Abridge สตาร์ทอัพ AI สายสุขภาพ ระดมเงินทุนกว่า 15 ล้านเหรียญ แปลงบทสนทนาระหว่างคนไข้กับแพทย์ - Forbes Thailand

Abridge สตาร์ทอัพ AI สายสุขภาพ ระดมเงินทุนกว่า 15 ล้านเหรียญ แปลงบทสนทนาระหว่างคนไข้กับแพทย์

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Oct 2020 | 06:53 PM
READ 4381

Abridge คือ สตาร์ทอัพสายสุขภาพจากเมือง Pittsburg รัฐ Pennslyvania สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาตอบโจทย์ข้อกังขาที่เกิดขึ้นในบทสนทนาระหว่างคนไข้กับแพทย์ ด้วยการนำแอปพลิเคชั่นผสมผสานเข้ากับ Aritificial Intelligence มาแปลงบทสนทนาที่คนไข้เลือกที่จะบันทึก เพื่อให้คนไข้สามารถเข้าใจคำศัพท์เฉพาะทาง และคำอธิบายของโรค ตลอดจนแนวทางการรักษาได้อย่างง่ายดาย

สมมติว่าแพทย์บอกว่าคุณมีภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) คุณคงจะรู้สึกกังวล และต้องการจะหาคำอธิบายเกี่ยวกับอาการติดเชื้อที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าคุณมีสิ่งที่ช่วยแปลงบทสนทนาระหว่างคุณกับแพทย์โดยอัตโนมัติ ซึ่งคุณสามารถกลับบ้านไปแล้วค่อยทำความเข้าใจทีหลังได้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา ในงานแถลงการณ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Abridge สตาร์ทอัพสายสุขภาพน้องใหม่สามารถรวบรวมเงินลงทุนได้ถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้เข้าใช้งานกว่า 50,000 คนแล้ว โดยส่วนใหญ่มาจากการแนะนำกันแบบปากต่อปาก

Abridge
จากซ้าย-Sandeep Konam ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) และ Dr. Sjic Rao อายุรแพทย์หัวใจ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหารแห่งAbridge

เทคโนโลยีมีศักยภาพมากพอที่จะช่วยเหลือคนจำนวนมากที่ผมเจอในการเข้าตรวจที่คลินิกรายสัปดาห์Dr. Sjic Rao อายุรแพทย์หัวใจ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร ในวัย 41 ปีกล่าว

ปัญหาที่บริษัทต้องการจะแก้ไข คือ เกือบ 2 ใน 3 ของผลสำรวจโดย Abridge พบว่า คนไข้มักจะลืมบทสนทนามากกว่า 40% ที่คุยกับแพทย์ขณะเข้ารับการรักษา ด้วยเหตุนี้ ตัวแอปพลิเคชั่นจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำการแปลงข้อมูลบทสนทนาที่ถูกบันทึกเหล่านั้นเพื่อช่วยให้คนไข้เข้าใจรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่แนวทางการเข้ารับการรักษา รายละเอียดต่างๆ ของคำวินิจฉัย ตลอดจนแนวทางการใช้ยาที่แพทย์ได้อธิบาย” Rao กล่าว มากกว่านั้น คนไข้ยังสามารถแบ่งปันข้อมูลกับบุคคลใกล้ชิด อย่างสมาชิกในครอบครัว หรือบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย

หัวใจสำคัญของแอปพลิเคชั่น คือ การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และใช้เทคโนโลยีในการลดช่องว่างระหว่างคนไข้และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ด้วยจุดเด่นข้อนี้เองจึงสามารถดึงดูดนักลงทุนอย่าง Union Square Ventures 

นักลงทุนด้านสุขภาพจำนวนมากพยายามที่จะแก้ปัญหาจากฝั่งผู้ให้บริการ” Andy Weissman หุ้นส่วนผู้จัดการ แห่ง Union Square Ventures กล่าว แต่ Rao และ Sandeep Konam ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ในวัย 25 เลือกใช้วิธีตรงกันข้าม  พวกเขาเน้นไปที่การสร้างสิ่งที่ Weissman เรียกว่า “buttery user experience” หรือ "การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้" เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายองค์กร เช่น Twitter, SoundCloud และ Kickstarter เลือกใช้ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีนับเป็นเรื่องหายากที่จะมีคนหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงในวงการสุขภาพ” Weissmane กล่าวเสริม

ทั้งนี้ บริษัทสตาร์ทอัพจะก้าวหน้าได้ นอกจากความคิดที่ยากจะเลียนแบบแล้ว เงินทุนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งนอกจาก Union Square Ventures กองทุนที่สนใจร่วมลงทุนอย่าง Bessemer Venture Partners และ the University of Pittsburgh Medical Center ก็เข้าร่วมลงทุนกับ Abridge ในรอบ Series A เป็นมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ผู้ร่วมลงทุนในรอบ Seed Fund อย่าง Aneesh Chopra อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาในรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และนักลงทุน Esther Dyson ก็ร่วมลงทุนเป็นจำนวน 5 ล้านเหรีญสหรัฐเช่นกัน

Abridge

ในยุคที่ผู้ป่วยจำนวนมากหันเข้าหา “Dr.Google” บนโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับอาการป่วยของตน Abridge  ได้รวบรวมนิยามคำศัพท์ทางการแพทย์กว่า 400,000 คำ ที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยอ้างอิงมาจาก Mayo Clinic และ the National Library of Medicine ในที่นี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นระยะเวลากว่าสองปีที่ทางทีมงานได้ทำการพัฒนาอัลกอริทึมตัวนี้ขึ้นมา อีกทั้งยังทำการข้ามบทสนทนาที่เกี่ยวกับสภาพอากาศ และให้ความสนใจเฉพาะการพูดคุยทางการแพทย์เท่านั้นเพราะบทสนทนาเหล่านั้นจะเป็นต้นน้ำของคำวินิจฉัย การรักษาโรค การทดลอง และการบริการอื่นๆ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Abridge พัฒนาขึ้นมามีความสลับซับซ้อนกว่าเทคโนโลยีที่ใช้ระบบเสียงในการควบคุมอย่าง Alexia หรือ Siri เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้สามารถแก้คำผิดด้วยการใช้เสียงสั่งการ ขณะที่อัลกอริทึมของ Abridge จะต้องสามารถตรวจจับใบสั่งยา หรือชื่อยายากๆได้ เช่น atorvastatin สำหรับคอเลสเตอรอล หรือ lisinopril สำหรับโรคความดันโลหิตสูงได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน ยิ่งไปกว่านั้น แอปพลิเคชั่นดังกล่าวยังร่วมกับ บริษัทราคายาอย่าง GoodRx (ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทเอกชนเมื่อเดือนกันยายน 2020 ที่ผ่านมา) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทราบถึงส่วนลดพิเศษในการซื้อยาตามใบสั่งได้ด้วยตนเอง

ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลด้านสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ  Konam กล่าว ขณะที่ข้อท้าทายสำคัญ คือความสามารถในการตีความของ Abridge ท่ามกลางคุณภาพของเสียงที่แตกต่างกันขณะบันทึกบทสนทนา

Abridge ก่อตั้งในปี 2018 แต่ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองคนเพิ่งพบกันในปีถัดมา ขณะที่ Konam กำลังศึกษาปริญญาโท สาขาวิทยาการหุ่นยนต์ ที่ Carnegie Mellon University ที่เมือง Pittsburgh และ Rao เป็นอายุรแพทย์หัวใจ ที่ the University of Pittsburgh Medical Center (UPMC) ซึ่งความเกี่ยวเนื่องระหว่างทั้งสองสถาบันนี้ได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงงานวิจัยจาก UPMC ในการพัฒนาอัลกอริทึมหรือการทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน machine learning จาก Carnegie Mellon University เพื่อที่จะทำให้แอปพลิเคชั่นสามารถประมวลผลจากชุดข้อมูลที่ใส่เข้าไป

ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานประจำทั้งหมด 15 คนและวางแผนที่จะนำเงินระดมที่ได้รับมาไปต่อยอดทางด้านวิศวกรรม และผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมา

สิ่งที่สำคัญที่สุดบนเส้นทางสายสุขภาพ มักจะเกิดขึ้นระหว่างการพบแพทย์” Rao กล่าว และก้าวต่อไปของสตาร์ทอัพนี้ คือ การผลักดันให้คนไข้กรอกใบสั่งยา นัดหมายการพบครั้งต่อไป และบันทึกภาพเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ดี ขณะที่ผู้ใช้หลัก คือ คนไข้ ลูกค้าคนสำคัญที่ทั้งสองผู้ก่อตั้งต้องการที่จะเข้าถึง คือ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ให้บริการประกันภัยสุขภาพ ด้วยความเชื่อที่ว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความยินดีที่จะจ่ายให้กับแพลตฟอร์มที่สามารถยกระดับผลลัพธ์ระยะยาวที่ดีให้กับคนไข้ได้เป้าหมายของพวกเรา ไม่ใช่การทำให้ผู้คนอยู่ห่างกันออกไป แต่เป็นการใช้เทคโนโลยี อย่าง machine learning เข้ามาพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน” 

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ This AI Startup Raised $15 Million To Help Patients Transcribe Doctor Appointments เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: TAE Technologies รักษามะเร็งด้วยนิวเคลียร์
ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand