ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล แต่งแบรนด์เติมลุคต่าง “ธนจิรา” - Forbes Thailand

ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล แต่งแบรนด์เติมลุคต่าง “ธนจิรา”

นักปั้นแบรนด์อิมพอร์ตระดับโลกที่สามารถแจ้งเกิดสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่น Pandora, Marimekko, Cath Kidston พร้อมเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจผ่านการซื้อกิจการเป็นเจ้าของแบรนด์ HARNN เติมจิ๊กซอว์ธุรกิจสปา ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ย้ำแนวคิด “Bring The Best of The Brand to The Best of Thailand”

    

    ผลงานความสำเร็จแบรนด์ระดับโลกไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจวางแผนคัดสรรแบรนด์นำเข้าที่สามารถสร้างความแตกต่างและตอกย้ำการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่มีแบรนด์สินค้าหลากหลาย พร้อมบริหารธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งด้านยอดขายและกระแสความนิยม ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ชั้นนำในระดับภูมิภาคผ่านการส่งมอบประสบการณ์ที่พิเศษแก่ลูกค้าและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
“เราต้องการเป็น lifestyle company ซึ่งเริ่มต้นจากไลฟ์สไตล์แฟชั่นและเข้าสู่ F&B โดยเราเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มองถึงความแตกต่างหลากหลายของไลฟ์สไตล์ ด้วยการเพิ่มแบรนด์ต่อจิ๊กซอว์ไลฟ์สไตล์ให้ผู้บริโภค ไม่ใช่ว่าแค่ได้อะไร แต่ต้องได้อะไร โดยสินค้าของเราต้องสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ซื้อไปเก็บหรือแพงเกินไปจนจับต้องไม่ได้ ในขณะเดียวกันเราต้องขยายสาขาเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการของเรา”

    ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN กล่าวถึงภาพลักษณ์ของบริษัทที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเส้นทางการเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และแฟชั่นจากต่างประเทศที่เป็นแบรนด์ชื่อดังระดับโลก เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทยและต่างประเทศ ด้วยดีเอ็นเอการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ได้รับการถ่ายทอดจากการเป็นทายาท บริษัท สยามดีไซน์ เฟอร์นิชิ่ง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ของไทยเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ

    “แม้จะจบวิศวกรรมโยธาเกียรตินิยม แต่เหมือนเป็นการสานฝันให้ครอบครัว เพราะส่วนตัวชอบด้านพาณิชยศาสตร์และเรื่องการเงินการลงทุนมากกว่า ทำให้ช่วงที่เรียนเราศึกษาทางเศรษฐศาสตร์และตลาดหุ้นด้วย รวมถึงเปิดบัญชีหุ้นที่ออสเตรเลียตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยมอายุ 16-17 ปี โดยทำงานเป็น Sales Engineer 1 ปี และพยายามศึกษาหาข้อมูลเรื่องระบบการวางบิลของบริษัท การทำใบเสนอราคา งานเดินเอกสาร เพื่อนำมาปรับใช้กับโรงงานของครอบครัวให้มีความเป็นบริษัทมากขึ้น”

    ความมุ่งมั่นยกระดับกิจการให้สามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวทำให้หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี Engineering (Hons), Civil, The University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย และทำงานเป็นวิศวกรขาย (Sales Engineer) เพียง 1 ปี ธนพงษ์ตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว พร้อมกับศึกษาต่อปริญญาโท สาขาการตลาด หลักสูตรนานาชาติ (MIM) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเวลากลางคืนควบคู่กับการทำงานเวลากลางวัน เพื่อนำความรู้ปรับใช้ในการสร้างแบรนด์และวางแผนจัดการบริษัทให้เป็นระบบมากขึ้น

    ขณะเดียวกันธนพงษ์ยังสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเงินและการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อด้าน MBA ระดับท็อปของโลก ด้วยการศึกษาต่อปริญญาโท Business Administration, Fuqua School of Business, Duke University ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านวาณิชธนกิจประมาณ 5 เดือน จึงลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินสู่การเป็นผู้ประกอบการเต็มตัวเพื่อทุ่มเทให้กับการบริหารธุรกิจอย่างเต็มที่

    “สมัยก่อนร้านเฟอร์นิเจอร์ของเราเป็นห้องแถวริมถนน ซึ่งเรามองว่าทำไมเราไม่มีแบรนด์ที่สร้างความแตกต่างจากคนอื่น ทำให้เราสนใจเรียนต่อด้านการตลาดเพิ่ม โดยระหว่างนั้นยังร่วมกับพี่สาวที่จบ Interior Design ทำแบรนด์ MOBILIA ออกแบบโลโก้และเฟอร์นิเจอร์สไตล์ modern ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา ซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราและได้รู้จักกับเพื่อนทั่วทุกมุมโลก โดยเรายังลองทำงานวาณิชธนกิจที่เงินเดือนสูงมากในยุคนั้น แต่เพราะจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการทำให้เรากลับมาสานต่อกิจการที่บ้าน เพราะต้องการนำบริษัทเข้าตลาดฯ แต่ครอบครัวยังไม่เห็นด้วย และเราก็ยอมรับในการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเริ่มธุรกิจตัวเองอย่างเต็มตัว”

    

    คัดแบรนด์โลกตอบไลฟ์สไตล์

     

    ก้าวแรกบนเส้นทางการปั้นแบรนด์เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อการเลิกกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ Kate Spade โดยเจ้าของบริษัทนำเข้าเดิมให้โอกาสได้ชิมลางงานบริหารสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้แบรนด์ไลฟ์สไตล์จากสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2552 ทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์และแสดงฝีมือเป็นที่ยอมรับในวงการค้าปลีก จนกระทั่งได้รับการแนะนำให้เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศของแบรนด์ Pandora ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก และเริ่มก่อตั้ง บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในปี 2553

    “คุณป้าของเพื่อนผมต้องการเลิกกิจการแบรนด์ Kate Spade ซึ่งเราเห็นโอกาสจากแบรนด์ที่ยังไม่มีของเลียนแบบบวกกับเป็นคนชอบคิดยุทธศาสตร์จึงได้ชิมลางงานบริหารแบรนด์ และได้รับคำแนะนำให้กับ Pandora ที่กำลังขยายเข้ามาในเอเชียแปซิฟิก โดยเรามอง Pandora เป็นแบรนด์ที่แตกต่างจากการที่สามารถสร้างคอนเซ็ปต์เลือกชิ้นงานเองได้ ซึ่งเป็นการนำเสนอการขายในรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่สอดคล้องกับแนวคิดการตั้งบริษัทที่ไม่ใช่แค่การซื้อมาขายไป แม้ช่วงแรกจะมีความท้าทายในการสื่อสารให้ผู้ซื้อเข้าใจถึงความพิเศษ แต่เราสามารถสร้างการเติบโตได้จากการเจาะกลุ่มผู้ซื้อยุโรปที่รู้จักแบรนด์ โดยเฉพาะสาขาพัทยา ซึ่งเป็นยุคบูมของรัสเซีย และ Pandora ที่รัสเซียแพงกว่าที่ไทย ทำให้ขายดีมาก”

    ธนพงษ์กล่าวถึงการขยายสาขา Pandora ที่เน้นทำเลแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเปิดสาขาแรกที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และขยายสาขาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 43 สาขาในประเทศ ด้วยจุดเด่นของ Pandora ที่ผู้ซื้อสามารถสร้างสรรค์เครื่องประดับได้ด้วยตัวเองผ่านชาร์ม (charm) ทำให้สามารถสร้างรายได้ทั่วโลกประมาณ 3.7 พันล้านเหรีญสหรัฐฯ ในปี 2565 และเครือข่ายจำหน่ายสินค้า 6,500 แห่งกว่า 100 ประเทศ

    ความสำเร็จของ Pandora ไม่เพียงสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ระดับโลก แต่ยังเพิ่มความมั่นใจให้ธนพงษ์เดินหน้าขยายแบรนด์พอร์ตโฟลิโออย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการคัดแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันในสภาวะแวดล้อมหรือสภาพภูมิอากาศของไทย ด้วยระดับราคาที่สามารถจับต้องได้ และแบรนด์ทั้งหมดของบริษัทต้องมีความเชื่อมโยงกันในรูปแบบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเมือง

    “เราพูดถึงสินค้าที่เหมาะกับการใช้งานของคนไทย ไม่ใช่กระเป๋าที่ต้องระวังฝนตก ความชื้น และราคาต้องไม่ mass แต่ไม่แพงเกินไป ทำให้เราสนใจ Marimekko แต่ความยากของแบรนด์นี้อยู่ที่คนจำภาพสินค้าที่ใช้ในบ้านมากกว่าแฟชั่น โดยในปี 2558 เขาเพิ่งออกคอลเล็กชั่นเสื้อผ้า ทำให้เราต้องแก้เกมออกสินค้า entry price สามารถเข้าได้ในระดับราคาแรกอย่างถุงผ้า เพื่อให้คนเห็นแบรนด์และใช้งานได้จริง ซึ่งเราเห็นเทรนด์ที่คนไม่ค่อยนิยมกระเป๋าแบรนด์แต่เน้นฟังก์ชันจากปริมาณของที่ต้องใส่ในกระเป๋า โดยเราขึ้นกระดานอธิบายและคำนวณตามสถิติให้ทีมฟังว่าต้องขายให้ได้เท่าไหร่ต่อปี และเริ่มจากให้ Friends of Marimekko หรือ KOL ใช้งานจนได้รับความนิยมในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา จากนั้นเราก็ปิดปรับปรุงภาพลักษณ์สาขาใหม่ให้เป็นร้านแฟชั่น”

    หลังจากเริ่มนำเข้าแบรนด์ Marimekko จากประเทศฟินแลนด์ในปี 2558 ธนพงษ์สามารถขยายสาขาอย่างต่อเนื่องรวม 12 สาขา และเปิด Marimekko Pop-Up Café ซึ่งตกแต่งร้านด้วยผลิตภัณฑ์ Home Collection จาก Marimekko ได้แก่ ภาชนะใส่อาหาร ปลอกหมอน และของตกแต่งอื่นๆ เพื่อขยายสู่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 1 สาขาในปัจจุบัน

    นอกจากนั้น ในปี 2560 ธนพงษ์ยังเล็งเห็นโอกาสเข้าซื้อกิจการแบรนด์ Cath Kidston ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากอังกฤษ โดยกลุ่มบริษัทได้รับสิทธิในการจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cath Kidston ในประเทศไทยผู้เดียว (exclusive distributorship) และบริษัทยังก่อตั้ง Tanachira Vietnam เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cath Kidston ในเมือง Ho Chi Minh ประเทศเวียดนาม เมื่อปี 2562 รวมถึงเปิดตัว Cath Kidston Tea Room ต่อยอดเป็นร้านคาเฟ่ในศูนย์การค้าและจำหน่ายสินค้าของใช้ในบ้าน ซึ่งปัจจุบันสาขาร้าน Cath Kidston ในประเทศไทยทั้งหมด 35 สาขา และประเทศเวียดนาม 6 สาขา

    “การเติบโตผ่านมา 5 ปีแรกของการก่อตั้งบริษัทเกิดขึ้นแบบเล็กๆ เริ่มมีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน ซึ่งระหว่างทางมีแบรนด์ที่ไม่สำเร็จด้วย แต่เรารู้ตัวว่าถ้าเราไม่ถนัดหรือไม่ตอบโจทย์ 3 ปีเราก็เลิก เพราะเราเข้าใจและยอมแพ้เป็น โดยในช่วง 5 ปีแรกในมุมการทำธุรกิจจะเป็นเฟสการหาเงิน และวางเป้าหมายว่าอีก 5 ปีต้องเป็นมหาชน ซึ่งกลับไปความคิดเดิมตั้งแต่ทำงานกับครอบครัว โดยถ้าเราจะทำได้ เราต้องมีขนาดมากกว่านี้ ซึ่งเดิมเรารู้จักกับคนของ Cath Kidston ในประเทศ ทำให้มีการพูดคุยกันในช่วงที่เขาต้องการออกจากประเทศไทยและเรารับไม้ต่อ ทำให้เราสามารถเติบโตได้แบบเร่งรัดทั้งสินค้า สาขา พนักงาน พร้อมเดินหน้านับหนึ่งยอดขายได้ทันที”

    

    ติดปีกแบรนด์ไทยทั่วโลก

     

    แม้ยอดขายธุรกิจของบริษัทจะสามารถเข้าใกล้พันล้านหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ แต่กำแพงสำคัญที่ธนพงษ์ต้องข้ามผ่านอยู่ที่การสร้างความมั่นคงด้านรายได้ ซึ่งการเป็นตัวแทนจำหน่ายมีความเสี่ยงเรื่องระยะเวลาสัญญาที่ขึ้นอยู่กับเจ้าของแบรนด์ต่างประเทศ และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์แฟชั่นที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องเพิ่มแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทและขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

    ดังนั้น ธนพงษ์จึงซื้อกิจการแบรนด์สัญชาติไทย HARNN (หาญ) และขยายสู่ธุรกิจสุขภาพความงามในปี 2561 โดย HARNN เป็นแบรนด์ที่มีความโดดเด่นด้านผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย ผลิตภัณฑ์สปาและอโรมาเธอราปีที่ผลิตจากส่วนผสมตามธรรมชาติ พร้อมผสมผสานภูมิปัญญาสมุนไพรไทยเป็นกลิ่นเฉพาะของ HARNN

    “ยุทธศาสตร์ของการเป็นบริษัทจดทะเบียน เราต้องมีแบรนด์ของเราเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ ซึ่งขณะนั้นผู้บริหารหรือเจ้าของเดิมของ HARNN ต้องการวางมือเพราะอายุมากแล้ว โดยเราสนใจกลุ่ม HARNN เพราะเป็น SME แบรนด์ไทยที่ไปไกลถึงต่างประเทศและสร้างมาครบรอบปีที่ 20 แล้ว ซึ่งถือเป็นงานที่ยาก เพราะต้องบริหารจัดการแบรนด์ที่เขาทำมาได้ดี 95% เป็นลูกค้าต่างชาติและ 70% ใน 95% เป็นคนจีนล้วนๆ โดยเรารู้ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ว่า เราต้องพยายามสร้างแบรนด์ให้คนไทยชอบให้ได้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ทำให้เราต้องปรับหลายอย่าง เช่น โครงสร้างองค์กร ภาพลักษณ์ คอนเซ็ปต์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เราปิดบางสาขาที่นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาและเริ่มทดลองเปิดสาขาคนไทยล้วน”

    นอกจากนี้ ธนพงษ์ยังก่อตั้ง HARNN Japan ร่วมกับชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบแบรนด์ HARNN โดยจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ HARNN และ Vuudh ที่ห้าง Takashimaya Nihonbashi, Hankyu Umeda และ Takashimaya Yokohama ในประเทศญี่ปุ่น และเริ่มจำหน่ายสินค้าแบรนด์ HARNN และ Vuudh ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม Tmall ในประเทศจีน ซึ่งสามารถสร้างการเติบโตได้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ปี 2564 และในปีถัดมาบริษัทได้เริ่มขยายธุรกิจสปาภายใต้กลุ่ม HARNN Wellness & Hospitality ประกอบด้วย 4 แบรนด์หลัก ได้แก่ HARNN Heritage, The Spa by HARNN, By HARNN และ SCape by HARNN โดยมีการคัดเลือกแฟรนไชส์ซีจากเครือโรงแรมชั้นนำของโลกเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ

    สำหรับในปัจจุบันบริษัทมีสาขาร้าน HARNN ในประเทศไทย 19 สาขา ประเทศญี่ปุ่น 4 สาขา และส่งออกจำหน่ายผ่านตัวแทนในต่างประเทศ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน รวมถึงจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น Amazon, Hankyu Beauty Online ของญี่ปุ่น และ Tmall Global, JD.Com ของจีน พร้อมประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงขยายธุรกิจสปารูปแบบแฟรนไชส์ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

    “การขยายกิจการต่อเนื่องต้องใช้ทุนทรัพย์มาก นอกจากญี่ปุ่นเรายังมีเวียดนามที่ได้สิทธิ Cath Kidston และกำลังนำ HARNN เข้าไปด้วย โดยล่าสุด Marimekko ยังเห็นศักยภาพให้เราเป็นตัวแทนที่สิงคโปร์ ซึ่งเรายังสนใจจับมือกับพันธมิตรจีนเป็นตัวแทนจำหน่าย HARNN ในจีน และในอนาคตถ้ามีโอกาสเราอาจจะต่อยอด F&B ในประเทศ เพราะต้องการลดสัดส่วนรายได้แบรนด์นำเข้าและเพิ่มในส่วนการเป็นเจ้าของแบรนด์ พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงจากสินค้าแฟชั่นที่ขึ้นลงตามสมัยนิยมเมื่อเทียบกับอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคทุกวัน รวมถึงเรายังมองการขยายสาขาแบรนด์ต่างๆ และเพิ่มแบรนด์ใหม่ในพอร์ตโฟลิโอที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของกลุ่มบริษัทได้ทั้งแฟชั่น เสื้อผ้า ร้านอาหาร”

    ธนพงษ์กล่าวถึงกลยุทธ์การดำเนินงานที่วางไว้ในการขยายสาขาในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาแพตฟอร์ม omni-channel ด้วยการผสมผสานการซื้อสินค้าทางออนไลน์และในร้านค้า เช่น การไลฟ์สตรีมมิ่งนำเสนอสินค้าใหม่ (new arrivals see first) สร้างการรับรู้และจำหน่ายสินค้าในประเทศ ส่วนต่างประเทศใช้กลยุทธ์ไลฟ์สตรีมเมอร์ชื่อดังโปรโมตสินค้าแบรนด์ HARNN ในจีนผ่าน Tmall และ Taobao Live ควบคู่การแนะนำสินค้า โดยบริษัทมีเป้าหมายการเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์จากสัดส่วน 12.88% ของรายได้จากการขายรวมในปี 2565 ให้เป็น 15%ภายในปี 2567

    นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดขายสาขาเดิม ด้วยสินค้าที่หลากหลายและการทำ visual merchandising ขยายฐานลูกค้าจากการนำฐานข้อมูลการซื้อมาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอสินค้าให้ตรงใจลูกค้าแต่ละสถานที่ (right product at right location) และใช้กลยุทธ์ Co-Branding กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Marimekko x Adidas, Pandora x Disney, Cath Kidston x Matilda, HARNN x The daily objects และการออกคอลเล็กชั่นใหม่ รวมทั้งขยายแบรนด์สินค้าใหม่เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้พอร์ตรายได้ของบริษัท โดยมุ่งเน้นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เป็นที่รู้จักสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมแมสขึ้นไปและมีศักยภาพในการเติบโตได้

    “คีย์ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตมาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การผสมผสานของแบรนด์ที่เรามีและสามารถขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้ ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้เหมือน playbook ของเรา ตรงนี้เป็นอย่างแรกที่เราสามารถเติม playbook ของเราให้มีความสมาร์ทขึ้น ทำให้เกิดความสม่ำเสมอและยั่งยืนได้ ส่วนที่ 2 มาจากคนในองค์กรของเรารักในสิ่งที่ทำเป็นพลังในการขับเคลื่อนนำเสนอในสิ่งที่เขาชอบ ด้วยปรัชญา “Bring The Best of The Brand to The Best of Thailand” ทีมงานเราสามารถเลือกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคไทยและวิเคราะห์สถิติยอดซื้อของลูกค้าสะท้อนเป็นยอดที่ต้องสั่งซื้อกับ principle ได้อย่างมีเหตุมีผล ด้วยความเข้าใจในบริบทความเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นและเทรนด์สินค้า สุดท้ายเป็นโอกาสจากพันธมิตรและคู่ค้าที่มอบให้เรา แม้เราจะไม่ใช่บริษัทต่างชาติ แต่เขาก็มีความเชื่อและให้ความสำคัญกับกลุ่มธนจิรามากๆ ทำให้เรามาได้ไกลขนาดนี้”

    ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจวัย 46 ปีย้ำความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่มีแบรนด์สินค้าที่มีความหลากหลายและประสบความสำเร็จระดับโลก ด้วยจำนวนสินค้ารวมกันกว่า 15,000 SKUs โดยสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย Y-W-N หรือ Youth-Women-Netizens ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งบริษัทยังมีความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าทั้งเจ้าของแบรนด์ในต่างประเทศ ผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย และเจ้าของพื้นที่สาขา ด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ในธุรกิจมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางกลยุทธ์การตลาด การสร้างการรับรู้แบรนด์สื่อสารยังกลุ่มเป้าหมาย การขยายสาขา การคัดเลือกสินค้าในปริมาณที่เหมาะสม การตั้งระดับราคาที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งบริษัทยังให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของทีมงานอย่างต่อเนื่อง

    “หลักบริหารต้องทำตัวเองให้เป็นตัวอย่าง ถ้าต้องการให้งานมีคุณภาพ เราต้องลงในรายละเอียดและต้องให้คำแนะนำ ถ้าต้องการพัฒนาบุคลากรเราต้องเอาใจใส่เขา โดยนิยามความสำเร็จของเราเกิดจากความสุขที่ทำให้คนอื่นประสบความสำเร็จ หมายถึงคนที่ทำงานกับเราสามารถก้าวไปอีกขึ้น ถ้าเขาประสบความสำเร็จนั่นคือเราประสบความสำเร็จและเป็นความสุขที่แท้จริงของเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องรายได้ เพราะมันเป็นไปตาม roadmap ไม่มีช่วงไหนที่มาจากความบังเอิญหรือโชคดี ทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่เราวางไว้”

    

    อ่านเพิ่มเติม : People-First Culture เทรนด์ใหม่องค์กรยุคดิจิทัล

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine