แรกพบ มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์ หรือแพร เป็นเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่ง เธอสดใส ร่าเริง และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่เธอกลับไม่เหมือนใคร ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่ เธอใช้พลังของเธอ และรวบรวมพลังของเยาวชนรุ่นใหม่สร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น สมกับที่ได้ปรากฏชื่อบนทำเนียบ Forbes 30 Under 30 Asia ประจำปี 2023 สาขาผู้ประกอบการเพื่อสังคม
มัญญสิริก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร HER เพื่อเป็นกระบอกเสียงในประเด็นว่าด้วยประจำเดือนและสุขภาพของผู้หญิง ตลอดจนออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยแบบผ้าซึ่งนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แก้ไขปัญหาขาดแคลนผ้าอนามัยอันเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ผู้หญิงกับประจำเดือนคือความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด ดังเช่นเรื่องราวของมัญญสิริในวัย 15 ปี เมื่อพบว่าประจำเดือนขาดไป ความคิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้นคือ “ดีใจจังเลย ไม่ต้องมีประจำเดือนแล้ว เราสามารถใช้ชีวิตแฮปปี้” เพราะสำหรับผู้หญิงแล้ว ช่วงเวลามีประจำเดือนมักมาพร้อมอาการปวดท้อง ไม่สบายตัว อารมณ์แปรปรวน และอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดังที่ต้องการ
จนกระทั่งคุณยายและคุณแม่ของเด็กสาวสังเกตว่าผ้าอนามัยของเธอไม่หมดเสียที ครั้นทราบว่าเธอไม่มีประจำเดือนมา 8 เดือนแล้ว จึงได้พาเธอไปพบสูตินรีแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome หรือ PCOS) ซึ่งเป็นความผิดปกติของฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนขาดหาย หากไม่รักษาอย่างจริงจังอาจร้ายแรงถึงขั้นมีบุตรไม่ได้เลยในอนาคต
หลังพบแพทย์ เธอก็ได้รับยามารับประทาน โดยต้องนำยาไปรับประทานที่โรงเรียนตอนกลางวันด้วย ความที่สังคมไทยมักมองว่าประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอายไม่ควรพูดกันในที่สาธารณะ ทำให้เธออยากหลีกเลี่ยงการตอบคำถามต่างๆ จึงได้แอบไปรับประทานยาในห้องน้ำคนเดียว แต่นานวันเข้าข้อเท็จจริงที่ว่ากิจวัตรนี้ช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลยกลับยิ่งชัดเจน
ทลายความเงียบ
สถานการณ์ที่มัญญสิริกำลังเผชิญมีคำเรียกภาษาอังกฤษว่า Suffer in Silence คือการทนทุกข์อยู่คนเดียว ไม่บอกใคร ซึ่งท้ายที่สุด เธอก็ตัดสินใจรับประทานยาหลังอาหารอย่างเปิดเผย เมื่อมีเพื่อนๆ มาถามก็ตอบตามตรง นำไปสู่การสนทนาแลกเปลี่ยน
เธอรับรู้ว่าคนอื่นเองก็มีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน บางคนต้องไปพบสูตินรีแพทย์เช่นเดียวกัน เด็กสาวพลันตระหนักว่าประจำเดือนไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องน่าอายแต่อย่างใด หากเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนสมควรพูดคุยกันได้
การได้เปิดใจเรื่องประจำเดือนกับเพื่อนๆ ทำให้เธอไม่ต้องทนทุกข์คนเดียวอีกต่อไป ทั้งยังกลายมาเป็นความสนใจให้หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนมากขึ้น พบว่าในโลกนี้ยังมีคนกว่า 500 ล้านคนที่ประสบปัญหาขาดแคลนความรู้และเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือน
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ส่วนหนึ่งมาจากการที่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยตีแผ่ประเด็นนี้กันมากนัก ผู้คนจำนวนมากยังมองว่าประจำเดือนและสุขภาพทางเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรพูดถึงในที่สาธารณะ บ้างก็คิดว่าประจำเดือนเป็นเรื่องเฉพาะของผู้หญิงเท่านั้น ทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกซุกไว้ใต้พรม หลายคนต้องทนทุกข์โดยไม่มีใครรู้ ยกตัวอย่างเช่น นักโทษหญิงในเรือนจำซึ่งขาดแคลนผลิตภัณฑ์สำหรับประจำเดือนทั้งที่ควรเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับผู้หญิง
ประกายความคิดหนึ่งจึงปรากฏในห้วงคำนึงของเด็กสาววัย 15 ปี เธอเคยขาดแคลนความรู้ทำให้ละเลยปัญหาเรื่องประจำเดือน โชคดีที่มีครอบครัวคอยห่วงใย และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ดังนั้นเธอจึงอยากช่วยเหลือผู้คนที่ขาดแคลนทั้งความรู้และโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ กลั่นกรองออกมาเป็นโครงการเพื่อสังคมในที่สุด
สร้างแรงกระเพื่อม
HER ประกอบมาจาก 3 คำ ได้แก่ Health (สุขภาพ), Equity (ความเสมอภาค) และ Respect (ความเคารพ) อันเป็นหัวใจหลักของโครงการที่ต้องการให้ความรู้ ความช่วยเหลือ ตลอดจนเป็นกระบอกเสียงเรื่องสุขภาพของผู้หญิงและผู้มีประจำเดือน สร้างพื้นที่ให้ผู้ที่มีปัญหากล้าออกมาพูดได้โดยไม่ต้องกังวล
โครงการนี้กำเนิดจากไอเดียของเธอซึ่งเขียนลงใน Google Docs และส่งให้บรรดาคนรู้จักพิจารณา ปรากฏว่ามีเพื่อนสนใจเข้าร่วมถึง 12 คน แต่ละคนล้วนมาด้วยใจ เพราะเล็งเห็นว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นมีความหมาย แม้ยังไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะสำเร็จ วัยรุ่นกลุ่มนี้เป็นเพียงเยาวชนที่อยากเห็นโลกที่ดีกว่าผ่านการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กันและกัน
ครั้นริเริ่มโครงการ การระดมทุนซื้อผ้าอนามัยไปบริจาคคือความคิดแรก แต่แนวทางนี้มีข้อจำกัด ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ทุกเดือน ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ทว่าการจะนำผ้าอนามัยไปส่งให้ผู้หญิงในพื้นที่ห่างไกลเป็นประจำนั้นค่อนข้างยากลำบาก ยิ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เรือนจำหญิงก็ไม่ได้เปิดรับบริจาคมากนัก จึงมีการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า นั่นคือผ้าอนามัยที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และยังใช้ได้ยาวนานราว 2-5 ปี
พวกเธอออกแบบผ้าอนามัยเหล่านี้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากผ้าอนามัยแบบผ้าที่สามารถซักได้ซึ่งยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย มีการนำไปทดลองใช้จริง ก่อนนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องของผิวสัมผัส ความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการซึมซับมาปรับปรุงแก้ไข เกิดเป็นผ้าอนามัยชนิดที่สองของโครงการ คือผ้าอนามัยแบบผ้าที่สามารถสอดแผ่นซึมซับเสริมเข้าไปได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ประจำเดือนมามาก ซึ่งสามารถใส่ได้สูงสุดถึง 3 แผ่น เพิ่มพลังซึบซับ ยกระดับความมั่นใจ
