ชัยวัฒน์ นันทิรุจ บริหารพอร์ต (ไวน์) แห่งความสุข - Forbes Thailand

ชัยวัฒน์ นันทิรุจ บริหารพอร์ต (ไวน์) แห่งความสุข

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Jul 2023 | 11:00 AM
READ 848

ในโลกของการลงทุน นอกจากสินทรัพย์ทางการเงินในรูปแบบหุ้น ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม ยังมีการลงทุนอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “passion investment” การซื้อและสะสมจากความรักและชื่นชอบ  ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางเลือกที่วัดค่าผลตอบแทนออกมาเป็น “ความสุข” มากกว่า “ตัวเงิน”

    

ภายใต้อาณาจักรธุรกิจที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 2.8 

    

    พันล้านชิ้นต่อปี ส่งออกไปยังลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อเมริกา และยุโรป สร้างผลงานมูลค่ายอดขายระดับพันล้านบาทต่อปี สะท้อนชัดถึงความสามารถในการบริหารงานและขับเคลื่อนธุรกิจของ ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด (Eka Global) ผู้นำตลาดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร (longevity packaging) ด้วยมุมมองแบบซีอีโอที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านธุรกิจและการลงทุนส่วนตัว (wealth management) ด้าน passion investment ซึ่งมีแนวคิดและหลักการ “บริหารความมั่งคั่ง” ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

    “ช่วงก่อนอายุ 30 ปีผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ มีโอกาสได้ดื่มไวน์ในมื้อดินเนอร์ ทำให้รู้สึกชื่นชอบ เพราะเป็นตัวเสริมให้อาหารมื้อนั้นอร่อยขึ้นกว่าเดิม จากนั้นก็เริ่มศึกษา ทำความรู้จักรสชาติไวน์แต่ละตัว แล้วมาเริ่มต้นสะสมจริงจังตอนอายุ 30 ปี เพราะคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมทั้งความพร้อมที่จะซื้อ รวมทั้งได้รู้จักกับเพื่อนชาวเยอรมันที่คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับไวน์ พร้อมรับประสบการณ์ดีๆ จากการเดินทางไปเจอกับเจ้าของไวน์ในแหล่งผลิตต่างๆ ทำให้ได้รับความรู้และมีแนวทางว่าเราควรสะสมไวน์ไปทางไหน” 

    ชัยวัฒน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ passion investment จากก้าวแรกที่ได้ออกไปสัมผัสและทดลองดื่มไวน์ด้วยตัวเองในต่างแดน จนกระทั่งเกิดเป็นความชื่นชอบ และผันตัวมาเป็นนักสะสมตัวยงในวันนี้ด้วยพอร์ตไวน์จากทั่วโลกมากถึง 2,000 ขวด ไต่ระดับราคาจากหลักหมื่นไปถึงหลักล้านในปัจจุบัน 

    ขณะที่การสะสมหรือการลงทุนไวน์เบื้องต้นควรเริ่มจากการศึกษาและเรียนรู้โลกของไวน์ ซึ่งแบ่งออกเป็นไวน์โลกเก่า ที่มีแหล่งผลิตจากประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน กับไวน์โลกใหม่ ที่มาจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย โดยในปัจจุบันอาจมีการผลิตและจำหน่ายไวน์เป็นจำนวนมากนับล้านแบรนด์ แต่จะมีเพียง 5 แบรนด์หรือ 5 เสือเท่านั้นที่นักลงทุนและนักสะสมควรจะมีไว้ในครอบครอง ได้แก่ Lafite Rothschild, Latour, Margaux, Mouton Rothschild และ Haut-Brion 

    สำหรับการตัดสินเรื่องรสชาตินั้นขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคล เนื่องจากแหล่งปลูกไวน์ทุกพื้นที่จะให้คุณภาพและรสชาติที่แตกต่างกันไป โดยแหล่งปลูกไวน์ที่ได้รับการยอมรับจากนักสะสมทั่วโลกต้องยกให้ไวน์จาก Bordeaux ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของฝรั่งเศส และอีกแหล่งอยู่ที่ Burgundy

    นอกจากนั้นความตื่นเต้นของนักลงทุนไวน์ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับราคามาก่อนเป็นอันดับแรก ทำให้ไวน์บางตัวราคาวิ่งไปแตะหลักแสนหรือหลักล้านต่อขวดได้ นำมาซึ่งผลตอบแทนอันหอมหวานที่บรรดานักลงทุนแสวงหา แต่ในมุมของนักสะสมอย่างชัยวัฒน์กลับเลือกมองหาคุณภาพจากไวน์ ช่วงเวลาดีๆ ที่รับรสสัมผัส และความสุขที่เพิ่มขึ้นในแต่ละมื้ออาหารมากกว่าผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน 

     

วัฒนธรรมการดื่มสู่อรรถรสของชีวิต

    

    มากกว่าความชื่นชอบไวน์ ชัยวัฒน์บอกเล่าถึงวัฒนธรรมการดื่มไวน์ในแต่ละมื้อว่าเต็มไปด้วยความละเมียดละไมตั้งแต่การสะสม เลือกไวน์ และจิบในมื้ออาหารพร้อมกับคนสำคัญ 

    “ดื่มไวน์จะดื่มคนเดียวไม่ได้ เพราะไม่สนุก ต้องมีเพื่อน ผมดื่มวันละ 2-3 แก้ว ทำให้รับรู้ถึงรสชาติของไวน์ อาหาร และบรรยากาศการพูดคุยที่ทำให้ชีวิตมีความสุขเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน” 

    นอกจากลิ้มรสชาติของไวน์และความอร่อยของอาหารมื้อนั้นแล้ว ความพิเศษคงต้องยกให้บรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยกลุ่มเพื่อนที่พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน สร้างรอยยิ้มและความสุขที่หาไม่ได้จากที่ไหน และในบางครั้งที่เปลี่ยนจากกลุ่มเพื่อนมาเป็นคู่ค้า วัฒนธรรมการดื่มไวน์ก็สร้างบรรยากาศความเป็นกันเองและต่อยอดความสัมพันธ์ (connection) ทางธุรกิจได้ด้วย 

    “อรรถรสในการรับประทานดินเนอร์วันนั้นจะน่าสนใจขึ้นมาจากไวน์ที่สะสมไว้ ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายรสชาติ เช่น ไวน์แดง ไวน์ขาว ไวน์หวาน แชมเปญ คอนญัก (บรั่นดี) เก็บไว้ครบ พร้อมสำหรับการตัดสินใจเลือกว่าไวน์ตัวไหนที่เหมาะจะนำมาดื่มเพื่อเสริมอาหารมื้อนั้นให้อร่อยมากขึ้น”

    เพราะไวน์ไม่ต่างกับงานศิลปะที่สะสมจากความชอบ และรู้สึกดีทุกครั้งเมื่อได้มองและสัมผัส การรู้แหล่งผลิต รู้กรรมวิธีการบ่มจนกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงการจัดเก็บเพื่อรักษารสชาติดั้งเดิมเอาไว้ก็สำคัญมากสำหรับชัยวัฒน์ เพื่อไม่ให้รสชาติของไวน์เปลี่ยนสภาพไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตามสำหรับแนวทางเก็บรักษาไวน์ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานคือการจัดเก็บโดยผู้ให้บริการเก็บไวน์เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ปัจจุบันมีเปิดให้บริการแล้วในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง เยอรมนี และ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถรักษาคุณภาพของไวน์เอาไว้ และมีไวน์พร้อมดื่มในวันที่เดินทางไปถึงประเทศที่จัดเก็บนั้นๆ 

    “หัวใจและคุณค่าของไวน์อยู่ที่รสชาติ โดยทุกวันนี้นักสะสมไวน์จะมีแหล่งจัดเก็บที่เหมาะสม สำหรับผมจะเก็บไว้ที่บ้านส่วนหนึ่งสำหรับดื่มร่วมกับมื้ออาหาร และอีกส่วนแยกเก็บในแต่ละประเทศ ซึ่งมีผู้ให้บริการที่เชี่ยวชาญด้านไวน์โดยเฉพาะคอยทำหน้าที่ตรงนี้” ชัยวัฒน์กล่าวถึงการจัดเก็บไวน์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ความเย็นที่สม่ำเสมอ ไม่โดนแสงแดด ความชื้น และอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของไวน์ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้การแสวงหาไวน์ชั้นเลิศสะสมเข้าพอร์ต 

     

Passion ความชอบที่ประเมินราคาไม่ได้

    

    ในช่วง 1-2 ปีมานี้แวดวงนักสะสมไวน์ขยายตัวเร็วมาก และราคาก็ถีบตัวแรงเป็น 100-200% ไวน์บางตัวที่เคยซื้อขายกันอยู่ที่ 8-9 แสนต่อขวด วันนี้ราคาไปไกลถึงหนึ่งล้านบาทแล้ว 

    “ช่วง COVID-19 ไวน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ซื้อลงทุน หลายแบรนด์ราคาไปไกลมาก ซึ่งผมไม่ได้ติดตามมากนัก เคยมีคนมาขอซื้อ แต่ก็ไม่ได้ขาย และไม่เคยคิดว่าจะขายเลย อาจเป็นเพราะผมมีความชัดเจนว่าเป็นการสะสมเพื่อดื่มอย่างเดียวเท่านั้น โดยไวน์ที่เก็บมานานที่สุดน่าจะประมาณ 50-60 ปีแล้ว และวันนี้ก็ยังอยู่”

    นั่นเป็นการวิ่งของราคาในมุมนักลงทุน ซื้อและสะสมไว้เพื่อขายสร้างกำไรจากส่วนต่าง แต่สำหรับมุมของนักสะสมอย่างชัยวัฒน์ไม่ได้ให้ความสนใจในมูลค่าว่าราคาปรับขึ้นเฉลี่ยปีละกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะความสนใจทั้งหมดพุ่งไปที่รสชาติและประสบการณ์ในการดื่มมากกว่า 

    “สำหรับผมแล้วมีความสุขในช่วงเวลาที่ดื่มด่ำกับรสชาติของไวน์มากกว่าตอนที่เห็นราคาขึ้น เพราะเสน่ห์ของการสะสมไวน์อยู่ที่ความหลากหลายของแบรนด์ คุณภาพ และรสชาติที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อในการดื่มไวน์เลยสักครั้ง”

    หากเป็นนักลงทุน การสะสมพอร์ตไวน์ในระดับ 2,000 ขวดจะเป็นการสร้างมูลค่าและผลตอบแทน แต่สำหรับนักสะสมตัวยงรายนี้จะแบ่ง 50% มีไว้เพื่อสะสม ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ระดับแถวหน้าที่นักลงทุนต้องการ เฉลี่ยขวดละ 50,000-80,000 บาท และอีก 50% จะมีราคาที่ไม่แรงเท่ากับกลุ่มแรก ส่วนนี้มีไว้สำหรับดื่มในแต่ละวันและช่วงเวลาพิเศษ 

    “ว่ากันว่าหากลงทุนกับไวน์ชั้นดีของฝรั่งเศสโดยซื้อเก็บไว้ 8-10 ปี อาจได้ผลตอบแทนเป็น 100% แต่สำหรับผมแล้วสนใจแค่ happiness อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีเรื่อง wealth หาผลตอบแทนและความมั่งคั่งเข้ามาเกี่ยวข้อง” ชัยวัฒน์กล่าวสรุปนับเป็น “passion investment” พอร์ตการลงทุน (ไวน์) ที่เต็มไปด้วยความสุข และความสุขนี้นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น

    

    อ่านเพิ่มเติม : เมื่อ “เพชรแท้” เริ่มหายาก “เพชรสังเคราะห์” ช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภค Gen Z

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine