เมื่อ “เพชรแท้” เริ่มหายาก “เพชรสังเคราะห์” ช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภค Gen Z - Forbes Thailand

เมื่อ “เพชรแท้” เริ่มหายาก “เพชรสังเคราะห์” ช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภค Gen Z

เมื่อ “เพชรแท้” ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเริ่มหายากและมีราคาสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “เพชรสังเคราะห์” ที่ผลิตขึ้นภายในห้องแล็บจึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภค Gen Z ในยุคปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีราคาถูกกว่าถึง 2-3 เท่า แต่ทว่าคุณสมบัติและคุณภาพความเปล่งประกายสุดแวววาวกลับดูไม่ต่างกัน อีกทั้งยังช่วยลดการขุดเหมืองหรือทำลายสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย


    เครื่องประดับที่ทำจาก “เพชรแท้” โดยเฉพาะแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงาน ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงของคู่รักและยังแสดงออกถึงฐานะอันมั่งคั่งแก่ผู้สวมใส่ แต่ทว่าในปัจจุบัน อัญมณีสุดล้ำค่าและมีราคาแพงอย่างเพชรแท้ กลับหาได้ยากยิ่งกว่าเดิม โดยเป็นผลมาจากการผลิตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเริ่มมีจำนวนน้อยลง 

    สวนทางกับมูลค่าการซื้อ-ขายเพชรแท้ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากระยะเวลาในช่วงปี 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2011-2021 ราคาของเพชรแท้มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 4% เครื่องประดับจากเพชรแท้จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเหล่านักลงทุนที่มีกำลังทรัพย์ที่มักจะนิยมเลือกซื้อของหายากสะสมไว้ในครอบครอง

    ทั้งนี้ ในส่วนของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Millenials และ Gen Z มีค่านิยมที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มคนรุ่นก่อน ทั้งด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน รวมถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ผลสำรวจจากหลายแหล่งทั่วโลกจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มนิยมหันมาเลือกซื้อและสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจาก “เพชรสังเคราะห์” ที่ผลิตในห้องแล็บกันมากขึ้น 


    ยกตัวอย่างเช่น MVI Marketing บริษัทด้านการตลาดเครื่องประดับในสหรัฐ ได้ทำการสำรวจผู้บริโภค จำนวน 754 ราย ที่มีช่วงอายุระหว่าง 20-35 ปี โดยแบ่งเป็นผู้หญิง 59% ผู้ชาย 41% พบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสำรวจจะเลือกซื้อเพชรสังเคราะห์เป็นของขวัญให้กับตนเองและคนสำคัญ ซึ่งหากเปรียบเทียบราคา ขนาด ในคุณภาพที่เท่ากันกับเพชรแท้ มีจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจราว 44% ตอบว่าเลือกซื้อเพชรสังเคราะห์ รองลงมา 32% เลือกซื้อเพชรแท้ นอกจากนี้ 89% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ยังยินดีที่จะจ่ายแพงกว่าสำหรับเครื่องประดับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม 


ย้อนรอยประวัติที่มาของ “เพชรสังเคราะห์”

    เพชรสังเคราะห์ คืออะไร? คำตอบคือ เพชรที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บหรือเรียกอีกอย่างว่า Laboratory-Grown Diamonds (LGD) ที่มีองค์ประกอบทางเคมีและคุณสมบัติทางกายภาพเหมือนกับเพชรแท้จากธรรมชาติทุกประการ จะแตกต่างกันเพียงแค่ต้นกำเนิดโดยไม่สามารถแยกแยะออกได้ด้วยตาเปล่าและจะต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะพิเศษในการสังเกตดูเท่านั้น 



    ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ เกือบ 70 ปีก่อน ในช่วงปี 1954 เพชรสังเคราะห์เม็ดแรกได้ถือกำเนิดขึ้นจากการทดลองในห้องแล็บของบริษัท General Electric ณ เมืองนิวยอร์ก หลังจากนั้นการผลิตเพชรสังเคราะห์ในห้องแล็บจึงมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1970 โดยเพชรดังกล่าวที่ผลิตขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ ได้ถูกนำมาใช้ในหลายวงการอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจด้านแสงเลอเซอร์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ และธุรกิจด้านโทรคมนาคม เป็นต้น ต่อมาในช่วงกลางปี 1980 เพชรสังเคราะห์ได้พัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพเทียบเคียงกับเพชรแท้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนท้ายที่สุดก็สามารถวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในร้านจิวเวอรี่ที่ขายเพชรแท้ได้เช่นเดียวกัน


เพชรสังเคราะห์มีหลายประเภท แตกต่างกันตามวิธีผลิต

    หากอ้างอิงข้อมูลตามสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ GIA (Gemological Institute of America) จะพบว่ากระบวนการผลิตเพชรสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเสมือนเพชรแท้ มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่

1. High Pressure High Temperature (HPHT)

    วิธีการผลิตโดยจำลองแรงกดดันและอุณหภูมิที่มีความร้อนจัดเสมือนโลกใต้พิภพขึ้นมาภายในห้องแล็บโดยคาร์บอนจะละลายไปกับโลหะหลอมเหลวไหลผ่านโลหะลงสู่เศษเพชรสังเคราะห์หรือเศษเพชรธรรมชาติเพื่อหล่อหลอมกลายเป็นผลึกเพชรสังเคราะห์อันใหม่ขึ้นมา

2. Chemical Vapor Deposition (CVD)

    วิธีการผลิตภายในห้องแล็บแบบสุญญากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอน เช่น มีเทน วิธีนี้จะทำให้โมเลกุลของก๊าซมีเทนแตกตัวเป็นอะตอมของคาร์บอนและไฮโดรเจน โดยอะตอมเหล่านี้จะนำโมเลกุลไปฝากไว้กับเศษเพชรจากธรรมชาติ (Diamond Seeds) และผลิตออกมาเป็นผลึกคริสตัลสี่เหลี่ยมหรือเพชรสังเคราะห์


    อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตเพชรสังเคราะห์ทั้ง 2 รูปแบบนี้ใช้เวลาภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น แตกต่างจากเพชรแท้ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติที่ต้องอาศัยระยะเวลานานร่วมหลายร้อยล้านปี อีกทั้งยังช่วยลด ละเลี่ยง การทำลายธรรมชาติสำหรับการทำเหมืองอย่าง การขุดเจาะพื้นดิน หรือการถางป่า เป็นต้น


ความแตกต่างของ เพชรสังเคราะห์ VS เพชรสวิส, รัสเซีย หรือ CZ 

    เพชรสวิส เพชรเบลเยียม หรือ เพชรรัสเซีย ที่คนไทยนิยมเรียกกัน แท้จริงแล้วคือเพชรสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Cubic Zirconia หรือเรียกสั้นๆ ว่า เพชร CZ ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นจากผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียในปี 1980  โดยเพชรสังเคราะห์ชนิดนี้ ความจริงแล้วเป็นเพียงคริสตัลชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาทำเครื่องประดับแทนเพชรแท้ เพราะมีราคาถูกกว่า ซึ่งมีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ แร่เซอร์โคเนียม และแมกนีเซียม หากดูผิวเผิน เพชร CZ จะดูคล้ายเพชรแท้ แต่ทว่าเหล่านักอัญมณีสามารถแยกออกได้ด้วยตาเปล่า ในขณะที่เพชรสังเคราะห์ LGD ที่ผลิตขึ้นจากเล็บจะไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ตาม 

    ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบคุณสมบัติทางเคมีและระดับความทนทานแข็งแกร่ง เพชรสังเคราะห์จากแล็บมีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากเพชรแท้จากธรรมชาติ เพราะมีความแข็งแกร่งอยู่ในระดับ 10 เท่ากัน ในขณะที่ เพชร CZ นั้น มีความแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 8.5  และยังมีความแตกต่างจากเพชรสังเคราะห์ค่อนข้างมาก รวมทั้งยังถูกจัดให้เป็นเพชรปลอมหรือเพชรเลียนแบบ 100% ไม่ใช่เพชรแท้อีกด้วย


ความแตกต่างของ เพชรสังเคราะห์ VS เพชรธรรมชาติ 



    เพชรสังเคราะห์ที่เกิดจากกระบวนการ CVD และ HPHT ต้องอาศัยเศษเพชรแท้ หรือเศษเพชรจากธรรมชาติ ผนวกกับคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดเพชรตามธรรมชาติ โดยคุณสมบัติทางเคมีและรูปร่างภายนอกดูแล้วแทบไม่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน GIA ยังได้ตั้งข้อสังเกตของความแตกต่างระหว่างเพชรธรรมชาติและเพชรสังเคราะห์ไว้ดังนี้

รูปทรงคริสตัลแม้อุณหภูมิที่ก่อให้เกิดเพชรทั้งใต้พิภพและในห้องแล็บจะเป็นอุณหภูมิเดียวกัน แต่เพชรธรรมชาติจะเกิดขึ้นมาพร้อมหน้าเพชร 8 ด้าน ขณะที่เพชรสังเคราะห์อาจเกิดมาพร้อมหน้าเพชร 8 หรือ 6 ด้าน (ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์)

สีสัน : สีของเพชรสังเคราะห์ส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ในระดับ ไร้สี (Colorless) เกือบไร้สี (Nearly-Colorless) สีเหลืองเข้ม และสีเหลืองอมน้ำตาล แทบจะไม่มีเพชรสีฟ้า เพชรสีแดง เพชรสีชมพู หรือเพชรแฟนซีสีอื่นเลย แตกต่างจากเพชรธรรมชาติที่เพชรแฟนซีเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้เอง อย่างไรก็ตามเพชรสังเคราะห์สามารถนำไปปรับปรุงคุณภาพสี หรือเปลี่ยนสีได้ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบเดียวกัน

ตำหนิ : ไม่ว่าจะเป็นเพชรธรรมชาติ หรือเพชรสังเคราะห์ ต่างมีตำหนิที่หลากหลาย และค่อนข้างคล้ายกัน กระบวนการนี้จึงไม่นิยมในการใช้แยกระหว่างเพชรธรรมชาติ และเพชรสังเคราะห์

การเจียระไน : เพชรสังเคราะห์และเพชรธรรมชาติมีวิธีและรูปแบบการเจียระไนเหมือนกันทุกขั้นตอน ซึ่งเพชรทรงกลมเป็นทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่เพชรสังเคราะห์ เช่นเดียวกันกับเพชรธรรมชาติ

เปรียบเทียบราคา เพชรสังเคราะห์ VS เพชรแท้

    ปัจจุบันปริมาณการผลิตเพชรสังเคราะห์จากทั่วโลกเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 6-7 ล้านกะรัต สวนทางกับการผลิตเพชรแท้จากธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยมีปริมาณสูงสุดในปี 2017 ราว 152 ล้านกะรัต ก็ลดลงมาเหลือปริมาณเพียง 111 ล้านกะรัตในปี 2020 

    เมื่อเพชรแท้เริ่มหายาก ผลิตได้จำนวนน้อยลง ราคาในการหาซื้อเพื่อมีไว้ในครอบครองก็ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันเพชรสังเคราะห์ที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกันก็สามารถผลิตออกมาตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเริ่มถูกลง เห็นได้จากข้อมูลการรายงานของ Zack Guzman ซึ่งเป็นนักข่าวอาวุโสของ yahoo.com ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องราวของ “เพชรสังเคราะห์” ไว้ว่า ในปี 2008 เพชรสังเคราะห์ขนาด 1 กะรัต มีราคาประมาณ 4,000 เหรียญ แต่จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เพชรสังเคราะห์ผลิตได้ง่ายขึ้น ต้นทุนถูกลงมาก จนปัจจุบันสามารถหาซื้อเพชรสังเคราะห์ได้ในราคาเริ่มต้นเพียงกะรัตละ 300-500 เหรียญเท่านั้น

    โดยราคาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเพชรสังเคราะห์มีราคาถูกกว่าเพชรแท้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เพชรแท้จากธรรมชาติ รูปทรงกลม ขนาด 1 กะรัต ความใสสะอาดระดับ VS2 สี G มีราคาอยู่ที่ 5,559 เหรียญ ขณะที่เพชรสังเคราห์ที่มีคุณภาพระดับเดียวกันมีราคา 1,992 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราคาถูกกว่าเพียง 1 ใน 3 ของราคาเพชรแท้

    นอกจากนี้ Paul Zimnisky  นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการค้าเพชร ยังคาดการณ์ด้วยว่าตลาดเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ในปี 2021 จากเดิมมีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะเติบโตแบบก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าเป็นมูลค่า 4 พันล้านเหรียญได้ภายในปี 2025 

    ขณะที่บริษัทวิจัยตลาด Allied Analytics LLP คาดการณ์ว่าตลาดเพชรสังเคราะห์ทั่วโลกจะมีมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2030 โดยปัจจุบันตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่สหรัฐอเมริกาคิดเป็น 3 ใน 4 ของทั้งหมด แม้ว่าผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายใหญ่ของโลก กลับกลายเป็น “จีน” ซึ่งมีสัดส่วนในการผลิตสูงถึง 90% รองลงมาเป็นอินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา


การคัดเกรดคุณภาพของ "เพชรสังเคราะห์"

ยึดหลัก 4Cs  แบบเดียวกันกับการคัดเกรดคุณภาพของเพชรแท้ ได้แก่

1. Carat : กะรัต หรือน้ำหนักเพชร

2. Cut : เหลี่ยมการเจียระไน

3. Color : สี หรือ น้ำ เช่น เพชรน้ำ 100

4. Clarity : ความสะอาด เนื่องจากเพชรแท้ จะมีตำหนิตามธรรมชาติ


เครื่องประดับแบรนด์ดัง หันมาใช้ “เพชรสังเคราะห์”

    เมื่อตลาดเพชรสังเคราะห์มีแนวโน้มค่อยๆ เติบโตดีขึ้นเรื่อยๆ De Beers บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเพชรแท้จากธรรมชาติรายใหญ่ของโลกรายแรกที่เล็งเห็นโอกาสอันดีในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่จึงได้ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดนี้ด้วยการจัดจำหน่ายเพชรสังเคราะห์ ภายใต้แบรนด์ “Lightbox Jewelry” ในปี 2018 



    Nick Smart ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ของ Lightbox ให้สัมภาษ์ผ่านสื่อในช่วงที่ผ่านมาว่า “ปัจจุบันแบรนด์ของเราส่งสินค้าไปยัง 75 ประเทศทั่วโลกและมีสินค้าปรากฏอยู่ตามร้านค้า 125 แห่งทั่วสหรัฐและแคนาดา กิจการของเราเติบโตเกินความคาดหมาย ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือ” Nick กล่าว

    เดือนพฤษภาคม ปี 2021 แบรนด์ Pandora ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เปิดตัวคอลเล็กชันเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ Pandora Brilliance ในสหราชอาณาจักร โดยนำสัญลักษณ์ Infinity มาใช้เป็นลวดลายหลักในการออกแบบเครื่องประดับประเภทแหวน กำไล สร้อยคอ และต่างหู โดยแต่ละชิ้นจะประดับด้วยเพชรสังเคราะห์เม็ดเดี่ยวที่ฝังด้วยมือลงในตัวเรือนเงิน ทองคำ หรือทองขาว นอกจากนี้ ทางแบรนด์ยังประกาศอีกด้วยว่าจะไม่ใช้เพชรแท้ธรรมชาติที่ขุดได้จากเหมืองมาผลิตเป็นเครื่องประดับของแบรนด์อีกต่อไป รวมถึงการประกาศจะหยุดใช้ทองคำและเงินที่ขุดขึ้นใหม่ภายในปี 2025 โดยจะเลือกใช้แต่วัตถุดิบที่มาจากแหล่งรีไซเคิลเท่านั้น


    ด้านแบรนด์เครื่องประดับหรูระดับไฮเอนด์ จากกลุ่มบริษัท LVMH ก็ได้ตื่นตัวกับแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน โดยทางบริษัทได้ลงทุนในโรงงานผลิตเพชรในห้องปฏิบัติการของอิสราเอล อีกทั้งในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2023 แบรนด์นาฬิกาสุดหรูอย่าง TAG Heuer ในเครือ LVMH ก็ได้เปิดตัวนาฬิการุ่น Carrera Plasma ซึ่งถือเป็นนาฬิกาเรือนแรกของบริษัทนาฬิกาที่เลือกผลิตและประดับด้วยเพชรสังเคราะห์แทนเพชรแท้


    ขณะเดียวกันเหล่าบรรดาศิลปินคนดังระดับโลกก็เริ่มหันมาสนับสนุนเทรนด์เครื่องประดับที่ทำจากเพชรสังเคราะห์ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น Drake ที่เลือกใส่สร้อยคอที่ทำจากเพชรสังเคราะห์ น้ำหนักรวม 127.5 กะรัต มูลค่า 1.9 ล้านเหรียญ จากแบรนด์ Homer ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ของนักดนตรี Frank Ocean นอกจากนี้ Lady Gaga, Billy Porter และ Penelope Cruz ก็เคยสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากเพชรสังเคราะห์ออกงานพรมแดงมาแล้วเช่นกัน


ธุรกิจสดใส ใช้ “เพชรสังเคราะห์” เป็นทางเลือก

    Liz Chatelain ประธานบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยตลาด The MVEye ไดัให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเพชรสังเคราะห์คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 8 ของปริมาณเพชรในตลาดทั่วโลก “เพชรสังเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ คุณภาพสม่ำเสมอ จากห้องแล็บกำลังเป็นที่ต้องการทั่วทั้งตลาด เพชรสังเคราะห์แบบสีก็เป็นที่เสาะหามากเช่นกัน เพชรสังเคราะห์ซึ่งไม่ได้ผ่านการปรับปรุงคุณภาพหรือการปรับปรุงสีหลังการผลิตก็เป็นที่นิยมและกำลังจะกลายเป็นสินค้าที่สร้างความแตกต่างในภาคธุรกิจค้าปลีก

            Chatelain ยังระบุด้วยว่าการรับรู้และการยอมรับของผู้บริโภคช่วยผลักดันการเติบโตของเพชรสังเคราะห์ เห็นได้จากตัวเลขการสำรวจผู้บริโภคในอเมริกาเหนือ โดย The MVEye ในปี 2010 มีผู้บริโภคเพียงร้อยละ 9 ที่รู้จักเพชรสังเคราะห์ และตัวเลขนี้ก็ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 ในปี 2012, ร้อยละ 21 ในปี 2014, ร้อยละ 30 ในปี 2016 ก่อนที่จะกระโดดขึ้นเป็นร้อยละ 58 ในปี 2018 และสูงถึงร้อยละ 80 ในปี 2020

    ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม Chatelain กล่าวเสริมว่า “คนส่วนใหญ่จะเลือกเครื่องใช้ประดับแฟชั่นที่ทำจากเพชรสังเคราะห์ แต่สำหรับการเลือกใช้เครื่องประดับสำหรับโอกาสสำคัญอย่างการแต่งงานก็มีแนวโน้มเป็นตัวเลือกสูงไม่แพ้กัน เพราะผู้ซื้อจะได้เพชรเม็ดหลักที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับการใช้เงินจำนวนเดียวกันซื้อเพชรแท้ธรรมชาติจากเหมือง หรือถ้าหากเลือกซื้อเพชรในขนาดที่เท่ากันกับเพชรแท้ ผู้ซื้อก็จะจ่ายเงินในจำนวนที่ลดลงและยังช่วยประหยัดเงินได้มากขึ้น”


    อย่างไรก็ตาม เพชรสังเคราะห์และเพชรแท้ ต่างมีข้อดีและจุดเด่นที่แตกต่างกันไป โดยในส่วนของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่าง Millennials และ Gen Z ซึ่งถือเป็นกลุ่มตลาดหลักของธุรกิจเครื่องประดับที่ทำจากเพชรสังเคราะห์นั้น ต่างเห็นข้อดีจากการมีทางเลือกให้ได้เลือกซื้อเครื่องประดับสำหรับโอกาสสำคัญ เช่น แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน ที่มีคุณภาพความคงทนถาวร และมีความสวยงาม แวววาว ราวกับเพชรแท้ ในราคาที่สมเหตุสมผล แต่ในระยะยาวคงไม่เหมาะแกการลงทุน เพราะไม่สามารถนำมาขายต่อหรือสะสมเพื่อให้เกิดมูลค่าพิ่มในอนาคตเหมือนเพชรแท้ที่เกิดจากธรรมชาติได้ 

     นอกจากนี้ กลุ่มคนดังกล่าวยังถือเป็นกลุ่มคนที่หันมาใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นการเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ช่วยลดการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจากธรรมชาติลงก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายกว่าเดิม ขณะที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นก่อนที่อาจจะมีกำลังทรัพย์มากกว่าและมีค่านิยมในการเลือกซื้อสะสมของหายากมีราคาแพงเพื่อเสริมคุณค่าทางจิตใจคือกลุ่มตลาดหลักของเครื่องประดับเพชรแท้ ซึ่งท้ายที่สุดก็อยู่ที่ความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มคนที่จะเลือกพิจารณาซื้อเพชรแบบใดให้เหมาะกับโอกาส และฐานะตามกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคล



อ่านเพิ่มเติม : เทคโนโลยีล้ำหน้า ปฏิวัติความงามยกระดับความหลากหลาย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine