เสียงแว่วที่น่าผวา จากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 - Forbes Thailand

เสียงแว่วที่น่าผวา จากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

กระแสต่อต้านชาวยิวที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมเป็นเหมือนคำเตือนที่น่าตกใจถึงผลพวงสุดเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างถ้าหากเราไม่ตั้งสติกันให้ดีๆ


    นับตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุในทศวรรษที่ 1930 ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเกิดกระแสต่อต้านชาวยิวอย่างเปิดเผยเหมือนกับช่วงหลังจากที่กลุ่ม Hamas โจมตีอิสราเอล สิ่งที่น่าตระหนกเป็นพิเศษก็คือ กระแสต่อต้านชาวยิวแพร่ระบาดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสหรัฐฯ โดยทั้งสถาบันทางวิชาการและภาคประชาชนหลายแห่งต่างพากันวางเฉยแบบไม่รู้ไม่เห็น

    การโจมตีดังกล่าวถือเป็นการทำลายคุณค่าหลักของประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศนี้แตกต่าง และประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเสียงเตือนที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า รากฐานในระดับสถาบันของสหรัฐฯ กำลังเน่าเฟะ

    แต่ผู้คนกลับกำลังรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ กำลังคลี่คลายไปทั้งในสหรัฐฯ และในประเทศอื่นๆ

    เราไม่ได้เห็นกระแสที่เป็นอันตรายนี้มานานแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) และเกิดความหลงผิดจากความปั่นป่วนวุ่นวายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำลายความเชื่อในหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคล

    หลักกฎหมายอยู่เหนือการกระทำโดยพลการของรัฐบาล นอกจากนี้ยังกัดกร่อนความศรัทธาว่าคุณภาพชีวิตคนจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ มีความรุนแรงน้อยลง และการค้าที่เฟื่องฟูจะค่อยๆ ทำให้สงครามตกยุคไป

    เมื่อถึงกลางทศวรรษที่ 1930 คนนับล้านๆ ต่างพากันหลงผิดมองแนวคิดเผด็จการของลัทธิคอมมิวนิสต์ นาซี และฟาสซิสม์ เป็นกระแสแห่งอนาคต ทำให้ระบอบเผด็จการมีชัยเหนือประชาธิปไตย และตอนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับในตอนนี้ที่ผู้นำของหลายๆ ประเทศขาดความกล้า เอนเอียงไปมา และไม่สามารถตั้งสติได้

    และเมื่อถึงจุดที่เคว้งคว้างจนเป็นอันตราย พวกที่ขี้วิตกกังวลก็จะเริ่มมองหาแพะรับบาป ซึ่งลงท้ายก็มักจะนำไปสู่กระแสการต่อต้านชาวยิวในที่สุด

    เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่น่าเบื่อหน่าย และผู้คนก็กลัวกันว่าแนวโน้มในอนาคตดูไม่ดี

    ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะผู้นำรัฐบาลส่วนใหญ่และผู้ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจไม่เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งนั่นก็คือ ค่าเงินที่มีเสถียรภาพ อัตราภาษีที่ต่ำ การลดกฎระเบียบให้น้อยที่สุด และความเคารพในข้อเท็จจริง และวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

    ทั้งนี้ การไม่เคารพข้อเท็จจริงและวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทำให้เศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศต้องเสียเงินไปเปล่าๆ นับล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำร้ายตัวเองด้วยการพยายามลดเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลแล้วหันไปใช้พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์แทน ซ้ำร้ายคือ มีการปั่นกระแสอย่างต่อเนื่องว่าโลกเรากำลังจะประสบกับหายนะทางด้านสิ่งแวดล้อมถ้าหากเราไม่เลิกใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล

    ความจริงก็คือ มีแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการรับมือกับความท้าทายทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่ อย่างที่เราทำมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ความคืบหน้าถูกขัดขวางจากกระแสการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน

    อันที่จริงกลไกตลาดเสรีเป็นสิ่งที่ใช้การได้เสมอ เพียงแต่ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับเลือกใช้นโยบายที่ให้ผลในทางตรงกันข้าม ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญก็คือ บรรดาผู้นำประเทศไม่รู้ว่าค่าเงินที่มั่นคงเป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเอาไว้ ดังนั้น คุณจึงไม่เคยได้ยินผู้กำหนดนโยบาย หรือธนาคารกลางออกมาพูดเรื่องการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเลย

    ถ้าหากยังไม่มีการปรับนโยบายเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ผิดทางของประธานาธิบดี Biden ให้กลับเข้ามาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งเราและประเทศอื่นๆ ในค่ายโลกเสรีจะประสบกับภาวะอัตราการขยายตัวต่ำหรือไม่โตเลย ซึ่งจะมีผลพวงคือ ความโกลาหลอลหม่านทางด้านความมั่นคงตามมาด้วย

    ในทางตรงกันข้าม ความมั่งคั่งครั้งใหญ่ในรอบใหม่ของโลกจะทำให้บรรยากาศในวันนี้ก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น มันจะช่วยท้าทายสู้กับอุดมการณ์ที่ไม่เชื่อคุณค่าในสิ่งใดที่กำลังแพร่หลายอย่างมากในโลกวิชาการและที่อื่นๆ การโต้กลับจากสังคมไปยังความคิดที่เป็นพิษนี้กำลังผุดขึ้นมาเรื่อยๆ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นนั้นจะทำให้สิ่งเหล่านี้พัฒนาให้ดีขึ้นได้

    แน่นอนว่าเพียงแค่จังหวะเวลาที่ดีเพียงอย่างเดียวยังไม่พอที่จะแก้ไขความผิดพลาดของทั้งโลก แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความเฟื่องฟูในภาวะอันตราย

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine