เกมล่า Pokémon เจาะลึกเรื่องราวการสร้างเกม - Forbes Thailand

เกมล่า Pokémon เจาะลึกเรื่องราวการสร้างเกม

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Oct 2016 | 11:06 AM
READ 13295

ผลงานของผู้บริหาร Google ที่เคยไร้ตัวตนในบริษัทเสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่แห่งนี้ พร้อมเบื้องหลังที่ทำให้เขาสามารถเกลี้ยกล่อมบรรดาเจ้านายให้ยอมปล่อยตัวเขาและตัวการ์ตูนเหล่านั้นออกมาโลดแล่นอย่างเป็นอิสระ

John Hanke อัจฉริยะด้านเทคโนโลยีผู้อยู่เบื้องหลัง Pokémon Go กล่าว ขณะที่เราเดินทอดน่องไปตามริมแม่น้ำด้านหน้า Seaport Village ใน San Diego 1 วันก่อนที่เขาจะต้องปรากฏตัวในงาน Comic-Con ต่อหน้าแฟนๆ 7,000 คน Pokémon Go คือเกมฟรีที่ Niantic Labs พัฒนาขึ้นมาให้มี “ความสมจริงมากยิ่งขึ้น” ในเกม ผู้เล่นจะต้องไล่จับตัวการ์ตูนเสมือนจริงที่จะคอยปรากฎตามสถานที่ที่มีอยู่จริงๆ นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม Pokémon Go สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมากมาย Apple เผยว่า เกมนี้มียอดดาวน์โหลดภายในสัปดาห์แรกสูงกว่าแอพพลิเคชั่นอื่นใดที่เคยมีมา อ้างอิงสถิติจาก App Annie แสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกัน 1 ใน 10 เล่น Pokémon Go เป็นประจำทุกวัน ขณะที่ SurveyMonkey ประเมินว่า หากนับเฉพาะในสหรัฐฯ (เกมนี้สามารถเล่นได้ใน 37 ประเทศ) เกมนี้สามารถสร้างยอดซื้อเพิ่มเติมภายในแอพพลิเคชั่น (in-app purchase) ได้วันละ 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผู้อยู่เบื้องหลังตัวเลขดังกล่าวนี้มีทั้ง Hillary Clinton ซึ่งปลุกกระแสเกมระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ Justin Bieber ก็เคยไล่จับ Pokémon กลาง Central Park มาแล้ว ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถึงกับโดนตำหนิต่อหน้าสาธารณชนเนื่องจากมัวแต่เล่นเกมขณะเข้าร่วมงานแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ ด้านกระแสตอบรับในทวีปเอเชียยิ่งคึกคักเข้าไปอีก ที่ประเทศญี่ปุ่น งานเปิดตัวเลื่อนกำหนดออกไป แต่หลังจากที่มีการเปิดตัวแล้วก็สามารถดึงดูด 1 ใน 4 ของผู้ใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั่วประเทศ เมื่อ 12 ปีก่อนหน้านี้ Hanke ยังคงเป็นพนักงานของ Google ท่ามกลางความร้อนอกร้อนใจที่สุมมากขึ้นทุกที (เขาพัฒนาโปรแกรมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google Earth) บริษัทของเขาคือ Niantic ซึ่งเป็นหน่วยพัฒนาเกมที่ถูกมองข้ามและไร้ตัวตนอยู่ภายในเสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่แห่งนี้ เมื่อ Google มีการปรับโครงสร้างองค์กรและผนวกเข้ากับ Alphabet แล้วนั้น ยิ่งทวีโอกาสที่ Niantic จะถูกลดความสำคัญลงไปเป็นเพียงแผนก Android ของบริษัท หรือไม่ก็อาจจะโดนปิดตัวลงไปเฉยๆ เสียอย่างนั้น แต่ Google ก็ฉลาดไม่น้อยที่อนุญาตให้ Hanke ออกไปแสวงหานายทุนนอกองค์กร พร้อมกับแยกบริษัทออกไป เปิดโอกาสให้ Hanke ได้ติดต่อ Nintendo กับ Pokémon Co., ซึ่ง Pokémon Co., นี้เอง ที่เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของแบรนด์ จนนำมาสู่การทำสัญญาเกมทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ชาญฉลาดที่สุดเท่าที่เคยมีมา สำหรับ Google แล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวประสบความสำเร็จท่วมท้น Google ถือหุ้นอยู่ใน Niantic เกือบ 30% ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Macquarie Group ประเมินว่า เกมนี้ของ Niantic น่าจะทำรายได้ประจำปีแตะ 5 พันล้านเหรียญ “ถ้าหาก Google ยังคงเก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับตัวเอง ผมไม่แน่ใจว่า เราจะได้มี Pokémon Go เล่นกันหรือเปล่านะครับ อย่างน้อยก็คงไม่เกิดขึ้นเร็วอย่างนี้แน่ๆ” Gilman Louie หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร Niantic กล่าว เขาบอกว่าตัวเองเป็น “คนหลังเขา” Hanke สำเร็จการศึกษาจาก University of Texas ใน Austin ก่อนที่จะมาเรียนต่อที่ Haas Business School ของ University of California ใน Berkeley และจบออกไปพร้อมกับความฝันที่จะก่อตั้งบริษัทพัฒนาเกมขึ้นมาสักแห่ง หลังจากที่เข้าศึกษาที่นี่ได้ไม่นานนัก เขากระโจนเข้าจับ Archetype Interactive ซึ่งเป็นธุรกิจเกิดใหม่ของเพื่อนในชั้นเรียนคนหนึ่งที่ผลิตเกมออกมาเพียงรายการเดียวเท่านั้น คือ Meridian 59 แต่เกมดังกล่าวได้รับการยกย่องว่า เป็นเกมแสดงบทบาทสมมติออนไลน์ที่รองรับผู้เล่นจำนวนมหาศาลในระบบ 3D เป็นเกมแรก (พวกเขาขายบริษัทออกไปในวันที่จบการศึกษาจากโรงเรียนธุรกิจแห่งนี้) ในเวลาต่อมา Hanke เปิดบริษัทเกมขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งและก็ขายออกไปในปี 2000 หลังจากนั้นเขาร่วมก่อตั้ง Keyhole ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์แสดงพิกัดสถานที่ โดยที่ผู้ใช้งานสามารถรับชมภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของสถานที่แห่งใดก็ได้บนโลก เทคโนโลยีดังกล่าวไปเข้าตา Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google เข้าพอดี Brin หลงใหลแผนที่เป็นพิเศษอยู่แล้ว และวันหนึ่ง ขณะที่เขาประชุมกับ Eric Schmidt ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Google รวมทั้งผู้บริหารคนอื่นๆ อยู่นั้น เขาใช้ Keyhole ซูมจับภาพสวนหลังบ้านของบุคคลที่นั่งอยู่ในห้องประชุมนั้นเอง พร้อมกับเกลี้ยกล่อมให้เข้าซื้อกิจการเกิดใหม่แห่งนี้เสีย ในเดือนตุลาคม ปี 2004 Google ที่เพิ่งแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนก็เข้าซื้อ ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2014 Hanke ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้า-หน้าที่บริหาร Niantic ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเกมที่อ้างอิงสถานที่จริงผนวกเข้ากับแบรนด์ดัง เพื่อที่จะดึงดูดผู้ใช้งานได้มากขึ้น โดยมี Mario กับ Donkey Kong เป็นตัวเลือกเช่นกัน แต่ชื่อหนึ่งที่ปรากฏขึ้นอยู่ในใจตลอดคือ Pokémon ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่ชาวมิลเลนเนียลช่วงปลายยุค 1990 ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม การ์ดสะสม ภาพยนตร์ และการ์ตูนโทรทัศน์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2016 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ Pokémon มียอดขายรวมกันทั้งสิ้น 4.5 หมื่นล้านเหรียญ เป็นที่เรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่มีการสร้างตัว Pokémon ขึ้นมาประจวบเหมาะกับที่ Tatsuo Nomura วิศวกรใน Google Maps แผนกเก่าของ Hanke นั้นกำลังแอบร่างแผนการให้กับ Pokémon อยู่พอดี เขาติดต่อไปยัง Nomura เพื่อหาโอกาสเข้าพูดคุยกับ Pokémon Co., อีกครั้ง Hanke อยากได้คำตอบว่า Pokémon สนใจจะพัฒนาเกมทางโทรศัพท์มือถือจริงๆ หรือไม่ ไม่เกินเดือนพฤษภาคม ปี 2014 Hanke ก็ได้มาอยู่ในห้องประชุมร่วมกับ Tsunekazu Ishihara ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Pokémon ที่รายล้อมไปด้วยล่าม ในบรรดาหัวข้อการประชุมทั้งหลายนั้น พวกเขาหารือเกี่ยวกับเกม Ingress ด้วยความที่ Ishihara เป็นนักเล่นเกม Ingress ตัวยงอยู่แล้ว เขาจึงตระหนักได้โดยทันทีว่า พิกัดสถานที่จะมีอิทธิพลต่อเกมทางโทรศัพท์มือถือที่เกี่ยวข้องกับ Pokémon มากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ได้รับอนุมัติจาก Satoru Iwata ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nintendo ซึ่งขณะนี้เสียชีวิตไปแล้วนั้น Hanke ก็ลงมือพัฒนา Pokémon Go ในฤดูร้อนปีนั้นทันที โดยตกลงจะแบ่งรายได้จากเกมให้กับ Pokémon Co. และ Nintendo ด้วย (Hanke ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดเงื่อนไขข้อตกลง) ในเวลาเดียวกัน ย้อนกลับมาที่ Silicon Valley สถานะของ Niantic ภายใน Google กลับด้อยความสำคัญยิ่งนัก ในขณะที่บริษัทกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อผนวกเข้ากับ Alphabet อย่างไรดีนั้น บรรดาผู้บริหารของ Google ก็ตั้งคำถามขึ้นมาเช่นกันว่า จะจัดการกับคณะของ Hanke ซึ่งเป็นเหมือน “ไส้ติ่ง” อย่างไรดี โดยมีการหารือกันว่า จะผนวกบริษัทกลับไปเข้าไปอยู่กลุ่ม Android แม้ว่า Hanke จะไม่ค่อยปลื้มอกปลื้มใจกับแนวทางที่จะให้กลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานกลางขององค์กรขนาดมหึมาอย่าง Google เท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเกิดความคิดที่จะแยกตัวออกมา และได้รับอนุญาตให้ออกไปแสวงหาเงินทุนมาก่อตั้งบริษัทอิสระขึ้นมาได้ ในที่สุดแล้ว Hanke ก็สามารถระดมทุนได้ 35 ล้านเหรียญจาก Google, Nintendo และ Pokémon Co. และนักลงทุนกลุ่ม angel investor โดยไม่มีบริษัทร่วมลงทุนขนาดใหญ่ร่วมวงลงทุนเลยสักราย ซึ่งในตอนนั้นมีการประเมินมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 175 ล้านเหรียญแล้ว เพื่อเป็นการแก้ต่างให้กับผู้ที่ให้การอนุมัติก็ต้องบอกว่า Pokémon Go ยังมีอายุไม่ครบ 1 เดือนดีด้วยซ้ำ ขณะที่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา ก็ไม่เคยยกย่องบริษัทผู้ผลิตเกมทางโทรศัพท์มือถือกันสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็น Zynga (เกม Farmville) และ King.com (เกม Candy Crush) ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ผลิตเกมคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วย ณ จุดนี้ Hanke แค่อยากจะดูแลให้ระบบทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะเขามีทั้งถุงใต้ตาและไม่มีเวลาจะทำอย่างอื่นแล้ว แม้แต่จะเล่นเกมของตัวเอง ว่าแต่เขาเล่นอยู่เลเวลไหนแล้วนะ “ผมเพิ่งเลเวล 5 ครับ” เขากล่าวเขินๆ   เรื่อง: Ryan Mac เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "เกมล่า Pokémon" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016