การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรม MICE แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้ผู้บริหารหนุ่มได้มีเวลาจัดวางกลยุทธ์ใหม่เพื่อรุกไปข้างหน้า พร้อมตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปีจะเป็นฮับด้านการจัดงานแสดงสินค้าของอาเซียน
จากรายงานประจำปี 2564 ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ระบุว่าปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิด-19 อุตสาหกรรม MICE ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 559,840 ล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 279,330 ล้านบาท และต่างประเทศ 280,510 ล้านบาท คิดเป็น 3 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย (Informa Markets in Thailand) บริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าแบบ B2B ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม MICE โดยจัดงานในนามบริษัท 2 แห่งคือ บจ.แบงค็อค เอ็กซ์ซิบิชั่น เซอร์วิสเซส และ บจ.ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาว่า ปี 2562 บริษัทมีรายได้ 800 กว่าล้านบาท เมื่อเกิดโควิดในปี 2563 ทำให้จัดงานแสดงสินค้าได้เพียง 3 ครั้ง ขณะที่ปี 2564 ไม่ได้จัดงานออนไซต์เลย
กระนั้นก็ดีทั้งสองปีบริษัทยังคงมีกำไร โดยปี 2563 บริษัทมีรายได้ 160 ล้านบาท กำไร 110 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้ 83 ล้านบาท กำไร 39 ล้านบาท, ขณะที่ปี 2565 รายได้ขยับขึ้นมาเป็น 638 ล้านบาท กำไร 445 ล้านบาท
ทั้งนี้ระหว่างปี 2563-2564 ได้ปรับการงานเป็นรูปแบบดิจิทัล จากเดิมที่สัดส่วนรายได้กว่า 50% มาจากลูกค้าต่างประเทศ ก็เน้นมาที่ผู้จัดแสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงานจากในประเทศ โดยในปี 2563 จัดงานแสดงสินค้า 3 ครั้งในรูปแบบของ Hybrid Exhibition นำเทคโนโลยีออนไลน์ดิจิทัลมาใช้ควบคู่กับการจัดงานแสดงสินค้าแบบปกติ รวมทั้งอาศัยจังหวะนั้นเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร โดยจัดเทรนนิ่งเพิ่มพูนความรู้ด้านต่างๆ ทั้งมาร์เก็ตติ้ง อีเวนต์และสื่อดิจิทัล รวมทั้งมองหาโปรดักต์หรือแบรนด์การจัดงานใหม่ๆ เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ จากที่จัด 9 งานในปี 2565 เพิ่มเป็น 16 งานในปี 2566
คำว่า “โปรดักต์” ในที่นี้คือการนำงานจัดแสดงสินค้าซึ่งเป็นแบรนด์ลิขสิทธิ์ของบริษัทแม่ที่อังกฤษ แต่ยังไม่เคยจัดในประเทศไทย ให้มาจัดกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี การจะนำงานใหม่ๆ มาจัดที่ประเทศไทย ต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องทำให้ผู้บริหารซื้อไอเดีย เห็นภาพการดำเนินงาน รวมถึงเม็ดเงินที่จะได้รับ
“ขั้นตอนต้องผ่านกระบวนการหลังบ้านยากมาก เราต้องศึกษาทั้งอุตสาหกรรม ความได้เปรียบ opportunity ที่ผ่านมาคนไทยไปออกบูธที่ฮ่องกงเป็น pavilion ใหญ่สุดใช้พื้นที่ 6,000-7,000 ตารางเมตร เราบอกว่าถ้าลำบากมาจัดที่ไทยดีไหม…อุตสาหกรรมหลักๆ และกระทรวงต่างๆ ก็ช่วย support การทำงาน และเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีของเรา...เวลาเราขยายโปรไฟล์มักได้รับการตอบรับจากคอนเนกชั่นเดิมที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่ลำบากคือทำอย่างไรให้บริษัทแม่ approve”
แม้ว่าสรรชายจะเรียนด้านดนตรีศึกษา ทว่าระหว่างเรียนปริญญาตรีได้ขายสินค้าเพื่อหารายได้พิเศษ และพบว่าตนเองมีทักษะด้านการขาย หลังเรียนจบจึงทำงานเป็นพนักงานขายพื้นที่จัดแสดงสินค้า ทำงานจิวเวลรี่ และย้ายมาอยู่ที่ บจ.ยูบีเอ็ม เอเชีย ในตำแหน่งโปรเจกไดเรคเตอร์ เมื่ออินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ซื้อกิจการ พนักงานของ บจ.ยูบีเอ็ม เอเชีย จึงโอนมาสังกัดบริษัทข้ามชาติแห่งนี้
ธุรกิจ 5 กลุ่มของ Informa
“อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย” เป็นส่วนหนึ่งของ Informa Public Limited Company (Informa PLC) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange) ซึ่งมีสำนักงานใน 40 กว่าประเทศ และมีแบรนด์การจัดงานแสดงสินค้ามากกว่า 450 แบรนด์
ดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. Informa Connect เป็นบริการด้านดิจิทัล นำเสนอเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ 2. Informa Tech ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งการจัดงาน event เช่น เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เกมส์ นวัตกรรม การพัฒนาโปรแกรม และแอพพลิเคชั่นต่างๆ 3. Informa Intelligence ให้คำปรึกษา วิจัย พัฒนา วิเคราะห์ เทรนด์ ด้านการเงินและการลงทุน ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเงินและการลงทุน 4. Taylor & Francis ธุรกิจงานวิจัยและความรู้เชิงวิชาการขั้นสูง เช่น การทำวิจัยด้านการตลาด การทำ text book เพื่อการศึกษา ให้บริการความรู้ทางวิชาการ 5. Informa Markets การจัดงานแสดงสินค้าและสัมมนาในทุกอุตสาหกรรม
โดย Informa Markets ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจนี้ ปี 2562 มีมาร์เก็ตแชร์ในประเทศ 66%
“ก่อนโควิด สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เราเป็นเบอร์ต้นๆ…แต่ในอนาคตไทยถูกจัดวางในตำแหน่งที่สำคัญ goal ที่วางไว้คืออีก 3 ปีข้างหน้า จะมีรายได้ประมาณ 1,200 ล้านบาท ใน 5 ปีเรามีโอกาสจะเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ปัจจุบันเราเป็น trade exhibition organizer อันดับ 1 ในประเทศ”
1 ปี 16 งาน
ปี 2566 บริษัทมีกำหนดการจัดงานแสดงสินค้า 16 ครั้ง ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน มีงานติดต่อกันทุกเดือน บางเดือนมี 2 งาน ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้บริหารหนุ่มย้ำว่า “จัดแน่นอน”
ประเดิมงานแรกในเดือนเมษายนและเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน JEWELLERY & GEM ASEAN BANGKOK งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับแห่งภูมิภาคอาเซียน (ปกติจัดที่ฮ่องกง) เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก มีทั้งกลุ่มผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้ผลิต นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับสำเร็จรูป งานบรรจุภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต และการบริการด้านอัญมณีและเครื่องประดับ
อีกหนึ่งงานใหญ่คือ Cosmoprof CBE Asean Bangkok เป็นการออกบูธของแบรนด์ระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม ที่ผ่านมาจัดขึ้นที่อิตาลี ลาสเวกัส อินเดีย ฮ่องกง แต่ผู้บริหารหนุ่มทำแผนเสนออินฟอร์มา เอเชีย กระทั่งได้รับอนุมัติให้จัดงานในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2566
ส่วน Vitafoods Asia เป็นงานด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นอีกงานที่บริษัทนำเข้ามาในไทย เปิดตัวครั้งแรกปลายปีที่ผ่านมา
“เมื่อก่อนเขาไม่สนใจเราเหมือนกัน เราต้องวิเคราะห์และโน้มน้าวด้วยข้อมูล ตัวอย่างงานจิวเวลรี่ฯ คุณรู้หรือไม่ว่าไทยส่งออกพลอยมากที่สุดในโลก ส่งออก silver เป็นอันดับ 2 ของโลก นี่เป็นโอกาสสำหรับการจัดงานนี้ กลุ่มเกี่ยวข้องบิวตี้ไทยเป็นอันดับต้นๆ ฐานผลิต ฐานค้าขายในอาเซียน สุดท้ายเราจัดงานนี้ขึ้นมา...Asean Paper Bangkok เดิมจัดโดยออฟฟิศสิงคโปร์ 90% เป็นลูกค้าจากต่างชาติ ถ้าเราจะจัดตรงนี้ขึ้นมา ออฟฟิศสิงคโปร์คิดเห็นยังไง หรือ Vitafoods Asia เมื่อก่อนจัดที่สิงคโปร์ก็ย้ายมาจัดในไทย”
ตัวอย่างงานข้างต้นที่กล่าวมา คือโปรดักต์ใหม่หลังโควิด ซึ่งมี 3 แบบคือ งานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทย นำงานหรือแบรนด์ที่ออฟฟิศสิงคโปร์เคยจัดมาบริหารจัดการเอง และงานที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น งาน Plastic & Rubber Thailand เป็นงานแสดงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตพลาสติกและยาง บริษัทที่มาออกบูธทำธุรกิจเกี่ยวกับวัตถุดิบและเคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อะไหล่ชิ้นส่วน ฯลฯ “เราสร้างขึ้นมาเลย ตัวนี้ยากสุด เพราะเริ่มจากศูนย์”
“ส่วนพื้นที่ EEC (โครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) เรามองด้านตะวันออก ชลบุรี เรามี data base ทำไมไม่จับอุตสาหกรรมทั้งหมด และพูดถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ระบออโตเมชั่น แมนแทนเนนซ์ การจับคู่ธุรกิจ”
เกณฑ์ในการเลือกอีเวนต์มาจัดในไทยคือ เป็นงานที่มองเห็นโอกาสในการเติบโต เช่น งานจิวเวลรี่ และคอสโมพรอฟฯ อีกส่วนคือโอกาสจากการบริหารจัดการ ผู้บริหารหนุ่มขยายความว่า
“เราจะจัดงานจิวเวลรี่ฯ เพราะมีฐานของลูกค้าในไทยที่เราพาไปออกงานที่ฮ่องกง ก็เริ่มถามเขาว่าจัดแบบนี้ดีไหม ราคาเท่าไร ยังไง และประชุมกับบริษัทจัดงานที่ฮองกง survey ถามลูกค้าที่โน่นว่าตลาดเป็นไง แล้ววาง strategy เพื่อให้ลูกค้าซื้อพื้นที่ออกบูธ...เราต้องมองให้ออกว่ากำไรตัวนี้เท่านี้ ปีที่สอง ปีที่สามเป็นไง ปลายปีเอา (รายได้) ทุกงานมาวาง ปีนี้งานนี้กำไรน้อย งานนี้กำไรมาก ทั้งประเทศต้องการตัวเลขเท่านี้ ข้อดีของการเพิ่มโปรดักส์ทำให้เราเล่นตัวเลขได้”
ทั้งนี้งานแสดงสินค้าที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่สุดและสร้างรายได้เป็นสัดส่วนมากสุดของบริษัทคือ ProPak Asia เป็นงานที่รวบรวมเทคโนโลยีด้านการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ จากทั่วโลก ล่าสุดจัดเป็นครั้งที่ 29 ในปี 2565 มีผู้เยี่ยมชมชาวต่างชาติ 5,000 ราย และผู้ร่วมออกบูธ 4,000 ราย สำหรับปีนี้จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เวลาเอ่ยถึงตัวเลข ผู้บริหารหนุ่มตอบเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากต้องทำรายงานส่งสำนักงานที่ต่างประเทศ แม้การระบาดของโควิดจะส่งผลต่อยอดขาย ทว่าในด้านดีคือทำให้สรรชายรู้สึกถึงความท้าทายขึ้นมาอีกครั้ง เป็นอารมณ์เดียวกับตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ
“ก่อนหน้านี้เหมือนพูดอะไรกับใคร ไม่ค่อย buy idea รู้สึกว่าอย่างนั้นโตไปเรื่อยๆ ปีละ 3%, 5% พอโควิดมาเราสนุกกับตัวเลข สนุกกับการแก้ปัญหา มีทีมงานเยอะที่มีความสามารถ ก็สนับสนุนเขาให้แตกไลน์เข้าไป...ก่อนโควิดผมเกือบจะพอแล้วทุกอย่าง ถึงจุดที่อิ่มตัวแล้วบางเรื่อง มันซ้ำไปซ้ำมาๆ โควิดเหมือนเหมือนชุบชีวิต ทำให้เห็น opportunity ของไทยในการขยายงาน"
เป้าหมายในระยะใกล้คือ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ และเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าในภูมิภาคด้วยการนำงานระดับโลกมาจัดที่ประเทศไทย
“เราพยายามดันให้ยอดปี 2567 เติบโตเท่าเดิม และเพิ่มเป็น 40 ล้านเหรียญในปี 2568…ผมมองถึงเป้าหมายที่เป็นไปได้ 3 ปีข้างหน้าธุรกิจจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ผมมองไปถึง 9 ปีแล้ว พอเรามองเป้าหมายแล้ว โครงสร้างเอื้ออำนวยหรือเปล่า ไม่มีอะไรทำไม่ได้บนพื้นฐานที่เราวางเป้าหมายอย่างชัดเจน” สรรชายกล่าวในตอนท้าย
ภาพ : วรัชญ์ แพทยานันท์ และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม: นภัทร อัสสกุล ชูเสน่ห์ไทยอวดโฉม “บัญดารา”