เยี่ยมชม 'ศูนย์นวัตกรรม Cisco' แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ - Forbes Thailand

เยี่ยมชม 'ศูนย์นวัตกรรม Cisco' แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์

Cisco เลือกสิงคโปร์เป็นฮับในการเปิดศูนย์นวัตกรรมเป็นแห่งที่ 14 ของโลก และแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเน้นการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ IoT ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบล็อกเชน โดยทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้ระบบไอทีช่วยแก้โจทย์แห่งอนาคต

Cisco เปิดศูนย์นวัตกรรม Co-Innovation Center แห่งที่ 14 ของโลกและแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โครงการ Mapletree Business City II ในสิงคโปร์ โดยจะเป็นฮับที่เชื่อมโยงไม่เฉพาะในสิงคโปร์แต่เปิดรับพาร์ทเนอร์ร่วมพัฒนานวัตกรรมจากทั่วภูมิภาค Michael Maltese ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมของ Cisco ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน และญี่ปุ่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมของ Cisco ว่า บริษัทมีการลงทุนวิจัยพัฒนาปีละ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีวิศวกรทำงาน 26,000 คนทั่วโลก และยังมีการทำงานร่วมกับบริษัทหรือพาร์ทเนอร์อื่นๆ ผ่านการควบรวมกิจการแล้ว 205 แห่ง พันธมิตรมากกว่า 3 แสนราย รวมถึงลงทุนในบริษัทกว่า 120 แห่ง คิดเป็นเม็ดเงินการลงทุนปีละ 250-300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการเปิด ศูนย์นวัตกรรม Cisco แต่ละแห่ง รวมถึงที่สิงคโปร์ มีเป้าหมายเพื่อทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พาร์ทเนอร์ สตาร์ทอัพ จนถึงสถาบันการศึกษา ไปสู่การทำโปรเจ็กต์วิจัยร่วมกันเพื่อให้เกิดนวัตกรรมโซลูชั่นใหม่ที่อาจสเกลไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
Michael Maltese ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมของ Cisco ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน และญี่ปุ่น
Maltese อธิบายว่า ศูนย์นวัตกรรมแต่ละแห่งของ Cisco จะมีจุดมุ่งเน้นที่แตกต่างกันตามความต้องการของประเทศที่ตั้ง ยกตัวอย่างเช่น ในญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นภาคการผลิต ผู้ให้บริการ และเทคโนโลยี 5G ขณะที่ในออสเตรเลียจะเป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับเหมือง ทรัพยากร คมนาคมขนส่ง การศึกษา ฯลฯ ส่วนในสิงคโปร์นี้จะเน้นการร่วมพัฒนานวัตกรรมสมาร์ทซิตี้ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการใช้อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบล็อกเชน Co-Innovation Center ในสิงคโปร์นั้นมีพาร์ทเนอร์ที่พร้อมร่วมงานกันแล้วอย่าง คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ฮับผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ ICE71 ที่ก่อตั้งโดย Singtel Innov8 และ Sembcorp บริษัทด้านสาธารณูปโภค วิศวกรรมชายฝั่ง และพัฒนาเมือง  

ศูนย์นวัตกรรม Cisco พัฒนาอะไร?

ระหว่างเดินเยี่ยมชม Co-Innovation Center ของ Cisco สิงคโปร์ ยังมีการนำโชว์เคสของศูนย์ฯ อื่นๆ จากรอบโลกมาแสดงให้ผู้เยี่ยมชมได้เห็นภาพโครงการการพัฒนาที่เกิดขึ้นร่วมกับพาร์ทเนอร์ด้วย   โครงการท่าเรือ Rotterdam โจทย์ของท่าเรือ Rotterdam ท่าเรือเก่าแก่อายุกว่า 400 ปีในเนเธอร์แลนด์คือต้องการจะ ยกระดับท่าเรือให้เป็นระบบออโตเมชันอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2023 เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์กระแสน้ำขึ้นน้ำลง วัดความเร็วลม และสภาพอากาศ รวมถึงบนท่าเรือเองจะใช้ระบบขนส่งคอนเทนเนอร์ทั้งพาหนะ เครน รางเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ทำให้ท่าเรือสามารถรองรับเรือคาร์โกไร้คนขับที่คาดกันว่าจะมีการนำมาใช้งานจริงในอนาคตได้ แต่เดิมท่าเรือ Rotterdam ใช้มนุษย์ในการจดข้อมูลการวัดสภาพอากาศและบังคับอุปกรณ์ขนส่งบนท่าเรือ เมื่อต้องการปรับเป็นอัตโนมัติจึงต้องอาศัยอุปกรณ์ IoT ซึ่งส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายมารวมศูนย์บังคับควบคุม โดยโครงการประเมินว่าอาจต้องใช้เซ็นเซอร์สูงถึง 1 แสนชิ้น
โครงการท่าเรืออัตโนมัติ Rotterdam ที่ Cisco ร่วมงานกับ IBM
สิ่งที่ Cisco และพาร์ทเนอร์กำลังแก้โจทย์คือการสร้างภาพจำลอง 3 มิติของท่าเรือนี้ขึ้นมา ตามด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการบริหาร และสิ่งที่สำคัญคือระบบเครือข่ายเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ 1 แสนชิ้นจะต้องถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ ตัวอุปกรณ์ IoT เองจะต้องได้รับการยืนยันว่าเป็นชิ้นที่ถูกต้องในการส่งข้อมูลเข้าระบบและออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม ณ จุดที่ถูกติดตั้ง ดังนั้น Cisco จึงต้องสั่งผลิตอุปกรณ์กับผู้ผลิตเป็นพิเศษสำหรับโครงการนี้ โปรโตไทป์ต้นแบบในท่าเรือ Rotterdam ถูกมองว่าอาจสเกลไปสู่การจำลองวิธีการไปยังท่าเรืออื่น หรือกระทั่งอุตสาหกรรมอื่น เช่น เหมือง แปลงเกษตร เป็นต้น   อนาคตของขนส่งสาธารณะ อีกห้องหนึ่งในศูนย์นวัตกรรม Cisco แสดงเคสวิจัยเรื่อง Mobility as a Service (MaaS) จากโจทย์การขนส่งสาธารณะที่หนาแน่นในปัจจุบัน ทำให้ต้องการโซลูชั่นมาทำให้การเดินทางสะดวก มีปริมาณขนส่งที่เหมาะสมในเส้นทางที่ผู้คนต้องการ วิธีการของ Cisco คือใช้ข้อมูลจากการแตะบัตรเข้า-ออกของผู้โดยสาร ทั้งสถานีรถไฟฟ้า รถเมล์ และการเรียกบริการ Ride-Sharing ต่างๆ จากนั้นนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพแบบเรียลไทม์ว่ามีผู้โดยสารหนาแน่นในบริเวณไหน และผู้โดยสารมักเดินทางไปที่ใด เพื่อส่งข้อมูลนี้ให้ผู้ให้บริการวางแผนการจัดการขนส่งสาธารณะได้ มองไปในอนาคตที่ไกลกว่านั้น Cisco หวังว่าโซลูชั่นนี้จะทำให้เกิดแพลตฟอร์มเดียวที่ผู้โดยสารเข้ามาเช็กการเดินทางได้ว่า ควรเลือกใช้เส้นทางไหนที่จะเร็วที่สุดหรือหนาแน่นน้อยที่สุดในแต่ละวัน ไปจนถึงซื้อตั๋วโดยสารได้เลยจากแอพฯ เดียวนี้   ป้องกันความสูญเสีย (Downtime) ในโรงงาน Downtime ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้วางแผนไว้อาจเกิดขึ้นได้จากตัวเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่มีปัญหากะทันหัน โดย International Society of Automation (ISA) ประเมินว่า Downtime เช่นนี้สร้างความเสียหายให้โรงงานทั่วไปมูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อนาที และยิ่งเสียหายมากขึ้นหากเป็นโรงงานอัตโนมัติ จะเสียหายได้ถึง 22,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อนาที
แขนกลของบริษัท FANUC
ดังนั้นศูนย์นวัตกรรม Cisco ในญี่ปุ่นจึงร่วมมือกับ FANUC บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์แขนกลในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อติดตั้ง IoT เข้ากับแขนกลเหล่านี้ IoT จะคอยตรวจสอบการทำงานของหุ่นยนต์ตลอดเวลา โดยดูปัจจัยความเสี่ยงที่อาจทำให้การทำงานมีปัญหา เช่น อะไหล่ภายในแสดงอาการไม่ปกติ เพื่อแจ้งเตือนให้เตรียมอะไหล่ไว้สับเปลี่ยนล่วงหน้า ป้องกัน Downtime ที่จะเกิดขึ้น Cisco เป็นผู้เชื่อมต่อ FANUC เข้ากับระบบคลาวด์ที่รวมข้อมูลจาก IoT เหล่านี้ เพื่อให้ FANUC ให้บริการมอนิเตอร์หุ่นยนต์ของบริษัทได้ตลอดเวลา ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกันในโรงงาน 40 แห่งใน 10 ประเทศ โดยค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกัน Downtime ระบบนี้จะเพิ่มต้นทุนโรงงานน้อยกว่า 5% เทียบกับความสูญเสียจาก Downtime จึงคุ้มค่ากว่า  

ยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์

สำหรับโชว์เคสสุดท้ายคือศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cisco Cybersecurity Center of Excellence (CCX) เป้าหมายสูงสุดคือการตรวจจับภัยคุกคาม (threat) ในระบบให้ได้เร็วที่สุด โดยค่าเฉลี่ยปัจจุบันของ Cisco สามารถตรวจจับได้ในเวลา 4.6 ชั่วโมง เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในอาเซียนอยู่ที่ 184 วัน ถือว่าต่างกันมาก แต่หลักชั่วโมงก็ยังไม่รวดเร็วพอ Cisco จึงต้องการลดเวลาตรวจจับนี้ให้เหลือหลักนาทีหรือหลักวินาทีในอนาคต CCX ในสิงคโปร์ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทกับพาร์ทเนอร์ เช่น รัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับชาติ และสร้างทาเลนต์ในด้านนี้ของภูมิภาคให้มากขึ้น โดยศูนย์ฯ นี้เปิดรับทั้งมืออาชีพจากหน่วยงานเอกชนหรือรัฐให้เข้ามาร่วมงานฝึกทักษะขั้นสูงกับทีม CSIRT (Cisco Security Incident Response Team) รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามาฝึกงานได้ด้วย ท้ายที่สุด การเรียนรู้การป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ ที่พัฒนากันใน CCX ก็จะถูกนำไปอัพเดทในระบบของลูกค้า Cisco ทั่วโลกนั่นเอง   อ่านเพิ่มเติม