วิถีแห่ง WeWork เครือข่าย coworking space 10 ล้านตารางฟุต - Forbes Thailand

วิถีแห่ง WeWork เครือข่าย coworking space 10 ล้านตารางฟุต

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Feb 2018 | 09:59 AM
READ 3768

ด้วยราคาประเมิน 2 หมื่นล้านเหรียญทำให้ WeWork ขึ้นแท่นกลายเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นรองเพียง Uber และ Airbnb เป้าหมายของบริษัทไม่ใช่แค่สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันแต่มุ่งสร้างสรรค์ประสบการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

“ทุกวันนี้ผมยังตื่นเต้นจนขนลุกทุกครั้งที่นึกถึง” Adam Neumann ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ WeWork กล่าวถึงเมื่อครั้งที่ Masayoshi Son ประธานบริหาร Softbank แวะมาชมสำนักงานของเขาโดยให้เวลาเพียง 12 นาที จากนั้นก็ชวน Neumann กระโจนขึ้นรถของเขาซึ่งกลายเป็นที่มาของการเดินทางมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญ แผนการลงทุนของ Softbank ใน WeWork ถูกร่างขึ้นใน iPad ของ Son เมื่อรถไปถึงจุดหมาย Son ก็ลงนามบนร่างสัญญา พร้อมยื่นปากกาให้ Neumann ลงนาม ในนั้นระบุใจความสำคัญของการเป็นพันธมิตรระดับโลกด้วยกัน จากสัญญาที่ทำขึ้นบนเบาะด้านหลังรถ ทนายความได้สรุปข้อตกลงด้านการลงทุนเป็น 2 ส่วน สำหรับก้อนแรก Softbank จะลงทุนโดยตรงใน WeWork เป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ ส่วนเงินก้อนที่ 2 มูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญ จะนำไปขยายกิจการของ WeWork เพื่อเปิดสาขาใหม่ 3 แห่งในเอเชีย ได้แก่ WeWork Japan, WeWork Pacific และ WeWork China ในการดำเนินธุรกิจ Neumann และทีมงานจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตลอดจนบริหารพื้นที่สำนักงาน ส่วน Softbank รับหน้าที่จัดการดูแลสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้คนและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อกรุยทางการทำธุรกิจให้กับบริษัท
Adam Neumann ซีอีโอ WeWork เจ้าของอุปนิสัยบ้าบิ่น
ในการปิดดีลระดมทุนที่กรุง Tokyo เมื่อเดือนมีนาคม 2017 Neumann เดินทางไปพร้อมกับ Miguel McKelvey ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork เขาเป็นอดีตนักบาสเก็ตบอลทีม University of Oregon ที่ยังดูหนุ่มแน่นแม้ตอนนี้ก้าวสู่วัย 43 ปี “Masa หันมาหาผมและถามว่า ‘ในการแข่งขันใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างคนฉลาดกับคนบ้า’” Neumann กล่าว “ผมตอบว่า ‘คนบ้า’ แล้วเขาก็จ้องมาที่ผมและว่า ‘ถูกต้อง แต่คุณและ Miguel ยังบ้าไม่พอ’” ทว่าคนที่บ้าที่สุดเห็นจะเป็น Son เมื่อพิจารณาจากมูลค่ามหาศาลที่เขาประเมินไว้สูงถึง 2 หมื่นล้านหรียญเทียบเคียงกับบรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ แล้ว ตัวเลขนี้จะเป็นรองก็เพียง Uber และ Airbnb เท่านั้น WeWork ดำเนินธุรกิจให้เช่าสำนักงานแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ให้เช่าในรูปแบบเดียวกันกับ Uber และ Airbnb ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้บริการ โดยบริษัทจะเช่าเหมาพื้นที่ขนาดใหญ่แล้วนำมาปรับปรุงใหม่เพื่อปล่อยเช่าต่อในราคาที่สูงขึ้นสำหรับความทันสมัยของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่มีไว้บริการ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต พนักงานธุรการ ห้องรับจดหมาย และบริการทำความสะอาด (พร้อมกาแฟและเบียร์ฟรี)
Miguel McKelvey ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารด้านวัฒนธรรมองค์กรของ WeWork
บริษัท WeWork ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดยเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ใน New York และขยายธุรกิจจนมีสาขา 163 แห่ง ปัจจุบันพวกเขาบริหารจัดการพื้นที่เช่ารวมกันกว่า 10 ล้านตารางฟุตให้กับสมาชิก 150,000 ราย และคาดว่าจะทำรายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสำหรับปี 2017 (อัตรากำไรจากยอดขายอยู่ที่ราว 30%) ก่อนที่ Son จะเข้ามาร่วมทุน บริษัทต่างๆ อย่างเช่น Benchmark, Fidelity, Goldman Sachs และ JPMorgan ได้ควักกระเป๋ารวมแล้ว 1.55 พันล้านเหรียญเพื่อลงทุนใน WeWork โดยมองว่าวิธีประเมินมูลค่าแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้กับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงโลกได้ Jamie Dimon ซีอีโอของ JPMorgan ยกให้ WeWork เป็นเทรนด์ใหม่แห่งการใช้ชีวิตโดยกล่าวว่า “พวกเขาได้สร้างธุรกิจแบบใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการให้บริการด้านที่พักและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันซึ่งแตกต่างจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เคยมีอย่างสิ้นเชิง”
Masayoshi Son ประธานบริหาร Softbank ผู้ประเมินมูลค่าบริษัท WeWork ว่าจะสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ (Cr: SoftBank / techinasia.com)
ปัจจุบันรายได้จากบรรดาบริษัทขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของยอดขายแต่ละเดือน ซึ่ง WeWork ตอบโจทย์ที่ทำให้พนักงานของบริษัทใหญ่สามารถพบปะสมาชิกรายอื่นใน co-working space สำหรับบริษัทที่กำลังขยายกิจการ WeWork นำเสนอทางเลือกใหม่โดยไม่ต้องวุ่นวายกับการเสาะหาสำนักงาน เจรจาต่อรองสัญญาออกแบบตกแต่งและจ้างผู้รับเหมา แนวคิดธุรกิจที่มีสไตล์การรวมตัวช่วยเหลือกันของชุมชนแบบนี้นั้น เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของทั้งสองผู้ร่วมก่อตั้ง Neumann และ McKelvey เติบโตมาจากคนละมุมของโลก ทว่าชีวิตช่วงวัยเด็กของพวกเขาผ่านการย้ายที่อยู่บ่อยครั้งและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากชุมชนเหมือนกัน โดย Neumann เกิดที่อิสราเอลในครอบครัวแพทย์ แต่พ่อแม่หย่าขาดกันตอนเขายังเด็ก เมื่ออายุ 22 ปีเขาย้ายบ้านมาแล้วถึง 13 ครั้ง หลังจากรับใช้ชาติเป็นทหารเรือของอิสราเอล เขาจึงได้ย้ายไป New York ส่วน McKelvey เติบโตใน Eugene รัฐ Oregon ท่ามกลางกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ช่วงวัยเด็กเขาต้องอพยพย้ายบ้านบ่อยครั้งและต้องอาศัยอาหารฟรีจากรัฐบาลเพื่อประทังชีวิต McKelvey เป็นนักศึกษาหัวดี เคยเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลทีมโรงเรียน Colorado College ก่อนย้ายไป University of Oregon เขาต้องจัดสรรเวลาระหว่างการเล่นทีมโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและการทุ่มเทเล่าเรียนในสาขาสถาปัตยกรรม
(ซ้าย) สาขา Fulton Center, New York (ขวา) สาขา La Fayette, Paris
พวกเขาเจอกันที่ New York โดยการแนะนำของเพื่อนและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว Neumann เคยเปิดธุรกิจเสื้อผ้าเด็กชื่อ Egg Baby โดยแบ่งพื้นที่สำนักงานส่วนหนึ่งเพื่อให้เช่า McKelvey ในตอนนั้นทำงานเป็นสถาปนิก และ Neumann ได้พูดคุยถึงแผนการเช่าพื้นที่ว่างราคาไม่แพงแล้วนำมาเปลี่ยนเป็นออฟฟิศเพื่อเปิดให้คนมาทำงานร่วมกัน ในที่สุดพวกเขาเปิดตัวธุรกิจ coworking space ที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชื่อว่า Green Desk ในย่าน Brooklyn ซึ่งได้รับความนิยมในทันที ปัจจุบัน ภายในสำนักงานใหญ่ของ WeWork มีหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 60 นิ้วตั้งอยู่ โดยแสดงภาพปักหมุดระบุที่ตั้งสาขาทั้ง 63 แห่งของบริษัทบน Google Map ซอฟต์แวร์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ WeWork ที่จะเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นข้อมูล เพียงใช้นิ้วเคาะที่หน้าจอจะปรากฏสถานะงานก่อสร้าง การจัดส่งของและซ่อมบำรุง หากใช้นิ้วลากก็จะเห็นข้อมูลทำเลที่มีศักยภาพพอจะพัฒนาเป็นสาขาแห่งใหม่ ซึ่งประกอบด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ร้านกาแฟ สถานที่ออกกำลังกายและแบรนด์ค้าปลีกที่มาเปิดละแวกใกล้เคียงที่จะเป็นสัญญาณบอกว่าพื้นที่ในย่านนั้นพร้อมแล้วหรือไม่
(ซ้าย) สาขา Weihai Lu, Shanghai (ขวา) สาขา Torre Bellini, Buenos Aires
ในบางมุม WeWork ดูเหมือนเป็นธุรกิจสายการบินมากกว่าบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพยายามจัดวางพื้นที่ให้จุที่นั่งได้มากที่สุดพร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอันน่าพอใจเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร แต่ภายในเครื่องบินมีการออกแบบจัดผังที่นั่งเป็นมาตรฐาน แต่พื้นที่สาขาแต่ละแห่งของ WeWork มีขนาดและข้อจำกัดแตกต่างกัน WeWork เคยดัดแปลงทั้งโรงภาษี โรงเบียร์ โกดังสินค้าและโรงงานฝิ่นเก่าใน Shanghai มาเป็นพื้นที่สำนักงาน เพื่อใช้สอยพื้นที่ให้คุ้มค่า WeWork ได้นำเทคโนโลยีสแกนภาพ 3 มิติมาเป็นเครื่องมือในการวัดระยะและจำลองโมเดลเสมือนจริงขึ้นมาก่อนลงมือสร้างจริง เทคโนโลยีแสดงความหนาแน่นของคนด้วยความร้อนจะเก็บข้อมูลการเข้าใช้บริการและการใช้พื้นที่และนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อปรับพื้นที่ส่วนกลาง โต๊ะทำงาน และห้องประชุม ให้มีความเหมาะสม ประสิทธิผลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนี้จะออกมาเป็นผลผลิตที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่างเช่น WeOs ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่จะทำให้ WeWork เป็นบริการที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นแม้แต่กับบริษัทที่ไม่ได้ต้องการเช่าพื้นที่ทำงานร่วมกัน โดย WeWork จะให้บริการออกแบบตกแต่งและดูแลบริหารสำนักงานให้กับบริษัทต่างๆ วิธีการก็คือจะนำเอาสีสันการทำงานแบบ WeWork เข้าไปปรับบรรยากาศออฟฟิศที่เคร่งขรึมและดูน่าเบื่อ   เรื่อง: Steven Bertoni เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
อ่านฉบับเต็ม "วิถีแห่ง WeWork" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magazine