เปิดใจ MD ไปรษณีย์ไทย อีคอมเมิร์ซส่งเอง-บังคับร้านเลือก “นี่คือเกมที่ไม่ยุติธรรม” - Forbes Thailand

เปิดใจ MD ไปรษณีย์ไทย อีคอมเมิร์ซส่งเอง-บังคับร้านเลือก “นี่คือเกมที่ไม่ยุติธรรม”

ธุรกิจขนส่งพัสดุในไทยที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยเกม “สงครามราคา” ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ไป เมื่อผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาในสงครามนี้คือ “เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” เสียเอง จนเรียกว่าในการซื้อและส่งของจากออนไลน์ อีคอมเมิร์ซนั้น “รับจบครบวงจร” ไปแล้ว กระทบถึง “ขนส่งรายเดิม” อย่างเช่น “ไปรษณีย์ไทย” ที่ล่าสุดผู้บริหารบอกว่ากลยุทธ์ของอีคอมเมิร์ซนั้น “ไม่ยุติธรรม” และหากยังไม่มีหน่วยงานใดมากำกับดูแล นี่จะเป็นการปล่อยให้แพลตฟอร์มดิจิทัลควบคุมโดยบริษัทต่างชาติ


    การแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุที่รุนแรงมาหลายปีภายใต้ “สงครามราคา” จนผู้เล่นแทบทุกรายในตลาด “ขาดทุน” ต่อเนื่องหลายปี รวมถึงพี่ใหญ่ในวงการอย่าง “ไปรษณีย์ไทย” ที่กำไรลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2564 และ 2565 ขาดทุดหนักถึง 1,730 ล้านบาท และ 3,018 ล้านบาทตามลำดับ

    แต่หลังจากการปรับกลยุทธ์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร โฟกัสไปที่การปรับปรุงการให้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ผนึกพันธมิตรสร้างโครงข่ายขนส่งเพิ่ม ขยายการให้บริการครอบคลุมไปถึงค้าปลีก

    ผลของการปรับตัวอย่างเต็มที่ทำให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยพลิกกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ โดยมีกำไรสุทธิ 78.54 ล้านบาท รายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 7.40% 

    โดยสัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 45.56% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 33.85% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.43% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.90% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.96% และรายได้อื่นๆ 1.30%

    ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า “เพราะคู่แข่งของไปรษณีย์ไทยคือพฤติกรรมของผู้บริโภค ถ้าเราปรับตัวตามผู้บริโภคสำเร็จ เราไม่ต้องแข่งกับใคร โปรดักต์ของไปรษณีย์ไทยคือการบริการลูกค้า เราใส่ใจและปรับปรุงเริ่มตั้งแต่การเข้ามารับบริการ ไปจนถึงหลังการขายคือการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด


    “การที่เราให้ความสำคัญตรงนั้น หรือการมีนโยบาย zero complain ทำให้ความประทับใจจากลูกค้าของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรามอนิเตอร์ช่องทางดิจิทัลทุกช่องทางที่นอกเหนือไปจากไปรษณีย์ไทย เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า เราปรับโครงสร้างคนโดยเพิ่ม customer care ถึง 4 เท่า เพื่อให้รองรับการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และนั่นทำให้ยอดการขนส่งของเราเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว”

    ดร.ดนันท์ยังเผยอีกว่าอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้พลิกกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566 คือการบริหารต้นทุนได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งในเรื่องบุคลากรและการขนส่ง โดยลดต้นทุนการขนส่งไปได้ถึง 30% นอกเหนือจากนี้คือธุรกิจรีเทลที่ไปรษณีย์เริ่มรุกมากขึ้นจนมีการเติบโต 35% จากปีก่อนหน้า และมีรายได้แตะพันล้านบาทแล้ว


    ไม่เพียงเท่านั้น การปรับเรื่องการดูแลลูกค้าและการให้บริการ ยังทำให้ไปรษณีย์ไทยกลับมาครองใจผู้บริโภคได้อีกครั้ง โดยจากผลสำรวจพบว่าคะแนน brand love ของไปรษณีย์ตอนนี้อยู่ที่ 96% แล้ว

    แต่ถึงอย่างนั้น ความท้าทายของธุรกิจขนส่งในปัจจุบันก็คือเรื่องการแข่งขัน โดยเฉพาะกับภูมิทัศน์ใหม่อย่างการที่มีคู่แข่งเพิ่มเติมจากขนส่งเอกชนรายอื่น มาเป็น “แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” และดูเหมือนว่านี่จะเป็นคู่แข่งที่น่าจับตา เมื่อ ดร.ดนันท์ มองว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้กำลังใช้วิธีที่ไม่เป็นธรรม

    “การแข่งขันไม่ที่สิ้นสุด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจุบันเราเป็นทั้งคู่แข่งกับคู่ค้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากสินค้าที่ขายอยู่บนอีคอมเมิร์ซก็แทบจะเป็นชิ้นงานขนส่งของอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มไปด้วย เพราะอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มเลือกขนส่งของตัวเองเข้ามาให้ร้านค้า เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันรวมอยู่บนแพลตฟอร์ม ถามว่าถูกไหม เป็นธรรมไหม ผมพูดได้เลยว่าไม่เป็นธรรม

    “ลูกค้ารายใหญ่ๆ ของไปรษณีย์ไทยที่ขายของผ่านอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม อยากใช้บริการไปรษณีย์ไทย แต่อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มไม่เปิดให้ ซึ่งเรากำลังเจรจากับพวกนี้อยู่

    “จริงๆ แล้วไปรษณีย์ไทยจะดี จะเด่นแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าในอุตสาหกรรมกำกับดูแลกันแบบนี้ มันก็ไม่เป็นธรรม แล้วผู้บริโภคที่อยากจะใช้บริการที่มีคุณภาพ ก็โดนกีดกัน แล้วอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาตอนนี้ไม่มีใครกำกับดูแล ชิ้นงานที่อยู่บนแพลตฟอร์มของเขา เขาดูแลทั้งหมด ซึ่งจะมีการเปลี่ยนขนส่งไปมาตามการแข่งขัน ตราบใดก็ตามที่เราไล่ตามไม่ทัน เราก็โดนผลกระทบ ยิ่งโดนแพลตฟอร์มกีดกัน เราก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก

    “และที่สำคัญก็คือ แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่มีไทยเลยสักคน เพราะฉะนั้นเรากำลังปล่อยให้ประเทศเราถูกควบคุมอยู่หรือเปล่า ซึ่งมันเชื่อมต่อกับพื้นที่ที่เป็นข้อมูล physical หรือข้อมูลที่อยู่ของคนในประเทศ เท่ากับว่านี่อาจกำลังกระทบถึงความมั่นคงของประเทศด้วย เรามั่นใจในสิ่งที่เราทำ เราสู้ แต่ขอแค่ treat เราอย่างเป็นธรรมก็พอ”

    ดร.ดนันท์ เผยว่ารายได้ของไปรษณีย์ไทยจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้านึงลดลงไปถึง 50% แล้ว และยังย้ำถึงความชัดเจนว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซควรจะให้ร้านค้าได้มีสิทธิ์เลือกผู้ให้บริการขนส่งที่เขาต้องการจริงๆ


    “โรดแมปใน 3 ปี ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าเป็น Trusted Sustainable ASEAN Brand ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือแห่งอาเซียน โดยปี 2567 ได้ปรับวิสัยทัศน์เป็น ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ Delivering Sustainable Growth through Postal Network”

    พร้อมวาง 10 ความโดดเด่นและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งเน้นคุณภาพ หลีกเลี่ยงสงครามราคา การปรับภาพจำของแนวทางการดำเนินงานแบบรัฐวิสาหกิจไปสู่เอกชน พร้อมพัฒนา Logistics Company ให้ก้าวสู่ Information Logistics Company ที่นำข้อมูลมาปรับปรุงต่อยอดบริการให้ตรงใจ รวมทั้งบูรณาการข้อมูลที่มีอยู่ให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน

    นอกจากนี้ยังเตรียมขยายฟังก์ชันการทำงานของบุรุษไปรษณีย์ หรือ Postman สู่ Post – Gentleman as a service ที่พร้อมให้บริการในหลากหลายด้าน และปรับสนามการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดขนส่งโลจิสติกส์

    ดร.ดนันท์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ วางไว้ที่ 22,802 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 350 ล้านบาท จากกลุ่มบริการหลัก ได้แก่ บริการขนส่งและโลจิสติกส์ บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการค้าปลีกบริการการเงิน และบริการคลังสินค้า

    โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้จะเกิดขึ้นได้จากทรัพยากรที่มีศักยภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ได้แก่ เครือข่ายไปรษณีย์ที่ครอบคลุมแล้วกว่า 30,000 แห่ง ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เปิดจุดให้บริการไปรษณีย์ไทย@ธงฟ้า ตั้งเป้า 20,000 แห่ง ภายในปี 2567 ด้วยบุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่กว่า 25,000 คน ที่สามารถให้บริการได้ตลอด 365 วัน การเปิดศูนย์ไปรษณีย์สกลนครเพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณงานในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน


    นอกจากนี้ยังมีการแสวงหารายได้ใหม่ที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น บริการ Prompt Post ที่เตรียมเปิดให้ร่วมทายผลฟุตบอลยูโร 2024 บริการ e-Timestamp e-Signature e-Seal ส่งเสริมความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล (Digital Post Box) การใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์ให้บริการในรูปแบบ Postman as a Service เช่น การสำรวจสินทรัพย์ การรับส่งสิ่งของแบบ On Demand การรุกขายสินค้าตัวท้อปใกล้ไกลบนแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ท นอกจากนี้ ยังมีสินค้า House Brand เช่น กาแฟ ข้าวสาร น้ำดื่ม “ตราไปร” จากการคัดสรรสินค้าคุณภาพดีมานำเสนอให้กับผู้บริโภค

    “ในปี 2567 ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.12% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 32.48% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.98% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 5.10% กลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.90% และรายได้อื่นๆ 1.42%” ดร.ดนันท์ กล่าวปิดท้าย



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Uber Eats ญี่ปุ่นเปิดตัวพนักงานใหม่ “หุ่นยนต์ส่งอาหาร” พร้อมให้บริการในโตเกียว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine