มหาเศรษฐี Chip Wilson ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้ง Lululemon เท่านั้น เขายังเป็นนักวิจารณ์ขาใหญ่ที่ผู้บริหารคนอื่นๆ หาได้ใส่ใจความคิดเห็นของเขาไม่
คาเฟ่ร่มรื่นแห่งหนึ่งในย่านเก่าแก่ของ Vancouver Chip Wilson ผู้ก่อตั้ง Lululemon Athleticaกำลังทอดถอนใจกับชะตากรรมของบริษัทที่เขาเป็นผู้สร้าง “มันไม่มีนวัตกรรมอะไรเลย” เขากล่าวพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ พลางฉีกครัวซองท์ตรงหน้า “นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนวิถีการแต่งกายของผู้คน คนชอบสับสนคำว่า “นวัตกรรม” กับการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งที่สองอย่างนี้แตกต่างกันสิ้นเชิง” Wilson กล่าวเสริม ในปี 2013 หลังจากราคาหุ้นของ Lululemon ดิ่งลงร้อยละ 30 พร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่นำความเสื่อมเสียมาให้บริษัทหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการเรียกคืนสินค้าจำนวนมากและการแสดงความเห็นต่อเรือนร่างของสตรีโดยขาดความเข้าใจ บริษัทตัดสินใจขับ Wilson ไปให้พ้นทาง Laurent Potdevin ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานบริษัท Toms Shoes เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารคนใหม่ในเวลาไม่นานเขาจัดการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารของ Lululemon ตลอดจนไลน์สินค้า และกลยุทธ์การขยายธุรกิจ ภายในสองปีเขาทำยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็น 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นหุ้นละ 55 เหรียญ จากที่ดิ่งต่ำสุดที่ 37 เหรียญ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2014 แต่กำไรกลับไม่ฟื้นตาม และราคาหุ้นก็ทำราคาต่างจากที่เคยขึ้นสูงสุดที่ 82 เหรียญ ในปี 2013 อย่างมาก ราคาหุ้นผันผวนตลอดฤดูใบไม้ร่วงและปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 25 ของมูลค่าเมื่อเดือนกันยายน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เติมเชื้อไฟให้กับผู้ก่อตั้งที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง เขาไม่อาจนิ่งดูดายในสิ่งที่เขาปั้นมากับมือ เขายังถือหุ้นมากพอที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคือร้อยละ 15 Wilson รักแบรนด์ของเขาอย่างหัวปักหัวป่ำ ตั้งแต่เขาก่อตั้ง Lululemon เมื่อปี 1998 Wilson ให้ความสำคัญกับการควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเองเขาดูแลการผลิตผ้าที่ใช้ตัดเย็บชุดสำหรับเล่นโยคะทุกขั้นตอน เนื้อผ้าทอจากไลคราและไนลอนที่ให้ความยืดหยุ่นและนุ่มราวกับผ้าฝ้ายที่ทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียง ขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นประเภท Athleisure ซึ่งเป็นการผสมผสานชุดกีฬากับดีไซน์ที่ทันสมัยเริ่มเป็นที่จับตา Wilson ยืนกรานว่า Lululemon จะต้องบริหารร้านสาขาทุกแห่งเอง สิ่งนี้หมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นและการควบคุมทุกอย่าง วิสัยทัศน์ของเขาหล่อหลอมวัฒนธรรมบริษัทซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทฤษฎี EST เรื่อง “การพบตัวตน” ของ Werner Erhard และหลักการเรื่องวัตถุวิสัยของ Ayn Rand แต่ธรรมชาติของความเป็นจอมบงการไปไม่ได้กับการเติบโตของ Lululemon Wilson รามือจากหน้าที่ซีอีโอตั้งแต่ก่อนที่บริษัทจะเปิดให้จองหุ้น IPO แต่ก็มีเรื่องไม่ลงรอยกับผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากเขาคนหนึ่งในเรื่องที่หยุมหยิมอย่างถุงใส่สินค้า เมื่อ Potdevin ในวัย 46 ปี มารับตำแหน่งแทน เขากล่าวว่าเขาได้พบกับ “ความยุ่งเหยิงในตัวผลิตภัณฑ์ ความยุ่งเหยิงในตัวผู้ก่อตั้ง” คณะกรรมการบริษัทช่วยให้ Potdevin หายใจหายคอได้คล่องขึ้นด้วยการหาทางลดบทบาทของ Wilson บอร์ดกล่อมให้เขาขายหุ้นที่ถืออยู่ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคล และตกลงจะไม่วิพากษ์วิจารณ์บริษัทในทางเสื่อมเสียเป็นเวลาสองปี ตลอดจนลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ ในที่สุด Wilson หันไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเสื้อผ้าคู่แข่ง Kit and Ace ซึ่งภรรยาและลูกชายของเขาเป็นผู้ก่อตั้ง Potdevin นั้นเมื่อมารับตำแหน่งก็ได้เสาะหาขุนพลใหม่มาร่วมทีม “ผมต้องสร้างทีมบริหารใหม่ที่มีศักยภาพพอจะพาบริษัทก้าวไปข้างหน้า” เขาเผย ทีมงานสำคัญคนหนึ่งของเขาได้แก่ Stuart Haseldenซึ่งมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) Haselden เพื่อกำหนดตารางงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่โรงงานอย่างเคร่งครัด Haselden และผู้บริหารระดับสูงอีกสี่คนต่างก็เข้ามาทำงานกับ Lululemon ในยุคที่ Wilson พ้นจากบริษัทไปแล้ว Potdevin ได้สร้างกลุ่มที่ภักดีกับบริษัทอย่างถวายหัว พวกเขาแทบไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้ก่อตั้ง ในขณะที่โครงสร้างบริษัทในยุคปัจจุบัน แต่สิ่งที่เหมือนกันเพียงสิ่งเดียวคือวัฒนธรรมของการมีทัศนคติคับแคบ Gina Warren หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์คนใหม่ อดีตผู้บริหาร Nike ผู้ที่ชอบพูดจาแบบพึมพำอยู่ในคอ มักกล่าวถึงพนักงานด้วยคำว่า “หมู่พนักงาน” (collective) โครงสร้างบริษัทที่ขอให้บรรดาผู้จัดการเชื่อมั่นในความสามารถของพนักงานใต้บังคับบัญชาที่จะประสบความสำเร็จในบริษัทที่มีโครงสร้างค่อนข้างแบนราบ “โครงสร้างแบบนี้ทำให้เกิดความชัดเจนและทำให้พนักงานมีส่วนร่วม” Duke Stump หัวเรือฝ่ายการตลาดคนใหม่กล่าว แล้วมันก็ทำงานได้ดี นักวิเคราะห์คาดว่า Lululemon จะทำรายได้ถึง 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 หนึ่งในความสำเร็จของ Potdevin คือเสื้อผ้าบุรุษ ซึ่งเป็นสินค้าที่ Wilson พยายามหลบเลี่ยงมากที่สุดตลอดมา โดย Wilson สร้าง Lululemon ให้เป็นแบรนด์สำหรับสตรี และตอนนี้ ข้อตกลงไม่วิพากษ์วิจารณ์บริษัทในทางเสื่อมเสียหมดอายุแล้ว Wilson ในวัย 61 ปี จึงออกมาแสดงความเห็นต่างๆ นานาอีกครั้ง ในขณะที่ Wall Street ดูจะไม่ใส่ใจเท่าไหร่ “เรากำลังเริ่มเห็นผลของการบริหารงานที่มั่นคงและเราจะได้เห็นว่าบริษัทนี้มีศักยภาพแค่ไหนเมื่อมีความมั่นคง” McClintock นักวิเคราะห์จาก Barclays ให้ความเห็น สิ่งที่ดูเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ Wilson คือเขาต้องใช้เงินซื้อสิ่งที่เขาใช้หากินและนั่นก็คือซื้อหุ้น Lululemon คืน เขาต้องร่วมหุ้นกับบริษัทจัดการสินทรัพย์ส่วนบุคคลหรือนักลงทุนอื่นๆ สมบัติมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขายังไม่พอจะยึดเอา Lululemon ที่มีมูลค่าตลาด 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คืนมา แต่นั่นก็ไม่ใช่แผนที่เขาอยากทำ เขาอาจจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการสร้าง Lululemon สไตล์ของเขาเองที่ Kit and Ace ซึ่งมียอดขายราว 70 ล้านเหรียญสิ่งที่เขาเลือกทำและดูจะพอใจที่จะทำคือแค่บ่น เมื่อสองสามเดือนก่อน Wilson ซื้อป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ป้ายรถประจำทางหน้าสำนักงานใหญ่ของ Lululemon ใน Vancouver เพื่อเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บ ElevateLululemon.com Wilson เล่าถึงวิสัยทัศน์ของเขาในการบริหารงานบริษัท “แนวการทำงานของผมคือผมคุยกับบริษัทเพราะซีอีโอที่บริษัทมีอยู่ตอนนี้รวมถึงวิธีการดำเนินงานไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาวเป็นแรงผลัก” Wilson กล่าว ดูไปแล้วการเปิดบริษัทใหม่ในอุตสาหกรรมที่อายุยังน้อยต่างจากการบริหารบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมที่อยู่ยงมานานแล้วมาก เจ้าของธุรกิจบางรายเข้าใจความจริงข้อนี้ แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ นี่เองทำให้ Wilson ต้องเผชิญกับสิ่งที่ตามหลอกหลอนฝันร้ายของคนเป็นพ่อแม่อยู่เสมอ นั่นคือการถูกลูกตัวเองปฏิเสธ “Chip เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะฉะนั้นเขาย่อมมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น” Potdevin กล่าวพลางยักไหล่ “มันไม่ทำให้เราไขว้เขว เพราะนั่นเป็นแค่เสียงนกเสียงกา”คลิกอ่านฉบับเต็ม "สร้างมากับมือแต่กลายเป็นแค่ผู้ถือหุ้น" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560