สำหรับแผ่นซึมซับนั้น ได้ผ่านกระบวนการคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ศึกษาวัสดุอันหลากหลาย ทั้งมะพร้าว เส้นใยแอปเปิ้ล สาหร่าย และอื่นๆ อีกมากมายกว่าจะมาตกผลึกที่ชานอ้อย เนื่องจากว่าชานอ้อยสามารถซึมซับได้ดีเยี่ยม ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดขยะไปในตัว เพราะชานอ้อยคือกากเหลือจากการผลิตน้ำตาลนั่นเอง โดยนวัตกรรมของพวกเธอยังผ่านการรับรองคุณภาพจาก FDA อีกด้วย
ในการเย็บผ้าอนามัย มีการจับมือกับมูลนิธิบ้านพระพรซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพแก่ผู้ที่เพิ่งออกมาจากเรือนจำ โดยจ้างงานพวกเขาเย็บผ้าอนามัยสำหรับนำไปแจกจ่าย พวกเขาเหล่านี้มีทั้งหญิงและชาย เพราะไม่ว่าจะเพศไหนก็สามารถมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาประจำเดือนด้วยกันได้
ด้านการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรายนี้เรียกได้ว่าขับเคลื่อนโดยเยาวชน (Youth-Driven) อย่างแท้จริง เพราะมีกำลังหลักเป็นเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ทำงานร่วมกันเผื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและประจำเดือน หาทุนผลิตผ้าอนามัย และรับผ้าอนามัยไปบริจาคแก่ผู้ที่ต้องการ โดยตั้งแต่ก่อตั้งมีการบริจาคผ้าอนามัยไปแล้วมากกว่า 10,000 แผ่น
ในปีนี้โครงการกำลังอยู่ระหว่างขยับขยายให้ใหญ่ขึ้นในทุกด้านผ่านรูปแบบ Chapter Program ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลักษณะคือมี Hub ประจำในโรงเรียน จังหวัด และประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ละ Hub มีสมาชิกราว 50 คน ปัจจุบันมีถึง 28 แห่งแล้ว
Hub ต่างๆ จะคอยประชาสัมพันธ์ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย ให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเรื่องประจำเดือน รวมถึงจัดการระดมทุนเพื่อนำไปผลิตผ้าอนามัยมาแจกจ่ายผ้าอนามัยแก่ผู้คนที่ต้องการ ซึ่งแต่ละ Hub จะมีตัวแทนประสานงานกับทีมหลัก
มัญญสิริยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างผู้นำ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานโครงการที่ใหญ่ขึ้น ตลอดจนวางระบบการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถดำเนินต่อไปได้แม้เธอไม่อยู่ โดยเน้นให้ความสำคัญกับตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก
สำหรับผลิตภัณฑ์ เธอมีแผนขยายกำลังการผลิต เพิ่มฐานการผลิตในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถเย็บและกระจายผ้าอนามัยได้เพียงพอทั่วถึงยิ่งขึ้น รวมถึงขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีประจำเดือน
อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของการหาแนวร่วมและพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นโรงเรียนและองค์กรนอกภาครัฐ (Non-Governmental Organization หรือ NGO) ช่วยเหลือประสานงานด้านการระดมทุน การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนโครงการ ซึ่งอาจมาในรูปแบบของกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา โครงการสามารถระดมทุนได้ถึง 38,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.34 ล้านบาท
ปัจจุบัน HER มีพาร์ทเนอร์ราว 30 รายใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทย ได้มีการบริจาคผ้าอนามัยไปยังทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ มูลนิธิเรดิออน มูลนิธิร่มไม้ กลุ่มคลองเตยดีจัง กลุ่มลูกเหรี่ยง กลุ่มสายไหมต้องรอด เเละอื่นๆ อีกมากมาย
ประกาศศักดา
โครงการนี้ยังเน้นย้ำถึงความสามารถและศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วยรางวัล Diana Award จากประเทศอังกฤษในปี 2022 โดยรางวัล Diana Award ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าหญิงไดอาน่า มอบแก่เยาวชนอายุระหว่าง 9-25 ปีทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาได้ปลดล็อคศักยภาพ สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสในการแสดงพลังสร้างสรรค์สังคมสำหรับทุกคน
มัญญสิริกล่าวว่า เธอไม่เคยรู้จักรางวัลนี้มาก่อน ตอนที่เริ่มทำโครงการก็แค่อยากทำสิ่งดีๆ เท่านั้น รางวัลนี้คือรางวัลแรกของโครงการอันเป็นกำลังใจสำคัญ และตัวการันตีว่าสิ่งที่พวกเธอทำนั้นมีความหมายจริงๆ
การได้รับรางวัลยังส่งผลให้โครงการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างโอกาสให้ทีมงานช่วยเหลือคนได้มากขึ้น และกลับกันทีมงานก็ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเช่นกัน ทั้งคอนเนคชั่นกับเยาวชนนักกิจกรรมจากนานาประเทศ และเป็นพอร์ตความสำเร็จในการเจรจากับพาร์ทเนอร์ต่างๆ
การที่โครงการมาได้ไกลถึงเพียงนี้แน่นอนว่ามาจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ในฐานะผู้นำเธอพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมด้านความเท่าเทียมในองค์กร ให้ความสำคัญกับการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างบนพื้นฐานว่าทุกคนมีความรับผิดชอบและส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร ไม่เกี่ยวกับลำดับอาวุโส อันจะเห็นได้ตลอดการสัมภาษณ์ว่าเธอกล่าวขอบคุณทีมงานและสมาชิกโครงการด้วยความซาบซึ้งใจเสมอ
“เราเห็นคุณค่าเสียงของทุกคน เพราะพอมารวมกันแล้วเสียงของทุกคนมีความสำคัญ เสียงของทุกคนทำให้โครงการของเราไปต่อได้” เมื่อเสียงของสมาชิกสอดประสานเป็นท่วงทำนองเดียวกันแล้ว จึงทรงพลังพอจนสามารถก้องกังวานไปยังภายนอก
เธอบอกด้วยว่าการเดินคนเดียวบนเส้นทางความฝันอันยาวไกลทั้งเหงาและเหนื่อย มันดีกว่ามากเมื่อความฝันนั้น “ไม่ได้มีแค่เราคนเดียว” แต่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์และผู้สนับสนุนคอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน รวมถึงผู้คนที่อยากช่วยเหลือเป็นแรงผลักดันให้สู้ต่อไป
สะท้อนไปไกลยิ่งกว่า
การได้ช่วยเหลือผู้คนยังเป็นหลักสำคัญในฐานะผู้ประกอบการเพื่อสังคมของมัญญสิริ ซึ่งมองว่าธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องของผลกำไรเท่านั้น แต่ต้องใส่ใจสังคมด้วย อันจะเห็นได้จากการที่แบรนด์ต่างๆ หันมามองโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) กันมากขึ้น
“Impact ของคุณมันไม่ได้อยู่ที่แค่คนซื้อ” เด็กสาวกล่าว “สมมติว่าแพรซื้อผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง แพรกำลังช่วยคนอีกกี่คน แพรกำลังผลักดันเรื่องอะไรในสังคมที่ทำให้โลกของเราดีขึ้น”
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดล้วนมีให้เลือกหลากหลาย เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาสนใจและเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ของเรา แบรนด์ต้องยึดมั่นค่านิยมในเรื่องของผลกระทบต่อสังคมซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญ และลงมือทำอย่างชัดเจน
เธอยังอธิบายมุมมองผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า “แล้วพอเขาคิดว่าเงินของเขามันไม่ได้ช่วยเหลือแค่ตัวเขาเอง แต่มันช่วยเหลืออีกตั้งหลายคน เขาก็จะรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในด้านนี้ และเขามีส่วนร่วมในการทำให้โลกของเราดีขึ้น”
ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์ การหักเปอร์เซ็นต์รายได้เพื่อนำไปช่วยเหลือสังคม เป็นต้น
“มันไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง ถ้าคุณลงเงินเพื่อซื้อของผลิตภัณฑ์ของเรา มันจะกลายเป็นสาม สี่ ห้า หก มันจะกลายเป็น Impact ที่คุณอาจจะคาดเดาไม่ถึงก็ได้ มันจะช่วยเหลือคนอีกมากมาย”
จิตวิญญาณผู้ประกอบการเพื่อสังคมของสาวน้อยผู้นี้ไม่ได้จำกัดเพียงโครงการผ้าอนามัยเท่านั้น ก่อนหน้านี้เธอได้ก่อตั้งเครือข่ายหนังสือพิมพ์อิสระในโรงเรียนชื่อ The Union International ด้วยจุดประสงค์คือเป็นพื้นที่แก่เยาวชนจากหลากประเทศหลายภูมิหลังได้แบ่งปันเรื่องราวข่าวสารที่พวกเขาสนใจอย่างกว้างขวาง เช่น สังคม การเมือง สุขภาพจิต เป็นต้น
ปัจจุบัน The Union International มีนักเขียนและผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ราว 140 คนจากประมาณ 50 โรงเรียน มัญญสิริกับทีมบรรณาธิการคอยทำหน้าที่ตรวจแก้ไขตามความเหมาะสม โดยพยายามคงไว้ซึ่งประเด็นสำคัญ ไม่บิดเบือนสาระที่ผู้เขียนต้องการเปิดเผย ให้เรื่องราวเหล่านั้นจริงแท้ที่สุด ทั้งยังสนับสนุนเวิร์คช็อปและการฝึกสอนเพื่อขัดเกลาเหล่านักเขียนอายุน้อยที่ต้องการพัฒนาฝีมือสู่ความเป็นมืออาชีพในอนาคต
อีกหนึ่งผลงานของสาวน้อยมหัศจรรย์ผู้นี้คือ Seribelle ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากรังไหม (Cocoon) เนื่องจากในการผลิตผ้าไหมไทย รังไหมบางส่วนถูกคัดทิ้งเพราะคุณภาพไม่เหมาะสมสำหรับนำไปสาวเป็นเส้นใยทอผ้า ทว่ารังไหมเหล่านี้ยังคงมีโปรตีนเซริซิน (Sericin) อันทรงคุณค่าต่อผิว เหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม
ในช่วงนั้น ตัวเธอก็กำลังทำโครงการ HER อยู่ ดังเช่นที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามีการจ้างงานผู้ที่เพิ่งออกจากเรือนจำเพื่อสร้างอาชีพแก่พวกเขา เธอมองเห็นช่องทางให้พวกเขามีรายได้เพิ่ม จึงได้ลองทำผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแบรนด์ Seribelle ขึ้น จัดเป็นชุดเล็กไปขาย เมื่อผลตอบรับดีจึงขยับขยายจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
แน่นอนว่ามัญญสิริยังคงดำเนินโปรเจ็กต์ทั้งหมด โดยทุ่มเทให้กับโครงการ HER เป็นหลักจนน่าอัศจรรย์ใจว่าได้พักผ่อนบ้างหรือเปล่า ไหนจะยังต้องไปเรียนหนังสืออีก ซึ่งเธอตอบว่ามีการจัดตารางการใช้ชีวิตอย่างเป็นระเบียบ ทำการบ้านให้เสร็จแล้วจึงทำโครงการ โดยไม่ลืมแบ่งเวลาไปวิ่งออกกำลังกายและผ่อนคลายกับงานอดิเรกอย่างการร้องเพลง
สำหรับตอนนี้เธอกำลังเริ่มต้นก้าวใหม่ ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสัมผัสมุมมองที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ ลับทักษะให้คมกริบพร้อมฟันฝ่าอุปสรรคสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ ดังเช่นคติประจำใจของเธอ
“อย่าลดขนาดของความฝัน แต่เพิ่มขนาดของความพยายาม” ทุ่มเทหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ ลงมือทำ แม้ไม่สำเร็จอย่างน้อยก็ได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, HER Period Dignity และ Seribelle
อ่านเพิ่มเติม : JUST FEEL ธุรกิจเพื่อสังคม ระดมทุนเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นของนักเรียน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine