นพ.สุนทร อันตรเสน บนเส้นทางแห่งการให้ที่ไร้พรมแดน - Forbes Thailand

นพ.สุนทร อันตรเสน บนเส้นทางแห่งการให้ที่ไร้พรมแดน

30 กว่าปีก่อนแพทย์หนุ่มจากกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันเพื่อนลงพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะเห็นว่าผู้ป่วยในชนบทห่างไกลขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการตรวจรักษา ต่อมาได้จัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และขยายความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศ


    ปลายปี 2565 นายแพทย์สุนทร อันตรเสน แพทย์เฉพาะทางแผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลราชวิถี ที่ปรึกษาโรงพยาบาลราชวิถี และกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ได้รับรางวัล “การทูตสาธารณะ” ประจำปี 2565 (Public Diplomacy Award 2022) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทยจัดตั้งขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคล หรือองค์กร ที่ดำเนินงานด้านสาธารณประโยชน์ จนสามารถสร้างชื่อเสียงแก่คนไทยและประเทศไทย และได้รับการยอมรับในต่างประเทศ

    นพ.สุนทร ได้จัดตั้งและดำเนินโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดโรคหู (Ear Surgery Mobile Unit : ESMU) ให้บริการตรวจรักษาและผ่าตัดโรคหูน้ำหนวก แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นเวลากว่า 30 ปี มากกว่า 80 เมือง ใน 10 ประเทศ 

    ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา จีน อินเดีย เคนยา บังกลาเทศ ภูฏาน ติมอร์ตะวันออก มีผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้วกว่า 70,000 ราย รวมทั้งจัดหาทุนฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ต่างประเทศด้วย


    ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ นพ.สุนทร ที่สำนักงานรองผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี โดยหลังจบการฝึกอบรมด้านโสต ศอ นาสิก จากประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2518 เริ่มต้นทางานที่แผนกจักษุ โสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี 

    ขณะนั้นทั้งประเทศมีศัลยแพทย์หู คอ จมูกเพียง 10 กว่าคน มีเด็กป่วยด้วยโรคฝีในสมองสาเหตุจากโรคหูน้ำหนวกมากเป็นอันดับ 1 โดย 10% ของคนไข้เป็นโรคหูน้ำหนวกชนิดร้ายแรง หากไม่ได้รับการผ่าตัดอาจเสียชีวิตเนื่องจากฝีลามไปที่สมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดไข้สูง ชักและเสียชีวิต

    ช่วงแรกเขาและเพื่อน “นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล” ร่วมกันออกตรวจรักษาคนไข้ในชนบทที่ห่างไกลโดยใช้ทุนส่วนตัว เวลาไปโรงพยาบาลเอกชนก็ผ่าตัดให้ฟรีและคนไข้ร่วมบริจาคทำให้มีทุนดำเนินงานมาเรื่อยๆ กระทั่งเกิดเป็น “โครงการหู คอ จมูก” ในสมาคมโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย และ “มูลนิธิหู คอ จมูก ชนบท” 

    ในเวลาต่อมา โดยมี นพ.สุนทร ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี เป็นประธานมูลนิธิ และ นพ.ศัลยเวทย์ เป็นเลขาธิการ หลังออกหน่วยรักษาคนไข้ตามต่างจังหวัดได้ 10 ปี 

    ในปี 2526 ได้รับทุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปตรวจ รักษา ผ่าตัด โรคหูน้ำหนวก ณ เมือง Mittapur สาธารณรัฐอินเดีย อีก 2 ปีถัดมาออกหน่วยรักษาผู้ป่วยยากจน ณ สาธารณรัฐเคนยา

    “หน่วยผมเป็นหน่วยแรกของโลกก็ได้ ที่ออกตรวจแบบนี้ เมื่อ 40 ปีก่อน เคนยามีคนผ่าตัดคนเดียวเป็นคนอินเดีย ตอนนั้นเราผ่าตัดให้เขาดู ไปโรงพยาบาล 12 แห่ง อยู่ที่นั่นประมาณ 1 เดือน เคนย่าขอคำแนะนำ และทาง UNDP ให้เราไป demonstrate โดยออกค่าใช้จ่ายให้ แต่เราไม่ได้อะไร”



    หลังจากนั้นยังออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการทำงานประจำ โดยได้รับทุนจากองค์กร NGO ต่างประเทศ ระยะหลังจึงได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข 

    “NGO ต่างประเทศเห็นเราทำก็ให้ทุน ผมต้องเก็บสถิติ รูปถ่าย เพื่อให้ดูว่าเราทำจริง ทำอย่างไร คนไข้รวยๆ ที่รู้ว่าทำอะไรก็บริจาค ที่สำคัญคือผู้บังคับบัญชาอนุมัติ และครอบครัวเห็นถึงความสำคัญ หากไม่เข้าใจก็ทำไม่ได้”


ขับเคลื่อนด้วยใจ

    นพ.สุนทร จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยได้รับประกาศนียบัตร (certificate) ด้าน Broncho-Laryngology จาก Temple University (U.S.A.) ประกาศนียบัตรด้าน Tissue Surgery และ Surgery of Paranasal-Sinuses จาก Mount Sinai Hospital (U.S.A.) และ Diploma Program in Clinical Sciences in Otolaryngology จาก Brooklyn Eye and Ear Hospital (U.S.A.) และวุฒิบัตรด้านโสต ศอ นาสิก จากแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข 

    อีกทั้งยังเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนกหู คอ จมูก และอุทิศตนทำงานโดยมุ่งหวังให้คนไข้ได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งจัดหาทุนฝึกอบรมให้แพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านเข้า เพื่อจะได้กลับไปดูแลคนป่วยในประเทศของตน

    “ตอนเรียนแพทย์แล้วไปอยู่ต่างจังหวัด เคยออกหน่วยของ คล้ายๆ หน่วยของสมเด็จย่า ไปนอนศาลาวัด ออกตรวจคนไข้ รู้สึกสนุก ประกอบกับอยากเห็นเมืองไทยมากขึ้น จึงออกไปตรวจตามต่างจังหวัด ไม่นึกว่าจะมีคนไข้วันละหลายร้อยคน ช่วงนั้นสถิติคนไข้เด็กตายจากโรคหูน้ำหนวกร้ายแรงเป็นฝีในสมองเป็นอันดับ 1 ตอนนั้นยังไม่มีใครทำผ่าตัดและไม่ค่อยรู้ เพราะไม่มีอาการ...

    ตรวจ 100 คน เจอ 10 คนว่าเป็นหูน้ำหนวกและต้องผ่าตัดอย่างเดียวก็เลยทำกับเพื่อน ทีแรกทำสนุกๆ ไม่นึกว่าจะยืดยาว พอดีคนไข้เยอะ อย่างโรงพยาบาลเอกชน เราไปผ่าตัดฟรี แต่ให้เขาบริจาค เขาก็ยินดีถือว่าได้ทำบุญด้วย ก็ได้เงินนั้นต่อมาเรื่อยๆ” ที่ปรึกษา รพ.ราชวิถี เอ่ยถึงแรงบันดาลใจที่มาทำงานด้านนี้

    ตารางการทำงานตอนนั้นคือครึ่งวันเช้าตรวจรักษา ส่วนครึ่งวันบ่ายเป็นเคสผ่าตัด ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าบางครั้งอยู่ในห้องผ่าตัดถึงตีหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก็ออกตรวจที่โรงพยาบาลอีกแห่งครั้งหนึ่งไปจังหวัดกระบี่ต้องอาศัยศาลาวัดเป็นที่นอน 

    อีกคราวออกตรวจกับกรมการแพทย์ที่จังหวัดอุบลราชธานี ถนนยังเป็นดินโคลน บางจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงซึ่งขณะนั้นยังมีสถานการณ์ที่อ่อนไหวทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาถอดใจ

    ทุกครั้งที่ต้องออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คุณหมอเป็นผู้ติดต่อดำเนินการเองทั้งหมด เริ่มจากติดต่อแพทย์ร่วมทีม ทำจดหมายถึงหน่วยงานต้นสังกัดขอยืมตัวมาช่วยงาน โดยจัดแพทย์ออกเป็น 2 ทีมๆ ละ 5 คน เพื่อลดความเสี่ยงกรณีแพทย์เจ็บป่วย จะไม่ส่งผลต่อการปฏิบัติงาน 

    ก่อนวันเดินทางจริงต้องลงพื้นที่ survey ก่อน 1 รอบ เพื่อเตรียมความพร้อม ประสานงานกับหน่วยงานในประเทศนั้นๆ ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งคนไข้ล่วงหน้า จัดเตรียมสถานที่ เตรียมเอกสารเพื่อนำเข้ายาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจรักษา 

    รวมทั้งดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ทีมงานจำนวน 17-18 คน ตั้งแต่ที่พัก อาหาร จัดเตรียมยาสำหรับคนไข้ 2,000 ราย สำหรับผ่าตัด 100 ราย โดยเครื่องมือและเวชภัณฑ์ที่ขนไปแต่ละครั้งมีน้ำหนักประมาณ 1 ตัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทริปละ 1 ล้านบาท เขาเปรียบตัวเองว่าเป็น “หัวหน้าทัวร์” ที่ต้องจัดการทุกอย่าง เพื่อให้การเดินทางและการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

    ทีมงานทุกคนผ่านการคัดเลือกจากคุณหมอว่า ฝีมือดี มีมนุษย์สัมพันธ์ เข้ากับคนอื่นได้ หากไม่รู้จักหรือรู้มือกันมาก่อน ต้องเป็นคนที่เพื่อนฝูงแนะนำมา พูดจาสุภาพ เพราะชาวเวียดนาม พม่า ลาว เข้าใจภาษาไทย เหตุผลที่ตั้งเกณฑ์ค่อนข้างสูง เพราะถือว่าไปทำงานในนามประเทศ หากผ่าตัดแล้วมีโรคแทรกซ้อนจะทำให้เสียชื่อประเทศไทย


    “เวลาออกหน่วยใช้ชื่อว่า ESMU บริเวณพื้นที่ที่ทำการรักษาจะติดธงชาติไทยกับประเทศนั้นๆ ผมเลือกไปที่ยากๆ คนไม่ค่อยไป อย่างพม่าไปเกือบทั่วประเทศแล้ว...

    เราให้พวกที่เคยมา train กับเราคอยดูแล กัมพูชา ลาว ไม่มี training แต่เราสอนให้เขาทำเอง ตอนหลังเขาตั้งเป็น training program ส่วนพม่า เวียดนาม มีหมอทางด้านนี้อยู่แล้ว เราก็ช่วยเสริม ทางจีนยูนาน ภูฎาน ก็มาเรียนกับเรา เวลาไปออกหน่วยประเทศคนของเขาก็ตามไปด้วย เพื่อเรียนรู้การทำงาน”

    การจัดอบรมให้กับแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีเมื่อทีม ESMU ไปออกหน่วยในประเทศนั้นๆ อีก ทำให้คล่องตัวขึ้น และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การออกหน่วยเคลื่อนที่ต่างประเทศ ยังดำเนินการได้อย่างยาวนานกระทั่งปัจจุบัน


เสริมความรู้แพทย์เพื่อนบ้าน

    นอกจากการตรวจรักษาคนไข้แล้ว อีกด้านหนึ่งที่ นพ.สุนทร ให้ความสำคัญไม่น้อยคือการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งจัดหาทุนเพื่อเข้ารับการอบรมเพิ่มเติม 

    โดยช่วง 10 ปีแรกรับเฉพาะลูกศิษย์ผู้ชายเพราะต้องพาออกต่างจังหวัดด้วย คุณสมบัติคือขับรถเป็น มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ผลการเรียนเป็นเรื่องรอง ต่อมาขอทุนจากต่างประเทศจัดอบรมให้กับบุคลการทางการแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อพวกเขาจะดูแลรักษาคนในประเทศต่อไป 

    หากมีเงินเหลือยังซื้อเครื่องมือที่จำเป็นบริจาคให้ด้วย เฉพาะส่วนนี้มีผู้ได้รับการฝึกอบรมมากกว่า 100 คน ระหว่างปี 2538-2543 ได้จัดหาทุนให้แก่แพทย์หู คอ จมูก และพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้าน เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร 6–13 เดือน ด้านการรักษาและผ่าตัดโรคหู 56 คน และจัดหาทุนอบรมพยาบาลด้านการดูแลผู้ป่วยห้องผ่าตัดและหลังผ่าตัด รวมทั้งตรวจการได้ยิน หลักสูตร 3 เดือน มีพยาบาลได้รับการอบรม 11 คน


    แม้จะเกษียณอายุราชการมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ นพ.สุนทรยังคงเปี่ยมล้นด้วยเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์ เพียงแต่ระยะหลังเน้นการเดินทางออกหน่วยเคลื่อนที่ตามประเทศรอบชายแดนไทยทางบก 

    ด้วยหวังจะใช้การสาธารณสุขช่วยหนุนเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ดีขึ้น ลดความยุ่งยากเรื่องการขนส่งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะสามารถขนไปกลับพร้อมคณะ 

    หากเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารบ่อยครั้งที่ต้องให้คณะกลับประเทศก่อน ส่วนเขาต้องอยู่ต่อเพื่อเคลียร์เอกสารกับหน่วยงานประเทศต้นทาง ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง

    ในวัย 83 ปี นพ.สุนทร ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีการระบาดของโควิด) โดยมีภรรยา “รศ.ดร.นันทวัน” ช่วยจัดทำระบบบัญชี 

    ซึ่งในปี 2566 นี้ ยังมีการวางแผนว่าจะออกหน่วยตรวจรักษาที่ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ระหว่างนี้คุณหมอยังเข้ามาที่โรงพยาบาลราชวิถีสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้คำปรึกษาแก่คนไข้เก่าทั้งไทยและต่างชาติ รวมทั้งญาติคนไข้ ซึ่งแวะเวียนมาขอคำปรึกษาอยู่เป็นระยะ โดยปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมายังมีคนไข้ชาวภูฏานมาขอคำปรึกษาด้านการผ่าตัด


ภาพ : วรัชญ์ แพทยานันท์ และ นพ.สุนทร อันตรเสน 



อ่านเพิ่มเติม: สรรชาย นุ่มบุญนำ จัดทัพอินฟอร์มาฯ ตั้งเป้าอันดับ 1 อาเซียน


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine