TuSimple ยูนิคอร์นเต็งหนึ่งแห่งวงการ "รถบรรทุกหุ่นยนต์" - Forbes Thailand

TuSimple ยูนิคอร์นเต็งหนึ่งแห่งวงการ "รถบรรทุกหุ่นยนต์"

รถยนต์ไร้คนขับอาจต้องรออย่างน้อย 5 ปี แต่ตอนนี้สิบแปดล้อขอแซงก่อน และสตาร์ทอัพในกลุ่มยูนิคอร์นของดอกเตอร์วัย 34 ปีจาก Caltech ก็กำลังเป็นเจ้าถนน

ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสนามบินเมือง Tucson ในทะเลทราย Sonoran ที่มีกระบองเพชรโชยาและต้นปาโลแวร์เดขึ้นประปราย มีอาคารอุตสาหกรรมหลังหนึ่งทาสีเดียวกับผืนทรายและมีแถบสีเขียวมรกตคาดหน้าประตูทางเข้า ผู้มาเยือนจะเดาได้ว่าอาคารแห่งนี้มีการปฏิวัติเทคโนโลยีอะไรอยู่ภายในก็ต่อเมื่อได้เห็นรถพ่วงยี่ห้อ Peterbilt ที่ติดกล้องและเซนเซอร์แล่นคำรามออกมา

Xiaodi Hou ผู้ร่วมก่อตั้ง TuSimple สร้างสถานีแห่งนี้เมื่อปีที่แล้ว เพื่อใช้ทดสอบรถบรรทุกไร้คนขับของบริษัทในการรับจ้างขนของให้ลูกค้า และขั้นต่อไปคือนำระบบอัตโนมัตินี้มาใช้ในเชิงพาณิชย์ในตลาดรถบรรทุกมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปัจจุบันรถเหล่านี้ยังต้องมีคนขับและวิศวกรนั่งไปด้วยเพื่อความปลอดภัย แต่ Hou อยากเริ่มวิ่งรถโดยไร้คนขับในปีหน้า)

TuSimple ไม่ใช่สตาร์ทอัพรายเดียวที่สนใจรถบรรทุกไร้คนขับ แต่ TuSimple กำลังแซงรายอื่น Hou นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์วัย 34 ปีระดมทุนได้ 178 ล้านเหรียญสำหรับสตาร์ทอัพจากเมือง San Diego ของเขา ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในกลุ่มยูนิคอร์นที่มีมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ ทำให้ TuSimple เป็นยูนิคอร์นเต็งหนึ่งในธุรกิจรถบรรทุกแล่นเองได้ และบริษัทแห่งนี้ก็มีเงินทุนในการชิงชัยมากกว่าสตาร์ทอัพคู่แข่งที่ตามมาเป็นอันดับ 2 อย่าง Embark เกิน 3 เท่า

เงินกองนี้ทำให้ TuSimple ได้เปรียบด้านการเพิ่มจำนวนรถ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ได้งานเพิ่มขึ้นจากลูกค้าอย่าง Royal Paper ซึ่งมีฐานอยู่ในเมือง Phoenix  Forbes ประเมินว่ารถยี่ห้อ Peterbilts และ Navistars จำนวน 15 คัน ช่วยให้ TuSimple มีรถพ่วงไว้รับจ้างขนสินค้าให้ลูกค้าได้มากกว่าคู่แข่ง และ Hou อ้างว่ารถของเขายังทำสถิติด้านเทคโนโลยีอีกด้วย TuSimple มีระบบจับภาพที่เป็นเทคโนโลยีของบริษัทเอง ซึ่งจับภาพได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร ไกลกว่ารถไร้คนขับของบริษัทเทครายอื่นๆ รวมทั้ง Waymo

ผมว่าระบบจับภาพระยะ 1,000 เมตรน่าจะเป็นจุดแข็งที่สุดของเราในตอนนี้ Hou กล่าว

รถบรรทุกไร้คนขับของ TuSimple มีระบบจับภาพที่เป็นเทคโนโลยีของบริษัทเอง ซึ่งจับภาพได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร

นอกจากระบบจับภาพ Hou ยังสร้างซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ขับรถบรรทุกขนาดใหญ่โดยเฉพาะ (แต่ไม่ใช่สำหรับรถยนต์) ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งเป็นความรู้แขนงใหม่มากที่ใช้สอนให้เครื่องจักรรู้จักวัตถุต่างๆ และคิดหาวิธีตอบสนองกับวัตถุเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง  Hou เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้ TuSimple แตกต่างจากคู่แข่ง แม้กระทั่ง Waymo 

ถ้า Hou คิดถูก TuSimple จะทำกำไรจากกระแสบูมของยานยนต์ไร้คนขับได้ตั้งแต่ระยะแรก เพราะแม้ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี และบริษัทรถยนต์ระดับโลกหลายสิบแห่งต่างกำลังแข่งกันไล่ตาม Waymo ให้ทัน แต่โครงการรถยนต์แล่นเองได้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นทดลองและต้องรออีก 5 ปีเป็นอย่างต่ำกว่าจะกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

รถบรรทุกไร้คนขับดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ได้เร็วกว่า เนื่องจากมีแรงส่งจากปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุก ซึ่งข้อมูลจาก American Trucking Associations กล่าวว่า ตลาดยังต้องการคนขับรถพ่วงถึง 60,000 คนต่อปี และ TuSimple ก็หวังจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการวิ่งรถบนทางหลวงเชื่อมระหว่างรัฐ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ง่ายกว่าถนนในเมืองใหญ่อันจอแจ

Hou เป็นนักเล่นเกมคนหนึ่ง เป็นชาวเมือง Beijing โดยกำเนิด ได้ปริญญาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong ในปี 2008 จากนั้นไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ California Institute of Technology ในเมือง Pasadena รัฐ California เพราะเขาตัดสินใจว่า Caltech ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ Jet Propulsion Laboratory ของ NASA น่าจะเหมาะกับเขามากกว่ามหาวิทยาลัยในเขต Bay Area

ในช่วง 6 ปีที่ Caltech เขาศึกษาวิธีการประมวลผลข้อมูลภาพของสมอง และเขายังสำรวจปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นด้วยความรู้ด้านการเรียนรู้เชิงลึก เมื่อถึงปี 2015 มีสิ่งหนึ่งที่ Hou คิดว่าเทคโนโลยีนี้ทำได้ คือการช่วยให้ระบบไร้คนขับเกิดขึ้นได้เร็วกว่าเมื่อครั้งที่ Google เริ่มวิจัยระบบไร้คนขับในปี 2009

แม้ Hou จะชื่นชมกับความคืบหน้าของ Google แต่เขาเชื่อว่าสภาพแวดล้อมในเมืองเป็นโจทย์ที่หนักเกินไปสำหรับรถหุ่นยนต์ ส่วนไฮเวย์ถือเป็นคนละเรื่อง สำหรับรถยนต์นั้น เขากล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่ซับซ้อนยังไปไม่ถึง และยังใช้การไม่ได้จนกว่าจะเกิดการปฏิวัติความรู้ครั้งใหญ่แบบการเรียนรู้เชิงลึกขึ้นอีกครั้งเขาประเมินว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีก 5 ปี

Hou วางแผนก่อตั้ง TuSimple ตั้งแต่ตอนเรียนที่ Caltech และก่อตั้งบริษัทในปี 2015 ร่วมกับ Mo Chen เพื่อนและหุ้นส่วนธุรกิจผู้รับตำแหน่งซีอีโอ ส่วน Hou รับตำแหน่งซีทีโอ (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ Chen ประจำอยู่ที่จีน ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่สองของ TuSimple และกำลังพัฒนารถบรรทุกหุ่นยนต์เพื่อขนส่งสินค้าจากท่าเรือในจีนด้วย

TuSimple ปิดการระดมทุนช่วงปลายปี 2018 ได้ด้วยยอดเงิน 95 ล้านเหรียญ นำโดย Sina Corp. บริษัทเทคของจีน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายแรกของ TuSimple และได้เงินลงทุนจาก Composite Capital Management จากฮ่องกง ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนจากสหรัฐฯ ก็รวมถึง Nvidia ซึ่งสนับสนุนระบบคอมพิวเตอร์ให้ TuSimple ด้วย และ Hou คาดว่าปีหน้าจะระดมทุนได้มากขึ้นอีก

แม้งานรับจ้างวิ่งรถซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายในรัฐ Arizona และเพิ่งเริ่มต้นเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วจะทำรายได้เข้าบริษัทไม่ถึง 100,000 เหรียญในปีที่ผ่านมา แต่ Chuck Price ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์กล่าวว่า เมื่อบริษัทเพิ่มจำนวนรถเป็น 50 คันในเดือนมิถุนายน รายได้จากการวิ่งรถน่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านเหรียญต่อเดือนสำหรับครึ่งหลังของปี 2019

อย่างไรก็ตาม กฎข้อบังคับเกี่ยวกับยานพาหนะไร้คนขับของแต่ละรัฐยังเป็นสิ่งกีดขวางไม่ให้รถอัตโนมัติของ TuSimple รับงานขนสินค้าข้ามจากรัฐหนึ่งไปรัฐหนึ่ง รถบรรทุกไร้คนขับจึงยังวิ่งได้เฉพาะในรัฐอย่าง Arizona และ Texas อีกทั้งยังมีข้อกังวลว่า ถ้ามีผู้เสียชีวิตอีกราย แผนของบริษัทจะยิ่งปั่นป่วน หลังจากที่รถยนต์ไร้คนขับตัวทดสอบของ Uber ชนคนเดินถนนเสียชีวิตใน Arizona เมื่อปีก่อน จนทำให้โครงการของบริษัทให้บริการเรียกรถรายนี้สะดุดไปหลายเดือน

TuSimple สร้างกองยานพาหนะของบริษัทด้วยความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า บริษัทจะเปิดตัวโครงการนำร่อง ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ให้วิ่งรถเป็นระยะทาง 1,000 ไมล์ด้วยระบบอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม TuSimple เชื่อว่า บริษัทจะทำให้ลูกค้าประทับใจได้ เพราะลูกค้าจะประหยัดเงินจากส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มภายใน 2 ปี รถบรรทุกขนาดใหญ่คลาส 8 (เป็นรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักสูงสุดในสหรัฐฯโดยมีเกณฑ์จาก 1 ถึง 8) แบบที่เราเห็นวิ่งบนไฮเวย์ยาว 300 ไมล์จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับมวลของรถโดยเฉพาะ เช่น ความสามารถในการหลีกเลี่ยงการเบรกกะทันหัน หรือหักพวงมาลัยทันทีจนเกิดอุบัติเหตุแบบหัวกัดหาง และรถเหล่านี้ต้องมองเห็นข้างหน้าให้ไกลที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

TuSimple ใช้ทั้งระบบไลดาร์และเรดาร์เหมือน Waymo แต่บริษัทคาดว่า กล้องจับภาพระยะไกลจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับรถบรรทุก และระบบจับภาพระยะ 1 กิโลเมตรของบริษัทก็เป็นทั้งกุญแจสำคัญและจุดขายสำหรับจูงใจลูกค้าในอนาคตด้วย

ความต้องการของตลาดและหลักเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานจะช่วยสยบความกังวลเรื่องที่มีรถบรรทุกหนัก 40 ตันมาวิ่งอยู่บนถนนโดยไม่มีคนขับได้ และในเมือง Tucson แห่งนี้ ซึ่งอยู่ใกล้ทางหลวง Interstate 10 ที่เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสายสำคัญเชื่อมต่อจากท่าเรือ Los Angeles ไปยังภาคตะวันตกเฉียงใต้จนถึงรัฐ Florida Hou มองเห็นความสำเร็จอยู่เบื้องหน้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในวงการรถบรรทุกแน่นอน

  เรื่อง: Alan Ohnsman เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “รถบรรทุกหุ่นยนต์” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine