให้ดำเนินการไปได้ต่อไปโดยปราศจาก Burkle และปัจจุบันก็ยังคงทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันกับพวกเขา ในฐานะที่ Liberty Media เป็นบริษัทมหาชน มันจะต้องอยู่และตายไปกับตัวเลข และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ Kutcher และ Oseary ดูมีเสน่ห์เย้ายวนมากขึ้นไปอีก พวกเขาได้เปิดบัญชีให้ทีมงาน Forbes ดู และเราก็ได้เห็นเลยว่าตัวเลขนั้นมันมากยิ่งกว่าตัวเลขจาก Dude, Where’s My Car? ซะอีก ภายในระยะเวลาเพียงหกปี พวกเขาได้เปลี่ยนเงินลงทุน 30 ล้านเหรียญ ให้มีมูลค่าถึง 250 ล้านเหรียญขึ้นมาได้ โดยชายหนุ่มที่เคยเป็นนักแสดงนำในเรื่อง Two and a Half Men เมื่อไม่นานมานี้ สามารถทำกำไรได้มากถึง 8.5 เท่าเลยทีเดียว “ถ้าคุณสามารถทำกำไรได้สามเท่าไปเรื่อยๆ ก็ต้องถือว่าคุณเป็น Venture Capital ที่เชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว” Marc Andreessen นักลงทุนมือทองคำผู้ซึ่งสามารถทำเงินได้มากกว่า 4 พันล้านเหรียญเมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากบริษัท Andreessen Horowitz ของเขาเอง “และถ้าคุณสามารถทำกำไรได้มากกว่า 5 เท่าแล้วล่ะก็ ต้องเรียกว่าโฮมรัน กันเลยแหละ ผมใช้การคำนวนตามหลักคณิตศาสตร์ที่เคยเรียนมา จำนวน 8 เท่านั้นมีค่ามากกว่า 5 เท่าอย่างมากๆ” เส้นทางสุดพิสดารของ Ashton Kucher ในการมาเป็น Venture Capitalist นั้น เริ่มมาจาก Curtis Jackson นักแรปเปอร์ ฉายา “50 เซนต์” ที่อยู่ในสถานะล้มละลาย เมื่อสิบปีที่แล้ว Curtis ได้ตัดสินใจเข้าถือหุ้นในบริษัท Glabeau บริษัทแม่ของ Vitaminwater เพื่อแลกกับการที่ตัวเองจะได้เป็นปรากฏโฉมบนเครื่องดื่มแบรนด์นี้ และต่อมา เมื่อบริษัท Coca-Cola มาขอซื้อไปเมื่อปี 2007 เขาก็ได้เงินมาเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญ ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับเส้นทางของ Kutcher นั้น ล้วนมาจากปัญญาญาณส่วนตัวแทบทั้งสิ้น Kutcher เกิดมาจากครอบครัวชนชั้นกลางในไอโอวา ตอนอายุ 10 ขวบนั้นเขาเริ่มเรียนรู้เรื่องการทำงานจากพ่อของเขา ตอนที่เรียนไฮสคูล เขาก็ได้ลองทำงานแปลกๆ หลายอย่าง แต่สมองอันปราดเปรื่องก็ไม่เคยหายไปไหน เมื่อตอนที่เขาสมัครเข้าเรียนที่ University of Iowa เขาตั้งใจจะเรียนเอกทางด้านวิศวกรรมเคมี จนกระทั่งเมื่อเขาชนะการประกวดนายแบบเขาจึงลาออกมา แล้วย้ายไปอยู่นิวยอร์ค แล้วก็ลอส แอนเจลิส ความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อปี 1998 เมื่อเขาได้รับบทบาทใน That ‘70s Show และในปี 2003 เป็นต้นมาเขาเริ่มสร้างและผลิตรายการและทำบริษัท Katalyst ทำธุรกิจผลิตรายการอย่างเต็มตัว หลังจากนั้น Sarah Ross หัวหน้าฝ่ายดิจิทัล ได้เริ่มแนะนำให้เขารู้จักกับพวกบรรดาชนชั้นสูงของ Silicon Valley อย่าง Ron Conway และ Michael Arrington“ตอนนั้นผมใช้เวลากว่า 90% ได้แต่นั่งฟังพวกเขาอย่างเดียว” Kutcher กล่าว Andreessen กล่าวว่า “มีอยู่ช่วงหนึ่งจริงๆ ที่คนนอก Silicon Valley จะใส่ใจในเรื่องพวกนี้อย่างจริงๆ จังๆ แต่ Kutcher เขาเริ่มลงทุนกับมันตอนที่มันยังดูเหมือนไม่มีอะไรนี่แหละ” Andreessen ได้ชวนให้เขาทุ่มเงินลงทุน 1 ล้านเหรียญใน Skype เมื่อปี 2009 และเมื่อ Microsoft ซื้อบริษัทนั้นในอีก 18 เดือนต่อมา ทรัพย์สินของ Kutcher ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมามากถึงสี่เท่า นั่นทำให้เขาติดใจ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังสร้างความประทับใจกับเพื่อนๆ ของเขาที่ San Francisco ซึ่งเพิ่งจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นอย่างมากอีกด้วย สำหรับ Oseary นั้น ก็เคยผ่านเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เช่นเดียวกัน เขาเกิดที่ประเทศอิสราเอลและย้ายไปอยู่ Los Angeles ตอนอายุ 8 ขวบ เข้าเรียนที่ Beverly Hills High School ที่นี่เขาเริ่มใช้เวลาในการบริหารพวกกลุ่มนักเต้นฮิปฮอปเล็กๆ และยังใช้เวลาขลุกอยู่กับพวกลูกหลานของโบรกเกอร์ผู้ทรงอิทธิพลในฮอลิวูดอย่าง Freddie DeMann ผู้จัดการวงดนตรี ได้ว่าจ้างให้หนุ่มน้อย Oseary ทำงานให้กับ Maverick Records ที่เขาร่วมก่อตั้งกับมาดอนน่าขึ้นมา ตลอดช่วงกลางทศวรรษ 1990 นั้น Oseary ได้ไต่เต้าขึ้นจากเด็กน้อยผู้ปราชญ์เปรื่องไปสู่ตำแหน่งประธานบริษัท แล้วได้เข้าดูแลการบริหารศิลปินอย่าง Muse และ Alanis Morissette ด้วย เขากล่าวว่า “หลายๆ สิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้ก็คล้ายๆ เดิม ก็คือพยายามเสาะแสวงหาคนเก่งๆ แล้วก็ช่วยพวกเขาทำการตลาดให้กับผลงานดนตรีและสื่อให้ผู้คนรู้ถึงวิสัยทัศน์ของพวกเขา” จากการที่ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดในการเริ่มต้นทำธุรกิจ Oseary ก็เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับ Bill Gross ผู้ที่ทำกำไรถึงหนึ่งพันล้านเหรียญจาก Idealab ซึ่งเป็น Pasadena incubator เมื่อปี 1990 แต่แล้วเมื่อตลาดเกิดปั่นป่วนขึ้นเมื่อปี 2000 บริษัทเทคโนโลยีหลายสิบแห่งของเขาก็พังพาบไปด้วย พร้อมๆ กับแผนการที่จะนำเข้าตลาดหุ้น และเงินมูลค่าอีกหลายสิบล้านของ Oseary เอง ที่ลงทุนไปใน Idealab ด้วยทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน เขาได้กลับมาพบกับ Burkle เพื่อนของเขาอีกครั้ง คนผู้นี้เองที่เป็นผู้บอกเขาว่าความล้มเหลวของ Idealab นั้น เป็นเหมือนความโชคดีที่แฝงตัวมา เพราะนั่นทำให้เขาได้รับบทเรียนที่สำคัญมากตั้งแต่อายุเพียง 27 ปี ต่อมา Oseary ก็เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวของ Madonna เป็นคนที่ชี้แนะให้เธอจัดการแสดงคอนเสิร์ตไปทั่วโลก และสร้างรายได้รวมให้เธอทั้งสิ้น 600 ล้านเหรียญ ต่อมา ในปี 2008 เมื่อ Rodsky มาหาเขาพร้อมเสนอโอกาสให้เขาลงทุนใน Vita Coco เขาก็รีบเซ็นเช็คมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญให้ทันที ซึ่งนั่นทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านเหรียญ กลายเป็น 664 ล้านเหรียญตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ต่อมา เขาก็ได้ข้อเสนอใหญ่อีกครั้งผ่านทาง Groupon และเมื่อเขาเริ่มที่จะก้าวลึกลงไปในฐานะผู้ให้ทุนกับบรรดาบริษัทเปิดใหม่ เขาได้มองเห็นด้วยว่าธุรกิจด้านบันเทิงใน Silicon Valley นั้น แทบจะไม่มีใครสนใจเลย Oseary เล่าว่า “ที่นั่นมีผู้ชายอยู่คนเดียวเท่านั้น ที่ไม่เพียงแต่สนใจผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วก็พยายามมาประจบประแจงเข้าหาผม เพื่อให้ช่วยให้ได้ดีลตามที่เขาต้องการ ผู้ชายคนนั้นก็คือ Ashton นี่แหละ” และเมื่อ Oseary เสนอที่จะร่วมทุน Kutcher ก็รีบตกลงทันที ทั้ง Kutcher และ Oseary ได้ร่วมมือกับ Burkle ในการสร้าง A-Grade Investments ในปี 2010 (ตัวอักษรสามตัวแรกของกองทุนนี้มาจากชื่อของผู้ร่วมก่อตั้งแต่ละคนนั่นเอง) อภิมหาเศรษฐี Burkleลงเงินไป 8 ล้านเหรียญและสนับสนุนการทำงานอยู่เบื้องหลัง ส่วน Kutcher กับ Oseary ต่างก็สมทบเพิ่มกันอีกคนละ 1 ล้านเหรียญ เช็คใบแรกๆ ที่ A-Grade ได้มานั้น เริ่มต้นที่ 50,000 – 100,000 เหรียญ และก็เพิ่มมูลค่าขึ้นเป็นเลขเจ็ดหลักในเวลาต่อมา นักลงทุนทั้งสามมุ่งเป้าไปที่บรรดานักบุกเบิกธุรกิจที่มีปัจจัยสามอย่างดังนี้คือ มีผู้ก่อตั้งธุรกิจที่หลงใหลในสิ่งที่ตนเองทำ พวกนี้เป็นคนที่พวกเขาอยากทำงานด้วย เป็นนักแก้ปัญหาและเป็นผู้ที่พยายามใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และต้องมีโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโตจากการที่พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย Kutcher นั้นเป็นคนที่รู้จักวิธีที่จะนำอิทธิพลของโซเชียลมีเดียมาใช้ เขาเป็นคนที่ทำให้ Twitter ของตัวเองมีผู้ติดตามมากถึงหนึ่งล้านคน และดึงดูดให้คนเหล่านั้นเขามาในเว็บไซต์ และเมื่อจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ Andreessen Horowitz ก็ทุ่มทุนไป 15 ล้านเหรียญในปี 2012 และ A-Grade ก็สมทบเพิ่มเติมเข้าไปอีก 10 ล้านเหรียญ จำนวนเงินนี้ต่อมาก็ทบเท่าขึ้นเป็นทวีคูณหลังจากนั้น Christ Sacca นักลงทุนระดับอภิมหาเศรษฐี ผู้ทิ่มีชื่อติดอันดับเป็นหนึ่งใน Midas List ที่เป็นเนื้อหาปกฉับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว กล่าวว่า “เดี๋ยวนี้มีคนดังที่เข้ามาทำตัวเหมือน “นักท่องเที่ยว” ในวงการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ พวกคนดังเหล่านั้นต่างพยายามเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในธุรกิจนี้ แต่ไม่ได้มาสร้างคุณค่าอะไรให้มากนัก แต่สำหรับ Ashton นั้น เป็นกรณีพิเศษ เพราะเขาเข้ามาพร้อมกับความมุ่งมั้นตั้งใจในทุกวันที่จะพัฒนาเทคโนโลยี และเขาทำสิ่งนี้มาได้ถึงแปดปีแล้ว” ปี 2011 ทั้ง Kutcher, Oseary และ Burkle ทุ่มเงินลงทุนไป 2.5 ล้านเหรียญในบริษัท Airbnb เพื่อเป็นหุ้นส่วนในบริษัทนี้ ตอนนี้ได้เพิ่มมูลค่าเป็น 90 ล้านเหรียญแล้ว พวกเขายังลงเงินอีก 500,000 เหรียญใน Uber ส่วนหนึ่งโดยผ่านบริษัท Lowercase Capital ของ Sacca ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในระยะฟักตัว และต่อมาพวกเขาก็ตัดสินใจเข้าลงทุนเองโดยตรง ตอนนี้มูลค่าการลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านเหรียญแล้ว แต่ก็มีก้าวที่ผิดพลาดเกิดขึ้นไม่น้อยเช่นเดียวกัน Kutcher ลงทุนเป็นเงินสดใน Ooma ผู้ให้บริการโทรศัพท์ผ่านเว็บ ซึ่งตอนนั้นเขาได้รับตำแหน่งเป็น creative director อยู่ระยะหนึ่งด้วย แต่หลังจากที่บริษัทออกหุ้น IPO แล้ว ก็ฟุบลงไป นอกจากนั้น เขายังลงทุนใน แอพพลิเคชั่น BlackJet สำหรับให้บริการ Uber-for-Planes ด้วย ส่วน A-Grade ก็ลงทุนใน Fab.com เว็บศูนย์รวมแฟชั่นออนไลน์ และเฝ้ามองมูลค่าบนกระดาษของมันพุ่งสูงขึ้นไปเป็น 1 พันล้านเหรียญ แล้วก็ตกลงมาอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นข่าวที่ร่ำลือกันว่ามีการขายธุรกิจออกไปในราคาเพียง 15 ล้านเหรียญ แต่ก็เช่นเดียวกันกับวงการฮอลิวูดและวงการดนตรี กล่าวคือ venture capital ก็เป็นธุรกิจยอดนิยมเหมือนกัน และแม้ว่าคุณจะแจ็คพอตคว้า Uber และ Airbnb มาได้ การดำเนินงานของ A-Grade ก็จะยังคงมีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3.3 เท่า อันเนื่องมาจากธุรกิจตัวอื่น อาทิเช่น จากการลงทุนไป 3 ล้านเหรียญใน Spotify เมื่อปี 2010 (เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า) อีกสองปีต่อมาก็ลงทุนอีก 300,000 เหรียญ ใน Warby Parker (เพิ่มขึ้น 7 เท่า) และลงทุนอีก 1.5 ล้านเหรียญใน Houzz เมื่อปี 2014 (เพิ่มขึ้น 6.6 เท่า) ทัศนคติในเชิงบวกทำให้ดึงดูดโอกาสใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย Andreessen กล่าวว่า “ถ้าคุณมีชื่อเสียงว่าเป็นคนขยันขันแข็งผลิตงานสม่ำเสมอและอุทิศตนในการทำงานแล้วละก็ คุณก็จะมีโอกาสที่จะดึงดูดสิ่งต่างๆ เข้ามามากมาย” Kutcher ทำเงินได้ถึง 20 ล้านเหรียญจากเรื่อง Two and a Half Men เมื่อซีซั่นที่แล้ว สำหรับ Oseary จากการจัดทัวร์คอนเสิร์ตที่เพิ่งจบไปเมื่อเร็วๆ นี้ของ U2 ที่กอบโกยเงินมากถึง 152 ล้านเหรียญและของ Madonna อีก 305 ล้านเหรียญ ทำให้เขาน่าจะได้ส่วนแบ่งไปราวๆ 15 ล้านเหรียญ สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นสิ่งที่พวกเขาหลงใหล และมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแต่อย่างใด “ถึงแม้ว่าเราทำเงินไม่ได้สักเหรียญเดียว แต่เราสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ไปในทางที่ดีขึ้นได้ เพราะเราได้แก้ปัญหาจริงๆ สนับสนุนคนเก่งๆ และพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือคนเหล่านั้น ผลตอบแทนที่ได้ ก็นับว่าคุ้มค่ากับความพยายามแล้ว” Kutcher กล่าว ด้วยท่าทีของผู้เชี่ยวชาญแห่ง Silicon Valley อย่างแท้จริง
คลิ๊กอ่าน "แปดเท่าครึ่ง" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine