“ภาววิทย์ กลิ่นประทุม” การลงทุนคือวิถีชีวิต - Forbes Thailand

“ภาววิทย์ กลิ่นประทุม” การลงทุนคือวิถีชีวิต

เข้าสู่โลกการลงทุนแบบ "ไม่ได้มาเล่นๆ" ปัจจุบันชอบหุ้นเล็ก เพราะโอกาสดีดตัวขึ้นมีสูงแม้จะเสี่ยงก็ตามที อยู่และเรียนรู้กับมัน รอแล้วรอเล่า จนพอร์ตค่อยๆ โตเป็น "หลายร้อยล้านบาท" บนเส้นทางที่มีทั้งเจอหุ้นเจ๊งและสุดยอดหุ้น วันนี้สุขกับชีวิตที่เลือกได้ ทำแต่สิ่งที่อยากทำ และได้เรียนรู้ว่าไม่มีเคล็ดลับวิชาไหนที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์บนโลกแห่งการลงทุน


    ชายหนุ่มเบื้องหน้าของพวกเราที่ชื่อ ภาววิทย์ กลิ่นประทุม อยู่ในลุคสบายๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่หรืออากัปกิริยาบทขณะพูดคุย เขาเย้ากับพวกเรา Forbes Thailand ด้วยรอยยิ้มว่า “ผมเลิกใส่สูทไปนานแล้ว” ชายหนุ่มคนนี้หลายคนคงรู้จักเขาดีจากหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะในฐานะนักลงทุนในตลาดหุ้น เป็นลูกจ้างในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนของ บริษัท หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นบล็อกเกอร์เขียนเรื่องการลงทุน หรือไม่ก็ได้ยินเสียงนุ่มๆ ของเขาในฐานะแขกรับเชิญพูดคุยผ่านโทรศัพท์เรื่องการลงทุนบนสถานีวิทยุ FM 96.5 รายการ รู้ใช้เข้าใจเงิน ทุกๆ วันศุกร์ช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายเพียงเล็กน้อย

    แล้วบทบาทอะไรคือตัวตนของภาววิทย์มากที่สุด? พวกเราอดถามไม่ได้ และชายหนุ่มร่างเล็กวัยย่าง 43 ปีตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า “นักลงทุน” โดยให้เหตุผลว่า “มันท้าทายดี ยิ่งทำยิ่งมีอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ” และจริงอย่างที่เขาว่า เพราะทุกวันนี้เขาจะเลือกที่จะทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ “ต้อง” ทำ อย่างงานที่หลักทรัพย์บัวหลวงเขาไม่เคยคิดว่าเป็นงานเลย แต่เป็นสิ่งที่เขาอยากทำมากกว่า


- ค่อยๆ เรียนรู้ -

    ภาววิทย์เข้าสู่โลกการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2550 โดยได้เงินก้อนหนึ่งจากทางบ้าน แต่พอเข้าปุ๊บก็โดน “รับน้อง” ปั๊บ เนื่องจากเจอกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เข้าไปอย่างจัง ตลาดที่ดีดตัวไปสู่จุดสูงสุดได้ร่วงลงมาแตะระดับที่ 300 จุดทำให้เขาเจ็บปวดกับการขาดทุน แต่โชคยังดีที่เขาไม่ใช้เงินก้อนที่ได้มาทุ่มลงไปซื้อหุ้นหมดหน้าตัก

    หากคิดอีกมุมการขาดทุนที่เขาเจอก็ดูจะไม่เลวร้ายไปเสียหมด อย่างน้อยมันก็เป็นบทเรียนและเป็นครูให้เขาได้หาข้อผิดพลาดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์นั้นเขาได้เห็นทั้งคนรวยและคนผิดหวังจากตลาดหุ้นในเวลาเดียวกัน ดังนั้น จึงมานั่งทบทวนการลงทุนของเขา คิดหาจุดยืนใหม่กับถนนสายนี้หากจะใช้มันสร้างความมั่งคงให้กับตัวเองในช่วงเวลานั้น เขาจึงเริ่มเขียนบล็อกบอกเล่าถึงความรู้สึกต่างๆ เขียนทุกเรื่องที่คิด อย่างคนรวยเขาคิดอย่างไร หรือพยายามแกะความคิดของคนประสบความสำเร็จ พร้อมๆ กับอ่านหนังสือจำนวนมาก จนออกหนังสือเล่มแรกของตัวเองที่ชื่อ “แกะรอยหยักสมอง รวยหุ้นหมื่นล้านแบบ Buffet”


ภาววิทย์ กลิ่นประทุม

    เมื่อสะสมความรู้เพิ่มขึ้น ความมั่นใจก็เพิ่มตามมา เขาค่อยๆ เพิ่มการลงทุนมากขึ้นหลังวิกฤต แต่กระนั้นกว่าจะตั้งตัวได้ภาววิทย์บอกว่า ต้อง “ใช้เวลา” นานพอสมควร นานจนเข้าใจว่า “การลงทุนไม่เหมือนกับการ ซื้อหวย เพราะซื้อหวยถูกแล้วเลิก นิยามการลงทุนคือ “วิถีชีวิต” และมองการซื้อหุ้นก็ เพื่อเป็น “เจ้าของบริษัท” 

    โดยเขาอธิบายว่า เมื่อคุณมีเงิน คุณได้เงินมา เงินนี้คุณไม่ได้ใช้ก็เปลี่ยนเป็นหุ้นในเวลาที่เหมาะสม สิ่งที่เขาค้นพบคือ คนที่มีพอร์ตโตมากๆ มันเกิดจาก “การถือ” ไม่ได้เกิดจากการเทรดรายวัน ซื้อมาขายไปแล้วรวย จริงอยู่ลักษณะแบบนี้อาจจะได้เงิน แต่ก็ไม่สร้างความร่ำรวยในระยะยาว และการลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งนี้ ภาววิทย์ให้เครดิตกับ “การมองโลกบวก” ของเขา เขามองว่าในช่วงที่คนบอกว่าไม่ดี แท้ที่จริงมันมีดีซ่อนอยู่ ถ้าเรามองเห็นได้แล้วเปลี่ยนตรงนั้นก็จะเจอโอกาสได้

    “มีวิกฤตตลอด เลือกหุ้นตอนแรกก็ผิด ไม่รู้เรื่อง มันเจอมาตลอดจนเราเข้าใจว่าเป็นแบบนี้ ถ้าเราคิดบวกโอกาสเราจะมี การคิดบวกกับโลกสวยไม่เหมือนกัน โลกสวยมองทุกอย่างดีไปหมด คิดบวกคือ การมองบวกแต่มองความเป็นจริง”


- ค่อยๆ หาหุ้น -

    กว่าทศวรรษของการอยู่ในตลาดหุ้นสอนให้ภาววิทย์รู้ว่า “เคล็ดลับวิชาที่สามารถใช้ได้ทุกสถานการณ์นั้นความเป็นจริงแล้วมันไม่มี” ดังนั้น เขาจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การลงทุนที่เปลี่ยนไป โดยรวมๆ เขาแบ่งออกเป็น 3 ยุคคือ 

    ยุคแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นเซียนหุ้นรุ่นแรกประเทศไทย หุ้นที่สร้างความร่ำรวยให้กับพวกเขาคือ หุ้นใหญ่อย่าง ปตท. ที่ได้ดีดตัวขึ้นมาเป็น 100 เท่า ยุคที่ 2 คือ หุ้นขนาดกลางที่โตมาเป็นหุ้นชั้นนำในประเทศไทย เช่น JMART (บมจ. เจ มาร์ท) หรืออย่าง KTC (บมจ. บัตรกรุงไทย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิต ของธนาคารเล็กๆ แห่งหนึ่งแล้วแตกตัวอิสระมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงในปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 พ.ย. 2565 อยู่ที่ 1.51 แสนล้านบาท) ที่ได้สร้างเซียนหุ้นหมื่นล้านบาทขึ้นมา และรุ่นที่ 3 เป็นยุคหลังโควิด เซียนหุ้นที่ 3 น่าจะมาจากหุ้นเล็กๆ “ผมหวังว่าจะเดาถูก อาจจะผิดก็ได้” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม

    จะถูกหรือผิดไม่มีใครรู้ แต่ก่อนหน้านี้เขาเคยลงทุนในหุ้นใหญ่ แต่หุ้นใหญ่ไม่ทำให้พอร์ตของเขาโตเหมือนกับเซียนหุ้นคนอื่นๆ จึงต้องมองหาวิธีการลงทุนที่หลากหลายและหันมาให้ความสนใจกับหุ้นเล็กแทน เพราะราคาหุ้นเล็กมีโอกาสที่จะดีดตัวขึ้นมากกว่า

    “หุ้นใหญ่ๆ ต้องซื้อตอนวิกฤตหนักมากๆ หนักแบบประเทศจะพัง เหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 แต่ตอนนี้เวลาผ่านไปแล้ว” ภาววิทย์กล่าว

    หุ้นเทิร์นอะราวด์เป็นอีกกลุ่มที่ภาววิทย์ชอบเช่นกัน เพราะโอกาสที่ราคาจะดีดกลับมามีค่อนข้างมาก อย่างที่ผ่านมาก็เข้าซื้อหุ้นของ บมจ. ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ และได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของบริษัทอาหารสัญชาติไทยรายนี้ 



    โดยรวมแล้ววิธีการคัดเลือกหุ้นของภาววิทย์แบบง่ายๆ คือ 1. หุ้นตัวนี้ต้องผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว 2. ต้องเป็นบริษัทที่มีแนวโน้มที่จะเติบโต และ 3. ผู้บริหารต้องไม่โกง เพราะการโกงนี้เขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้จะมีการวิเคราะห์บริษัทมาดีแล้วก็ตาม

    เขาย้ำเน้นว่า ผู้บริหารมีความสำคัญมาก และเรื่องผู้บริหารนี้ก็ไม่มีใครสอนกันได้เลย มันยากที่จะคาดเดา มันเหมือนกับการอ่านคนอย่างคนนี้เข้ามาในตลาดหุ้นเพื่ออะไร ถ้าไปเจอคนที่เข้ามาเพื่อสร้าง “empire” เขาอยากโต หุ้นก็ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเจอผู้บริหารเข้ามาเพื่ออยากรวย พอกำไรก็ขายหุ้นทิ้ง เลิกทำงานแล้วไปตีกอล์ฟ หุ้นก็ไม่ได้เรื่อง แต่ถ้าเขาเข้ามาเพื่อซื้อ เพื่อเทคโอเวอร์ กู้หรือขยายงาน แบบนี้ถือว่า “ดี” นอกจากนี้ ข้อพึ่งระวังคือ ควรเลือกหุ้นที่มีหนี้ต่ำ เพราะถ้ามีหนี้สูงโอกาสที่บริษัทนั้นจะ “เพิ่มทุน” ก็มากขึ้น ซึ่งนักลงทุนจะเสียประโยชน์

    นอกจากนี้ ภาววิทย์ยังชอบหุ้นที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยความงามอีกด้วย เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตดี เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จ่ายเงินง่ายไม่คิดมากเหมือนผู้ชาย ธุรกิจแบบนี้มุ่งเป้าไปที่คนมีเงินหรือคนไม่มีเงินก็ต้องซื้อ พูดง่ายๆ คือ ซื้อเพื่อความสวยลูกค้ายอมได้ทุกอย่าง รวมไปถึงหุ้นกลุ่มสุขภาพ เพราะบางตัวมีผลกำไรที่ดีมาก โดยเขาให้มุมมองว่า ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวกับความสวยความงามและธุรกิจเพื่อสุขภาพก็เช่นกัน


- สู่ชีวิตอิสระ -

    ภาววิทย์ไม่เทรดหุ้นรายวันและไม่เล่นคริปโต เพราะไม่อยากออกนอก “ความถนัด” ที่เขามี และมองว่าแต่ละคนนั้นเชี่ยวชาญคนละเรื่อง ส่วนตัวเขาเองถนัดการลงทุนในหุ้น และ “เอาจริง” กับเส้นทางสายนี้เพราะมุ่งหวังให้การลงทุนเปลี่ยนชีวิต ดังนั้น การลงทุนจึงกลายเป็น “วิถีชีวิต” ของเขา ไม่ใช่แค่เป็นการเข้ามาซื้อขาย เขามองว่า ถ้าทำได้ดีมันจะเริ่มให้ “รางวัล” กับตัวเขาไปเรื่อยๆ ทั้งยังทำให้ได้ “เรียนรู้” พร้อมกับได้ชีวิตใหม่ตามมา

    การลงทุนในหุ้นยังสอนให้เขารู้จักคำว่า “humble” เขาบอกว่า บางทีมีคนถามเขาว่าเลือกหุ้นเก่งไหม? เขาตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “ไม่ได้เรื่อง ถ้าคิดว่าผมเลือกหุ้นเก่ง ผมก็กลายเป็นแบบเดิม ไปซัดตัวที่ไม่ได้เรื่องแล้วกลายเป็นว่า “พอร์ตเจ๊ง” แล้วมาเสีย self เราเอาตั้งแต่วันแรกเลย ผมเป็นคนเลือกหุ้นไม่ได้เรื่อง แล้วผมก็จะเลือก 10 ตัวให้มันเจ๊งสัก 3 ให้มันโอเคสัก 3 แล้วอีก 4 ตัวสุดยอด แค่นี้ก็รวยแล้ว”

    ใช่การลงทุนให้ชีวิตใหม่กับภาววิทย์ ณ ปัจจุบันเขามีความสุขกับชีวิต ตัวเขาชัดเจนว่าอยากให้ชีวิต “สบาย” สบายในนิยามของเขาคือ อยากทำงานที่อยากทำได้รายได้มากแต่ทำงานน้อย และจะทำในสิ่งที่ชอบเท่านั้น

    ภาววิทย์ไม่มีความคิดที่จะเกษียณตัวเองเลยเพราะการทำงานทำให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่า งานช่วยบ่งบอกตัวตนในสังคม ถ้าไม่ทำงานจะทำให้เขารู้สึก “เครียด” มากกว่า อีกทั้งเขาไม่คิดอะไรไปไกลๆ เช่น ไม่คิดว่าอายุเท่านี้จะต้องมีพอร์ตมูลค่าเท่านี้ เขาเลือกที่จะมีความสุขกับปัจจุบันมากกว่า 



    เขาเปรียบเปรยการใช้ชีวิตของเขาว่าเหมือน “เศรษฐีต่างจังหวัด” คือ ช่วงแรกจะทำงานหนัก พอมีเงินเขาก็ซื้อสินทรัพย์ แล้วสุดท้ายสินทรัพย์จะทำงานแทนเขา รวยแบบเงียบไม่ต้องไปบอกใคร อย่างไรก็ตามมีจุดหนึ่งที่ต่างคือ สินทรัพย์ของเขาคือหุ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ซื้อที่ดิน อสังหาริมทรัพย์หรือสินทรัพย์อี่นๆ เนื่องจากมองว่าการมีสินทรัพย์เป็นภาระอย่างหนึ่ง

    แล้วมีเป้าไหมว่าจะมีมูลค่าพอร์ตถึงหลักพันล้านอะไรแบบนี้? พวกเราอดถามไม่ได้ ภาววิทย์ตอบว่า “มันถึงอยู่แล้ว” มันจะโตไปเรื่อยๆ น่าจะถึงหมื่นล้านบาท ซึ่งเขาบอกว่า ฟังดูแล้ว “มันน่าหมั่นไส้” แต่ก็อธิบายเพิ่มว่า ให้ดูที่ตลาดหุ้นของประเทศเราที่มีมูลค่าเป็นล้านล้านบาท ดังนั้น เรื่องที่เขาคิดและหวังจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินความเป็นจริงเลย แต่กระนั้นถ้าจะไปไม่ถึงจุดนั้นก็คงมาจาก “ตัวเราเอง” เพราะคนเราพอมีเงินมากๆ เวลาว่างมากๆ สติจะเริ่มหลุด พอหลุดปุ๊บก็จะทำลายตัวเอง ซึ่งเขาเองก็ต้องหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ว่านี้


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์

อ่านเพิ่มเติม:

>> การลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจสู่ Net Zero

>> ดิศนิติ โตวิวัฒน์ ชูคอนเซ็ปต์ Working Together สร้างจุดแข็งแบรนด์ DOS (Video)


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine