Zilingo ดาวเด่น อี-คอมเมิร์ซจากผู้ก่อตั้งชาวอินเดีย - Forbes Thailand

Zilingo ดาวเด่น อี-คอมเมิร์ซจากผู้ก่อตั้งชาวอินเดีย

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Oct 2019 | 10:24 AM
READ 15135

Zilingo ได้มุ่งเน้นระบบนิเวศของผู้ค้าเป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งได้ช่วยให้แพลตฟอร์มออนไลน์ของพวกเขาสร้างกลุ่มเฉพาะของตัวเองได้ในตลาดอี-คอมเมิร์ซที่แออัดของเอเชีย

Zilingo คือตลาดออนไลน์สำหรับผู้ค้ารายย่อยที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อของเว็บมาจากสินค้าและผู้ค้า “จำนวนนับไม่ถ้วน” (zillions)  ที่เป็นเป้าหมายการให้บริการของสองผู้ก่อตั้ง “เราวาดภาพให้เว็บนี้เป็นแหล่งรวมโอกาส” Ankiti Bose อายุ 27 ปี ซึ่งเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งกล่าว Bose และผู้ร่วมก่อตั้งชาวอินเดีย Dhruv Kapoor วัย 28 ปี เข้ามาอยู่ในลิสต์ 30 Under 30 Asia ของ Forbes ในปี 2018 และแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้กล่าวว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ทั้งสองระดมทุนได้ 226 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนักลงทุน ซึ่งรวมถึง Sequoia, Burda Principal และ Temasek Holdings ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าประเมิน 970 ล้านเหรียญ Bose กล่าวว่า จนถึงตอนนี้มีผู้ค้าลงทะเบียนใช้งานแล้ว 30,000 รายและมีผู้เข้าชมสินค้าบนแพลตฟอร์ม 5 ล้านคนต่อเดือน บริษัทรับมือกับความต้องการของตลาดด้วยการเพิ่มจำนวนพนักงาน 4 เท่าในปีที่แล้ว โดยมีพนักงาน 420 คนในออฟฟิศต่างๆ กระจายอยู่ใน 8 ตลาดคือ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐฯ “สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการคิดว่าจะขยายดีเอ็นเอของทีมเราเข้าไปในประเทศต่างๆ หลายประเทศได้อย่างไร” Bose กล่าว และตอนนี้เธอกำลังคิดเรื่องขยายกิจการเข้าไปในลาตินอเมริกา Zilingo ดาวเด่น อี-คอมเมิร์ซอินเดีย บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2015 เมื่อ Bose ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนอยู่ที่บริษัทร่วมลงทุน Sequoia Capital ได้คุยกับ Kapoor ซึ่งเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ในงานเลี้ยงที่ Bangalore แล้วพบว่าทั้งสองใฝ่ฝันอยากเริ่มต้นธุรกิจเหมือนกัน จึงตัดสินใจร่วมมือกันในทันที “เรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องราวทั่วไปที่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทรู้จักกันมาหลายปี” Bose กล่าว “เราต่อกันติดเพราะอยากเริ่มธุรกิจด้วยกัน” ช่วงแรกเป็นช่วงที่ยากลำบาก ผู้ค้าจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ Bose และ Kapoor อยู่ในกรุงเทพฯ เธอจึงย้ายมาจาก Bangalore และเริ่มทำกิจการ Zilingo ในห้องเช่าเล็กๆ ตอนนั้นเธอและลูกทีมไม่กี่คนหาทางประหยัดด้วยการบรรจุสินค้าลงกล่องเพื่อนำไปส่งกันเอง เมื่อ Zilingo ย้ายฐานจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์และมีเงินไหลเข้าเยอะกว่าเดิมมาก โมเดลธุรกิจของ Zilingo ก็พัฒนาขึ้น แทนที่จะเน้นเฉพาะการทำแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อให้ผู้ค้าเข้ามาขายสินค้าแก่ผู้บริโภค Zilingo ยังให้บริการแก่ผู้ค้าที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย โดยไม่เว้นแม้แต่แพลตฟอร์มของคู่แข่ง Zilingo มีซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล เครื่องมือบริหารจัดการ ระบบโลจิสติกส์อัตโนมัติ และระบบการจ่ายเงินไว้ สำหรับช่วยผู้ค้าจัดการคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ Zilingo ยังเสนอเงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ค้าที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ และช่วยหาผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้ได้ในบังกลาเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย ไทย หรือเวียดนาม ผู้ค้าสามารถตั้งร้านแสดงและขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Zilingo ได้ฟรี แต่ Zilingo จะหัก 15% จากยอดขายเมื่อขายสินค้าได้บนแพลตฟอร์ม และผู้ค้าต้องจ่ายเงินเพิ่มเมื่อสมัครใช้เครื่องมือและบริการเสริม เช่น บริการจัดทำรายการภาพถ่ายและการติดตามเทรนด์ Bose คาดว่า Zilingo จะเริ่มทำกำไรได้ใน 18 เดือน อย่างไรก็ตาม ตามรายงานที่บริษัทส่งให้กรมทะเบียนการค้าและธุรกิจของสิงคโปร์ (Accounting and Corporate Regulatory Authority) เปิดเผยว่า ในปี 2017 Zilingo มีตัวเลขขาดทุน 6.3 ล้านเหรียญจากรายได้ 1.3 ล้านเหรียญ แม้รายงานปี 2018 จะยังไม่ประกาศออกมา แต่บริษัทกล่าวว่ารายได้เติบโต 12 เท่าในปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2018 และเพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน 2018 ถึงมกราคม 2019 โดยมีธุรกิจซัพพลายเชนของบริษัทเป็นตัวนำในการสร้างรายได้ นักลงทุนของ Zilingo ยังคงมีความมั่นใจ “ผมชอบที่พวกเขามุ่งเน้นตรงระบบนิเวศของผู้ค้า ซึ่งตลาดออนไลน์อื่นๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก” Peter Kennedy ที่ปรึกษาอาวุโสของ Burda Principal Investments กล่าว บริษัทแห่งนี้มีฐานอยู่ในสิงคโปร์และลงทุนกับ Zilingo ไปแล้ว 60 ล้านเหรียญนับตั้งแต่ปี 2016 และเขากล่าวว่าโอกาสครั้งใหญ่ที่สุดของ Zilingo อยู่ที่การพัฒนาระบบนิเวศนี้จาก “โรงงานจนถึงผู้บริโภคปลายทาง” Bose ไม่กังวลกับคู่แข่งอย่าง Alibaba, Amazon และ Lazada “เราสนับสนุนให้ผู้ค้าของเราขายของได้บนทุกแพลตฟอร์ม” เธอกล่าว อย่างไรก็ตาม มีคู่แข่งไม่กี่รายที่เสนอบริการด้านการจัดการหลังบ้านเหมือน Zilingo โดยส่วนใหญ่พบบนแพลตฟอร์มในจีน อย่างเช่น Alibaba แต่ Zilingo มีตลาดเฉพาะกลุ่มที่เชื่อมโยงผู้ค้าและผู้ผลิตในเอเชีย-ตะวันออกเฉียงใต้ โดย “ไม่มีใครแข่งกับเราโดยตรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Bose กล่าว “ผู้ค้าในประเทศที่เราทำธุรกิจอยู่ เช่น อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และศรีลังกา ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี บริการด้านการเงิน และช่องทางแบบเดียวกับที่ผู้ค้าในจีนมี” กุญแจสำคัญในการขยายเข้าสู่ประเทศใหม่ๆ และหาผู้ค้าเข้ามาเพิ่มคือการปรับแนวทางให้เหมาะสำหรับท้องถิ่น Zilingo พยายามทำให้การตั้งร้านออนไลน์สะดวกที่สุดเท่าที่ทำได้ ด้วยการใช้เครื่องมือและข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่เป็นภาษาท้องถิ่น และจัดโปรแกรมฝึกอบรมและพัฒนาโดยใช้ทีมงานในประเทศนั้นๆ ซึ่งเธอยกความดีความชอบให้ประสบการณ์ของเธอตอนทำงานที่ Sequoia ซึ่งเธอได้พบกับเหล่าสตาร์ทอัพจำนวนมาก และช่วยให้เธอได้เตรียมใจเพื่อออกเดินทางบนเส้นทางของผู้ประกอบการ “การตั้งบริษัทบางทีเป็นเส้นทางที่ปลีกวิเวกและโดดเดี่ยว” เธอกล่าว “คนทั่วไปไม่เห็นตอนเราล้มเหลว พวกเขาเห็นแค่ตอนเราประกาศเรื่องระดมทุนและขยายกิจการ แต่บางครั้งการมีเครือข่ายผู้ก่อตั้งกิจการมาปลอบเราว่า ‘ไม่เป็นไรนะ’ ก็ช่วยได้”
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine