มหาเศรษฐี “Richard Chandler” กับเครื่องบินพลังงานแบตเตอรี่ - Forbes Thailand

มหาเศรษฐี “Richard Chandler” กับเครื่องบินพลังงานแบตเตอรี่

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Apr 2023 | 08:15 AM
READ 4575

แท็กซี่เวหาล้ำยุคที่บินขึ้นลงได้ในแนวดิ่งกลายเป็นข่าวพาดหัวไปทุกที่และคว้าเงินร่วมลงทุนมาได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เศรษฐีพันล้านจากสิงคโปร์ Richard Chandler คิดว่าเขามีไอเดียดีกว่านั้น นั่นคือเครื่องบินธรรมดาที่บินได้ด้วยแบตเตอรี่ซึ่งต้นทุนถูกกว่าและไว้ใจได้มากกว่าเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อป


แท็กซี่เวหาล้ำยุคที่บินขึ้นลงได้ในแนวดิ่งกลายเป็นข่าวพาดหัวไปทุกที่และคว้าเงินร่วมลงทุนมาได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เศรษฐีพันล้านจากสิงคโปร์ Richard Chandler คิดว่าเขามีไอเดียดีกว่านั้น นั่นคือเครื่องบินธรรมดาที่บินได้ด้วยแบตเตอรี่ซึ่งต้นทุนถูกกว่าและไว้ใจได้มากกว่าเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อป

    ความเงียบท่ามกลางความหนาวยะเยือกในเดือนพฤศจิกายนทางตะวันออกของรัฐ Washington ถูกระเบิดด้วยเสียงเครื่องยนต์ไอพ่นดังกึกก้องจากเครื่องบินขับไล่ F/A-18 ที่พุ่งไปบนรันเวย์ของสนามบิน Grant County International Airport ผ่านเครื่องบินไอพ่น Boeing 737 MAX ที่จอดเรียงรายเป็นแถวโดยยังไม่ได้ส่งมอบ 

    และในโรงเก็บเครื่องบินใกล้กันนั้นมีเครื่องบินสีขาวเงาวับที่อาจเป็นก้าวสำคัญในการเดินทางเพื่อสยบเสียงเครื่องยนต์ไอพ่นและลบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกลี้ยง เครื่องบินลำนี้ชื่อ Eviation Alice เป็นเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์สวยสง่าที่รูปร่างคล้ายเครื่องบินรุ่น Cessna Citation บวกกับลูกโป่งรูปสัตว์ Alice ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ทั้งลำ และได้รับการบันทึกไว้เมื่อเดือนกันยายนว่า เป็นเครื่องบินไฟฟ้าน้ำหนักมากที่สุดที่ขึ้นบินได้ โดยหนักกว่า 16,000 ปอนด์

    Richard Chandler เศรษฐีพันล้านวัย 63 ปี ผู้พำนักอยู่ในสิงคโปร์เป็นนักลงทุนที่กุมบังเหียนของ Eviation และ MagniX ซึ่งสร้างเครื่องยนต์ใช้ไฟฟ้าให้ Alice เขามองงานนี้เป็นเป้าหมายส่วนตัว เพราะ George Watt ลุงทางฝั่งพ่อของเขาเคยเป็นนักบินทดสอบเครื่องบินไอพ่นลำแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรให้กองทัพอากาศสหราชอาณาจักรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 


    ส่วนน้าของเขาชื่อ Tony Guina เป็นช่างเครื่องรถยนต์ที่ผันตัวมาเป็นนักประดิษฐ์และพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงมานานหลายปี ซึ่ง Chandler ชาวนิวซีแลนด์โดยกำเนิดก็ให้ทุนสนับสนุนงานของ Guina มานาน 

    โดยส่วนใหญ่ให้เพราะแม่ขอให้ช่วย Chandler เคยโยนไอเดียเล่นๆ เรื่องการเอาเครื่องยนต์พวกนี้ไปใส่ให้รถสองแถวในกรุง Manila เพื่อช่วยลดมลภาวะ แต่เห็นได้ชัดว่าอย่างไรเสียมันก็คงจะแพงเกินไปสำหรับรถบัสแน่ๆ แล้วในปี 2017 เขาก็คิดขึ้นมาได้ว่ามันอาจจะใช้กับเครื่องบินได้อย่างเหมาะเจาะ

    Chandler มองคนละมุม ทำไมไม่เปลี่ยนเครื่องบินลำเล็กแบบดั้งเดิมมาใช้ไฟฟ้าแทนล่ะ? เพราะการเปลี่ยนแค่ระบบขับเคลื่อนน่าจะถูกกว่าและง่ายกว่ามาก และถ้าเปลี่ยนระบบน้อยกว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยก็จะสบายใจมากกว่า 

    ทางออกที่ง่ายที่สุดคือ การเอาเครื่องยนต์ไฟฟ้าเข้าไปใส่แทนเครื่องยนต์จอมซดน้ำมันของเครื่องบินในปัจจุบัน ซึ่งนั่นเป็นแผนการที่เขาวางไว้ให้ MagniX ในตอนแรก หรือไม่ก็สร้างใหม่ทั้งลำไปเลย เหมือน Alice นั่นไง

    Chandler คุ้นเคยกับการเดิมพันในสิ่งที่ค้านกับภูมิปัญญาเดิมๆ เขาเริ่มสร้างทรัพย์สิน 2.6 พันล้านเหรียญให้ตัวเองตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ด้วยการลงทุนที่สวนกระแสและท้าทายในหลายอุตสาหกรรม (เช่น โทรคมนาคม สาธารณูปโภค และการเงิน) ในรัสเซียและประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและลาตินอเมริกา 

    แล้วในปี 2019 เขาก็ซื้อหุ้น 70% ใน Eviation สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอลเพื่อจะแสดงให้โลกเห็นว่าเครื่องยนต์ของ MagniX ทำงานได้ดีแค่ไหนในเครื่องบินที่ออกแบบมารองรับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าโดยเฉพาะ เขาลงทุนกับ Eviation ไปแล้วประมาณ 180 ล้านเหรียญ และใช้เงินกับ MagniX ไปอีกหลายสิบล้าน

    ทั้งสองบริษัทย้ายไปอยู่ในเขตเมือง Seattle เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศด้านการบินและอวกาศในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งมี Boeing ครองวงการอยู่

    Eviation ยังไม่มีรายได้เป็นเนื้อเป็นหนัง แต่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 MagniX ได้ทำสัญญามูลค่า 74 ล้านเหรียญกับ NASA เพื่อสร้างระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสำหรับเครื่องบินลำใหญ่ขึ้น และ MagniX ก็ยังมีเส้นทางการเติบโตในระยะใกล้ที่ชัดเจนกว่านั้นอยู่อีก 

    ลูกค้าที่พร้อมควักกระเป๋าประมาณ 300,000 เหรียญ ซึ่งใกล้เคียงกับค่ายกเครื่องเทอร์โบพร็อป น่าจะสามารถดัดแปลงเครื่องบินลำเดิมให้กลายเป็นเครื่องบินสีเขียวด้วยการเปลี่ยนใส่เครื่องยนต์ 650 กิโลวัตต์ตัวท็อปของ MagniX แทนได้ ซึ่งแม้พิสัยการบินจะลดลง 

    แต่สำหรับบริษัทการบินจำนวนหนึ่งนั้นต้นทุนการบินถูกลงเป็นเรื่องสำคัญกว่า ตัวอย่างเช่น Harbour Air แห่งเมือง Vancouver ทดลองใช้เครื่องบินน้ำรุ่น Beaver ที่บินด้วยเครื่องยนต์ของ MagniX มาตั้งแต่ปี 2019 บริษัทเชื่อว่าเครื่องบินนี้จะบรรทุกผู้โดยสาร 3-4 คนบินได้ครึ่งชั่วโมงบวกกับระยะทางสำรองเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมากเกินพอสำหรับการบิน 25 นาทีในเส้นทางท้องถิ่นของบริษัทหลายเส้นทาง 

    ส่วนบริษัท United Therapeutics มีเป้าหมายจะใช้เฮลิคอปเตอร์ Robinson R44 ที่มีเครื่องยนต์ไฟฟ้าของ MagniX บินประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อขนส่งอวัยวะสำหรับปลูกถ่าย MagniX คาดว่า องค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ของสหรัฐฯ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องยนต์นี้สำหรับงานทั่วไปได้ในปี 2024

    เมื่อดูทั่วโลกแล้ว McKinsey ประเมินว่า มีเครื่องบินเล็กรุ่นเก่าประมาณ 12,000 ลำที่เหมาะจะดัดแปลงเป็นระบบไฟฟ้าหรือไฮบริด (MagniX กำลังพัฒนาระบบไฮบริดด้วย) นอกจากนี้ บริษัทก็กำลังร่วมมือกับสตาร์ทอัพในรัฐ California ตอนใต้ชื่อ Universal Hydrogen เพื่อสร้างระบบขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินโดยสารขนาด 40 ที่นั่งที่บินในภูมิภาค


    แต่ Chandler หลงรักศักยภาพของ Alice เขาและกลุ่มผู้หลงใหลเครื่องบินไฟฟ้าหวังว่าเครื่องบินแบบนี้จะช่วยขยายเส้นทางบินในระดับภูมิภาคไปสู่สนามบินขนาดเล็กที่ยังใช้งานไม่คุ้ม ซึ่งตามปกติแล้วมีต้นทุนแพงเกินกว่าที่เครื่องบินในปัจจุบันจะบินไปลง โดยให้บริการขนส่งได้ทั้งสินค้าและผู้โดยสาร

    หนึ่งในคำสั่งซื้อที่แน่นอนแล้วมาจาก DHL ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มแรก โดย DHL ควักเงินสั่งซื้อเครื่องบิน 12 ลำที่ปรับแต่งมาสำหรับขนสินค้า กล่องสินค้าอี-คอมเมิร์ซน้ำหนักเบานั้นเหมาะสำหรับ Alice เพราะเครื่องบินรุ่นนี้มีช่วงกลางลำตัวกว้าง 6 ฟุต 4 นิ้วซึ่งกว้างกว่าปกติเพื่อรองรับแบตเตอรี่หนัก 8,200 ปอนด์ ทำให้รับน้ำหนักบรรทุกได้น้อยกว่าเครื่องบินขนาดใกล้เคียงกัน แต่มีพื้นที่ภายในจุของได้มากกว่า

    อีกบริษัทที่มีแววจะมาเป็นลูกค้ากลุ่มแรกคือ Cape Air บริษัทการบินระยะสั้นในพื้นที่แถบ New England ซึ่งตอนนี้ยังแค่เซ็นหนังสือแสดงเจตจำนงไว้ก่อน ประธานบริหาร Dan Wolf ชอบที่บริษัทของเขาน่าจะประหยัดเงินค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาได้ แต่ก็ยังกังวลเรื่องราคาเครื่องบินที่สูง ไม่รู้ว่าแบตเตอรี่จะอยู่ได้นานแค่ไหน และค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่จะเป็นเท่าไร

    อายุการใช้งานไม่ใช่แค่เรื่องเดียวที่น่ากังวล Eviation ยืนยันว่า แบตเตอรี่ในปัจจุบันใช้บินได้ 250 ไมล์ ซึ่ง Shashank Sripad นักวิจัยแบตเตอรี่ผู้จบปริญญาเอกจาก Carnegie Mellon บอกว่า อาจจะใช่ แต่แบตเตอรี่พวกนี้เพิ่งจะออกมาขายได้ไม่นาน 

    และยังไม่แน่ว่าจะมีแบตเตอรี่รุ่นไหนที่พิสูจน์ตัวเองได้ว่ามีความทนทาน ความปลอดภัย และราคาเหมาะสมจะนำมาใช้กับการบินได้ทันภายในปี 2027 ซึ่งเป็นปีที่ Eviation วางแผนจะปล่อยเครื่องบินออกสู่ตลาด

    ถ้าจะบิน 250 ไมล์บวกระยะทางสำรองเพื่อความปลอดภัย Sripad ประเมินว่า Alice จะต้องใช้เซลล์ไฟฟ้าที่มีความหนาแน่นของพลังงานอยู่ระหว่าง 340-400 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม แต่แบตเตอรี่ที่ผลิตจำนวนมากสำหรับใช้ในรถยนต์ปัจจุบันทำได้สูงสุดแค่ 300

    Chandler คาดว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ Alice ขายได้เป็นเพราะเขาออกแบบมาให้สวย เขาลงมาคุมรายละเอียดเองโดยให้เหตุผลว่าเขานั่งเครื่องบินไอพ่นสำหรับนักธุรกิจมาเยอะในฐานะนักลงทุนที่เดินทางทั่วโลก และเขาตาแหลมในเรื่องดีไซน์ 

    ซึ่งเขาได้ทักษะนี้มาตั้งแต่อายุ 20 กว่าปีในสมัยที่เขาทำงานเป็นสไตลิสต์เสื้อผ้าสตรีตอนช่วยขยายกิจการห้างสรรพสินค้าของครอบครัวในเมือง Hamilton ของนิวซีแลนด์จนกลายเป็นเครือสินค้าบูทีก 

    และเมื่อเขาขายกิจการไปในปี 1986 Chandler กับน้องชายชื่อ Christopher ได้เงินทุนมา 10 ล้านเหรียญ ซึ่งพวกเขาเอามาต่อยอดจนกลายเป็นทรัพย์สินรวม 5 พันล้านเหรียญ ก่อนจะแยกกองทรัพย์สินกันในปี 2006   

    เหตุผลสำคัญกว่านั้นที่ทำให้เขามองอนาคตสวยงามคือ ข้อกำหนดของรัฐบาลและภาษีคาร์บอน ฝรั่งเศสสั่งห้ามใช้เครื่องบินในเส้นทางระยะสั้นที่มีรถไฟเป็นทางเลือก แต่ยอมยกเว้นให้เครื่องบินที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปก็น่าจะทำตาม 

    ส่วนในระยะยาวนั้นนอร์เวย์มีแผนจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินไฟฟ้าทั้งหมดสำหรับเส้นทางบินในประเทศโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2040 แต่ความปั่นป่วนก็เกิดขึ้นจากรอยร้าวระหว่างเขากับกลุ่มผู้ก่อตั้ง Eviation ซึ่งไม่ชอบใจที่ Chandler ดูจะยึดติดกับเครื่องยนต์ของ MagniX อย่างเหนียวแน่น 

    ซีอีโอ Omer Bar-Yohay ซึ่งร่างภาพ Alice เป็นครั้งแรกตอนนั่งอยู่ในบาร์ที่กรุง Vienna เมื่อปี 2014 ออกจากบริษัทไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 Aviv Tzidon ผู้ประกอบการต่อเนื่องสายเทคซึ่งนั่งเป็นกรรมการบริษัทยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า MagniX 

    แต่เขาก็อยากลองเดิมพันดู เพราะผู้ผลิตเครื่องยนต์ไอพ่นเจ้าเก่าอย่าง Rolls-Royce หรือยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสแห่งธุรกิจการบินและอวกาศ Safran อาจจะอยากเข้ามาแข่งขันและเสนอราคาได้ต่ำกว่า

    Kiruba Haran อาจารย์วิศวกรรมศาสตร์จาก University of Illinois ยกความดีความชอบให้ MagniX ในฐานะที่พาเครื่องยนต์เหินฟ้าได้สำเร็จ แต่เขากล่าวว่า เครื่องยนต์รุ่น Magni650 ให้กำลังขับเคลื่อนแค่ “พอไหว” เมื่อเทียบกับน้ำหนักของเครื่อง ขณะที่พวกบริษัทใหญ่และนักวิชาการก็กำลังมีความคืบหน้าในการพัฒนามอเตอร์ระดับเมกะวัตต์

    Chandler เชื่อว่า MagniX ยังบินฉิวนำหน้าคู่แข่ง เขาอ้างว่า ทั้ง General Electric และ Pratt & Whitney กำลังพยายามจะซื้อกิจการผู้ผลิตเครื่องยนต์รายนี้จากเขา (ทั้งสองบริษัทปฏิเสธที่จะให้ความเห็น) และแม้พวกยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องยนต์จะมีทุนหนากว่า แต่ก็มัวไขว้เขวไปกับการขายผลิตภัณฑ์เดิมๆ ที่กำไรงาม 

    Chandler คิดว่า MagniX เหมือน Tesla ตรงที่มุ่งเน้นระบบไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้บริษัทนี้นำหน้าคู่แข่งไปได้เรื่อยๆ
“เรากำลังปีนเขาเอเวอเรสต์กันอยู่” เขากล่าว “แล้วรู้ใช่ไหมว่าคนแรกที่ไปถึงยอดคือชาวนิวซีแลนด์”


เรื่อง: Jeremy Bogaisky เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง


อ่านเพิ่มเติม: Amit Midha แม่ทัพ Dell ขับเคลื่อนโลกด้วยเทคโนโลยี


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine