มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Shalid Khan และ Andrew Cherng - Forbes Thailand

มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Shalid Khan และ Andrew Cherng

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jan 2017 | 11:06 AM
READ 3871

Shalid Khan มหาเศรษฐีชาวปากีสถาน อีกหนึ่งมหาเศรษฐีผู้เดินทางสู่แผ่นดินอเมริกา แม้ประเทศแรกในความคิดที่เขาต้องการย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานน่าจะเป็นสหราชอาณาจักร “แต่อเมริกาคือดินแดนสู่ความรอดอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับผมเสมอมา”

มกราคมปี 1967 Khan เดินทางถึงสนามบิน JFK ซึ่งนับเป็นด่านปราการเข้าสู่อเมริกาในยุคนั้น เขาต่อเครื่องเพื่อไปลงที่ Chicago แต่พายุหิมะทำให้เที่ยวบินของ Khan วัย 16 ปีต้องเปลี่ยนเส้นทางลงจอดที่ St. Louis แทนและนั่งรสบัสต่อไปยัง University of Illinois ใน Champaign ซึ่งเขาสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี ทั้งเนื้อทั้งตัวเขามีเงินอยู่ 500 เหรียญ Khan ได้งานทำหลังเลิกเรียนเป็นพนักงานล้างจานในกะกลางคืนด้วยค่าแรงชั่วโมงละ 1.20เหรียญ “ผมตื้นตันใจมากจนอธิบายไม่ถูก คุณจะไม่สามารถหางานเช่นนี้ได้ในประเทศที่ผมจากมา” เขากล่าว “ความคิดที่แล่นเข้ามาในสมองคือ ว้าว! ผมทำงานได้ ผมสามารถยืนบนลำแข้งตัวเองผมกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้” หลังจากนั้น Khan ได้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกวิศวกรรมของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Flex-NGate ในอีกไม่กี่ปีให้หลัง เขาได้นำเงินเก็บในบัญชีและเงินกู้จากหน่วยงาน SmallBusiness Administration รวมกัน 16,000 เหรียญเพื่อก่อตั้งธุรกิจผลิตแผงกันชนรถยนต์ป้อนให้กับบริษัทยานยนต์ ในที่สุดเขาสามารถซื้อกิจการ Flex-N-Gate ต่อจากอดีตนายจ้าง ขณะนี้บริษัทของเขาสร้างรายได้ปีละ 6.1 พันล้านเหรียญและจ้างพนักงานกว่า 12,000 คนในสหรัฐฯ โรงงานใน Detroit ของเขาซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจะต้องการพนักงานมากถึง 1,000 คนซึ่งจะได้รับอัตราค่าจ้างชั่วโมงละ 25 เหรียญ จากการประเมิน Khan มีมูลค่าทรัพย์สินราว 6.9 พันล้านเหรียญ ในอีกแง่มุมหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเขาโยกย้ายถิ่นฐานไปยังสหราชอาณาจักรเช่นกัน เขาควักกระเป๋าซื้อสโมสรทีมฟุตบอล Fulham ของอังกฤษ แต่อย่าหาว่าลำเอียงเพราะเขายังเป็นเจ้าของทีมกีฬาอันเป็นที่โปรดปรานของมหาเศรษฐีและบ่งบอกถึงความเป็นอเมริกันอย่างยิ่งนั่นก็คือทีมอเมริกันฟุตบอลจากลีก NFL อย่าง Jacksonville Jaguars Andrew Cherng เกิดในประเทศจีน เขาผ่านประสบการณ์อันเป็นจุดเด่นของอเมริกาที่มุ่งเน้นความรู้ความสามารถของคนเป็นหลักในลักษณะคล้ายกัน เขาเดินทางมายัง Baldwin รัฐ Kansas เมื่อปี 1966 เนื่องจากได้ทุนเข้าเรียนที่ Baker University ในสาขาคณิตศาสตร์ เขาเคยเรียนมัธยมปลายที่ญี่ปุ่นแต่พบว่า “เป็นเรื่องยากสำหรับคนจีนที่จะเข้ากับคนญี่ปุ่น” หนึ่งปีหลังจากนั้นเขาได้พบกับนักศึกษาเข้าใหม่ปี 1 สัญชาติเมียนมาชื่อ Peggy ซึ่งต่อมาพวกเขาได้แต่งงานกัน “ผมไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองอะไรตอนที่มาถึง” Cherng กล่าว “สิ่งที่เป็นพลังผลักดันผมคือการที่ผมยากจน” ในปี 1973 Cherng เปิดร้านอาหาร Panda Inn ใน California ร่วมกับพ่อของเขาซึ่งเป็นหัวหน้าเชฟที่อพยพตามมาสมทบ หลังจากนั้น 10 ปีเขาและ Peggy ภรรยาเปิด Panda Express สาขาแรกที่ศูนย์การค้าใน Glendale รัฐ California ด้วยความรู้ระดับปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและประสบการณ์จากการเป็นวิศวกรด้านพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการบินและอวกาศ เธอได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการปลุกปั้นหนึ่งในเครือธุรกิจอาหารจานด่วนที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งมีสาขากว่า 1,900 แห่งและกวาดรายได้ปีละ 2.4 พันล้านเหรียญ ธุรกิจของครอบครัว Cherng มีพนักงานกว่า 30,000 คน และระดมเงินทุนมากกว่า100 ล้านเหรียญเพื่อการกุศล “ที่อเมริกาไม่มีสิ่งใดจะหยุดคุณได้นอกจากตัวคุณเอง”Cherng กล่าว อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่านอกจาก มหาเศรษฐีผู้อพยพ 42 รายจะติดทำเนียบ Forbes 400 แล้ว บุคคลมั่งคั่งอีก 57 คนที่ติดอันดับยังเป็นเหล่าทายาทของผู้ย้ายถิ่นฐานมายังสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 14% จากผู้ติดอันดับทั้งหมด (เทียบกับทายาทของคนเชื้อสายอเมริกันอายุเกิน 18 ปีซึ่งอยู่ที่ 6%) สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ ท่ามกลางประเด็นปัญหาที่ร้อนแรงในสหรัฐฯ ดินแดนแห่งผู้อพยพแห่งนี้ยังคงอ้าแขนยอมรับคนจากต่างแดน ผลสำรวจ ปี 2016 โดย Pew Research ชี้ว่าชาวอเมริกัน 59% มองว่าผู้อพยพ “ช่วยให้ประเทศแข็งแกร่งขึ้นเพราะความทุ่มเทตั้งใจทำงานและความสามารถของพวกเขา” (ขณะที่ 33% คิดว่าผู้อพยพ “สร้างภาระให้กับประเทศ”) พลเมืองของเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าแรงงานอพยพคือปัจจัยกดดันต่ออัตราค่าจ้างตลาดแรงงานที่ขาดทักษะฝีมือ แต่เทียบไม่ได้กับประโยชน์ที่ได้รับจากความสามารถของพวกเขาในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตและเกิดการจ้างงาน ทว่า กระแสการอพยพกำลังเผชิญกับกำแพงอุปสรรค สหรัฐฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการขอวีซ่าสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่มีทักษะความสามารถ (วีซ่าทำงานประเภท H-1B) ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กำหนดจำนวนโควต้าวีซ่าทำงานสำหรับชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษไว้เท่าเดิมตั้งแต่ปี 2004 แม้ว่าจำนวนผู้ยื่นสมัครขอวีซ่าจะมีจำนวนสูงกว่าโควต้าที่กำหนดอย่างมาก อันที่จริงแล้ว การยื่นขอวีซ่าจากรัฐบาลครบจำนวนโควต้าที่กำหนดตั้งแต่ 5 วันแรกที่เปิดให้ยื่นคำร้องทุกปี นับจากปี 2014 ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจโลกเอื้อต่อโอกาส (หรืออย่างน้อยช่องทางดิ้นรนสู่ความสำเร็จ) สำหรับนักศึกษาต่างแดนที่เพิ่งเรียนจบจากที่นี่หมาดๆ นั่นหมายความว่าเรากำลังดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่เก่งและฉลาดที่สุดของโลกเข้ามาในประเทศ เปิดโอกาสให้พวกเขาเรียนรู้ในระบบการศึกษาที่ดีที่สุดของเรา จากนั้นก็เตะพวกเขาออกจากประเทศเพื่อให้มาแข่งขันกับเราทั้งที่ไม่ได้เต็มใจ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคืออะไร? เราถามหาคำตอบจากมหาเศรษฐีจากอันดับ Forbes 400 ที่อพยพมาจากต่างแดนซึ่งรวมถึง Peterffy, Khan, Wadhwani และ Cherng แม้พวกเขาจะมีปูมหลังความเป็นมาแตกต่างกัน แต่จะพบว่าพวกเขามีความตรงกันในหลักการกว้างๆ 3 ประการ ประการแรก ผู้อพยพที่มีการศึกษาและความตั้งใจสูงควรได้รับการสนับสนุนให้เข้ามายังสหรัฐฯ ไม่ใช่ถูกขัดขวาง (ประธานาธิบดี Obama เสนอร่างกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยจะได้รับวีซ่าสำหรับ “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” ถ้าหากได้รับเงินทุนตั้งแต่ 100,000 เหรียญขึ้นไปจากกลุ่มนักลงทุนที่ระบุตามเงื่อนไข แต่แผนนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสแผนร่างฉบับใหม่ซึ่งแก้เกมด้วยการออกกฎที่ไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสเพิ่งประกาศโดย Department of Homeland Security เมื่อไม่นานมานี้จะอนุมัติวีซ่าประเภทชั่วคราวให้กับคนต่างชาติที่ถือครองหุ้นส่วนใหญ่และมี “บทบาทสำคัญในการบริหารงาน” ในธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน) ส่วนข้อที่สอง การเดินทางข้ามชายแดนควรมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันการลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และ ประการสุดท้าย ควรจัดหาช่องทางให้ผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายแต่พำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มานานแล้วสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นพลเมืองอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงการขึ้นทะเบียนเป็นพลเมือง การจ่ายภาษีและปฏิบัติตามกฎหมายบางทีสิ่งนี้อาจช่วยนำทางสู่ฉันทามติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันซึ่งจะทำให้มั่นใจว่า American Dream ในอุดมคติจะยังคงอยู่ตลอดไป จะมีอะไรเหมาะเจาะไปกว่าการที่ร่างนโยบายนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตมูลค่าหลายพันล้านเหรียญนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของผู้อพยพเช่นกัน
Forbes 400 ชี้ ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่ มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Thomas Peterffy และ สามี-ภรรยา ผู้ก่อตั้ง Forever 21 มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Romesh Wadhwani และ Douglas Leone 
คลิ๊กเพื่ออ่านฉบับเต็ม "Forbes 400 ชี้ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559